ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท

จิต ๘๙ ประเภท คือ

กามาวจรจิต ๕๔ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

โลกุตตรจิต ๘ ดวง

จิต ๑๒๑ ประเภท คือ

กามาวจรจิต ๕๔ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

โลกุตตรจิต ๔๐ดวง

กามาวจรจิต เป็นจิตขั้นต้นซึ่งเกิดดับเป็นปกติประจําวันทุกขณะ ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น รูปปรมัตถ์เป็นกามอารมณ์ ในบรรดารูปปรมัตถ์ ๒๘ รูปนั้น รูปปรมัตถ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นมี ๗ รูป เรียกว่าโคจรรูป หรือ วิสยรูป (รูปซึ่งเป็นวิสัยเป็นโคจร คือ เป็นรูปที่จิตย่อมเกิดขึ้นรู้เป็นปกติ) ได้แก่ รูปารมณ์ (วัณณะ ปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทรูป) ๑ รูป สัททารมณ์ (เสียง ปรากฏเมื่อกระทบโสตปสาทรูป) ๑ รูป คันธารมณ์ (กลิ่น ปรากฏเมื่อกระทบฆานปสาทรูป) ๑ รูป รสารมณ์ (รส ปรากฏเมื่อกระทบชิวหาปสาทรูป) ๑ รูป โผฏฐัพพารมณ์ ๓ รูป (อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุดิน ๑ เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ ๑ ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม ๑ ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาทรูป)

จิตที่เกิดดับตามปกติในชีวิตทุกๆ ขณะนั้น เป็นจิตขั้นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นไปกับรูปเหล่านี้ คือ มีรูปเหล่านี้เป็นอารมณ์ หรือคิดนึกเรื่องรูปเหล่านี้

กามาวจรจิต ๕๔ ดวง คือ

อกุศลจิต ๑๒ ดวง

อเหตุกจิต ๑๘ ดวง

กามโสภณจิต ๒๔ ดวง

อกุศลจิต ๑๒ ดวง

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เพราะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลจิต ๑๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง

มูล คือต้นเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลายนั้น มี ๓ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ รวมเป็นอกุศลเหตุ หรืออกุศลมูล ๓

โลภมูลจิต คือ จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงทําให้พอใจติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท คือ

ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา (โสมนสฺสสหคตํ) ความรู้สึกดีใจเป็นสุข เป็นไปกับความเห็นผิด (ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ) คือ มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง (อสงฺขาริกํ)

ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง (สสงฺขาริกํ)

ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่เป็นไปกับความเห็นผิด (ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ) คือ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตมีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา (อุเปกฺขาสหคตํ) ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตมีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่เป็นไปกับความเห็นผิด เป็นจิตมีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

โทสมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ไม่พอใจในอารมณ์ โทสมูลจิตมี ๒ ประเภท คือ

ดวงที่ ๑ โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โทสมูลจิตเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่สบายใจและเกิดร่วมกับปฏิฆะ (โทสเจตสิก) ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๒ โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โทสมูลจิตเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาและโทสเจตสิก เป็นจิตมีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

โมหมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับโมหเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หลง ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย โมหมูลจิตมี ๒ ประเภท

ดวงที่ ๑ อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ

โมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยความสงสัย (วิจิกิจฉาเจตสิก) ในความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย

ดวงที่ ๒ อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ

โมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบกับความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจเจตสิก)

จิตดวงหนึ่งๆ นั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท จิตดวงหนึ่งๆ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างกันตามประเภทของจิตนั้นๆ จิตทุกดวงต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามประเภทของจิตนั้นๆ

อกุศลจิตทุกดวงต้องมีอกุศลสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง) ๔ ดวงเกิดร่วมด้วย คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก (สภาพธรรมที่ไม่รังเกียจบาป) ๑ อโนตตัปปเจตสิก (สภาพธรรมที่ไม่หวั่นเกรงโทษของอกุศลธรรม) ๑ และอุทธัจจเจตสิก (สภาพธรรมที่ฟุ้งซ่านไปตามอกุศลธรรม) ๑

