ชีวิตประจำวันกับการศึกษาปัจจัย


    เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียด ยุ่งยาก สลับซับซ้อน  แต่ให้ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวัน   แต่ละขณะจิต  จิตเกิดขึ้นดวงเดียว ขณะเดียว แล้วดับนี้  ผู้ที่ตรัสรู้ทรงทราบว่า อาศัยปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว  แต่คนที่ไม่รู้ ก็ไม่รู้ และถ้าจะศึกษาตามที่ทรงแสดงก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนและละเอียด ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่ายุ่งยากสลับซับซ้อนและละเอียดมาก  ก็ให้ทราบว่า นี่คือความจริงของจิตของท่านทุกขณะ ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และละเอียด  ยากที่จะรู้ได้โดยถี่ถ้วน โดยละเอียดจริง ๆ   

    เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะได้ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด  รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้น ๆ ด้วย

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาสภาพปรมัตถธรรมทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และการรู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป และสภาพของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นปัจจัย ทำให้จิต เจตสิก รูปนั่นเองเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ละเอียด  แต่ว่าจะทำให้เข้าใจสภาพชีวิตประจำวันถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น  แม้ว่าจะเป็นความเข้าใจที่อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม แต่ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะอะไรชีวิตจึงดำเนินไปอย่างนี้   ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกท่านอาจจะไม่เคยคิด  เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส  รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  คิดนึก  แต่ก็ไม่ได้หมดไป สูญหายไปเลย วันนี้ก็มีอีกแล้ว แล้ววันต่อ ๆ ไปก็มีอีกเรื่อย ๆ เพราะอะไร

    ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้  และสภาพธรรมที่เกิดมีขึ้น ก็ได้แก่ จิต เจตสิก  รูปนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะรู้สภาพที่เป็นปัจจัยที่ทำให้จิต เจตสิก รูป เกิดในแต่ละขณะนี้ ซึ่งข้อความในอภิธรรมมัตถวิภาวิณีฎีกา  ซึ่งอธิบายอภิธรรมมัตถสังคหะ  ปริจเฉทที่ ๘  เรื่องของปัจจัย  มีข้อความว่า

    ควรทำสุตตมยญาณให้เกิดขึ้นว่า  ธรรมเหล่านี้มีความพิเศษอย่างนี้ แล้วทำความพากเพียร   เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นด้วยจินตามยญาณ  และภาวนามยญาณ

    คือเรื่องของการฟังให้เข้าใจเสียก่อน ในเรื่องความพิเศษของธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง เช่น เห-ตุปัจจัย  ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ ดวง เพราะฉะนั้นก็เป็นส่วนพิเศษของธรรม   ซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งธรรมอื่น คือ เจตสิกอื่น ๆ ไม่สามารถจะเป็นเห-ตุปัจจัยได้อย่างเจตสิก ๖ ดวงนั้น  เพราะฉะนั้นก็เป็นความพิเศษของธรรมพวกหนึ่ง ได้แก่ ธรรมที่เป็นเหตุ และธรรมคือเจตสิก และจิต และรูป ต่างก็มีลักษณะที่พิเศษ ซึ่งทำให้เป็นปัจจัยที่พิเศษต่าง ๆ เมื่อได้เข้าใจแล้ว   ทำความพากเพียรเพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นด้วยจินตามยญาณ

    ต้องมีการฟัง พิจารณา ตรึก จนกระทั่งเข้าใจ เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นด้วยจินตามยญาณ และภาวนามยญาณ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  ก็ยังคงไม่รู้ไปเรื่อย ๆ  แต่เพราะรู้  จึงเข้าใจละเอียดขึ้นว่า ขณะใดสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมใด

     


    หมายเลข 3367
    29 ส.ค. 2558