ชุด วิถีจิต แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๗


    แต่ทุกท่านก็เกิดในที่นี้แล้ว เพราะฉะนั้น รู้ได้แน่ว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละท่าน ที่ทำให้เกิดมาในโลกนี้ ไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และแต่ละท่านซึ่งไม่เป็นผู้ที่พิการทางกาย ไม่เป็นผู้ที่พิการทางใจ ก็รู้ได้ว่าไม่ใช่เป็นผลของมหากุศลอย่างอ่อน ที่จะทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ คือ เป็นมนุษย์ก็จริง แต่เป็นผู้ที่พิการทางกายบ้าง หรือทางใจบ้างตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผลของกุศล ที่มีกำลังพอสมควร ซึ่งทุกท่านสามารถที่จะฟังพระธรรม และพอที่จะคาดคะเนหรือพิจารณาได้ว่าปฏิสนธิของท่านจะเป็นผลของมหากุศลดวงใด เพราะว่าเหตุที่จะให้ปฏิสนธิ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง แต่มหากุศลจิต ๘ ดวงนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรปฏิสนธิ ๙ ดวง ที่เป็นสุคติภูมิ คือ มนุษย์ และสวรรค์

    คนในโลกนี้ก็มีมากมาย แต่จิตที่ทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์มี ๙ ดวง

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาโลกสูตร มีข้อความว่า

    ที่ใช้คำว่า โลก มีหลายความหมาย สำหรับความหมายในพระสูตรนี้ กล่าวถึงโลก ๓ ความหมาย คือ โลกคือโอกาสโลก โลกคือจักรวาล ๑ โลกคือ สังขาร ๑ และโลกคือสัตวโลก ๑

    สำหรับโลก คือ จักรวาล ชื่อว่าโอกาสโลก เพราะอรรถว่า เห็น คือ ปรากฏโดยอาการวิจิตร

    แต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย บางประเทศหนาว บางประเทศร้อน มีภูเขาไฟ มีทะเล มีแม่น้ำ มีป่าต่างๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นโอกาสโลกโดยอาการวิจิตรต่างๆ

    สำหรับโลกอีกความหมายหนึ่ง คือ สังขารโลก

    เพราะอรรถว่า ย่อยยับ คือ ผุพัง

    ได้แก่ เกิดดับนั่นเอง

    สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น สังขารธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัย และดับ ไม่เที่ยง มีทั้งสังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ ไม่มีใจครอง แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปทั้งหมดแล้ว ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าสังขารทั้งหมด เพราะว่าไม่เที่ยง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802

    นาที 03:20

    ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป และผลแห่งบุญ และบาป

    ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด ในโลกมนุษย์ก็เห็นมนุษย์มาก แต่ในขณะเดียวกันก็มี ภูมิอื่นอีกภูมิหนึ่ง คือ สัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็น สัตว์ดิรัจฉานก็ตาม ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป และผลแห่งบุญ และบาป

    แม้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างนี้ แต่ไม่ทราบว่าวันนี้มีใครพิจารณา บุญ และบาป หรือผลแห่งบุญ และบาปของสัตวโลกบ้าง เช่น สักครู่นี้มีสุนัขขี้เรื้อน ๑ ตัว ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ใช่ไหมว่า เป็นผลแห่งบุญ และบาป ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณวรรณะ รูปร่างหน้าตา แม้แต่เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถ ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป และผลแห่งบุญ และบาป

    ดูตัวเองก็ได้ ดูญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็ได้ ดูสัตว์อื่นๆ รอบข้างก็ได้ ใครกำลังเจ็บป่วย ใครกำลังทุกข์ทรมาน ใครกำลังเดือดร้อน ใครกำลังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าแปลก ที่ไม่เกิดกับบุคคลทั่วๆ ไป แต่ก็เกิดเฉพาะกับบางบุคคล เพราะว่า เป็นผลแห่งบุญ และบาปของบุคคลนั้น