ความต่างกันของอกุศลจิต ๑๒ ดวงโดยมูล (อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ) คือ

โมหมูลจิต ไม่มีโลภเจตสิกและโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

โทสมูลจิต ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย

โลภมูลจิต ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ความต่างกันของอกุศลจิต ๑๒ ดวงโดยเวทนา ๓ (อุเบกขา เวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา) คือ

อุเบกขาเวทนา เกิดร่วมกับโลภมูลจิตและโมหมูลจิตได้ เกิดร่วมกับโทสมูลจิตไม่ได้

โสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ เกิดร่วมกับโทสมูลจิตและโมหมูลจิตไม่ได้

โทมนัสเวทนา เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ๒ ดวง เท่านั้น ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นๆ เลย

สําหรับอกุศลจิตดวงสุดท้าย คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๒ อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ นั้น เป็นโมหมูลจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่ง เพราะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่ไม่เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ อกุศลจิตขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์

เมื่ออกุศลจิตขณะใดมีกําลังแรงกล้า ก็จะเป็นเหตุให้เจตนากระทําอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

กายกรรม ๓ ได้แก่ ปาณาติปาต (ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต) ๑ อทินนาทาน (ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน) ๑ กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ๑

วจีกรรม ๔ ได้แก่ มุสาวาท (พูดเท็จ) ๑ ผรุสวาท (พูดคําหยาบ) ๑ ปิสุณวาจา (พูดคําส่อเสียด) ๑ สัมผัปปลาปวาจา (พูดเพ้อเจ้อ) ๑

มโนกรรม ๓ ได้แก่ อภิชฌา (คิดเพ่งเล็งเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตน) ๑ พยาบาท (คิดเบียดเบียนทําร้ายผู้อื่น) ๑ มิจฉาทิฏฐิ (คิดเห็นผิดว่าผลของกรรมไม่มี เป็นนัตถิกทิฏฐิ คือเห็นว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากกรรม ๑ เห็นผิดว่ากรรมไม่มีผล เป็นอเหตุกทิฏฐิ คือเห็นว่ากรรมไม่เป็นเหตุให้เกิดผล ๑ เห็นผิดว่ากรรมเป็นเพียงกิริยาอาการของกายเท่านั้น เป็นอกิริยทิฏฐิ ๑) ๑

เมื่ออกุศลจิตที่เป็นเหตุให้กระทําอกุศลกรรมบถดับไปแล้ว เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตที่ดับไปนั้น ก็เป็นกัมมปัจจัยให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมนั้นๆ เมื่อถึงกาลอันสมควร

อเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ จิตที่ไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวงเลย เจตสิกที่เป็นเหตุมี ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ (อกุศลเหตุ ๓ นี้เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นๆ เลย) อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก (อโมหะ) ๑ เป็นโสภณเหตุ ๓ จิตใดมีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นโสภณจิต คือเป็นจิตที่ดีงาม

จิต ๑๘ ดวงไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ เลย จิต ๑๘ ดวงจึงเป็นอเหตุกจิต และเป็นอโสภณจิตด้วย ส่วนจิตอื่นๆ ๗๑ ดวงนั้นเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ จิต ๗๑ ดวง จึงเป็นสเหตุกจิต

อเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และอเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง

อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง คือ

อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเห็นวัณณะ (ที่ไม่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ

จิตได้ยินเสียง (ที่ไม่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตได้กลิ่น (ที่ไม่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ ชิวหาวิญฺญาณํ

จิตลิ้มรส (ที่ไม่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

ทุกฺขสหคตํ กายวิญฺญาณํ

จิตรู้โผฏฐัพพะ (ที่ไม่ดี) เกิดร่วมกับทุกขเวทนา

(รวมเป็นปัญจวิญญาณ ๕ รู้อารมณ์ ๕ เฉพาะอารมณ์ ของตนๆ เท่านั้น)

อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ

จิตรับรู้อารมณ์ ๕ ต่อจากปัญจวิญญาณ อกุศลวิบาก

อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

จิตพิจารณาอารมณ์ ๕ ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต อกุศลวิบาก

