จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต

อรรถของจิตที่ได้กล่าวถึงแล้วประการที่ ๑ คือ จิต เป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ย่อมจะเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิต ในขณะที่กําลังเห็น หรือกําลังได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และพิจารณารู้ว่าสภาพรู้นั้นเป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กําลังปรากฏนั้น

อรรถของจิตประการที่ ๒ คือ ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ซึ่งก็รู้ได้ว่าที่แต่ละบุคคลมีอุปนิสัยต่างๆ กันนั้น เพราะสั่งสมโลภะ โทสะ โมหะมาก หรือว่าสะสมกุศลกรรมประเภทใดมาก จึงทําให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน

อรรถของจิตประการที่ ๓ ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก เมื่อเข้าใจเรื่องวิถีจิตแล้วก็จะเข้าใจสภาพที่เป็นสังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดขึ้นวนเวียนไปเป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ได้ เพราะเหตุว่าชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

กุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นชวนวิถีและดับไปแล้วนั้น สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป เพราะแม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่การดับของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ฉะนั้น จิตดวงต่อไปที่เกิดขึ้นจึงสืบต่อทุกอย่างที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อน เพราะจิตที่เกิดสืบต่อนั้น เกิดขึ้นเพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย ฉะนั้น อกุศลชวนวิถีจิต และกุศลชวนวิถีจิตที่สั่งสมสันดานจึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากได้

สังสารวัฏฏ์ มี ๓ อย่าง คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

กิเลสวัฏฏ์ เกิดขึ้นวนเวียนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสั่งสมสันดานสืบต่อเป็นเหตุให้กระทํา กัมมวัฏฏ์ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมทางกาย วาจา ใจ กัมมวัฏฏ์ เป็นปัจจัย ให้เกิด วิปากวัฏฏ์ และเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น ก็ไม่ปราศจากกิเลสวัฏฏ์อีก เพราะยังมีความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทํากรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง กุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมและกุศลกรรมนั้น ก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากจิตไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัญญาไม่ได้อบรมจนเจริญคมกล้า สามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม สังสารวัฏฏ์ ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์และวิปากวัฏฏ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนไปเรื่อยๆ

ปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นนั้นก็เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร (กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์) สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ (กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์)

อวิชชา คือ โมหเจตสิก เป็นอกุศลธรรมที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นกิเลสวัฏฏ์ที่เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขารที่เป็นผลของอวิชชา มี ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร

ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่กระทํากุศลกรรมที่เนื่องกับรูป คือ กามาวจรกุศลกรรมและรูปาวจรกุศลกรรม

อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่กระทําอกุศลกรรม

อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เป็นอรูปาวจรกุศลกรรม คือ อรูปฌานกุศล ๔

ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ คือ ปฏิสนธิในภูมิต่างๆ ตามควรแก่เหตุ คือ กรรมนั้นๆ

ฉะนั้น ปฏิจจสมุปปาท ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะนี้เอง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใด เช่น ทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ โดยนัยของอริยสัจจ์ ๔ หรือโดยนัยของปฏิจจสมุปปาท

อรรถที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก แสดงให้เห็นว่าในชีวิตตามความเป็นจริง บางขณะก็เป็นกิเลส บางขณะก็เป็นกรรม บางขณะก็เป็นวิบาก ซึ่งถ้าเข้าใจชัดในเรื่องวิถีจิต ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นพิจารณารู้ว่า ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และคิดนึกนั้น ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม และขณะใดเป็นวิบาก เช่น ขณะที่เห็น

ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่วิบากจิต

จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต

สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิต

สันตีรณจิต เป็นวิบากจิต

โวฏฐัพพนจิต ไม่ใช่วิบากจิต

ชวนจิต ไม่ใช่วิบากจิต

ตทาลัมพนจิต เป็นวิบากจิต

มีประโยชน์อะไรที่จะรู้ถึงความละเอียดว่า ขณะที่เห็นวาระหนึ่งๆ นั้น ขณะใดเป็นวิบาก และขณะใดไม่ใช่วิบาก ประโยชน์ คือควรรู้ว่าธรรมใดที่เป็นเหตุ ธรรมนั้นไม่ใช่ผล อกุศลและกุศลทั้งหลายเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นวิบาก ขณะใดที่เป็นวิบากจิต ขณะนั้นเป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุ ไม่ใช่เป็นตัวเหตุ ขณะที่กําลังเห็นนี้ ถ้ารู้ว่าขณะใดเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมในอดีตที่ทําให้วิบากจิตเกิดขึ้น จะคิดไหมว่ามีตัวตนที่สามารถบันดาลให้วิบากจิตใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้ารู้ตามความเป็นจริงของจิตที่เป็นเหตุและจิตที่เป็นผล ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และคิดนึก ซึ่งจะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนั้นได้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทั้งสิ้น

มีใครกลัวว่าวิบากจิตจะไม่เกิด หรือกลัวว่าจะหมดวิบากบ้าง ซึ่งไม่ต้องกลัวเลย เพราะไม่ว่าวันนี้ พรุ่งนี้ วันต่อๆ ไป เดือนต่อๆ ไป ปีต่อๆ ไป ชาติต่อๆ ไป ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องที่วิบากจิตจะไม่เกิด เพราะเมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีปัจจัยพร้อมที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้นสืบต่อไปเรื่อยๆ แต่ควรระลึกว่าวิบากที่จะเกิดนั้นจะเป็นวิบากประเภทไหน เป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งในชาตินี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์วิบากแล้วว่า แต่ละคนมีวิบากของกุศลกรรม หรือว่ามีวิบากของอกุศลกรรมมากน้อยอย่างไร

ข้อความในมโนรถปูรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ แสดงปริยายแห่ง พระอภิธรรม จําแนกกรรมไว้ ๑๖ ประการ เป็นอกุศลกรรม ๘ และกุศลกรรม ๘ คือ อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่จะให้ผลได้นั้นต้องถึงพร้อมด้วยสมบัติ และวิบัติ คือ

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง

คติสมบัติ ห้ามไว้ย่อมไม่ให้ผลมีอยู่ ๑

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง

อุปธิสมบัติ ห้ามไว้ย่อมไม่ให้ผลมีอยู่ ๑

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง

กาลสมบัติ ห้ามไว้ย่อมไม่ให้ผลมีอยู่ ๑

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง

ปโยคสมบัติ ห้ามไว้ย่อมไม่ให้ผลมีอยู่ ๑

แสดงว่าเมื่อบุคคลใดถึงพร้อมด้วยคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ หรือปโยคสมบัติ อกุศลกรรมบางอย่างย่อมไม่มีโอกาสให้ผล

ส่วนอกุศลกรรมบางอย่าง

อาศัย คติวิบัติ ย่อมให้ผลมีอยู่ ๑

ส่วนอกุศลกรรมบางอย่าง

อาศัย อุปธิวิบัติ ย่อมให้ผลมีอยู่ ๑

ส่วนอกุศลกรรมบางอย่าง

อาศัย กาลวิบัติ ย่อมให้ผลมีอยู่ ๑

ส่วนอกุศลกรรมบางอย่าง

อาศัย ปโยควิบัติ ย่อมให้ผลมีอยู่ ๑

ทางฝ่ายกุศลกรรม ๘ ประการ คือ เมื่อบุคคลใดถึงพร้อมด้วยคติวิบัติ ๑ อุปธิวิบัติ ๑ กาลวิบัติ ๑ ปโยควิบัติ ๑ กุศลกรรมบางอย่างย่อมไม่มีโอกาสให้ผล และกุศลกรรมที่จะให้ผลได้นั้นต้องอาศัย คติสมบัติ ๑ อุปธิสมบัติ ๑ กาลสมบัติ ๑ ปโยคสมบัติ ๑

คติสมบัติ คือ การเกิดในภพภูมิที่ดี เป็นสุคติภูมิ คติวิบัติ คือ การเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี เป็นทุคติภูมิ เป็นอบายภูมิ

