พระสูตรเรื่องปฐมโพธิกาล ... วันเสาร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  26 พ.ค. 2555
หมายเลข  21171
อ่าน  3,344

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••


... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

เรื่องปฐมโพธิกาล
...จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๒ - หน้าที่ 178-180

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๒ - หน้าที่ 178-180

เรื่องปฐมโพธิกาล

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยสามารถเบิกบานพระหฤทัย ในสมัยอื่น พระอานนท์เถระทูลถาม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อเนกชาติสสาร" เป็นต้น. ทรงกำจัดมารแล้วทรงเปล่งพระอุทาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารแล้ว ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดปุพเพนิวาสญาณ, ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว, ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงหยั่งพระญาณลงในปัจจยาการแล้วทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น ด้วยสามารถแห่งอนุโลมและปฏิโลม. ในเวลาอรุณขึ้นทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมด้วยอัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ไม่ทรงละแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า "เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์, แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่าน แล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า คหการ คเวสนฺโต ความว่า เราเมื่อแสวงหานายช่างคือตัณหาผู้ทำเรือน กล่าวคืออัตภาพนี้ มีอภินิหารอันทำไว้แล้ว แทบบาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เพื่อประโยชน์แก่พระญาณ อันเป็นเครื่องอาจเห็นนายช่างนั้นได้ คือ พระโพธิญาณ เมื่อไม่ประสบ ไม่พบ คือ ไม่ได้พระญาณนั้นแล จึงท่องเที่ยวคือเร่ร่อน ได้แก่ วนเวียนไปๆ มาๆ สู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก คือ สู่สังสารวัฏฏ์นี้ อันนับได้หลายแสนชาติ สิ้นกาลมีประมาณเท่านี้.

คำว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุน นี้ เป็นคำแสดงเหตุแห่งการแสวงหาช่างผู้ทำเรือน. เพราะชื่อว่าชาตินี้ คือ การเข้าถึงบ่อยๆ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะภาวะที่เจือด้วยชรา พยาธิ และมรณะ. ก็ชาตินั้น เมื่อนายช่างผู้ทำเรือนนั้น อันใครๆ ไม่พบแล้วก็ยังเป็นไป ฉะนั้น เราเมื่อแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน จึงได้ท่องเที่ยวไป.

บทว่า ทิฏฺโฐสิ ความว่า บัดนี้ เราตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ พบท่านแล้วแน่นอน. บทว่า ปุน เคหํ ความว่า ท่านจักทำเรือนของเรา กล่าวคือ อัตภาพ ในสังสารวัฏฏ์นี้อีกไม่ได้. บาทพระคาถาว่า สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา ความว่า ซี่โครง กล่าวคือกิเลสที่เหลือทั้งหมดของท่าน เราหักเสียแล้ว. บาทพระคาถาว่า คหกูฏ วิสงฺขต ความว่า ถึงมณฑลช่อฟ้ากล่าวคืออวิชชาแห่งเรือนคืออัตภาพที่ท่านสร้างแล้วนี้ เราก็รื้อเสียแล้ว. บาทพระคาถาว่า วิสงฺขารคต จิตฺต ความว่า บัดนี้ จิตของเราถึง คือ เข้าไปถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว คือ พระนิพพาน ด้วยสามารถแห่งอันกระทำให้เป็นอารมณ์. บาทพระคาถาว่า ตณฺหาน ขยมชฺฌคา ความว่า เราบรรลุพระอรหัตต์ กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว.

