ชุด วิถีจิต แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๔


    อภิธัมมัตถสังคหะ วิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๓ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าทวาร เพราะอรรถว่า เป็นเหมือนประตู เพราะความเป็นทางแห่งความเป็นไปของอรูปธรรมทั้งหลาย

    ถ้าเป็นแต่เพียงปฏิสนธิดับไป และเป็นภวังค์ เป็นกระแสภวังค์อยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีการรู้อารมณ์อื่นเลย ก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ที่จะต้องเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง คิดนึกบ้าง จะต้องอาศัยทวาร ซึ่งทั้งหมดมี ๖ ทาง เป็นรูป ๕ ทาง และเป็นจิต ๑ ทาง

    เรื่องของทวารกับเรื่องของวัตถุนั้น ต่างกัน วัตถุ คือ ที่เกิดของจิต แต่ทวาร เป็นทางที่เหมือนประตูที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นไป

    วัตถุที่เกิดของจิตเป็นรูปทั้งหมด มี ๖ รูป แต่ทวารซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้น รู้อารมณ์ก็มี ๖ แต่เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ คือ จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร โสตปสาท เป็นโสตทวาร ฆานปสาทเป็นฆานทวาร ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร กายปสาท เป็นกายทวาร เป็นรูป ๕ ทวาร ส่วนมโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเกิดก่อนวิถีจิตทางใจ

    ถ้าจะทบทวนกิจทั้งหมด ๑๔ กิจ คงจะไม่ลืม เพราะว่าเมื่อกี้ก็มีท่านผู้ฟังที่กล่าวถึงกิจต่างๆ เกือบจะครบ คือ กิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่วิถีจิต กิจที่ ๒ ภวังคกิจ ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดรู้อารมณ์ กิจที่ ๓ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตขณะแรก มี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร และมโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร

    ถ้าจะเรียงลำดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กิจที่ ๔ ก็คือ ทัสสนกิจ ได้แก่ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาท

    ถ้ากล่าวถึงจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ ทุกท่านก็ตอบได้ว่า เป็นวิถีจิต เพราะไม่ใช่ภวังค์ และทุกท่านก็ตอบได้ด้วยว่า เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะว่าเป็นจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น และถ้าศึกษาโดยละเอียดต่อไปก็จำได้ว่า จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูปนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น สำหรับจักขุวิญญาณ มีจักขุปสาทรูปเป็นทวาร เป็นทางเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ และอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิด

    จักขุวิญญาณในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้นเห็น จิตนั้นเกิดขึ้นที่จักขุปสาท และเห็นสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท นี่เป็นกิจที่ ๔ ทัสสนกิจ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798

    นาที 03:49

    ขอทบทวน ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. อาวัชชนกิจ ๔. ทัสสนกิจ จิตเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ๕. สวนกิจ ได้แก่ โสตวิญญาณ ๒ ดวง

    สวนกิจ คือ กิจได้ยิน กำลังได้ยินอยู่ในขณะนี้ เป็นโสตวิญญาณที่เกิดขึ้น ทำสวนกิจ อาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นได้ยินเสียง โสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาทรูป และดับทันที เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูปเป็นโสตทวารของโสตวิญญาณ และเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณด้วย

    มีใครเคยรู้บ้างว่า โสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาทรูป ดับที่โสตปสาทรูป และ ได้ยินที่โสตปสาทรูป

    กิจที่ ๖ ฆายนกิจ คือ จิตที่เกิดขึ้นได้กลิ่น ได้แก่ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง

    กิจที่ ๗ สายนกิจ คือ จิตที่เกิดขึ้นลิ้มรส ได้แก่ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่ ชิวหาปสาทรูป ดับที่ชิวหาปสาทรูป และรู้อารมณ์โดยอาศัยชิวหาปสาทรูป

    กิจที่ ๘ คืออะไร ทุกคนคงจำได้หมดแล้ว แต่สำหรับผู้ที่มาฟังใหม่อาจจะคิดว่ายาก แต่ยากเฉพาะชื่อ ความจริงเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเหล่านี้เป็นประจำ

    กิจที่ ๘ ผุสนกิจ กิจที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    กิจที่ ๙ สัมปฏิจฉันนกิจ จิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง

    กิจที่ ๑๐ สันตีรณกิจ กิจที่ ๑๑ โวฏฐัพพนกิจ กิจที่ ๑๒ กิจชวนกิจ กิจที่ ๑๓ ตทาลัมพนกิจ และกิจสุดท้าย กิจที่ ๑๔ จุติกิจ

    ความวิจิตรของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ มีใครเคยคิดบ้างไหมว่า รสที่เป็น รูปๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่มีใครสามารถจะลิ้มได้ แต่จิตที่มีชิวหาปสาทเป็นทวาร แม้ว่ารสจะอยู่ในรูปที่เป็นมหาภูตรูป แต่ชิวหาวิญญาณก็ยังสามารถรู้คือลิ้มรสนั้นได้ รู้ว่ารสนั้นเค็มแค่ไหน หรือ หวานอย่างไร หรือเผ็ด เปรี้ยว มันอย่างไร และจากการจดจำหลังจากที่ลิ้มรสก็รู้ว่า รสนั้นมีอยู่ที่มหาภูตรูปนั่นเอง แต่ที่สามารถจะรู้รสนั้นได้ ต้องมีชิวหาปสาทเป็นทวารหรือเป็นทางที่เมื่อรสนั้นกระทบกับชิวหาปสาท ก็มีจิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นลิ้มรสนั้น และดับไปอย่างรวดเร็ว