ทุกท่านจะต้องปฏิสนธิทันทีที่จุติจิตดับ แต่ไม่มีใครรู้ว่า “คติ” คือ ที่ๆ จะไปนั้นจะเป็นสุคติหรือทุคติ บางท่านปรารถนาที่จะเกิดในสกุล ซึ่งไม่มีสุรายาเมา แต่เมื่อจุติจิตยังไม่เกิด ก็ไม่รู้ว่าก่อนจุติจิตจะเกิดนั้น จะมีชวนวิถีอะไรๆ เกิดบ้าง เมื่อจุติจิตเกิดและดับไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่ากรรมใดจะให้ผลทําให้ปฏิสนธิในภูมิใด

ถ้ากุศลกรรมให้ผลทําให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นคติสมบัติ กุศลกรรมที่ทําให้ปฏิสนธิในสุคติภูมินั้นย่อมประมวลมาซึ่งกรรมต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ที่กระทําไว้แล้ว ที่ควรแก่การเป็นปัจจัยให้วิบากจิตต่างๆ เกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์น่ารื่นรมย์ตามฐานะของปฏิสนธิจิตนั้นๆ แต่เนื่องจากอกุศลกรรมในอดีตก็ได้กระทําไว้ด้วย ฉะนั้น ทุกท่านจึงไม่ได้มีแต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น ขณะใดอกุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นวิบากจิตก็รู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ถึงแม้ว่าทุกท่านจะมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม แต่การที่แต่ละกรรมจะให้ผลได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับคติสมบัติหรือคติวิบัติ

นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับอุปธิ อุปธิ คือ ธรรมที่ทรงสภาพของทุกข์ สําหรับอุปธิสมบัติและอุปธิวิบัติ คือ ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเมื่อเกิดเป็นมนุษย์เป็นสุคติภูมิแล้วก็ตาม แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทําแล้วก็เป็นปัจจัยให้เป็นผู้ที่พิกลพิการ มีอวัยวะไม่สมประกอบ เป็นอุปธิวิบัติ เป็นปัจจัยให้อกุศลกรรมมีโอกาสให้ผลได้มากกว่ากุศลกรรม

นอกจากนั้น กรรมที่ได้กระทําแล้วในอดีตยังจะต้องอาศัยกาลสมบัติเป็นปัจจัยด้วยจึงจะให้ผลได้ ในกาลสมัยที่ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ข้าวไม่ยาก หมากไม่แพง ในขณะที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสมบูรณ์พร้อมทุกประการ ในขณะนั้นกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น รู้อิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเป็นกาลวิบัติ ยุคใดสมัยใดที่บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวายข้าวยากหมากแพง กุศลกรรมก็ไม่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้เท่ากับในสมัยที่เป็นกาลสมบัติ ในยุคนี้สมัยนี้ คนดีที่ไม่ได้กระทําความเดือดเนื้อร้อนใจให้ใครเลย ก็ยังได้รับวิบัติถึงเจ็บปวดหรือสิ้นชีวิตได้ เพราะเป็นกาลวิบัติ แม้ว่าจะได้สะสมกุศลกรรมมาแล้ว แต่เมื่อเป็นกาลวิบัติ บ้านเมืองระส่ำระสาย อกุศลกรรมที่ได้กระทําแล้วในอดีต ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมนั้น

