จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต

จิต ๘๙ ดวง จําแนกออกเป็น ๔ ชาติ คือ

เป็นกุศล ๒๑ ดวง

เป็นอกุศล ๑๒ ดวง

เป็นวิบาก ๓๖ ดวง

เป็นกิริยา ๒๐ ดวง

เมื่อศึกษาเรื่องชาติของจิต ก็จะรู้ได้ว่าแต่ละบุคคลมีจิตประเภทใดบ้าง ดังนี้ คือ

ปุถุชน มีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระโสดาบัน มีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระสกทาคามี มีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระอนาคามี มีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระอรหันต์ มีจิต ๒ ชาติ คือ วิบาก กิริยา

เมื่อรู้ว่าจิตแต่ละดวงเป็นชาติอะไร คือ เป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา ยังจะต้องรู้กิจการงานของจิตแต่ละดวงนั้นด้วยว่า จิตนั้นทํากิจอะไร ฉะนั้น จิตจึงมีชื่อตามกิจของจิตนั้นด้วย เช่น ขณะปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม จิตที่ทํากิจปฏิสนธิในสุคติภูมิเป็นกุศลวิบาก คือ เป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ทํากิจปฏิสนธิในทุคติภูมิในอบายภูมิเป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรม

แต่กุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิตไม่ได้กระทําปฏิสนธิกิจทุกดวง ฉะนั้น เฉพาะกุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิตที่ทําปฏิสนธิกิจเท่านั้นที่ชื่อว่า “ปฏิสนธิจิต”

กุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิตใดทําภวังคกิจ กุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิตนั้น ก็ชื่อว่า “ภวังคจิต

จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิตที่ทําปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทําภวังคกิจไม่ได้ ทําแต่ “ทัสสนกิจ” เท่านั้น ที่ชื่อว่า “จักขุวิญญาณ” เพราะเป็นจิตที่รู้แจ้ง คือ เห็นอารมณ์ที่ปรากฏโดยอาศัยตา ฉะนั้น จึงเรียกชื่อจิตตามประเภทของจิตที่รู้แจ้งอารมณ์ทางทวารด้วย

ถาม ทําไมจิตจึงมี ๔ ชาติ ไม่ใช่ ๕ ชาติ คือ ควรจะเป็นกุศลจิตชาติ ๑เป็นอกุศลจิตชาติ ๑ เป็นกุศลวิบากจิตชาติ ๑ เป็นอกุศลวิบากจิตชาติ ๑ เป็นกิริยาจิตชาติ ๑ รวมเป็น ๕ ชาติ

ตอบ ที่สงสัยว่าทําไมจึงไม่มีจิต ๔ ชาติ ในเมื่อเหตุมี ๒ ชาติ คือ

อกุศลเป็นเหตุ ๑ กุศลเป็นเหตุ ๑ ฉะนั้น วิบากจิตก็ควรมี ๒ ชาติด้วย คือ น่าจะมีอกุศลวิบากชาติ ๑ และกุศลวิบากชาติ ๑ แต่ที่จิตมี ๔ ชาตินั้นก็เพราะเหตุว่า วิบากจิตเองนั้นไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เลว ปานกลาง หรือประณีต แต่จิตที่เป็นอกุศล และกุศลนั้นต่างกันโดยประการต่างๆ เช่น ต่างกันโดยความวิจิตรของอกุศลธรรม หรือกุศลธรรมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่างกันโดยกรรมที่เป็นขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี ขั้นอบรมเจริญปัญญา เช่น ขั้นฟังธรรม ขั้นแสดงธรรม ขั้นอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบระงับกิเลสเป็นสมถภาวนา และขั้นเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา และต่างกันโดยทวาร เช่น เป็นการกระทําโดยกาย หรือโดยวาจา หรือโดยใจ และยังต่างกันด้วยอธิบดี คือ สภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตตธรรมที่เป็นใหญ่ หรือโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ต่างๆ กัน

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ อกุศล และกุศลนั้นมีประเภทต่างๆ มากมาย แต่ว่าความต่างทั้งปวงเหล่านั้นไม่มีในวิบากจิต วิบากจิตเป็นเพียงผลของกรรมที่ได้กระทําแล้ว ซึ่งเมื่อกรรมสุกงอมพร้อมด้วยโอกาสปัจจัย ก็ทําให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทํากิจปฏิสนธิ กิจภวังค์ หรือกิจอื่นๆ ที่รู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ขณะเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิตเกิดแล้วเพราะอดีตกรรมเป็นปัจจัย แต่วิบากจิตที่เห็นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากอีกไม่ได้

