จิต เจตสิก รูป - ปัจจัย - ชีวิตประจำวัน


    เมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของท่านพระอานนท์  ก็มีข้อความที่กล่าวว่า บางท่านมีความสามารถในการฟัง แต่ไม่มีความสามารถในการเรียน  และบางท่านก็มีความสามารถในการฟังและมีความสามารถในการเรียน แต่ไม่มีความสามารถในการกล่าว   

    เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมจะเห็นได้จริง ๆ ว่า  เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วต้องพิจารณาจิตใจของแต่ละบุคคลจริง ๆ

    สำหรับเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผลจนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ใช่เป็นการท่องจำ ขอยกตัวอย่างเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสังขารธรรมซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน และเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามสมควรของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น   

    สำหรับปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เห-ตุปัจจัย  อารัมมณปัจจัย และอธิปติปัจจัย   

    สำหรับเจตสิก ๖ ดวง  ซึ่งเป็นเห-ตุปัจจัยให้สภาพธรรมคือจิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตน ในขณะนั้นถ้าพิจารณาก็จะทราบได้ว่า สำหรับเห-ตุปัจจัยนั้นเป็นปัจจัยให้จิต   เจตสิกและรูปเกิดขึ้น  เพราะเหตุว่าถ้าจิตเป็นโลภะ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของกายบ้าง   ของวาจาบ้างด้วยได้ วันหนึ่งๆที่ทุกท่านกระทำกิจสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่รู้ตัวเลย ไม่ว่าจะยืน   จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด วันนี้ก็มีการกระทำหลายอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทราบว่า   ในขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่เกิดกับจิตและเจตสิก  เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหวกระทำกิจการงานต่าง ๆ ด้วยโลภมูลจิตในขณะนั้น ไม่ทราบใช่ไหมคะ  ไม่ได้พิจารณาเลย แต่ให้ทราบว่า เวลาที่เจตสิกที่เป็นเหตุเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและเจตสิก เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นกระทำกิจต่าง ๆทางกายและทางวาจาได้   

    แต่สำหรับอารัมมณปัจจัย คือ สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้น โดยสภาพธรรมนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย คือ เป็นอารมณ์ของจิตดวงนั้น อารัมมณปัจจัยเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัย ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น แต่ไม่ได้ทำให้รูปเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป  ซึ่งมีเกิดขึ้นปรากฏในชีวิตปกติประจำวัน โดยที่ไม่ได้รู้สภาพธรรมนั้นๆตามความเป็นจริง แต่ถ้าพิจารณาแล้วสามารถที่จะเข้าใจ โดยการที่ว่า   เมื่อศึกษาความละเอียดยิ่งขึ้นก็จะทำให้เข้าใจชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนั่นเอง


    หมายเลข 2648
    29 ส.ค. 2558