นอกจากนั้น กรรมใดๆ ที่จะให้ผลหรือไม่ให้ผลนั้นยังต้องอาศัยปโยคสมบัติ หรือปโยควิบัติ “ปโยคสมบัติ” คือ ความสามารถในการพากเพียรประกอบการงานด้วยการพิจารณาอย่างฉลาด กิจการงานทุกอย่างแม้แต่การโจรกรรมก็ต้องอาศัยความรอบคอบ ศิลปะ ความชํานาญ และความสามารถในการที่จะทํากิจการงานนั้นๆ ให้สําเร็จ ความสามารถกระทํากิจการงานต่างๆ ได้สําเร็จเป็นปโยคสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม ไม่ว่าอาชีพใด กิจการงานใด ก็ต้องกระทําด้วยปโยคสมบัติ คือ พร้อมด้วยความชํานาญ ความสามารถ จึงจะสําเร็จได้ตามต้องการ อกุศลกรรมที่ได้กระทําแล้วยังไม่ถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะทําให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นบุคคลนั้นยังประกอบด้วยปโยคสมบัติ ความสามารถในการงานนั้นอยู่ และถึงแม้ว่าจะเป็นคนดี แต่ขาดศิลปะความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพในธุรกิจการงาน ก็เป็นปโยควิบัติ จึงไม่เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น เพราะขาดปโยคสมบัติ

ฉะนั้น เรื่องของผลซึ่งจะต้องเกิดจากเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดพร้อมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่จะทําให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นตัวตนที่คิดเอาเองว่าจะบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ตามความต้องการ จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ แม้ขณะที่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะให้ผล ก็ต้องประกอบด้วยคติสมบัติหรือคติวิบัติ อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ

การเข้าใจเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องกิเลส เรื่องกรรม เรื่องวิบาก ย่อมเป็นปัจจัยที่จะทําให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏฏ์น้อยลง นอกจากนั้นจะต้องเข้าใจวิถีจิตว่าในขณะที่เห็นวาระหนึ่งๆ นั้น วิบากจิต เช่น จักขุวิญญาณที่กําลังเห็นก็ดี สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณก็ดี สันตีรณจิตซึ่งพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตก็ดี วิบากจิตทั้งหมดไม่สามารถจะกระทํากรรมใดๆ ได้เลย ขณะที่ทํากุศลกรรมประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นกุศลชวนวิถีจิต ขณะที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ โสตวิญญาณก็เพียงเกิดขึ้นได้ยินแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็รับเสียงนั้นต่อ แล้วสันตีรณจิตก็พิจารณาเสียงนั้น วิบากจิตกระทํากุศลกรรม อกุศลกรรมอะไรๆ ไม่ได้เลย

ขณะที่กลิ่นที่ดีกระทบจมูก ฆานวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น สัมปฏิจฉันนจิตรับรู้กลิ่นนั้น สันตีรณจิตพิจารณากลิ่นนั้น แต่ทํากรรมใดๆ ไม่ได้ ทําให้รูปเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้เลย

ขณะที่กําลังพูด เดิน ยกมือ เคลื่อนไหวทํากิจการงานใดๆ นั้น ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ แต่เป็นชวนวิถีซึ่งเป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหวไปด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ฉะนั้น จิตที่กระทํากรรมใดๆ จึงไม่ใช่วิบากจิต ขณะที่บริโภคอาหาร จิตที่เห็นเป็นวิบากจิต จิตที่พอใจในอาหารที่เห็นเป็นโลภมูลจิต จิตที่ไม่พอใจในอาหารที่เห็นเป็นโทสมูลจิต จิตที่ลิ้มรสเปรี้ยวหรือหวานเป็นวิบากจิต จิตที่ทําให้รูปเคลื่อนไหวไปตักอาหารหรือเคี้ยวกลืนด้วยความพอใจนั้นเป็นโลภมูลจิต สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตแต่ละประเภทได้ตามความเป็นจริง ฉะนั้น จึงไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริงจึงจะละโลภะได้ ตั้งแต่เกิดมาก็มีปัจจัยทําให้โลภะเกิดขึ้นเป็นปกติประจําวัน ขณะที่ประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ในวันหนึ่งๆ นั้น โลภะเกิดมากทีเดียว แต่กุศลจิตก็มีปัจจัยที่จะเกิดได้เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลจิต ขณะที่รับประทานอาหาร เมื่อโลภชวนวิถีเกิดแล้วดับไป ชวนวิถีวาระหลังจากนั้นเป็นกุศล โดยระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในอาหารขณะนั้นก็ได้ หรือสติอาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือรสเปรี้ยว หวาน เค็มที่ปรากฏก็ได้