ขณะกําลังได้ยิน คือ ขณะที่จิตกําลังรู้เสียงนั้นเป็นวิบากจิต แต่ว่าโสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยินเสียงนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากไม่ได้

เมื่อวิบากจิตไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต และไม่สามารถที่จะยังการกระทําทางกาย วาจาใดๆ ให้เกิดขึ้น และวิบากจิตต่างไม่ประกอบด้วยธรรม เช่น กรุณาเจตสิก มุทิตาเจตสิก และวิรตีเจตสิก ๓ (คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก) เว้นโลกุตตรวิบากจิตที่มีวิรตีเจตสิก ๓ ดวง เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น วิบากจิตเองไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เลว ปานกลาง ประณีต แต่วิบากแห่งกรรมเลวจัดเป็นเลว วิบากแห่งกรรมปานกลางจัดเป็นปานกลาง วิบากแห่งกรรมประณีตจัดเป็นประณีต

เมื่อวิบากเป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นผลของเหตุที่เป็นอกุศลหรือกุศล แต่ตัววิบากเองไม่ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เลว ปานกลาง ประณีต และไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก ฉะนั้น จึงรวมเป็นชาติวิบาก ๑ ชาติ เพราะไม่ต่างกันโดยประการต่างๆ อย่างสภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ อกุศล และกุศล ซึ่งแยกเป็นอกุศล ๑ ชาติ และกุศล ๑ ชาติ

วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทําแล้ว

จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต

สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิต

สันตีรณจิต เป็นวิบากจิต

ตทาลัมพนจิต เป็นวิบากจิต

ฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกิริยา

ขณะใดที่เห็นรูปสีสันวัณณะที่น่าพอใจ จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นเห็นนั้นเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นกุศลวิบาก สันตีรณจิตก็เป็นกุศลวิบาก ตทาลัมพนจิตก็เป็นกุศลวิบาก เมื่อรูปที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว วิถีจิตทางตาดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อจนกว่าวิถีจิตต่อไปจะเกิด ฉะนั้น ควรรู้ว่าขณะเห็นสิ่งใดทางตา วิบากจิตทั้งหมดที่เป็นวิถีจิตวาระนั้นเป็นผลของอดีตกรรมหนึ่งที่ได้กระทําแล้ว

ขณะได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้น เป็นวิถีจิตรู้เสียงที่ได้ยินนั้นแล้วก็ดับไปหมดไปจริงๆ แต่อกุศลก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นพอใจหรือไม่พอใจในรูปต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากมายเหลือเกิน ที่ว่ามากก็คือวันหนึ่งๆ ไม่พ้นความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยขั้นการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าขณะเห็นเป็นเพียงวิบาก เป็นผลของกรรมในอดีต แต่ก็ยับยั้งความพอใจ คือโลภะไม่ให้เกิดไม่ได้ ในขณะที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ

ฉะนั้นจึงควรศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ การศึกษาพิจารณาธรรมโดยละเอียด ย่อมทําให้เห็นโทษของอกุศลธรรมยิ่งขึ้น และย่อมทําให้อบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้นทุกขั้น เพราะรู้ว่ามิฉะนั้นจะเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ท่านถือว่าทุกอย่างเป็นของท่าน ในขณะที่วิถีจิตเกิดเท่านั้น เมื่อใดที่วิถีจิตไม่เกิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ายังไม่สิ้นชีวิต แต่ขณะหลับสนิทนั้นก็ไม่มีเยื่อใย ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความยึดถือแม้แต่ในขันธ์ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เพราะขณะนั้นวิถีจิตไม่เกิดขึ้น จึงไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย ขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตเพียงแต่หลับสนิท ก็ยังขาดเยื่อใยความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องราวต่างๆ ได้ แล้วทําไมจะไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อตัดเยื่อใย และการยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจะทําให้อกุศลน้อยลง เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างปรากฏเพียงชั่วขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง และเมื่อจิตใดเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตนั้นก็ดับไป จริงๆ รูปใดเกิดแล้วดับไป รูปนั้นก็ดับไปจริงๆ รูปที่ปรากฏทางตาเมื่อครู่นี้ดับหมดจริงๆ วิถีจิตแต่ละขณะทางตาเมื่อครู่นี้ดับหมดจริงๆ เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับหมดจริงๆ ได้ยินก็ดับหมดจริง จิตทุกขณะและรูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริงๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ก็ยังไม่เข้าถึงอรรถ คือ ความหมายของคําว่า “ดับ” เพราะยังไม่ประจักษ์การดับ เช่นเวลานี้ ถ้าจะกล่าวว่าจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณจิตดับ ชวนจิตดับ ตทาลัมพนจิตดับ แต่ก็ยังไม่ประจักษ์การดับไปของสภาพธรรมใดๆ เลย ฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด การฟังพระธรรมและการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นปัจจัยโดยเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังเกิดดับ และปัญญาน้อม คือ ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาจนเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนขึ้นทีละเล็กละน้อย

