อารัมมณาธิปติปัจจัย


    สำหรับ “อารัมมณาธิปติปัจจัย” หมายความถึงสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของจิต   อารมณ์ที่มีกำลังที่ประทับใจ ที่ทำให้จิตพอใจ แล้วแสวงหาหรือปรารถนาอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยที่จะทำให้จิตนั้น ๆ เกิดขึ้น

    นี่เป็นชีวิตประจำวันซึ่งตั้งแต่ลืมตาตื่น ยังไม่ทราบเลยว่า โลภะส่วนใหญ่ที่เกิดดับ   เพราะฉะนั้นจะมากสักเท่าไรในวันหนึ่ง  ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แต่เพราะไม่รู้ว่า   ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต บางท่านก็เลยกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะ เพราะเหตุว่าอารมณ์ของโลภะที่ไม่มีกำลังนั้นไม่เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย  แต่ขณะใดก็ตามที่ท่านเกิดความรู้สึกว่า ท่านมีความพอใจมีความอยากได้ มีความต้องการ ในขณะนั้นให้ทราบว่า อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย  ทำให้จิตประทับใจ หรือว่าพึงพอใจ หรือว่าปรารถนาในอารมณ์นั้น ซึ่งในวันหนึ่ง ๆ  มีแต่โลภะทั้งนั้น   ก็ยังไม่รู้ จนกว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่ง จึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้เรื่องสภาพของจิตใจในวันหนึ่ง ๆ  ก็จะเห็นได้ว่า  เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ทรงแสดงเรื่องของปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่รู้ยาก เพราะเหตุว่าโลภะมีหลายระดับ มีหลายขั้น โลภะบาง ๆ   ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นโลภะ จนกว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ ที่ปรารถนา   ที่ต้องการอย่างยิ่ง จึงจะรู้ได้ว่า  ขณะนั้นเป็นโลภะ

    สำหรับโลภมูลจิตนี้มีมากในวันหนึ่งๆ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รู้เรื่องของโลภะมากๆ  และรู้ว่าโลภะนั้นปรารถนาในอารมณ์ใดบ้าง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะละโลภะได้เลย

    สำหรับอารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่ง ที่เป็นอารัมณณาธิปติปัจจัย โดยนัยของจิตแล้ว ได้แก่ จิต ๘๔ ดวง เว้นจิตเพียง ๕ ดวงเท่านั้น คือ เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง  โมหมูลจิต ๒   และทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง

    นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะให้เห็นว่า โลภะเกิดมากเพียงใด  มีท่านผู้ใดต้องการโทสมูลจิตบ้าง ไม่มี เพราะฉะนั้นโทสมูลจิตจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    มีท่านผู้ใดต้องการโมหมูลจิตบ้าง ก็ไม่มีอีก เพราะฉะนั้นโมหมูลจิตจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย   

    มีท่านผู้ใดต้องการทุกขกายวิญญาณ คือ ความไม่สบายกาย  ความป่วยไข้  ความปวดเมื่อย  ความทุกข์ต่าง ๆ ทางกาย ก็ไม่มีใครปรารถนาอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง  และทุกขกายวิญญาณ  ๑ ดวง  ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น ไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะอย่างเดียว ในชีวิตประจำวันบางท่านเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในกุศล  เพราะฉะนั้นมหากุศลจิต ๘  ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้หรือว่าให้เกิดโลภะก็ได้

    ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังยังไม่ได้อบรมเจริญสมถะ ความสงบ  จนกระทั่งฌานจิตเกิด   ยังไม่มีรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศล  ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังก็จะมีกุศลจิตบ้าง หรืออกุศลจิตบ้าง ขณะใดที่ท่านปรารถนาพอใจในกุศล  ขณะนั้นกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ว่า   แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตซึ่งมีกุศลเป็นอารมณ์จะเป็นมหากุศล หรือเป็นอกุศล