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็น่าอัศจรรย์ เช่น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็เป็นอุปาทายรูป หรือเป็นรูปหนึ่งซึ่งเกิดรวมอยู่ในมหาภูตรูป ๔ ถ้าในขณะนั้นเป็นภวังคจิตจะไม่เห็นรูปนี้เลย แต่เวลาที่จักขุปสาทรูปเกิด และ ยังไม่ดับ กับรูปารมณ์เกิด และยังไม่ดับ กระทบกัน เพียงชั่วขณะจิต ๑๗ ขณะที่ ทั้งปสาทรูป และรูปารมณ์ยังไม่ดับ ก็ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแม้รูปซึ่งเกิดรวม อยู่ในมหาภูตรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่กระทบกับจักขุปสาทรูปได้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกขณะในชีวิตประจำวันซึ่งดูเป็นธรรมดาๆ แต่ถ้าคิดถึงความอัศจรรย์ที่จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยทำให้สภาพนามธรรมเกิดขึ้นแต่ละอย่างๆ ก็จะ เห็นได้ว่า ไม่น่าที่จะมีใครไปลิ้มรสที่อยู่ในมหาภูตรูปนั้นได้เลย แต่แม้กระนั้นเพียงแต่ มีทวารหรือมีทาง คือ มีชิวหาปสาทรูปที่รูปนั้นกระทบเมื่อไร ชิวหาวิญญาณก็เกิดขึ้นลิ้ม คือ รู้รสนั้น ชั่วขณะจิตเดียว และก็ดับที่ชิวหาปสาทรูปนั่นเอง

    ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู เสียงก็เป็นรูปๆ หนึ่งที่เกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป แต่เวลาที่ได้ยินเสียง ไม่มีใครคิดถึงมหาภูตรูปเลย ซึ่งที่จริงแล้วเสียงเป็นอุปาทายรูป ต้องเกิดกับมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เสียงจะเกิดไม่ได้เลย

    ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ เสียงเป็นเพียงรูปๆ หนึ่งซึ่งเกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป แต่เมื่อมีโสตปสาทที่ยังไม่ดับ และเสียงที่ยังไม่ดับกระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงชั่วขณะเดียว และก็ดับ

    ขณะที่เห็นมีวิบากจิตหลายประเภทที่ทำกิจต่างกัน คือ นอกจากจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงชั่วขณะเดียวดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งกรรมทำให้เกิดขึ้น รับรู้รูปที่ปรากฏหลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตรับรู้รูปนั้นต่อเพราะว่ารูปยังไม่ดับ และหลังจากที่สัมปฏิจฉันนจิต ดับแล้ว สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากก็เกิดขึ้นพิจารณารูปนั้น และดับ

    จักขุวิญญาณก็ดี สัมปฏิจฉันนจิตก็ดี สันตีรณจิตก็ดี เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดจากกรรมที่ทำให้กระทบกับรูปนั้น และมีการเห็นรูปนั้น แต่การที่จะรู้ว่าเป็นวิบากจิต ในขณะที่เห็นชั่วขณะเดียวก็สั้นมาก แต่สัมปฏิจฉันนจิตรับต่อ สันตีรณจิตรับต่อ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ และกุศลจิต หรืออกุศลจิต คือ โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต เกิดต่อ ยินดีพอใจในรูปที่ยังไม่ดับ ทำให้เหมือนกับเห็นอยู่ตลอดเวลาที่เป็น จักขุทวารวิถีจิต แต่ตามความเป็นจริง จักขุวิญญาณเกิดเพียงชั่วขณะเดียว

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมจริงๆ แม้ว่ากำลังเห็นอยู่ ก็ต้องรู้ที่ชวนจิต แม้ว่ากำลังได้ยินอยู่ เสียงยังไม่ดับ จะรู้จริงๆ ก็ต้องรู้ที่ชวนจิต

    ชวนะ นี่ คุ้นหูไหม แล่นไปในอารมณ์ ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง ถ้าพูดถึงชวนจิต ก็ต้องทราบว่า หมายความถึงโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือกุศลจิตบ้าง ที่ทำชวนกิจต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวารวิถี หรือต่อจากโวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวารวิถี

    ท่านที่ได้ศึกษามาแล้วคงไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ท่านผู้ฟังใหม่ๆ ก็จะต้องอาศัยหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปกับจิตตสังเขป เพื่อทบทวนให้ทราบ และให้คุ้นหู กับชื่อภาษาบาลีต่างๆ เหล่านี้

    ผู้ฟัง เวลาจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทำไมต้องรู้ที่ชวนจิตด้วย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799


    หมายเลข 69
    2 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