กุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะได้


    ท่านผู้ฟังชอบกุศลจิตใช่ไหมคะ ?   ชอบหรือไม่ชอบ  จริง ๆ แล้ว  ต้องหยั่งลงไปถึงใจอีก  เพราะเหตุว่าบางทีฟังชื่อดู ก็น่าชอบ ใช่ไหม กุศลจิต  ดีงาม น่าที่จะปรารถนา   ต้องการพอใจ  แต่ลึกลงไปจริง ๆ  จะชอบสักแค่ไหน แต่ว่าโดยทั่ว ๆ ไป  ทุกท่านก็ปรารถนาที่จะมีจิตที่ดีงามขณะใด ขณะนั้นกุศลประเภทนั้น ๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตก็ได้   หรือของโลภมูลจิตก็ได้   

    โลภมูลจิตนี้ จะกล่าวได้เลยว่าหนีไม่พ้น แม้แต่เป็นกุศล  อารมณ์เป็นกุศล ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการว่า อารมณ์ที่เป็นกุศลนั้น เป็นอารมณ์ของกุศลจิต หรือว่าเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

    ธรรมนี้ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ถ้าไม่ตรงเพียงนิดเดียว หรือว่าเข้าใจผิด แทนที่กุศลจะเจริญ อกุศลเจริญเสียแล้ว โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้   ก็ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังนึกถึง คิดถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นโลภมูลจิต

    ถาม   ท่านอาจารย์ว่าโลภะ อะไรก็กินเรียบหมด เว้นแต่อารมณ์ของโลกุตตระ แต่ถ้าเป็นกุศล   เป็นปัจจัยต่อให้เป็นกุศลอีกได้ใช่ไหมครับ ?

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ เวลาที่นึกถึงกุศลแล้วเกิดปลาบปลื้ม   ผ่องใสในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตได้ แต่ถ้าทำกุศลแล้ว อย่าลืมต้องพิจารณาว่าถ้าเกิดดีใจว่า เรา ตัวเรานี้ได้กระทำกุศลอย่างใหญ่สำเร็จลงไปแล้ว  กุศลหรือเปล่า   ขณะนั้น

    ผู้ฟัง    โลภะครับ

    ท่านอาจารย์ มานะได้ไหม สำคัญตนได้ไหมว่าเราได้กระทำกุศลอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ในขณะนั้น  จึงจะรู้ความต่างกัน  เวลาที่กระทำกุศลแล้วนึกถึงกุศลแล้วเกิดเบิกบานผ่องใสในกุศล ไม่ใช่ด้วยความสำคัญตน   นี้ต่างกันใช่ไหม ?

    ผู้ฟัง    อารัมมณา  นี้หมายความถึงอารมณ์ที่หนักแน่นจริง ๆ ว่า  จะเป็นโลภะ   อาจารย์หมายความว่าหนักแน่นอย่างไร ?

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่ทิ้งอารมณ์นั้นเลย เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ลืมตามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้  โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส รับประทานอาหารทุกวันๆ ที่พอใจ โลภมูลจิตหรือเปล่า  ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่แช่มชื่นแล้วละก็ ขณะนั้นก็รับประทานด้วยโลภะ

    ทางกายที่กระทบสัมผัส  ก็กระทบสัมผัสสิ่งที่พอใจ  ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต   หรือไม่ใช่กุศลจิต  เพราะฉะนั้นโลภะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ว่าขณะใดบ้างซึ่งรู้สึกว่า   ปรารถนาต้องการอารมณ์ใดบางอารมณ์ในวันนี้ อารมณ์นั้นในขณะนั้นเป็นอารัมมณาธิปติ   ไม่ใช่เป็นเพียงอารัมมณปัจจัย

    ผู้ฟัง    ที่อาจารย์กล่าวว่าเป็นธรรมที่ไม่ควรดูหมิ่น   ไม่ควรทอดทิ้ง

    ท่านอาจารย์ นิพพานหรือโลกุตตรธรรม

    เพราะฉะนั้นอารัมมณาธิปติปัจจัยนี้  นอกจากกุศลจิต และที่เป็นโลกียกุศลแล้ว   โลกุตตรกุศลก็เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย แต่เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยแก่เฉพาะกุศลญาณสัมปยุตต์ หรือว่ากิริยาจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์เท่านั้น จะไม่เป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตเลย   ถ้าเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรม แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลญาณสัมปยุตต์ และกิริยาญาณสัมปยุตต์ได้ หลังจากที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ก็จะมีการพิจารณามัคคจิต ผลจิต   และนิพพาน กิเลสที่ดับ  และกิเลสที่เหลือ  ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่พิจารณาโลกุตตรจิต  ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ที่พิจารณาโลกุตตรธรรม   

    เพราะฉะนั้นฝ่ายสูงสุดของอารัมมณาธิปติก็ได้แก่ โลกุตตรธรรม  ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิตเลย  โลภมูลจิตไม่มีทางที่จะมีโลกุตตรธรรมเป็นอารมณ์  แต่ว่าสำหรับกุศลอื่น   ทาน  ศีลหรือสมถภาวนา  ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล  อรูปาวจรกุศลทั้งหมด ก็ยังเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิตซึ่งเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย ไม่ใช่อารมณ์ธรรมดาที่ผ่านไปวันหนึ่ง ๆ แล้วก็เกิดโลภะ  แต่เป็นอารมณ์ซึ่งมีกำลังชักจูงให้จิตประเภทนั้น ๆ  เกิดขึ้นได้


    หมายเลข 2574
    29 ส.ค. 2558