ในอัฏฐสาลินี อตีตติกะ อธิบายอตีตธรรม (๑๐๔๔) กล่าวถึง ลักษณะของธรรมที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว มีข้อความว่า

คําว่า “ล่วงไปแล้ว” คือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ทั้งอุปาทขณะ คือ ขณะที่เกิด ฐีติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่ และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ

จิตดวงหนึ่งๆ มีอายุสั้นมากเหลือเกิน คือ เพียงเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป จิตทุกดวงจึงมีอนุขณะ ๓ ขณะ คือ

อุปาทขณะ เป็นขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่ดับ

ฐีติขณะ เป็นขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ

ภังคขณะ เป็นขณะที่ดับ ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่

จิตขณะที่เกิดขึ้นแล้ว กําลังตั้งอยู่ ยังไม่ชื่อว่าเป็นอดีต สําหรับฐีติขณะ แต่เป็นอดีตแล้วสําหรับอุปาทขณะ

เมื่อศึกษาต่อไปเรื่องรูปก็จะรู้ว่า รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานนั้น เป็นกัมมชรูป เกิดทุกอนุขณะของจิต คืออุปาทขณะของจิต ฐีติขณะของจิต และภังคขณะของจิตทุกดวง เว้นไม่เกิดก่อนจุติจิต ๑๖ ขณะ ฉะนั้น รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน จึงดับหมดพร้อมกับจุติจิต ทําให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาตินั้นทั้ง ๕ ขันธ์

รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานเป็นจิตตชรูป เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต (เว้นปฏิสนธิจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง และจุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ดวง)

รูปที่เกิดเพราะอุตุ คือ ธาตุไฟที่เหมาะสมเป็นสมุฏฐานนั้นเป็นอุตุชรูป เกิดในฐีติขณะของอุตุชรูป ซึ่งเป็นสมุฏฐานนั้น

รูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานเป็นอาหารชรูป เกิดในฐีติขณะของโอชารูปในอาหารที่บริโภคเข้าไป เมื่อโอชารูปในอาหารนั้นซึมซาบแล้ว

จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ขณะทั้ง ๓ ก็หมดไปอย่างรวดเร็วด้วย แต่ธรรมใดซึ่งเป็นอดีต คือ “ล่วงไปแล้ว” นั้น ล่วงไปแล้วทั้ง ๓ ขณะ ไม่เหลือทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ

คําอธิบายต่อไปมีว่า

คําว่า “ดับแล้ว” คือ ถึงความดับแล้ว เหมือนไฟดับ ดับแล้ว ไม่มีอีก

คําว่า “ปราศไปแล้ว” คือ ถึงความปราศไปแล้ว หรือไป ปราศแล้ว เหมือนคนตายที่ปราศไปแล้ว ไปปราศแล้ว ไม่เหลือเลยนั้น คือ ลักษณะของความดับ

คําว่า “แปรไปแล้ว” คือ ถึงความแปรไปด้วยการละปกติ ปกติ คือ มี แต่แปรไปด้วยการละปกติ คือ ไม่มี

คําว่า “อัสดงคตแล้ว” ด้วยอรรถว่า ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ กล่าวคือ ความดับ

“อพฺภตฺถงฺคตา” แปลว่า ถึงความดับสูญแล้ว ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรค คือ ไม่เพียงแต่ใช้คําว่าดับ ยังเพิ่มบทด้วยอุปสรรค คือ ให้รู้ถึงความดับสูญแล้ว ไม่เหลือจริงๆ คําว่า “เกิดขึ้นแล้วปราศไป” คือ บังเกิดแล้วปราศไป ไม่ใช่ว่าไม่มี มีเพราะเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ปราศไปแล้ว สูญจริงๆ ไม่เหลือเลย ธรรมส่วนที่ล่วงไปแล้วเหล่านั้น อะไรบ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสังขตธรรม และเป็นขันธ์ ๕ ดังนี้ คือ

รูปขันธ์ รูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เวทนาขันธ์ ความรู้สึกทุกอย่าง คือ เวทนาเจตสิก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

