จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร

อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทําให้วิจิตร

ข้อความในอัฏฐสาลินีอรรถกถา มีว่า ชื่อว่า “จิต” เพราะ กระทําให้วิจิตรอย่างไร จริงอยู่ ธรรมดาว่าความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก ธรรมดาว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้นๆ ก็เป็นความวิจิตร คือเป็นความงดงามอย่างยิ่งทีเดียว พวกช่างลวดลาย เมื่อกระทํากิจกรรมนั้นย่อมเกิดจิตตสัญญาว่า รูปทั้งหลายชนิดต่างๆ เขาพึงกระทํา ณ ตรงนี้โดยอุบายอย่างนี้ การกระทําให้วิจิตรทั้งหลายที่ให้สําเร็จกิจ มีการเขียน มีการลงสี การทําสีให้เรืองรอง และการสลับสี เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่งในความวิจิตร คือ ลวดลายย่อมสําเร็จมาจากการกระทําอันวิจิตรนั้น เพราะฉะนั้น ศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก อันจิตนั่นเองคิดว่ารูปนี้จงอยู่บนรูปนี้ รูปนี้จงอยู่ใต้ รูปนี้จงอยู่ตรงข้างทั้งสองดังนี้ แล้วจึงกระทำเหมือนรูปอันวิจิตร ที่เหลือย่อมพึ่งสําเร็จได้ด้วยกรรมอันช่างคิดไว้ แม้จิตที่ให้สําเร็จความวิจิตรนั้นก็ชื่อว่าจิต อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรด้วยการกระทํานี้ดังพรรณนามาฉะนี้

อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นเองชื่อว่า วิจิตร แม้กว่าลวดลายในจิตรกรรม นั้น เพราะให้สําเร็จจิตรกรรมตามที่จิตคิดทุกชนิด

นี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย คือ ความวิจิตรของจิตรกรรม แต่ความวิจิตรของกรรมที่ทุกท่านกระทําในวันหนึ่งๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ที่เป็นกุศลกรรม เป็นทานบ้าง ศีลบ้าง เป็นการอบรมเจริญภาวนาบ้าง หรือที่เป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาตบ้าง อทินนาทานบ้าง ก็ย่อมจะวิจิตรมากมาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเป็นลักษณะของจิตซึ่งวิจิตร รูปธาตุภายนอกที่วิจิตรโดยเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เป็นดอกไม้ ใบไม้ พันธุ์ต่างๆ เป็นวัตถุ ภูเขา แม่น้ำต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดเพราะส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ไหลหรือเกาะกุม เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวระดับต่างๆ ทําให้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิจิตรต่างๆ แต่สิ่งที่วิจิตรกว่ารูปธาตุภายนอกก็คือ จิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่กระทําให้วิจิตร

อกุศลกรรมที่วิจิตรเป็นปัจจัยให้สัตว์ดิรัจฉานมีรูปร่างวิจิตรต่างๆ กันมาก บางประเภทก็มี ๒ เท้า บางประเภทก็มี ๔ เท้า บางประเภทก็มีเท้ามาก บางประเภทก็ไม่มีเท้าเลย บางประเภทก็อยู่ในน้ำ บางประเภทก็อยู่บนบก และกุศลกรรมที่วิจิตรก็ทําให้มนุษย์วิจิตรต่างกันไปโดยเพศ โดยรูปร่างหน้าตา ซึ่งทําให้เกิดโวหาร คือ คําพูดที่แสดงลักษณะอาการของสภาพธรรมทั้งหลายตามที่ปรากฏ คําพูดมีมาก ภาษาที่พูดถึงสิ่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรมากเพียงไรก็ทําให้เกิดโวหารเพื่อที่จะเรียกสิ่งที่ปรากฏที่วิจิตรเพียงนั้น และคําพูดก็ไม่มีวันหมด ไม่มีวันจบ เพราะว่าสิ่งซึ่งจิตกระทําให้วิจิตรเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงต้องบัญญัติคําพูดเรียกสิ่งที่จิตทําให้วิจิตรมากขึ้นๆ

ในวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะเห็นอะไร หรือว่าไม่ว่าจะพูดอะไร ย่อมแสดงให้เห็นความวิจิตรของจิตซึ่งกระทําสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้วิจิตร พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงลักษณะของจิตในขณะนี้เมื่อเห็นความวิจิตรต่างๆ ซึ่งจิตกระทําให้วิจิตร จิตในขณะนี้เดี๋ยวนี้เองกําลังกระทําให้วิจิตรต่อไปข้างหน้าอีก และไม่ควรคิดถึงความวิจิตรของสิ่งภายนอกที่จิตกระทําให้วิจิตรเท่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กําลังเป็นไปในขณะนี้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การที่จะรู้ลักษณะของจิตต้องรู้ในขณะที่กําลังเห็น กําลังได้ยิน กําลังได้กลิ่น กําลังลิ้มรส กําลังนึกคิด ซึ่งต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร

ทุกท่านคิด ขณะที่จิตคิดถึงเรื่องใด เรื่องนั้นก็มีชั่วขณะที่จิตกําลังคิดนึกถึงเรื่องนั้น จิตเป็นสภาพคิด ถ้าไม่พิจารณาจิตในขณะที่กําลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือกําลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กําลังได้กลิ่นเดี๋ยวนี้ กําลังลิ้มรสเดี๋ยวนี้ กําลังกระทบสัมผัสโผฏฐัพพะ หรือกําลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ แล้วจะรู้ลักษณะของจิตได้ขณะไหน

ข้อความในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๕๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ชื่อว่าจรณะ (เที่ยวไป) เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้ว พระเจ้าข้า

จิตเที่ยวไปอย่างไร ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ทุกท่านรู้สึกว่าจะชอบเที่ยว ไม่มีใครชอบอยู่ซ้ำซากจําเจที่หนึ่งที่ใด เพราะว่าต้องการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสโผฏฐัพพะต่างๆ ฉะนั้น จิตจึงเกิดขึ้นเที่ยวไปในอารมณ์ทางทวารต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่อยู่นิ่ง มีจิตของใครอยู่นิ่งๆ ได้บ้าง ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่าจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดแล้วก็ดับไป นั่นคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตชื่อว่าจรณะ แม้นั้นแล เธอทั้งหลายคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิต (เป็นเครื่องคิด) นั้นแหละวิจิตรกว่าจรณจิตแม้นั้น เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้หมู่อันหนึ่งอื่น ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนื่องๆ ว่าจิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียนเมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรี หรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณนั่นแหละให้เกิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสําคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่ากิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ

จบสูตรที่ ๒

ช่างเขียนรูปอาศัยสีเขียนรูปต่างๆ กระทําให้วิจิตรเกิดขึ้นเป็นรูปต่างๆ ฉันใด ขณะนี้จิตของแต่ละท่านก็เหมือนกับช่างเขียนซึ่งกําลังเขียนรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต

ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่วิจิตรที่ได้กระทํานานมาแล้วฉันใด จิตซึ่งกําลังกระทําให้วิจิตรอยู่ในขณะนี้ก็จะกระทําให้คติ เพศ รูปร่างสัณฐาน ลาภ ยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ วิจิตรต่างๆ ในกาลข้างหน้า ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาลักษณะของจิตที่กําลังปรากฏ ซึ่งกําลังเขียนสภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่าวิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กําลังนั่งอยู่ จิตก็เกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่ แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหูแล้ว ก็ยังมีจิตที่คิดนึกไกลออกไป แล้วแต่ว่าจะคิดท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้าง หรืออาจจะกําลังคิดทําอะไรที่วิจิตรให้เกิดขึ้นในขณะนั้น

ข้อความในคัททูลสูตรที่ ๑ ข้อ ๒๕๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ย่อมวิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้นเอง เวลายืน ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