อกุศลวิบากจิตทุกดวงเป็นผลของอกุศลกรรม จึงเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อนิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ซึ่งมีเจตนาที่เป็นกุศลสําเร็จในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น เมื่อกุศลเจตนาเกิดขึ้นกระทํากุศลกรรมสําเร็จแล้ว กุศลเจตนานั้นย่อมเป็นกัมมปัจจัยให้เกิดผล คือ กามาวจรกุศลวิบากจิต ๑๖ ดวง คือ เป็นกามาวจร สเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง คือ

อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเห็นวัณณะ (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ

จิตได้ยินเสียง (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตได้กลิ่น (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ ชิวหาวิญฺญาณํ

จิตลิ้มรส (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ

จิตรู้โผฏฐัพพะ (ที่ดี) เกิดร่วมกับสุขเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ

จิตรับรู้อารมณ์ ๕ ต่อจากปัญจวิญญาณ กุศลวิบาก

อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

จิตพิจารณาอารมณ์ ๕ ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต กุศลวิบาก

โสมนสฺสสหคตํ สนฺตีรณํ

จิตพิจารณาอารมณ์ ๕ ที่ดีพิเศษ ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต กุศลวิบาก

อารมณ์ที่น่าพอใจนั้นมี ๒ คือ อิฏฐารมณ์ และอติอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าพอใจยิ่ง) ขณะใดที่เป็นผลของกุศลกรรมที่โสมนัส ผ่องแผ้ว กุศลวิบากก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ และสันตีรณจิตที่พิจารณารู้อติอิฏฐารมณ์นั้นก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ถ้าขณะใดกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นรู้อิฏฐารมณ์ สันตีรณจิตที่พิจารณารู้อิฏฐารมณ์นั้นก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง

กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุและไม่ใช่วิบากจิตซึ่งเป็นผล อเหตุกกิริยาจิต คือ กิริยาจิตที่ไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ อเหตุกกิริยาจิตมี ๓ ดวง คือ

อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ ๑ ดวง

อุเปกฺขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ ๑ ดวง

โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ ๑ ดวง

ปัญจทวาราวัชชนจิต (ปญฺจ + ทวาร + อาวชฺชน) คือ วิถีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย กิริยาจิตต่างกับวิบากจิต คือ กิริยาจิตรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็ได้ อนิฏฐารมณ์ก็ได้ ส่วนวิบากจิตนั้น กุศลวิบากจิตรู้ได้เฉพาะอิฏฐารมณ์ อกุศลวิบากจิตก็รู้ได้เฉพาะอนิฏฐารมณ์เท่านั้น

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดกระทบตา (หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย) แล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณ (หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ) จึงเกิดสืบต่อเห็น (หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้โผฏฐัพพะ) อารมณ์เดียวกันนั้นแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตจึงเกิดต่อรับอารมณ์เดียวกันนั้นแล้วดับไป สันตีรณจิตจึงเกิดต่อ พิจารณาอารมณ์เดียวกันนั้นแล้วดับไป

เมื่อจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จะเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย แต่ละวาระนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตจะต้องเกิดก่อน เพราะต้องมีวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใดก่อน จิตที่ชื่อว่า อาวัชชนะนั้น เพราะอรรถว่า นําออกไปจากสันดาน (การสืบต่อ) อันเป็นภวังค์ แล้วน้อมไปสู่อารมณ์ที่กระทบทวาร เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ จึงจะเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ทางทวารนั้นๆ ได้

มโนทวาราวัชชนจิต (มโน + ทฺวาร + อาวชฺชน) เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ และเป็นจิตที่เกิดก่อนอกุศลจิตหรือกามาวจรกุศลจิต (ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกามาวจรกิริยาจิตแทนกุศลจิต) และทางปัญจทวารนั้น เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดต่อทําโวฏฐัพพนกิจ จึงเป็นโวฏฐัพพนจิต (เพราะไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร จึงไม่ได้ทําอาวัชชนกิจ) คือเป็นจิตที่กระทําทางให้จิตที่เกิดต่อมนสิการโดยไม่แยบคายเป็นอกุศลจิต หรือมนสิการโดยแยบคายเป็นกุศลจิต (หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์) ตามการสะสมของจิต