สัญญาขันธ์ สภาพจํา คือ สัญญาเจตสิก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ประเภท ซึ่งปรุงแต่งเช่น โลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ ศรัทธา วิริยะ และปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

วิญญาณขันธ์ คือ จิตทุกดวง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสังขตธรรม เป็นขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์ ดับไปทุกขณะๆ อย่างนี้ ยังอาลัย ยังยึดถือ ยังผูกพันขันธ์ไหนบ้างไหม ในเมื่อทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับไปๆ สูญไปด้วย ไม่ใช่ดับแล้วยังมีเหลือ แต่ว่าดับสูญไป ปราศไปโดยไม่เหลือเลย

เพียงขั้นการอ่าน การฟัง ดับกิเลสไม่ได้เลย ยังอยู่เต็มทีเดียว ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้เข้าใจเพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึก สังเกต พิจารณารู้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจแล้วนั้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏและดับไป จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

ในวันหนึ่งๆ เคยชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เคยยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา แท้ที่จริงทุกอย่างปรากฏขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง สภาพธรรมใดที่เป็นวิบาก ก็เป็นผลของกรรม จะมีบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ เสื้อผ้าอาภรณ์มากมายอย่างไร ประณีตสวยงามอย่างไร วิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมก็เพียงเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้นๆ ทางตา ทางหู ทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลในขณะต่อไป เพราะเหตุว่าทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทําแล้ว เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยที่กรรมใดจะให้ผลเป็นวิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่านั้นเอง

การศึกษาพิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ย่อมเป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทําให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วศึกษาพิจารณาจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ที่กําลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

เมื่อเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ชวนวิถีที่เป็นกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมเลย ก็ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม ขณะใดเป็นชวนวิถีจิตที่สั่งสมสันดานที่เป็นอกุศลหรือกุศล เมื่อไม่รู้ก็ไม่เห็นโทษของอกุศล และไม่อบรมเจริญกุศล สังสารวัฏฏ์ก็ย่อมจะต้องยืดยาวต่อไป ในวันหนึ่งๆ นั้นอกุศลจิตเกิดมากหรือกุศลจิตเกิดมาก ฉะนั้น ผลข้างหน้าจะเป็นกุศลวิบากมากหรืออกุศลวิบากมาก ซึ่งทุกท่านก็ย่อมพิจารณารู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่านได้ในชีวิตประจําวันตามความเป็นจริง

สรุปกิจของจิต

กิจของจิตมี ๑๔ กิจ คือ

๑. ปฏิสนธิกิจ คือ กิจสืบต่อจากจุติกิจ

จิตที่ทําปฏิสนธิกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๑๙ ดวง คือ

กามาวจรวิบากจิต ๑๐ ดวง

รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง

อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง

๒. ภวังคกิจ คือ กิจดํารงภพชาติ

จิตที่ทําภวังคกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๑๙ ดวง คือ วิบากจิตประเภทใดทําปฏิสนธิกิจ วิบากจิตประเภทเดียวกันนั้นก็เกิดขึ้นทําภวังคกิจต่อจากปฏิสนธิจิตที่ดับไปแล้ว จนกว่าวิถีจิตจะเกิดทางทวารใดทวารหนึ่ง และเมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อทุกครั้งจนกว่าจะจุติ

๓. อาวัชชนกิจ คือ กิจนึกถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร

จิตที่ทําอาวัชชนกิจเป็นกิริยาจิต ๒ ดวง คือ

ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

๔. ทัสสนกิจ คือ กิจเห็น

จิตที่ทําทัสสนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง

จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

๕. สวนกิจ คือ กิจได้ยิน

จิตที่ทําสวนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง

โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

๖. ฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น

จิตที่ทําฆายนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง

ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

๗.สายนกิจ คือ กิจลิ้มรส

จิตที่ทําสายนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง

ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

๘. ผุสสนกิจ คือ กิจรู้อารมณ์ที่กระทบกาย

จิตที่ทําผุสสนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง

กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

๙. สัมปฏิจฉันนกิจ คือ กิจรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ

จิตที่ทําสัมปฏิจฉันนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๒ ดวง คือ

สัมปฏิจฉันนจิตอกุศลวิบาก ๑ ดวง

สัมปฏิจฉันนจิตกุศลวิบาก ๑ ดวง

๑๐. สันตีรณกิจ คือ กิจพิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร ๕

จิตที่ทําสันตีรณกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๓ ดวง คือ

อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ ดวง

อุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง

โสมนัสสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ คือ กิจตัดสินอารมณ์ให้ชวนวิถีจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดทางปัญจทวาร

จิตที่ทํากิจนี้ ได้แก่ กิริยาจิต ๑ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต

๑๒. ชวนกิจ คือ กิจแล่นไปในอารมณ์ หรือเสพอารมณ์

จิตที่ทําชวนกิจมี ๕๕ ดวง คือ

อกุศลจิต ๑๒ ดวง

อเหตุกะ (หสิตุปปาทจิต) ๑ ดวง

กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง

มหากิริยาจิต ๘ ดวง

รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง

รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง

อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง

อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง

โลกุตตรจิต ๘ ดวง

๑๓. ตทาลัมพนกิจ คือ กิจรู้อารมณ์ต่อจากชวนกิจ

จิตที่ทําตทาลัมพนกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๑๑ ดวง คือ

สันตีรณจิต ๓ ดวง

กามาวจรสเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง

๑๔. จุติกิจ คือ กิจเคลื่อนจากภพชาติ เมื่อจุติจิตเกิดทํากิจเคลื่อนจากภพชาติดับไปแล้ว ก็สิ้นชีวิต หมดสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง

จิตที่ทําจุติกิจ ได้แก่ วิบากจิต ๑๙ ดวง ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตและภวังคจิตนั่นเอง เมื่อวิบากจิตประเภทใดทําปฏิสนธิกิจ วิบากจิตประเภทเดียวกันนั้นเองก็ทําภวังคกิจและจุติกิจ

รวมจิต ๘๙ ดวง ทํากิจ ๑๔ กิจ

ปฏิสนธิจิตประมวลมาซึ่งนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีปัจจัยทําให้เกิดขึ้นเป็นไปในภพชาติหนึ่งๆ ตามกําลังและประเภทของปฏิสนธิจิตนั้นๆ

จิตที่ทําปฏิสนธิกิจในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ กามาวจรวิบากจิต ๑๐ ดวง คือ

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

กามาวจรสเหตุกกุศลวิบากจิต (มหาวิบาก) ๘ ดวง

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทําปฏิสนธิกิจในอบายภูมิ ๔ คือ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนไม่มีกําลัง จึงทําปฏิสนธิกิจในมนุษย์โดยมีอกุศลกรรมเบียดเบียน ทําให้เป็นบุคคลพิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก เป็นต้น ตั้งแต่กําเนิด และปฏิสนธิในสวรรค์ชั้นต้น คือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

มหาวิบากจิต ๘ ดวง ทําปฏิสนธิกิจในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ๖ ภูมิต่างๆ กัน ตามกําลังและความประณีตของกุศลกรรมนั้นๆ

รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง ทําปฏิสนธิกิจในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ ตามขั้นของรูปาวจรกุศลนั้นๆ ซึ่งเป็นเหตุ

อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ทําปฏิสนธิกิจในอรูปพรหม ๔ ภูมิ ตามขั้นของอรูปาวจรกุศลนั้นๆ ซึ่งเป็นเหตุ

สําหรับจิตที่ทําตทาลัมพนกิจ ๑๑ ดวงนั้น เกิดต่อจากกามชวนวิถีในกามภูมิเท่านั้น ไม่เกิดในภูมิที่สูงกว่านี้ คือ ไม่เกิดในรูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมภูมิเลย

จิตที่ทําได้ ๕ กิจ มี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง และอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

จิตที่ทําได้ ๔ กิจ มี ๘ ดวง คือ มหาวิบากจิต ๘ ดวง

จิตที่ทําได้ ๓ กิจ มี ๙ ดวง คือ รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง และ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง

จิตที่ทําได้ ๒ กิจ มี ๒ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

จิตที่เหลือทําได้กิจเดียว เฉพาะกิจของตนๆ

คําถามทบทวน

๑. ตทาลัมพนจิตเป็นชาติอะไร เป็นผลของกรรมอะไร

๒. กัมมชรูปเกิดขณะใดบ้าง และเว้นไม่เกิดเมื่อไร

๓. จิตตชรูปเกิดเมื่อไร เว้นไม่เกิดขณะไหนบ้าง

๔. อกุศลจิตทํากิจอะไร

๕. จิตที่ทําชวนกิจมีกี่ชาติ

๖. กุศลจิต กิริยาจิต ทําตทาลัมพนกิจได้ไหม

๗. อุเบกขาสันตีรณจิต ทํากิจได้กี่กิจ อะไรบ้าง

๘. โสมนัสสันตีรณจิต ทํากิจได้กี่กิจ อะไรบ้าง

๙. พระอรหันต์มีจิตกี่ชาติ

๑๐. ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีจิตกี่ชาติ

เปิด  544
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