ช่างเขียนยึดถือจิตรกรรมที่เขียนขึ้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด จิตของปุถุชนซึ่งยังยึดถือในรูปว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็จะยังคงยึดถือต่อไปทุกภพ ทุกชาติ เหมือนกับช่างเขียนซึ่งยึดถือในจิตรกรรมที่ตนเขียนขึ้น ฉันนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนเมื่อยืนก็ย่อมยืนอยู่ใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยความเป็นตัวตน ตราบนั้น

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุตต์ ทุติยวรรค ปัตตสูตรที่ ๖ ทําให้เข้าใจพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงดังนี้

พึงทราบวินิจฉัยในปัตตสูตรที่ ๖ ก็สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้นทําในใจให้สําเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจเงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่

คําว่า “ให้สมาทาน” คือ ให้ถือเอา ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้อง นี้คือการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเพื่อประโยชน์จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ เมื่อฟังแล้วก็ให้สมาทาน ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้องว่า กุศลธรรมเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด หลายท่านอาจจะยึดถืออกุศลธรรมเป็นกุศลธรรมก็ได้ แต่เพราะว่าสภาวลักษณะของกุศลธรรมไม่ใช่อกุศลธรรม สภาวลักษณะของอกุศลธรรมไม่ใช่กุศลธรรม ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียดโดยตลอดเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งแยกเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็จะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ เลย จึงควรที่จะศึกษาเรื่องของขันธ์ ๕ และพิจารณาเรื่องของขันธ์ ๕ ด้วยความแยบคาย เพื่อที่จะได้ถือเอาด้วยความถูกต้องและไม่เข้าใจผิด

คําว่า “ให้อาจหาญ” คือ ให้เกิดความอุตสาหะในการสมาทาน

การที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ไม่ใช่จะเป็นไปได้ง่ายๆ และรวดเร็ว แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้เกิดความเพียรที่จะพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปรกติตามความเป็นจริง เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือที่ไม่ได้กําลังปรากฏเฉพาะหน้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจักขุวิญญาณ เรื่องการเห็น เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงเรื่องโสตวิญญาณ เรื่องสภาพธรรมที่รู้เสียง เรื่องเสียงที่ปรากฏทางหู ทรงแสดงธรรมที่กําลังมีอยู่ปรากฏให้พิสูจน์ ฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็อาจหาญ คือ อุตสาหะในการที่จะศึกษา พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์สภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

คําว่า “ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว

ไม่ทราบว่าท่านสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง บ้างหรือยัง แต่ให้ทราบว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด บางท่านเป็นทุกข์เพราะเป็นห่วงเป็นกังวลว่าอายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน ขณะนั้นเป็นอกุศล พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยยับยั้งไม่ได้ เมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น อกุศลนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ร่าเริงได้ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่ปรากฏ และศึกษาพิจารณาลักษณะของอกุศลธรรมที่ปรากฏ เพื่อจะได้รู้ว่า แม้อกุศลธรรมนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กําลังปรากฏ ย่อมจะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่าขณะที่สติกําลังระลึกนั้นไม่เศร้าหมองเลย เพราะเมื่อไม่ยึดถืออกุศลธรรมที่กําลังปรากฏอยู่ ในขณะนั้นเป็นตัวตนเป็นเรา ก็ไม่กังวลเดือดร้อน

หนทางเดียวที่จะบรรเทาละคลายอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ให้เพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้นนั้นก็โดยสติระลึก และสังเกตพิจารณารู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลต่างๆ นั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ใดๆ เลย

ฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจถึงความหมายของคําว่า ให้ร่าเริง คือให้ผ่องใส และให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

คําว่า “ทําให้สําเร็จประโยชน์” คือ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ ดังนี้แล้วก็ชื่อว่ามีประโยชน์แต่เทศนานั้น

การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องให้ท้อถอยเลย สภาพธรรมที่กําลังปรากฏเป็นสิ่งที่สามารถจะแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลได้ ในขณะที่พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ก็ย่อมไม่หมดหวัง เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรบรรลุได้วันหนึ่งแม้ยังไม่ใช่วันนี้ อย่าเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้ในวันนี้ เพราะสติสามารถจะเริ่มระลึกได้ในวันนี้ ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้งและแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมย่อมจะต้องเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อวันนี้สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ได้

