อาการของสติ 17 อย่าง

 
supim
วันที่  30 ส.ค. 2555
หมายเลข  21636
อ่าน  4,212

อยากทราบการเกิดขึ้นของสติ ๑๗ อย่าง จะสามารถศึกษาอ่านรายละเอียดได้ในพระไตรปิฎกหรือหนังสือเล่มไหนคะ

ขอได้รับความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยแนะนำให้ด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซึ่งสามารถอ่าน สติ ๑๗ ประการได้ ใน คัมภีร์ พระอภิธัมมัตถสังคหะ ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าว สติ ๑๗ ประการให้อ่านดังนี้ครับ

ในพระอภิธัมมัตถสังคหะกล่าวถึงเหตุใกล้ไว้ มี ๑๗ ประการ

(๐๑) ความรู้ยิ่ง เช่น สติของบุคคลที่ระลึกชาติได้ พระพุทธองค์ระลึกชาติได้ไม่จำกัดชาติ จะระลึกได้ทุกชาติที่พระองค์ปรารถนา สติของพระอานนท์จำพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ได้หมด

(๐๒) ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติ คือ เมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดี และจะระมัดระวังจดจำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด

(๐๓) สติเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เช่น พระโสดาบันจะจำได้โดยแม่นยำถึงเหตุการณ์ที่ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หรือบุคคลที่ได้รับยศยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต

(๐๔) สติเกิดขึ้น โดยระลึกถึงเหตุการณ์ที่ตนได้รับความสุขที่ประทับใจ เมื่อนึกถึงก็จะจำเรื่องต่างๆ ได้

(๐๕) สติเกิดขึ้น เนื่องจากความทุกข์ที่ได้รับ เมื่อระลึกถึงก็จะจดจำได้

(๐๖) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบ

(๐๗) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่เคยประสบ

(๐๘) สติเกิดขึ้น เพราะคำพูดของคนอื่น เช่น มีคนเตือนให้เก็บทรัพย์ที่ลืมไว้

(๐๙) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเครื่องหมายที่ตนทำไว้ เช่น เห็นหนังสือที่เขียนชื่อไว้ ถูกลืมไว้

(๑๐) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเรื่องราวต่างๆ หรือผลงาน เช่น เห็นพุทธประวัติ ก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

(๑๑) สติเกิดขึ้น เพราะความจำได้ เช่น มีการนัดหมายไว้ เมื่อมองไปที่กระดาน ก็จำได้ว่าต้องไปตามที่ได้นัดไว้

(๑๒) สติเกิดขึ้น เพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ใช้นับลูกประคำเพื่อมิให้ลืม

(๑๓) สติเกิดขึ้น เพราะการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วจำเรื่องราวต่างๆ ได้

(๑๕) สติเกิดขึ้น เพราะการบันทึกไว้ เมื่อดูบันทึกก็จำได้

(๑๖) สติเกิดขึ้น เพราะทรัพย์ที่เก็บได้ เช่นเห็นทรัพย์ก็นึกขึ้นได้ว่าได้เก็บทรัพย์ไว้

(๑๗) สติเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เคยพบเคยเห็นมาแล้ว เมื่อเห็นอีกครั้งก็ระลึกได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

สติที่เกิดจากเหตุใกล้ ๑๗ ประการนี้ จำเพาะสติขั้นสติปัฏฐานหรือเปล่าครับ หรือรวมสติทุกขั้นด้วย เหตุใกล้ ๑๗ อย่างบางประการ ดูเหมือนไม่ได้เป็นไปในกุศล เช่นนึกถึงทรัพย์ที่เก็บไว้ หรือนึกถึงความสุขประทับใจ เป็นเพราะเหตุใดครับ เพราะว่าตัวเหตุเหล่านี้โดยตัวเองอาจไม่เป็นกุศล แต่ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ เช่นนี้หรือเปล่าครับ

ดูเหมือนเหตุใกล้ ๑๗ ประการ จะเกี่ยวกับการนึกได้ถึงเรื่องต่างๆ จะเกี่ยวกับสติโดยนัยว่า "ระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูดแม้นานแล้ว" หรือเปล่าครับ (แล้วการนึกได้ถึงเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว เกี่ยวกับกุศลอย่างไรครับ เพราะอาจนึกถึงด้วยอกุศลจิตก็ได้)

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี ที่เกิดกับจิตที่ดีงาม ดังนั้น ขณะที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น สติ ๑๗ ประการ ท่านกล่าวโดยกว้างๆ ให้เข้าใจว่า สติจะเกิดด้วยเหตุอะไรใน ๑๗ ประการ ซึ่งให้เข้าใจว่าเป็นไปในทางที่ดี ที่เป็นกุศล เป็นต้น เช่น เมื่อระลึกถึงทรัพย์ได้ ก็เพื่อเป็นไปในการให้ทาน เป็นต้น

แม้แต่ความหมายของคำว่า สติ ที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ที่ว่า สติ คือ การระลึกได้ ถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แม้นานแล้ว หากไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมที่แสดงว่า สติเจตสิก เกิดกับจิตที่ดีงาม เท่านั้น ก็อาจสำคัญว่านึกถึงเรื่องอะไรได้ก็มีสติ แต่ในความเป็นจริง นึกได้ด้วยอกุศลจิตก็ได้ ซึ่งขณะนั้นไม่มีสติ แต่จะมีสติ จะต้องเป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา

เพราะฉะนั้น ระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แม้นานแล้ว ก็ต้องเป็นการนึกด้วยกุศลจิต ที่นึกถึงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดกุศลจิตที่ได้เคยฟังมานาน นึกถึงการที่คิดจะให้มาในเรื่องที่ผ่านมา นึกในเรื่องของศีลที่จะงดเว้นจากบาป ในเหตุการณ์ในอดีต ระลึกถึงกุศลที่ได้ทำมานานแล้วด้วยกุศลจิต ชื่อว่ามีสตินึกขึ้นได้ในทางกุศลครับ

แม้ใน สติ ๑๗ ประการก็เช่นกัน อาศัยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ทำให้นึกขึ้นได้ด้วยกุศล มีสติ และก็มีสติขั้นต่างๆ ของพระอริยบุคคล เป็นต้น ครับ ดังนั้น ก็ต้องอาศัยพระธรรมส่วนอื่น โดยเฉพาะพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจในส่วนที่อ่าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสติ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 30 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ เป็นไปในกุศลทั้งหลาย ทั้งในขั้นของ ทาน ศีล การอบรมความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญา

ชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความหลง ความไม่รู้ เต็มไปด้วยอกุศลประการต่างๆ ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกต้อง ในความเหมาะควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน สมัยไหน การที่กุศลธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะสติมีการระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ก็เต็มไปด้วย โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการระลึกได้ เป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน กุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมกับสติ และโสภณธรรมอื่นๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดี ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน และในขณะที่สติเกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่นั้น ชื่อว่ามีธรรมเป็นเครื่องรักษา เพราะรักษาให้เป็นไปในกุศลธรรม ปิดกั้นความเกิดขึ้นของอกุศลธรรม ไม่ว่าอยู่ในที่ไหน เวลาใดก็ตาม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
supim
วันที่ 31 ส.ค. 2555

ขอกราบขอบคุณและขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 31 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
natre
วันที่ 2 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
mratanamart
วันที่ 26 ก.ย. 2559

ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาต่อทุกกุศลเจตนาในการฟังและให้ธรรมของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
มกร
วันที่ 31 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yanong89
วันที่ 6 ก.พ. 2562

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