เรื่องปฐมโพธิกาล จบ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

พระสูตรเรื่อง ปฐมโพธิกาล


คำว่า ปฐมโพธิกาล หมายถึง ช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ใหม่ๆ หรือ เมื่อแรกที่ได้ทรงตรัสรู้

เป็นความจริงที่ว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็จะทรงเปล่งพระอุทาน (คำที่ทรงเปล่งออกด้วยพระโสมนัสญาณ) ว่า เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก เป็นต้น

พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระสมณโคดม) ก็เช่นเดียวกัน ในวันที่ทรงตรัสรู้ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) พระองค์เสด็จเข้าไปยังโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงกำจัดกองกำลังแห่งมาร และ ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นั้น ในเวลาใกล้รุ่งของวันวิสาขบูชา เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงเปล่งพระอุทาน ดังกล่าว ในสมัยต่อมาพระอานนท์ทูลถาม พระองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ ดังปรากฏในพระสูตรนั่นแล

ใจความของพระคาถาที่เป็นพระอุทานของพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขยแสนกัปป์เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แต่เมื่อยังไม่ได้ปัญญาที่จะสามารถดับตัณหาซึ่งเป็นกิเลสที่สร้างภพชาติได้ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด นับชาติไม่ถ้วน ยังเต็มไปด้วยกองแห่งทุกข์นานัปประการ แต่เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดับตัณหาซึ่งเป็นตัวสร้างภพชาติ พร้อมทั้งอวิชชา และกิเลสทั้งหลายในฐานะเดียวกัน ได้ทั้งหมดแล้ว กิเลสเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นอีก ไม่สามารถสร้างภพชาติให้กับพระองค์ได้อีกต่อไป ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายสำหรับพระองค์ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

เรือน และนายช่างผู้สร้างเรือน เป็นธรรม

นายช่างผู้ทำเรือน

วันพิเศษคือวันวิสาขบูชา

นี่ก็ใกล้วันวิสาขบูขาอีกแล้ว

เรือนดี แต่ผู้อาศัยไม่ดี

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
surat
วันที่ 26 พ.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิบายปฐมโพธิกาล

พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานนี้ คือ เราเมื่อแสวงหานาสยช่างเรือน


เมื่อ พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เมื่ออรุณขึ้น หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ แรกตรัสรู้ จึง

ใช้คำว่า ปฐมโพธิกาล ครับ

อธิบายพระคาถาดังนี้ ครับ

"เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์, แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่านแล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"


พระคาถาทที่ว่า

"เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก

เรือน คือ อัตภาพ ที่เป็นจิต เจตสิก รูปที่บัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล ผู้ที่สร้างเรือน สร้างอัตภาพนี้ คือ ตัณหา เพราะ มีตัณหา มีกิเลสประการต่างๆ จึงมีการทำกรรม ทำกุศลกรรม อกุศลกรรม จึงเป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูป ที่เรียกว่าเรือน อัตภาพนั่นเอง ครับ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เราเมื่อแสวงหานายช่างเรือน คือ เมื่อครั้งที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพระนิพพาน เพื่อดับกิเลส จึงแสวงหา นายช่างผู้สร้างเรือน คือเหตุให้เกิด การมีขึ้นของจิต เจตสิก รูป เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่มีปัญญามากพอ เพราะ การจะรู้จักนายช่างเรือน คือ เหตุแห่งทุกข์ทั้งหมด ที่เป็นตัณหาและอวิชชา ก็ต้องหาด้วยปัญญา คือ มีปัญญาระดับมรรคจิต ผลจิต ที่สามารถดับกิเลส มีตัณหา และ อวิชชา เป็นต้น เมื่อไม่มีปัญญาอย่างนี้ แม้แสวงหานายช่างเรือนอยู่ แต่เมื่อไม่พบ คือ ไม่พบด้วยปัญญา ก็ย่อมท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ คือ มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะ ไม่ได้พบเหตุแห่งทุกข์ ครับ

มีชาติเป็นเอนก คือ มีการเกิดนับไม่ถ้วน

พระคาถาที่ว่า ความเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์

ความเกิดบ่อยๆ คือ การเกิดขึ้นของจิต เจตสิกและรูป เป็นทุกข์ เพราะ เป็นทุกข์ด้วยอำนาจของ ทุกขทุกข คือ มีการเจ็บป่วย ทนทุกข์ทรมาน และ สังขารทุกข์ คือ เป็นทุกข์เพราะ สภาพธรรมเหล่านั้น ไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไป เพราะความไม่เที่ยงของสภาพธรรม จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ ครับ