เมื่อเห็นแล้วว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่านี้ประโยชน์ คือให้รู้ว่า “เราควรบรรลุได้” ก็จะไม่ท้อถอยและจะฟัง ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไป เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมสติ ซึ่งข้อความในอรรถกถาคัมภีร์กถาวัตถุ สาสนกถาวรรณนา มีข้อความที่กล่าวว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่แปลงขึ้นใหม่ได้หรือ

(นี่เป็นข้อที่ทุกท่านควรพิจารณา)

อริยธรรมทั้งหลาย มีสติ เป็นต้นก็ดี เทศนาแห่งกุศลธรรม เป็นต้นก็ดี ชื่อว่าศาสนา ในศาสนานั้น เว้นธรรมทั้งหลายมีสติปัฏฐาน เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ชนเหล่าใดแล้ว ศาสนาชื่อว่าอันบุคคลนั้นทําขึ้นใหม่ โดยการกระทําธรรมเหล่าอื่นให้เป็นสติปัฏฐาน เป็นต้น หรือกระทําอกุศลธรรมให้เป็นกุศลธรรม เป็นต้น หรือว่าศาสนาอันใครๆ กระทําแล้วอย่างนั้น มีอยู่ หรือพึงอาจเพื่อทําสิ่งนั้นได้ มีหรือ

หมายความว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนั้น คนอื่นสามารถที่จะแต่งขึ้นใหม่แปลงขึ้นใหม่ และเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่พระผู้พระภาคทรงแสดงแล้วว่าเป็นสติปัฏฐาน ให้ไม่เป็นสติปัฏฐานได้หรือ หรือว่าเทศนาแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นต้น เหล่านี้ คนอื่นจะเอาอกุศลธรรมมาเป็นกุศลธรรม ได้หรือ

เมื่อพิจารณาและเข้าใจเหตุผลแล้ว ก็จะรู้ได้ว่าคําสอนซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้เป็นอย่างอื่นได้ มีผู้เข้าใจผิดได้ แต่เปลี่ยนลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลายไม่ได้

อรรถ คือ ความหมายของจิต ๕ ประการนั้น ในอภิธัมมัตถวิภาวินีได้แสดงไว้ ๖ ประการ คือ แสดงว่าจิตวิจิตร เพราะอารมณ์ที่วิจิตรด้วยอีก ๑ ประการ ทั้งนี้เพราะจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่วิจิตรสักเพียงใดก็ย่อมเป็นอารมณ์ของจิตได้ และแม้อารมณ์นั้นจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม เช่น คําบัญญัติภาษาต่างๆ จิตก็ย่อมรู้ได้ คือ มีชื่อ มีคํา มีเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ได้ ฉะนั้น จิตจึงวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร

ลักษณะของจิตมี ๒ ประการ คือ สามัญญลักษณะ ๑ และ สภาวลักษณะ ๑

สามัญญลักษณะของจิต คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตต

สภาวลักษณะของจิต เป็นลักษณะเฉพาะของจิตคือ

อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

ปุพฺพงฺคมรสํ มีการถึงก่อนคือมีความเป็นหัวหน้า คือ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์เป็นรส คือ เป็นกิจ

สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

นามรูปปทฏฺฐานํ มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองตามลําพังลอยๆ ไม่ได้ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตอาศัยนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในภูมิซึ่งมีแต่นามธรรม คือ ในอรูปพรหมภูมินั้น ไม่มีรูปเลย ในภูมินั้นจิตจึงมีนามธรรม คือ เจตสิกเท่านั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ ให้เกิด

คําถามทบทวน

๑. อะไรทําให้รูปธรรม เช่น พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ วัตถุ ภูเขา แม่น้ำ เครื่องอุปโภคบริโภควิจิตรต่างกัน

๒. นอกจากปรมัตถธรรมแล้ว จิตมีอะไรเป็นอารมณ์อีกหรือไม่

เปิด  555
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