อารัมมณปัจจัย กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย


    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ?   ในเรื่องของอธิปติปัจจัยในชีวิตประจำวัน

    ทรง.   ขอให้อาจารย์ช่วยขยายความอีกว่า  อารัมมณปัจจัยกับอารัมมณาธิปติปัจจัยต่างกันอย่างไร อธิบดีก็หมายถึงความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่นั้นก็เป็นอธิปติปัจจัย เป็นอารมณ์  การพูด ก็หมายความว่ารูปทั้งหมดที่เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยไม่ได้ หมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะคะ รูปธรรมเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้   แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้  ตามความเป็นจริงทุกท่านทิ้งรูป ทิ้งได้ไหม   ไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ให้ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู  หมดความสนใจใยดีในสิ่งที่สวย ๆ งาม ๆ ทางตา ในเสียงที่เพราะ ๆ ในกลิ่นหอม ๆ ในรสที่อร่อย ในโผฏฐัพพะที่เป็นสุข  ทิ้งได้ไหม

    ทรง.   บางครั้งก็ทิ้งได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด   ขณะนั้นรูปเหล่านั้นเป็นอารัมมณปัจจัย  แต่เวลาที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย  ให้สังเกตดูว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต  ซึ่งไม่ทิ้งอารมณ์นั้น   ทิ้งได้เดี๋ยวเดียวใช่ไหม  เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยใหม่อีกแล้ว

    ทรง.   ก็ทิ้งได้เดี๋ยวเดียว  ขณะนั้นก็เป็นอารัมมณาธิปติแล้วนี่ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ เพราะเหตุว่าเป็นอารัมมณาธิปติ เมื่อเวลาเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ไม่ควรทอดทิ้ง แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ได้ปรารถนา  ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้ติด  เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้ง   เพราะฉะนั้นจึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของ   โทสมูลจิต  เพราะเหตุว่าโทสมูลจิตไม่ปรารถนาในอารมณ์นั้น

    ทรง.   คำจำกัดความอารัมมณาธิปติว่าอย่างไรครับ  

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่คือลักษณะของอารัมมณาธิปติปัจจัย  สภาพธรรมที่เป็น “อารัมมณาธิปติปัจจัย”

    ชีวิตประจำวัน จริงๆแล้วเป็นอย่างนี้ อารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้งทั้งหลายที่กำลังปรารถนาขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยของโลภมูลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อย ๆ เป็นประจำ  แต่ว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว

    ถ้าเป็นรูป รูปทั้งหมดที่ปรารถนาเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต บางท่านอาจจะบอกว่า ปรารถนาที่จะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ถูกไหมคะ  เกิดกุศลจิต ขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่มีกำลังโดยที่ว่า  เมื่อเห็นรูปนั้นแล้ว กุศลจะเจริญขึ้นเรื่อย ๆ  หรืองอกงามไพบูลย์ แต่ที่กุศลจะเจริญงอกงามไพบูลย์  เพราะกุศลก่อน ๆ ที่ได้กระทำแล้ว หรือเวลานึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว นึกถึงสภาพที่เป็นกุศล แล้วจิตก็ผ่องใส   ว่าขณะที่ทำเป็นกุศลแท้ๆ ไม่ได้ปรารถนาสิ่งใดเลย ในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด   แต่ไม่ใช่ไปนึกถึงวัตถุทานซึ่งเป็นรูป แล้วกุศลจะผ่องใสได้มากมาย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่นึกถึงวัตถุทานที่ประณีต สติสัมปชัญญะควรจะเกิดระลึกรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า  แม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ถ้าอารมณ์ประณีตกำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังกระทำกุศล สติสัมปชัญญะก็ควรที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่รูปซึ่งประณีตกำลังเป็นอารมณ์นั้น  เป็นโลภมูลจิตหรือเป็นกุศลจิต

    นี่คือการที่จะอบรมเจริญกุศลแท้ ๆ ยิ่งขึ้น  คือสามารถที่จะแยกรู้ลักษณะของจิต   ซึ่งเป็นอกุศลได้ว่าต่างกับขณะที่เป็นกุศล  ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะทราบไหมว่าความพอใจในวัตถุทานเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต ใกล้ชิดกันมาก  เพราะฉะนั้นถ้าไม่สังเกตจริง ๆ  ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของโลภมูลจิตออกในขณะที่กำลังกระทำกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด  ถ้าอาหารที่จะถวายพระภิกษุมีรสอร่อย  แยกได้ไหมว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต   ขณะไหนเป็นอกุศลจิต  หรือจะเหมารวมไปว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ถ้าเหมารวมว่าเป็นกุศลทั้งนั้น   ผิดหรือถูก   

    เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด  แม้แต่ในการที่จะพิจารณา  เมื่อมีความเข้าใจที่จะให้ตรึกตรองพิจารณาเพิ่มขึ้น  จึงเกื้อกูลอุปการะในขณะที่ทำกุศลที่จะให้สติระลึกได้ว่า แม้ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สติสัมปชัญญะก็จะต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ๆ   ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต เมื่อเป็นกุศลจิตก็เป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่เรา   อกุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่เรา  กุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน  ไม่ใช่สัตว์   ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่เรา

    แต่การเข้าใจเรื่องของปัจจัย จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาละเอียดขึ้น   


    หมายเลข 2646
    29 ส.ค. 2558