การอบรมเจริญสติปัฏฐานทําให้รู้สภาพของจิตได้ แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทําใดๆ ทางกาย ทางวาจาเลย เช่น สติสามารถระลึกรู้ว่าจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เป็นต้น

อรรถของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

กิเลสเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง “เศร้าหมอง” คือ ไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เช่น ขณะที่เกิดความยินดี ความติดข้องต้องการ ขณะที่กําลังอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นสบายใจหรือไม่สบายใจ ถ้าไม่อยากได้ ไม่เกิดโลภะ จะสบายใจกว่านั้น เพราะไม่ต้องหลงยึดติด ไม่ต้องติดข้อง ไม่ต้องคิดอยากได้ แต่ขณะที่กําลังติดข้องอยากได้นั้น อวิชชาไม่สามารถจะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่สบายใจ เดือดร้อนแล้ว เพราะความติดข้องต้องการ ไม่ว่าจะเกิดความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นความติดข้อง เป็นความเศร้าหมอง เป็นความเดือดร้อน เป็นอกุศลธรรม และบางทีบางท่านก็เข้าใจว่าเป็นศรัทธา ซึ่งถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่พิจารณา จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะซึ่งเป็นอกุศล หรือว่าเป็นศรัทธาซึ่งเป็นกุศล

ในชีวิตประจําวันของบรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่จะพ้นไปจากโลภะไม่ได้เลย ขณะใดที่พอใจสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นโลภะสําหรับคฤหัสถ์ฉันใด บรรพชิตผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ฉันนั้น

กิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้น เมื่อขณะใดมีกําลังแรงกล้าก็เป็นอกุศลกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ถ้าไม่มีกิเลส อกุศลกรรมทางกายทางวาจาก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย และเมื่อได้กระทํากรรมไปแล้ว แม้ว่าจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันกระทํากรรมนั้นๆ สําเร็จไปแล้ว ดับไปแล้วก็ตาม แต่การสะสมของกรรมที่สืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะที่เกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ นั้นก็เป็น กัมมปัจจัย คือ เป็นสภาพธรรมที่ทําให้ผล คือวิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นวิบาก จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้โผฏฐัพพะเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ทุกคนอยากจะเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจ แม้เห็นแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่พอ แต่แม้ว่าจะมีจักขุปสาทซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่อารมณ์ที่กระทบกับจักขุปสาท และปรากฏแก่จักขุวิญญาณนั้น ย่อมแล้วแต่กัมมปัจจัย เมื่อกุศลกรรมเป็นปัจจัย ก็ทําให้จักขุวิญญาณกุศลวิบากเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจก็เป็นผลของกุศลกรรม ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจก็เป็นผลของอกุศลกรรม ขณะนี้และขณะต่อไปจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็ย่อมแล้วแต่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะเป็นปัจจัยให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้นทางทวารใด

ปัจจัยใหญ่ๆ ที่ทําให้สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นนั้นมี ๒๔ ปัจจัย กรรมเป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้น ฉะนั้น กรรมจึงเป็นกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยหนึ่งใน ๒๔ ปัจจัย ขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะนั้น เป็นวิบากจิตและวิบากเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัย ไม่มีใครบันดาลให้เกิดขึ้นตามใจชอบได้ เช่น ขณะนี้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ใครจะไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยินได้บ้าง ในเมื่อเห็นเกิดขึ้นแล้วเพราะกรรมเป็นปัจจัย และได้ยินก็เกิดขึ้นแล้วเพราะกรรมเป็นปัจจัย

จิตและเจตสิกที่กําลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นวิบากจิตและวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกัน วิบากจิตเป็นปัจจัยแก่วิบากเจตสิก และวิบากเจตสิกก็เป็นปัจจัยแก่วิบากจิต โดยเป็นวิปากปัจจัย คือ ต้องเกิดเป็นวิบาก เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งจิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นวิบากทั้งสองอย่าง และเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จึงต่างก็เป็นวิปากปัจจัยของกันและกัน

รูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยนั้น เป็นผลของกรรมแต่ไม่ใช่วิบาก เพราะรูปไม่ใช่นามธรรม รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจึงไม่เป็นวิบาก วิบากต้องเป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้เท่านั้น

อรรถของจิตประการที่ ๓ คือ ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

เรื่องของอดีตกรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นการกระทําที่สําเร็จแล้ว เสร็จสิ้นแล้วในอดีต แต่เป็นปัจจัย คือ ทําให้เกิดวิบากจิตและเจตสิกในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นวิบากให้ละเอียดขึ้นว่า สภาพธรรมที่เป็นวิบากนั้น ได้แก่ นามธรรม คือ จิต เจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทําแล้วเป็นปัจจัย

โดยทั่วไป เมื่อประสบเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักจะพูดกันว่าเป็นกรรมของคนนั้น ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจถูกจริงๆ ก็ควรจะพูดว่าเป็นผลของกรรมที่บุคคลนั้นได้กระทําแล้ว ซึ่งจะทําให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม เพราะถ้าพูดกันสั้นๆ ว่าเป็นกรรมของคนนั้น ผู้ซึ่งไม่คุ้นเคยกับเหตุของผลของสภาพธรรม ก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไปได้ โดยอาจจะถือเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม

เมื่อได้ศึกษาและเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ก็จะทําให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น คือ ถ้าปราศจากทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ย่อมจะไม่มีวิบากจิตในชีวิตประจําวันเกิดขึ้นรับผลของกรรม ขณะที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แม้ว่าไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ หรือได้ลาภยศอื่นใดก็ตาม ขณะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นปกติในชีวิตประจําวันนั้น เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทําแล้วทั้งสิ้น วิบากจิตไม่ใช่เฉพาะขณะเจ็บไข้ได้ป่วย ได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศเท่านั้น และสติสามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นวิบากได้ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ในชีวิตประจําวัน

วิบากจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นผลของกัมมปัจจัยที่ได้กระทําแล้วซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า วิบากจิตที่เกิดขึ้นแต่ละทวารนั้นเป็นผลของอดีตกรรมอะไร เช่น วิบากจิตที่ได้ยินเสียงเด็กเล่นฟุตบอลนั้น เป็นผลของอดีตกรรมอะไร เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด กรรมที่ได้กระทําแล้วเป็นเหตุในอดีต ซึ่งแม้จะได้กระทํามานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตได้ ฉะนั้น ถ้าใครคิดเดาว่าเห็นสิ่งนี้เป็นผลของกรรมอะไร ได้ยินเสียงนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ก็จะไม่พ้นจากความไม่รู้และวุ่นวายใจ เพราะคิดเดาในสิ่งซึ่งไม่อาจมีปัญญาขั้นที่จะรู้จริงได้ แต่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ก็กําลังมีปรากฏให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาพของจิตประเภทที่ ๑ คือ สราคจิต สติเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพจิตที่ประกอบด้วยราคะ ความยินดีพอใจติดข้อง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่า เมื่อเห็นสิ่งใด โลภมูลจิตซึ่งเป็นจิตที่ยินดีพอใจสิ่งที่เห็นนั้นก็เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว การที่จะดับกิเลสได้นั้น ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง คือ รู้สภาพที่ต่างกันของวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม และกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นกิเลสหรือกรรมปัจจุบันอันจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตในอนาคต ฉะนั้น การรู้ลักษณะของวิบากจิตนั้นจึงไม่ใช่รู้เพียงหยาบๆ เมื่อมีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บ มีลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศ แต่ต้องรู้ว่าวิบากจิต คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในชีวิตประจําวัน

เมื่อรู้ว่าวิบากจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของตนเอง แล้วจะโกรธหรือโทษคนอื่นไหมว่าผู้นั้นผู้นี้ทําให้เป็นอย่างนี้