    นี่คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ดูบุญ และบาปที่กระทำอยู่ซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิเป็นประเภทใด เพราะถ้าเป็นอกุศลกรรม เวลาที่ปฏิสนธิ จะไม่ทราบเลยว่า สัตว์ตัวนั้นชาติก่อนเคยเป็นใคร มีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน แต่เร็วยิ่งกว่ากระพริบตา เปลี่ยนจากจุติจิต จิตสุดท้ายของชาตินี้ซึ่งเคยเป็นมนุษย์ ซึ่งเคยเป็นผู้ที่มีปัญญา แต่เมื่อจุติจิตดับลง อกุศลกรรมทำให้เกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิ

    เวลาที่เห็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นในโลกนี้ อาจจะเป็นสัตว์ที่น่ารัก เป็นสัตว์เลี้ยง ลืมคิดถึงอดีตกรรมที่ทำให้สัตว์นั้นเกิดด้วยอเหตุกสันตีรณอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นเครื่องเตือนจริงๆ ว่า เมื่อสัตว์นั้นยังเกิดอย่างนั้นได้ และแต่บุคคลจะไม่เกิดอย่างนั้นหรือ ถ้ายังมีเหตุ คือ ยังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิโดยรวดเร็วเหลือเกิน ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อไร และทันทีที่จุติจิตเกิด และดับไป ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม จะเกิดต่อทันที แล้วแต่ว่าจะเกิดในภูมิไหน ถ้าเกิดในภูมิที่ดีก็ดี

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เรวตีวิมาน มีข้อความว่า

    ขึ้นชื่อว่าสมบัติในเทวโลก ย่อมเป็นที่พอใจยิ่ง เหมือนทุบภาชนะดินแล้วรับเอาภาชนะทองฉะนั้น

    ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในโลกมนุษย์ ก็รู้สึกว่าพอใจมากที่จะเป็นผู้ที่มีความ สุขสบายในโลกมนุษย์ แต่ถ้าจุติจิตเกิด และดับไป และปฏิสนธิเกิดต่อในสวรรค์ จะรู้ได้ทีเดียวว่า ขึ้นชื่อว่าสมบัติในเทวโลก ย่อมเป็นที่พอใจยิ่ง เหมือนทุบภาชนะดินแล้วรับเอาภาชนะทองฉะนั้น

    สำหรับบุญกุศลทั้งหลาย จะติดตามให้ผลได้หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว อาจจะ มีกำเนิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของอกุศลกรรมก็จริง กรรมหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่กรรมอื่นๆ ที่จะตามมาอุปถัมภ์หรือเบียดเบียน ก็ยังมีโอกาสหลังจากปฏิสนธิจิตแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สัตว์บางชนิด เช่น สัตว์เลี้ยง บางตัวนอนเตียงทองคำ

    เพราะฉะนั้น ผลของบุญ ไม่ว่าจะอยู่ในกำเนิดใดทั้งสิ้น ก็เหมือนกับมิตร และพวกพ้องทั้งหลายย่อมยินดีต้อนรับคนที่จากไปนานแล้วกลับมา ฉันใด บุญทั้งหลายของตนๆ ย่อมต้อนรับประคับประคองบุคคลที่ทำบุญไว้ ผู้จากโลกนี้ไปปรโลกฉันนั้น

    ฟังแล้ว ก็น่าจะกระทำบุญจริงๆ แต่วันหนึ่งๆ คิดดู สัตว์โลกเป็นที่ดูบุญ และบาป ก็น่าจะพิจารณาจิตที่เป็นเหตุในขณะนี้ด้วยว่า วันหนึ่งๆ นั้นกุศลจิตเกิด มากไหม ถ้ากุศลจิตเกิดน้อยกว่าอกุศลก็ต้องพิจารณาอีกว่า เป็นอกุศลกรรมหรือไม่ เพราะเพียงความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมโลภะ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่ถึงกับให้เกิดการกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น แม้ว่ายังเป็นผู้ที่มีโลภะอยู่ ก็ต้องระวังที่จะไม่ทำอกุศลกรรม เพราะถ้ากระทำอกุศลกรรมแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด

    สำหรับเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง และกุศลที่มีกำลังมาก ขั้นสูงที่สุด คือ เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา และเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