ไม่ว่าจิตดวงนั้นจะเกิดทางปัญจทวาร เป็นโวฏฐัพพนจิตสืบต่อจากสันตีรณจิต หรือเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจขณะแรกเป็นมโนทวาราวัชชนจิตก็ตาม เมื่อจิตดวงนี้ดับไปแล้ว อกุศลจิตหรือกามาวจรกุศลจิต (หรือกามาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์) จึงเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น จิตดวงนี้จึงเกิดขึ้นก่อนอกุศลจิตและกามาวจรกุศลจิต (หรือกามาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์) ทั้ง ๖ ทวาร

หสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่เพียงทําให้พระอรหันต์แย้มยิ้มใน ๖ อารมณ์ ทาง ๖ ทวาร

กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวงเป็นจิตที่ดีงามขั้นกามาวจร เพราะมีเจตสิกที่ดีงาม (โสภณเจตสิก) เกิดร่วมด้วย

กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง คือ กามาวจรกุศลจิต (มหากุศล) ๘ ดวง กามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก) ๘ ดวง กามาวจรกิริยาจิต (มหากิริยา) ๘ ดวง

กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง คือ

ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา (ญาณสมฺปยุตฺตํ) คือ มีปัญญาเจตสิก (อโมหะ) เกิดร่วมด้วย เป็นจิตมีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลัง เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

กุศลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกําลังอ่อน เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

เจตนาเจตสิกในกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ย่อมสําเร็จเป็นกุศลกรรมในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ (36)

ทานมัย บุญสําเร็จด้วยทาน การสละวัตถุที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

สีลมัย บุญสําเร็จด้วยศีล การวิรัติทุจริตกรรม

ภาวนามัย บุญสําเร็จด้วยการเจริญสมถะและการเจริญวิปัสสนา

อปจายนมัย (อปจิติสหคตะ) บุญสําเร็จด้วยการอ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม

เวยยาวัจจมัย (เวยยาวัจจสหคตะ) บุญสําเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงานที่ควรกระทํา

ปัตติทานมัย (ปัตตานุปทานมัย) บุญสําเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นรู้เพื่ออนุโมทนา

ปัตตานุโมทนามัย (อัพภานุโมทนามัย) บุญสําเร็จด้วยการอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น

เทสนามัย บุญสําเร็จด้วยการแสดงพระธรรม

สวนมัย บุญสําเร็จด้วยการฟังพระธรรม

ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสําเร็จด้วยการทําความเห็นให้ถูกต้อง

ขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต

กามาวจรกุศลจิตเป็นกุศลที่เป็นไปทั้งในทาน (ทาน ปัตติทาน ปัตตานุโมทนา) ในศีล (ศีล อปจายนะ เวยยาวัจจะ) ในภาวนา (ภาวนา ธัมมเทสนา ธัมมสวนะ ทิฏฐุชุกัมม์) เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ด้วยเหตุนี้กามาวจรกุศลจึงชื่อว่า มหากุศล

เมื่อกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง เกิดขึ้น สําเร็จเป็นกุศลกรรมแล้ว เจตนาที่กระทํากุศลกรรมนั้นๆ เป็นกัมมปัจจัยให้กามาวจรกุศลวิบากจิต ๑๖ ดวงเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมนั้นๆ ตามควรแก่เหตุและกาล กามาวจรกุศลวิบาก ๑๖ ดวง คือ อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง และกามาวจรสเหตุกกุศลวิบาก (มหาวิบาก) ๘ ดวง

กามาวจรสเหตุกกุศลวิบาก (มหาวิบาก) ๘ ดวง คือ

ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหาวิบากจิต ๘ ดวงนี้มีโสภณเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นสเหตุกกุศลวิบากจิต ต่างกับอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง ซึ่งไม่มีโสภณเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย

กามาวจรโสภณกิริยาจิต (มหากิริยาจิต) ๘ ดวง เป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อดับอกุศลและกุศลทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตในกาลข้างหน้าแล้ว สภาพของโสภณจิตที่เป็นกุศลก่อนเป็นพระอรหันต์นั้น เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นเพียงกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตอีกต่อไป ฉะนั้น พระอรหันต์จึงมีแต่วิบากจิตและกิริยาจิต คือมีวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมก่อนเป็นพระอรหันต์ และมีกิริยาจิตซึ่งไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตในกาลต่อไปอีกเลย

กามาวจรโสภณกิริยาจิต หรือกามาวจรสเหตุกกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต ๘ ดวง คือ

ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง

รูปาวจรจิต เป็นจิตระดับสูงกว่ากามาวจรจิต เป็นจิตที่ได้อบรมเจริญขึ้นจนพ้นจากกามอารมณ์ โดยอาศัยการอบรมเจริญกามาวจรกุศลจิตจนสงบมั่นคงขึ้นเป็นสมถภาวนา เมื่อกามาวจรกุศลจิตสงบมั่นคงขึ้นเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนจิตแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิขณะใด ขณะนั้นก็เป็นรูปาวจรกุศลจิต (รูปฌานกุศลจิต) พ้นจากสภาพของกามาวจรจิต

รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง

วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกุสลจิตฺตํ

ปฐมฌานกุศลจิต มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ

ทุติยฌานกุศลจิต มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ

ตติยฌานกุศลจิต มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกุสลจิตฺตํ

จตุตถฌานกุศลจิต มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา

อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานกุสลจิตฺตํ

ปัญจมฌานกุศลจิต มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

ฌานจิตขั้นสูงขึ้นๆ นั้น ละองค์ของฌานไปตามลําดับโดยนัยของรูปฌาน ๔ นั้นไม่มีทุติยฌาน ตติยฌานจิตจึงเป็นทุติยฌาน จตุตถฌานจิตจึงเป็นตติยฌาน และปัญจมฌานจิตจึงเป็นจตุตถฌาน ทั้งนี้เพราะบางบุคคลสามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกัน

รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง

วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานวิปากจิตฺตํ

ปฐมฌานวิบากจิต มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานวิปากจิตฺตํ

ทุติยฌานวิบากจิต มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานวิปากจิตฺตํ

ตติยฌานวิบากจิต มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานวิปากจิตฺตํ

จตุตถฌานวิบากจิต มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา

อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานวิปากจิตฺตํ

ปัญจมฌานวิบากจิต มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

เมื่อรูปาวจรกุศลจิตมีกําลัง ถึงพร้อมด้วยวสี คือ ความชํานาญคล่องแคล่วในการเกิดขึ้นได้ตามกําหนดเวลา และเกิดดับสืบต่อกันไปโดยไม่ขาดสายตามกําหนดเวลา และออกจากฌาน คือ ฌานจิตไม่เกิดสืบต่อไปอีกตามกําหนดเวลาเป็นต้น เมื่อฌานจิตนั้นไม่เสื่อม ฌานกุศลจิตขั้นใดขั้นหนึ่งย่อมมีปัจจัยเกิดขึ้นก่อนจุติจิต ฌานกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตย่อมเป็นปัจจัยให้ฌานวิบากจิตปฏิสนธิเกิดขึ้น เป็นรูปพรหมบุคคลตามภูมิของฌานจิตนั้นๆ

รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง

วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกิริยาจิตฺตํ

ปฐมฌานกิริยาจิต มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกิริยาจิตฺตํ

ทุติยฌานกิริยาจิต มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกิริยาจิตฺตํ

ตติยฌานกิริยาจิต มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกิริยาจิตฺตํ

จตุตถฌานกิริยาจิต มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา

อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานกิริยาจิตฺตํ

ปัญจมฌานกิริยาจิต มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ในขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ รูปาวจรกิริยาจิตไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปาวจรวิบากจิตเลย

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

อรูปาวจรณานจิต คือ ปัญจฌานจิตที่ไม่มีรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ เพราะเห็นว่าเมื่อยังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังใกล้ชิดต่อการที่จะมีกามเป็นอารมณ์ เมื่อบรรลุรูปปัญจมฌานแล้วก็เพิกรูปที่เป็นอารมณ์ โดยน้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีรูปนิมิต และมีอารมณ์ไม่มีที่สุด อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง

อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง

อากาสานญฺจายตนกุสลจิตฺตํ

วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตฺตํ

อากิญฺจญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

เนวสญฺญานาสญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

อากาสานัญจายตนกุศลจิต เป็นอรูปปัญจมฌานจิตที่ระลึกถึงอากาศที่กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์

วิญญาณัญจายตนกุศลจิต เป็นอรูปปัญจมฌานจิตที่มีวิญญาณที่ไม่มีที่สุด คือ อากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์

อากิญจัญญายตนกุศลจิต เป็นอรูปปัญจมฌานจิตที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์เลย ไม่มีแม้อากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ เพราะรู้ว่าการไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เลยย่อมประณีตกว่ามีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์

เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต เป็นอรูปปัญจมฌานจิตที่มีอากิญจัญญายตนจิตเป็นอารมณ์ เพราะรู้ว่าแม้ขณะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เลยนั้น ก็ยังมีอากิญจัญญายตนจิต ฉะนั้น อรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนจิต จึงมีอากิญจัญญายตนจิตเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นสภาพที่ละเอียดประณีตมาก โดยขณะนั้นจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวงนี้เมื่อถึงพร้อมด้วยวสีไม่เสื่อม ย่อมเป็นปัจจัยให้อรูปฌานกุศลดวงใดดวงหนึ่งเกิดก่อนจุติจิต และเมื่อจุติจิตดับแล้ว อรูปฌานกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตก็เป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากจิตปฏิสนธิเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปฌานภูมิตามขั้นของอรูปฌานจิตนั้นๆ

อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง

อากาสานญฺจายตนวิปากจิตฺตํ

วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตฺตํ

อากิญฺจญฺญายตนวิปากจิตฺตํ

เนวสญฺญานาสญฺญายตนวิปากจิตฺตํ

เมื่ออรูปาวจรวิบากจิตดวงใดดวงหนึ่งปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของอรูปฌานจิตนั้นแล้ว ก็ดํารงความเป็นอรูปพรหมบุคคลนั้นๆ จนกว่าจะจุติเมื่อสิ้นอายุของพรหมภูมินั้นๆ ระหว่างที่เป็นอรูปพรหมบุคคลนั้น ไม่มีรูปขันธ์ใดๆ เกิดเลย มีแต่นามขันธ์ ๔ เท่านั้น จึงเป็นอรูปพรหมบุคคล

อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง

อากาสานญฺจายตนกิริยาจิตฺตํ

วิญฺญาณญฺจายตนกิริยาจิตฺตํ

อากิญฺจญฺญายตนกิริยาจิตฺตํ

เนวสญฺญานาสญฺญายตนกิริยาจิตฺตํ

อรูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ผู้ได้อบรมเจริญสมถภาวนามาแล้วจนถึงอรูปฌาน เมื่อบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว อรูปาวจรณานจิตที่เกิดขึ้นจึงเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่อรูปาวจรกุศลจิตอีกต่อไป

โลกุตตรจิต ๘ ดวง

โลกุตตรจิต คือ จิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน โดยเป็นจิตที่ดับกิเลส เป็นโลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวงประเภทหนึ่ง และโดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว เป็นโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวงประเภทหนึ่ง โลกุตตรจิต ๘ ดวง คือ