ในพระไตรปิฎกมีเหตุการณ์ในชีวิตของคนที่ได้รับวิบากต่างๆ กันตามยุคสมัยนั้น สมัยนี้ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละบุคคลย่อมได้รับวิบาก คือผลของอดีตกรรมโดยไม่คาดคิดว่าจะเป็นลักษณะใด เช่น ตึกทั้งหลังพังลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ไม่ต้องอาศัยลูกระเบิด ไม่ต้องถูกคนอื่นยิงหรือทําร้าย แต่อดีตกรรมที่ได้กระทําแล้วเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ฉะนั้นจึงไม่ควรโกรธหรือโทษผู้อื่น แต่ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิบากจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของอดีตกรรม ไม่ใช่ขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศล ซึ่งเป็นเหตุปัจจุบันที่จะให้เกิดผลในอนาคต

ทั้งวัตถุภายนอกและทั้งรูปกายที่ปรากฏให้เห็นว่าสูง ต่ำ ดํา ขาว ต่างๆ นั้น ก็ปรากฏชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ถ้าไม่มีตาหรือไม่เห็น ก็จะไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน สูง ต่ำ ดํา ขาวซึ่งยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราเลย

ฉะนั้น รูปร่างกายของตนเองและวัตถุภายนอกทั้งหมด ตามความจริงนั่นไม่ใช่ของใครเลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น แล้วดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง

เสียงที่ปรากฏเมื่อกระทบหูก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบหูแล้วก็ดับไปหมด ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง จะทําให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

ชั่วขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง ได้กลิ่นครั้งหนึ่ง ลิ้มรสครั้งหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสครั้งหนึ่ง หรือคิดนึกต่างๆ นั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสติปัฏฐาน ให้ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ เลย

ลองพิจารณาดูทรัพย์สมบัติที่เข้าใจว่ามีมากนั้น ถ้าไม่เห็นทรัพย์สมบัตินั้นเลย ก็เพียงแต่คิดเท่านั้นว่ามีทรัพย์สมบัติต่างๆ มาก แต่เมื่อไม่เห็น ไม่ได้กระทบสัมผัสทรัพย์สมบัตินั้นๆ เลย จะมีประโยชน์อะไรจากทรัพย์สมบัตินั้นๆ ไหม เมื่อรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ แล้ว ก็รู้ว่าทุกคนเสมอกัน คือ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะใดก็เห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จึงไม่ใช่สมบัติของใครทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงไม่ควรยึดถือสิ่งใดว่าเป็นเรา หรือของเรา ทุกคนเท่ากันโดยสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกัน แต่กิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรานั้นย่อมมากน้อยต่างกัน

ท่านที่เคยยินดีในทรัพย์สมบัติมากน้อยของท่านนั้น เริ่มรู้สึกหรือยังว่าท่านไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ เลย เพราะจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้น ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน เมื่อทรัพย์สมบัติเป็นเพียงสิ่งที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นชั่วขณะ แล้วจะยึดถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของท่านได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่สามารถจะเข้ามาสู่ตัวของท่านได้เลย เพียงสามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุทวารหรือจักขุปสาทเท่านั้น

เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน มีเพียงชั่วขณะที่กระทบสัมผัสเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

ถึงแม้ว่าทุกท่านอยากจะมีทรัพย์สมบัติมากๆ ให้เท่าๆ กัน ให้เหมือนๆ กัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น ผลที่ปรากฏในปัจจุบันเกิดจากเหตุในอดีต ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของใคร วิบาก คือ ผลของกรรมในขณะที่เพียงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถพยากรณ์ได้ว่า ขณะที่เห็น หรือได้ยิน เป็นต้น แต่ละวาระนั้นเป็นผลของกรรมอะไร

ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณก วรรคที่ ๓ อจินติตสูตร ข้อ ๗๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้าเดือดร้อน