    นี่เป็นความละเอียดอีก  มิฉะนั้นแล้วท่านผู้ฟังจะไม่ทราบเลยว่า จิตของท่านในขณะนี้   เป็นกุศลหรืออกุศล  ทุกท่านเคยให้ทาน เคยคิดถึงทานที่ให้ไปแล้วไหมคะ  ตามความเป็นจริง นี่กำลังจะพูดถึงเรื่องปัจจัยที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย  เคยใช่ไหม ในขณะที่ระลึกถึงทานที่ให้แล้ว   ทราบไหมว่าจิตที่กำลังคิดถึงทานที่ได้กระทำแล้วนั้น จิตที่กำลังนึกถึงทานนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละอกุศล แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลหรือขณะใดเป็นอกุศล  ย่อมละอกุศลไม่ได้  การฟังธรรมเพื่อให้เกิดความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อดับอกุศล เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จริง ๆ ว่า   ขณะจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล  ถ้านึกถึงทานแล้วมีความสำคัญตน ในขณะนั้นเป็นอกุศล มีความรู้สึกว่าเป็นทานของเรา  หรือว่าเราสามารถจะกระทำทานได้อย่างประณีต ในขณะนั้นให้ทราบว่า แม้คิดถึงทานกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่จิตที่มีกุศลนั้นเป็นอารมณ์ก็ยังเป็นโลภมูลจิตได้ 

    ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะขัดเกลาไหมในขณะนั้น กำลังพอใจในกุศลของตนที่ได้กระทำแล้ว สติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต  เป็นโลภมูลจิต ประกอบด้วยความสำคัญตน ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน   หรือว่าเป็นไปในศีลก็ตาม

    ท่านที่เป็นผู้รักษาศีล เคยมีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้มีศีล คนอื่นเป็นผู้ที่ทุศีล  ในขณะนั้นแม้ระลึกถึงศีลของตน  โลภมูลจิตก็เกิดได้  เพราะฉะนั้นเรื่องของโลภมูลจิตเป็นเรื่องที่มากจริง ๆ และถ้าไม่รู้ในความละเอียดของโลภมูลจิตแล้ว จะไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลที่ควรละ เพราะเหตุว่าถึงแม้จะนึกถึงกุศลประเภทต่าง ๆ จิตที่นึกถึงกุศลประเภทนั้น ๆ  ก็ยังเป็นอกุศลได้

    สำหรับโลกียกุศลทั้งหมดเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ และเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย   ของกุศลจิตก็ได้ หรือของโลภมูลจิตได้ แต่สำหรับโลกุตตรกุศลไม่สามารถจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลได้

    ท่านผู้ฟังเคยสังเกตชีวิตประจำวันของท่านไหมคะว่า อะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย   เป็นสิ่งที่ท่านพอใจอย่างยิ่ง  สิ่งที่ท่านพอใจอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน  เป็นกุศลหรืออกุศล

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง  ท่านได้ฟังเรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว  ท่านบอกว่าท่านไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัยที่เป็นกุศลเลย  ท่านมีกุศลจิตจริง เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว  เวลาที่ระลึกถึงกุศลนั้น ๆ ก็เฉย ๆ   ไม่เป็นเหตุให้กุศลที่ผ่องใสเกิดขึ้น แต่สำหรับทางฝ่ายอกุศล ท่านมีอารัมมณาธิปติปัจจัยทั้งนั้น   เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ชอบดอกไม้  ต้นไม้ สัตว์ ชอบดูหนัง ชอบสนุกสนานรื่นเริง   เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของท่านผู้นั้น  อารัมมณาธิปติปัจจัยของท่านเป็นอกุศล  แต่ว่ากุศลไม่ได้เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของท่านเลย

    ประโยชน์คือท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ในวันหนึ่ง ๆ สิ่งซึ่งท่านติดและพอใจนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะได้ละคลายทางฝ่ายอกุศล


    หมายเลข 3278
    29 ส.ค. 2558