    เคยมีกุศลอย่างนี้บ้างไหม เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา และไม่อาศัยการชักจูง ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปในการศึกษาพระธรรม ในการสนทนาธรรม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการกุศลทั้งหลาย กุศลใดที่ทำแล้วปลาบปลื้มจิตผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือ ทั้งในขณะก่อนให้ จิตก็ผ่องใส ในขณะที่กำลังให้ จิตก็ผ่องใส ครั้นให้แล้วก็ยังปลาบปลื้มอีก และเมื่อเป็นผลของกุศลนั้น ก็จะทำให้มหาวิบากที่เป็นโสมนัสเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และเป็นอสังขาริกเกิด

    มหากุศลดวงที่ ๒ คือ เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา แต่ต้องอาศัยการชักจูง

    ที่จริงก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่เมื่อออกมาเป็นเรื่องประเภทของจิตแต่ละชนิด และมีภาษาบาลีด้วย ท่านผู้ฟังก็คิดว่าไม่ใช่ในขณะที่ทำกุศล แต่ที่จริงอาจจะเป็น ในขณะนี้เอง มหากุศลจิตกำลังเกิด ก็พิจารณาเวทนา ความรู้สึกได้ว่า ความรู้สึกในขณะนี้โสมนัสไหม หรือเป็นอุเบกขา ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริกหรือเป็นสสังขาริก เพราะฉะนั้น ผลก็ต้องต่างกันไป นี่คือ กุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒

    สำหรับดวงที่ ๓ ยังเป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แสดงให้เห็นถึงกำลังของกุศลว่า กุศลประเภทที่เกิดกับโสมนัสเวทนามีกำลังมากกว่ากุศลที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สำหรับกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาก็จริง แต่เป็นกุศลที่อ่อนกว่าดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒ เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา และก็เป็นกุศลจิตที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    สำหรับมหากุศลดวงที่ ๔ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่อาศัยการชักจูง

    ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนก็เป็นอย่างนี้ กุศลดวงนั้นบ้าง ดวงนี้บ้างประกอบด้วยโสมนัสบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีการชักจูงบ้าง ไม่มีการ ชักจูงบ้าง

    จริงๆ แล้วกุศลจำแนกโดยเวทนา ๑ และโดยมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ๑ และอาศัยการชักจูงหรือไม่อาศัยการชักจูง ๑ ทำให้ กุศลนั้นต่างกันไปเป็น ๔ ดวง หรือ ๔ ประเภทที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    และสำหรับอีก ๔ ดวง ก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา โดยนัยเดียวกัน คือ บางขณะประกอบด้วยปัญญา และไม่ต้องอาศัยการชักจูง บางขณะประกอบด้วยปัญญาแต่ต้องอาศัยการชักจูง และบางขณะไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่อาศัยการ ชักจูง และบางขณะไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ต้องอาศัยการชักจูง

    ถ้ากุศลดวงที่เป็นอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยปัญญา และอาศัยการชักจูง อ่อนมาก ก็ให้ผลทำให้พ้นจากอบายภูมิ ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดในนรก ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าพิการ

    แสดงให้เห็นถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ชื่อว่าสัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป และผลแห่งบุญ และบาป


    และสำหรับการที่จะรู้กรรม ไม่ควรจะเป็นเพียงเหตุการณ์ แต่สามารถรู้ แม้ในขณะที่กำลังเห็น คือ ในขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก แต่จิตที่เกิดหลังจากนั้นอาจจะเป็นกุศลก็ได้ หรืออาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาในขณะนั้น

    ชีวิตก็ดำเนินไปอย่างนี้ทุกวันๆ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะสังเกตเห็นว่า วันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากผลของกรรม และกรรมซึ่งเป็นเหตุ ได้แก่ บุญ และบาป

    สำหรับภัยของชีวิต ซึ่งแต่ละคนประสบอยู่ทุกคน แต่อาจจะไม่ได้สังเกต เพราะว่าบางท่านอาจจะประสบภัยเพียงเล็กน้อย แต่บางท่านอาจจะประสบภัยของชีวิตที่ร้ายแรง สำหรับเหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่พบกันอยู่ทุกวัน ก็ได้แก่ความ ไม่สะดวกสบายต่างๆ นี่เป็นภัยของชีวิตเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนอยากมีชีวิต ที่สะดวกสบาย ไม่ต้องการพบกับความไม่สะดวกสบายใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่ประสบกับความไม่สะดวกสบายแม้เพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นภัยของชีวิตว่า นี่คือ ภัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน

    เวลาที่เจ็บป่วย ทุกคนก็เริ่มจะเห็นภัย ซึ่งในขณะที่ไม่เจ็บป่วยไม่เคยเห็น นอกจากนั้นยังมีภัยอื่นๆ ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ต่างๆ

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรคที่ ๓ สัลลสูตรที่ ๘ ได้กล่าวถึงความยากลำบากของชีวิต ความเล็กน้อยของชีวิต ซึ่งมี ภัยมาก เพราะถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว ความเป็นไปของชีวิตแต่ละขณะเนื่องกับ ปัจจัยหลายอย่างจึงดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตไม่ได้ให้เป็นไปเพื่อความสุขเท่านั้น เพราะบางคนหวังเหลือเกิน เกิดมาชาตินี้จะให้มีความสุขมากๆ สิ่งที่ต้องการ คือ ความสุขเท่านั้น แต่ไม่ควรจะลืมอีกด้านหนึ่งของชีวิตด้วยว่า ชีวิตไม่ใช่ให้เป็นไป เพื่อความสุขเท่านั้น

    สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตซึ่งบอบบาง เล็กน้อย และยากลำบากดำรงอยู่ได้ คือ

    ๑. ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้าออก

    ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกโดยสม่ำเสมอจะไม่รู้สึกเลยว่า ชีวิตทั้งชีวิตแขวน อยู่กับลมหายใจแผ่วๆ ซึ่งถ้าเกิดขัดข้อง คือ ไม่หายใจเข้า ไม่หายใจออก ก็เป็นอยู่ไม่ได้ และก่อนที่จะไม่หายใจเข้า ไม่หายใจออก จะทรมานสักแค่ไหน ในขณะที่หายใจไม่ออก อย่างบางคนเวลาที่เป็นหวัดคัดจมูก แม้เพียงเท่านั้นก็อึดอัดมากมาย และถ้ามากกว่านั้น ซึ่งหลายชีวิตต้องประสบกับภาวะเช่นนั้น ขณะนั้นก็จะต้องเป็น ภัยอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ชีวิตบอบบาง และเล็กน้อยมาก เพียงมีชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยลมหายใจที่เข้าออกเท่านั้น

    ๒. ชีวิตเนื่องด้วยมหาภูตรูป

    อาศัยความสม่ำเสมอของธาตุทั้ง ๔ จึงเป็นปกติ ถ้าธาตุทั้ง ๔ มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ปกติ ถ้าธาตุลมมีมากปั่นป่วนในร่างกาย จะทำให้ถึงสิ้นสติได้ หรืออาจจะทำให้ถึงกับพิการเป็นอัมพาตได้ นั่นคือความไม่สม่ำเสมอของธาตุทั้ง ๔

    ๓. ชีวิตเนื่องด้วยกวฬีการาหาร

    คือ อาหารที่บริโภคเป็นคำๆ ซึ่งทุกท่านจำเป็นที่สุดที่จะต้องบริโภคอาหารนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าอดอาหารกลางป่า หรือขาดอาหารอยู่ในที่จำกัด และขาดอาหารหลายๆ วัน ก็ทำให้สิ้นชีวิตได้เหมือนกัน เพราะว่าชีวิตเนื่องด้วยกวฬีการาหาร

    ๔. ชีวิตเนื่องด้วยไออุ่น

    ได้แก่ ไฟที่เกิดจากกรรมที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น และทำให้อาหารที่บริโภคย่อย ถ้าอาหารที่บริโภคไม่ย่อยเมื่อไร เมื่อนั้นก็สิ้นชีวิตได้เหมือนกัน

    ๕. ชีวิตเนื่องด้วยวิญญาณ

    คือ เมื่อใดที่จุติจิตเกิด และดับ เมื่อนั้นสัตว์นั้นก็ไม่มีชีวิต

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803

    นาที 20:50

    ถ้าพิจารณาดูสภาพที่มีชีวิตของทุกชีวิตในโลก จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ปรากฏอยู่ ในโลกนี้ได้ ก็ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่นมากมายเลย เหตุอื่นที่คิด ก็เป็นไปด้วยความพอใจในอุปกรณ์ของชีวิตที่จะทำให้พอใจยิ่งขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่อุปกรณ์คือปัจจัยแท้จริงของชีวิต ย่อมขึ้นอยู่กับลมหายใจ เข้าออก ขึ้นอยู่กับมหาภูตรูป ขึ้นอยู่กับกวฬีการาหาร ขึ้นอยู่กับไออุ่น และขึ้นอยู่กับวิญญาณ