ขณะนี้กําลังเห็นเป็นวิบากจิตทางตา สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ และรูปธรรม คือ สิ่งที่กําลังปรากฏเท่านั้น จะรู้เกินไปจนกระทั่งว่าที่กําลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของอดีตกรรมอะไรในชาติไหน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ในขณะที่กําลังเห็นนั้น สติปัฏฐานสามารถระลึกได้และปัญญาสามารถรู้ชัดได้ว่า ขณะที่เห็นซึ่งเป็นวิบากนั้นไม่ใช่ขณะที่พอใจหรือไม่พอใจ ซึ่งเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นต่อจากขณะที่เห็น

อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรด้วยอํานาจแห่งสัมปยุตตธรรม วิจิตร คือ ต่างๆ กันไปตามสัมปยุตตธรรม คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นการสั่งสมของแต่ละบุคคล ฉะนั้น ที่จะให้ทุกคนมีความคิดอย่างเดียวกัน นับถือลัทธิศาสนาเดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้รูปร่างกายก็ไม่เหมือนกัน ความคิดนึกก็ย่อมไม่เหมือนกัน ความเห็น ความเชื่อต่างๆ ก็ย่อมไม่เหมือนกัน แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ทรงสามารถโปรดให้บุคคลทั้งหลายมีความเห็นถูกได้ทุกคน ผู้ที่สั่งสมเหตุปัจจัยมาแล้ว มีโอกาสที่วิบากจิตและกุศลจิตจะเกิดขึ้น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้พิจารณาพระธรรมซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ควรจะพิจารณาใคร่ครวญ สอบสวน ให้รอบคอบละเอียดขึ้น และอบรมเจริญปัญญา จนสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

ความเห็นผิดนั้นไม่ได้มีแต่ในลัทธิอื่น แม้ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ประพฤติปฏิบัติต่างๆ กันตามความคิดความเข้าใจซึ่งสะสมมาต่างๆ กัน ในสมัยหลังการสังคายนาครั้งที่ ๒ ภิกษุชาววัชชี ผู้เป็นต้นเหตุให้กระทําการสังคายนาครั้งที่ ๒ นั้น ก็ได้ตั้งนิกายต่างๆ ตามความเห็นของตน เช่น นิกายหนึ่งมีความเห็นว่า ผู้ใดก็ตามที่จะบรรลุมรรคผล รู้แจ้งนิพพาน ต้องเปล่งวาจาว่า ทุกข์หนอๆ (34) การเข้าใจหนทางประพฤติปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ฉะนั้น สมัยนี้ทุกท่านจึงจะต้องศึกษาและพิจารณาโดยละเอียด เพราะผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมสมัยนี้ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือ วิปัญจิตัญญูบุคคล แต่ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยนี้ได้นั้น ย่อมเป็นเนยยบุคคล และผู้ที่ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แม้ว่าจะได้ฟังธรรมมาก อ่านธรรมมาก สนทนาธรรมมาก กล่าวธรรมมาก ก็เป็นปทปรมบุคคล

ฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงโดยตลอด ๔๕ พรรษานั้น ก็เพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลและปทปรมบุคคล ทุกท่านจึงต้องศึกษาให้รู้จริงๆ ว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น คือรู้อะไร และหนทางที่จะรู้การเกิดขึ้นและดับไปของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้จริงๆ นั้นต้องอบรมเจริญอย่างไร จึงจะเป็นผู้ที่เข้าใจประโยชน์อย่างแท้จริงของการศึกษาว่า เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงพระมหากรุณาแสดงไว้โดยละเอียด แม้แต่ลักษณะของจิตที่ได้กล่าวถึงแล้ว และจิตซึ่งกําลังเห็นก็เป็นสติปัฏฐาน เป็นสภาพธรรมที่ปัญญาสามารถจะอบรมเจริญขึ้นจนประจักษ์แจ้งสภาพที่เป็นอนัตตา เกิดขึ้นและดับไปในชีวิตประจําวัน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งใดๆ เลย

คําถามทบทวน

๑. กัมมปัจจัยคืออะไร

๒. วิปากปัจจัยคืออะไร

๓. รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยนั้น เป็นวิบากใช่ไหมเพราะอะไร


(34) นิทานกถา กถาวัตถุปกรณัฏฐกถา

เปิด  423
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