พระคาถาาที่ว่า

แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่าน แล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเราบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ดับกิเลสหมดสิ้นด้วยปัญญา เรา คือ ปัญญาของพระพุทธเจ้า พบท่านแล้ว คือ พบเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา ด้วยการเจริญอบรมปัญญา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้ คือ ตัณหา เมื่อถูกพบด้วยปัญญาและดับกิเลส คือ ตัณหา อวิชชา จนหมดสิ้น ก็ไม่สามารถทำเรือน เรือน คือ จิต เจตสิก รูป ไม่สามารถทำให้จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นได้อีก เพราะ ดับพืชเชื้อ คือ กิเลสที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดอัตภาพ เรือนที่เป็น จิต เจตสิก รูป ครับ

ซึ่โครงเรือน คือ โครงเรือนที่เป็นไม้ เราหักโครงเรือนด้วยปัญญาแล้ว ยอดเรือน คือ อวิชชา ความมไ่รู้ ที่เป็นยอด เพราะ รวบรวมอกุศลธรรมไว้ และ ทำให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม มีการเวียนว่ายตายเกิด เพราะอาศัย อวิชชาด้วย พระองค์ ตรัส ละ อวิชชาหมดสิ้น คือ รื้อ ยอดเรือนด้วยปัญญาแล้ว จิตของพระองค์ ถึงธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง คือ จิตของพระพุทธเจ้า ได้ประจักษ์พระนิพพานที่เป็นธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง เพราะ พระองค์ได้ดับกิเลส คือ ตัณหา ด้วยพระปัญญา จึงประจักษ์พระนิพพาน

จากพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นถึงความจริงของ การเกิดขึ้น ของจิต เจตสิก รูป หรือ ที่กล่าวว่าการเวียนว่ายตายเกิด ว่ามีเหตุจากิเลส คือ ตัณหา เป็นต้น อันพระพุทธเจ้าทรงแสวงหาหนทางดับกิเลส ด้วยการอบรมบารมีอย่างยาวนาน นับชาติไม่ได้ ซึ่งเมื่อพระองค์แสวงหาทางอยู่ เมื่อไม่พบ คือ ปัญญายังไม่เกิด ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดประสบทุกข์มากมาย และเมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ในวันวิสาขบูชา พระองค์เกิดปิติ โสมนัส เปล่งพระอุทาน ที่แสดงว่า พระองค์ได้พบนายช่างผู้สร้างเรือน คือ พบเหตุแห่งทุกข์แล้ว และพระองค์ก็ตรัสรู้และดับกิเลสด้วยพระปัญญาแล้วด้วย จึงเกิดปิติโสมนัส ในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และปิติโสมนัสในสิ่งที่พระองค์บำเพ็ญบารมีอย่างยาวนานนับชาติไม่ถ้วน และ ณ ที่ตรงนี้ ที่ โพธิบัลลังก์ ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระองค์ตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่ยม คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระองค์ทรงดำเนิน ดับกิเลส

พบนายช่าง คือ ตัณหาด้วยพระปัญญา และ รื้อยอดของเรือน คือ ละอวิชชาหมดสิ้น เกิดปิติโสมนัสที่ละกิเลสได้หมด แล้ว ครับ และจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป ถึงความสมปรารถนา ที่พระองค์ตั้งไว้เมื่อสมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร ว่า จะขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครับ

พระสูตรนี้ จึงแสดงถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ตรัสรู้เพื่อช่วยสรรพสัตว์ แสดงถึง พระบริสุทธิคุณ คือ ความไม่มีกิเลสของพระองค์ หมดสิ้น ในวันวิสาขบูชา และพระปัญญาคุณที่ ตรัสรู้ธรรมด้วยพระปัญญา ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญา ย่อมซาบซึ้ง เกิดศรัทธา ปัญญาในพระธรรมสูตรนี้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 28 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 1 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Nataya
วันที่ 14 มิ.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