    บางคนก็คิดถึงชีวิตที่ยาวนานเหลือเกิน แต่ถ้าปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นปกติ สิ้นสุดลงเมื่อไร เมื่อนั้นชีวิตก็ต้องสิ้นสุดลงทันที นี่ก็น่าจะเห็นภัยของชีวิต ที่คิดว่า สนุกเหลือเกิน สบายมาก และก็มีความสุข แต่แท้ที่จริงแล้วภัยของชีวิตมีทุกขณะ ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดกว่านั้นอีก นอกจากลมหายใจเข้าออก มหาภูตรูป กวฬีการาหาร ไออุ่น และวิญญาณ สภาพที่ทำให้ต้องเกิดอีกนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือ กิเลสทั้งหลาย

    ถ้าดับกิเลส จะดับทุกข์ทั้งหมด ไม่ต้องลำบาก หรือเห็นภัยต่างๆ ของชีวิต เพราะว่าไม่ต้องเกิด ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องทุกข์ยาก ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถเห็นภัยของกิเลสได้เลย เพราะว่าทุกคนที่มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่มีการที่จะเบื่อรูป เบื่อเสียง เบื่อกลิ่น เบื่อรส เบื่อโผฏฐัพพะเลย

    ขอกล่าวถึงการเกิดในสวรรค์ ซึ่งผู้ที่มีปัญญาก็ยังเห็นโทษ

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุโบสถวิมาน มีข้อความว่า

    เทพธิดาท่านหนึ่งแสดงโทษของตนแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    ฉันทะ ความพอใจ เกิดขึ้นแก่ดิฉัน เพราะได้ฟังเรื่องสวนนันทวันอยู่เนืองๆ ดิฉันจึงตั้งจิตไปในสวนนันทวันนั้น ก็เข้าถึงสวนนันทวันได้จริงๆ ดิฉันไม่ได้ทำตามพระวาจาของพระศาสดาพุทธเจ้าเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ดิฉันนั้นตั้งจิตใจไว้ในภพ อันเลว จึงร้อนใจในภายหลัง

    เกิดถึงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะว่าได้ยินได้ฟังเรื่องความเพลิดเพลิน ความสะดวกสบาย ความสนุกรื่นเริงของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีสวนนันทวัน เพราะฉะนั้น ก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ก็รู้ว่า แม้เกิดบนสวรรค์ก็ยังต้องเกิดอีก ในเมื่อมีกิเลสที่จะทำให้เกิด และชีวิตของเทพธิดาท่านนั้น จะต้องอยู่ในวิมานนั้น ๓ โกฏิ ๖ หมื่นปี

    พอใจไหม อยู่เสียนาน และเพลิดเพลินอยู่ที่สวนนันทวัน ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ จะไม่เห็นโทษเลย แต่ผู้ใดที่เห็นโทษก็จะกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ทำตามพระวาจาของ พระศาสดาพุทธเจ้าเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์

    อีกท่านหนึ่ง

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปภัสสรวิมาน มีข้อความว่า

    เทพธิดากล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันได้ถวายพวงมาลัย และน้ำอ้อยแด่พระคุณเจ้าผู้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ดิฉันจึงได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นในเทวโลก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แต่ดิฉันยังมีความเดือดร้อน ผิดพลาด เป็นทุกข์ เพราะดิฉันไม่ได้ฟังพระธรรมอันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุนั้นดิฉันจึงมากราบเรียนพระคุณเจ้าซึ่งเป็น ผู้อนุเคราะห์ดิฉัน โปรดชักชวนผู้ที่ควรอนุเคราะห์นั้นด้วยธรรมที่พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว ทวยเทพที่มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ก็รุ่งโรจน์ล้ำดิฉัน โดยอายุ ยศ สิริ ทวยเทพ อื่นๆ ก็ยิ่งยวดกว่า โดยอำนาจ และวรรณะ มีฤทธิ์มากกว่าดิฉัน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804


    หมายเลข 69
    2 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