ประมวลสรุป__อธิปติปัจจัย


    วันนี้ขอประมวลและสรุปอธิปติปัจจัยอีกครั้งหนึ่ง

    สำหรับอธิปติปัจจัยนั้นมี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัย ๑ และอารัมมณาธิปติปัจจัย ๑

    ท่านผู้ฟังซึ่งพึ่งมาฟังได้กรุณาให้ทราบว่า  ยังไม่เข้าใจความหมายของศัพท์บางศัพท์โดยชัดเจน เพราะฉะนั้นก็จะได้อธิบายความหมายของศัพท์ด้วย  เช่น คำว่า   “สหชาตาธิปติ”   เป็นคำรวมของสหชาต  และอธิปติ

    สหชาต  หมายความว่า  เกิดพร้อมกัน  ร่วมกัน  ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน

    อธิปติ   หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่

    เพราะฉะนั้น “สหชาตาธิปติ” หมายถึงสภาพธรรมที่สามารถกระทำกิจเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ชักจูงให้สหชาตธรรม คือ สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยเกิดขึ้น   

    ในบรรดาจิตและเจตสิกที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ทีละอย่างนั้น ก็ได้แก่   ฉันทเจตสิก   เป็นสหชาตาธิปติ เป็นสภาพธรรมซึ่งสามารถเป็นหัวหน้า ชักจูงให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมตนได้   แล้วแต่ว่าจะเป็นฉันทะในกุศลหรือในอกุศลก็ได้  แต่ให้เห็นว่าในวันหนึ่ง ๆ  นั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้น   เพราะมีฉันทะ คือ สภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ ซึ่งจะต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของฉันทะ   และโลภะว่า โลภเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก  เป็นสภาพธรรมที่ติด ยึดมั่น ไม่ปล่อยวาง แต่ส่วนฉันทเจตสิก  เป็นสภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ

    เพราะฉะนั้นสำหรับฉันทเจตสิก เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้   ถ้าจำแนกโดยนัยของชาติ ๔

    นอกจากฉันทเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยแล้ว  ก็ยังมีวิริยเจตสิก  และชวนจิต ๕๒ ดวง   และวิมังสะ คือ ปัญญาเจตสิกอีกหนึ่ง   รวมเป็นสภาพธรรมที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้  มี ๔ คือ เจตสิก ๓   ได้แก่  ฉันทเจตสิก ๑  วิริยเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และชวนจิต ๕๒ ดวง

    ท่านผู้ฟังบางท่านซึ่งเพิ่งจะรับฟัง ก็อาจจะสงสัยว่า “ชวนจิต”  คืออะไร   

    “ชวนะ”  โดยศัพท์หมายความถึง แล่นหรือเร็ว ที่ภาษาไทยใช้คำว่า  เชาวน์  ความไว   การแล่นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะคิดว่าจิตจะแล่นได้หรือ เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงเกิด – ดับ เกิดดับ  มีอายุเท่ากันทุกดวง   คือ   อุปาทขณะ   ขณะที่เกิดขึ้น   ฐีติขณะ   ขณะที่ตั้งอยู่   และภังคขณะ ขณะที่ดับไป  จิตทุกดวงมีอายุเท่ากัน คือ แบ่งเป็นอนุขณะ ๓ ขณะ แต่ว่าสำหรับจิตอื่น  เช่น จักขุวิญญาณที่เห็น เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับ  ไม่สามารถที่จะแล่นไปในอารมณ์โดยเกิด ดับสืบต่อซ้ำกันได้หลายขณะ เท่ากับจิตประเภทที่เป็นชวนจิต

    เพราะฉะนั้นคำว่า  “ชวนจิต” ไม่ได้เป็นจิตอื่นต่างจากขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ คือ เป็นกุศลจิตบ้าง เป็นอกุศลจิตบ้างในวันหนึ่ง ๆ


    หมายเลข 2649
    29 ส.ค. 2558