โสตาปัตติมัคคจิต (กุศล) ดวง

โสตาปัตติผลจิต (วิบาก) ดวง

สกทาคามิมัคคจิต (กุศล) ดวง

สกทาคามิผลจิต (วิบาก) ดวง

อนาคามิมัคคจิต (กุศล) ดวง

อนาคามิผลจิต (วิบาก) ๑ ดวง

อรหัตตมัคคจิต (กุศล) ดวง

อรหัตตผลจิต (วิบาก) ดวง

เมื่อกามาวจรกุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดระลึก และพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และละคลายความยึดมั่นเห็นผิดในสภาพธรรม จนบรรลุวิปัสสนาญาณตามลําดับขั้นแล้ว โลกุตตรจิตก็เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน และดับกิเลสตามลําดับขั้น คือ

โสตาปัตติมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศลจิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ ทํากิจดับกิเลส คือ มิจฉาทิฏฐิ วิจิกิจฉา และอกุศลธรรมในฐานะเดียวกัน จึงไม่มีปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิอีกเลย

เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตดับแล้ว โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่น โสตาปัตติมัคคจิตเป็นกุศลกรรมที่ให้ผลทันที โดยเป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากเกิดขึ้น มีพระนิพพานเป็นอารมณ์สืบต่อจากโสตาปัตติมัคคจิตทันที แต่ต่างกันโดยสภาพที่โสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสเมื่อมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้นรับผล คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว

สกทาคามิมัคคจิต ก็โดยนัยเดียวกันคือ เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ ทํากิจดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ เมื่อสกทาคามิมัคคจิตดับแล้ว สกทาคามิผลจิตก็เกิดสืบต่อ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว

อนาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ ทํากิจดับความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างละเอียด เมื่ออนาคามิมัคคจิตดับแล้ว อนาคามิผลจิต ก็เกิดสืบต่อ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว

อรหัตตมัคคจิต เกิดขึ้นขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ ทํากิจดับกิเลสที่เหลืออยู่ทั้งหมด เมื่ออรหัตตมัคคจิตดับแล้ว อรหัตตผลจิต ก็เกิดสืบต่อ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว

โลกุตตรจิต ๔๐ ดวง

ฌานลาภีบุคคล คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนแคล่วคล่องชํานาญยิ่งนั้น ขณะใดที่ฌานจิตขั้นหนึ่งขั้นใดเกิด กามาวจรกุศลญาณสัมปยุตตจิตก็เกิดสลับ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้น เมื่อปัญญาพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น ชัดแจ้งขึ้น ก็ย่อมละคลายความยึดถือเห็นผิดว่าเป็นตัวตนลง เมื่อโลกุตตรจิตขั้นใดเกิดขึ้นพร้อมกับองค์ของฌานขั้นใด โดยมีฌานขั้นนั้นเป็นบาท ก็เป็นมัคคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรฌานขั้นนั้นๆ ฉะนั้น จึงเป็นโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง

โสตาปัตติมรรค ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

โสตาปัตติผล ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

สกทาคามิมรรค ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

สกทาคามิผล ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

อนาคามิมรรค ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

อนาคามิผล ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

อรหัตตมรรค ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

อรหัตตผล ปฐมฌาน ๑, ทุติยฌาน ๑, ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑, ปัญจมฌาน ๑

มัคคจิตทั้ง ๔ ดวงนั้น เกิดขึ้นได้เพียงขณะเดียวเท่านั้นใน สังสารวัฏฏ์ แต่โลกุตตรฌานวิบาก คือผลจิตนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้อีกเมื่อบุคคลนั้นมีฌานจิตคล่องแคล่ว เป็นปัจจัยให้โลกุตตรฌานวิบากจิตเกิดขึ้นได้อีกวาระอื่นๆ โลกุตตรฌานจิตที่เกิดในวาระหลังๆ ไม่ใช่ในมัคควิถีซึ่งดับกิเลสนั้น เป็นผลสมาบัติเพราะเป็นโลกุตตรฌานวิบากจิต (ผลจิต) ที่เกิดดับสืบต่อกัน โดยไม่มีจิตอื่นเกิดแทรกคั่นเลยในระหว่างที่กําลังเป็นผลสมาบัติอยู่นั้น


(36) อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายบุญญกิริยาวัตถุ

เปิด  1,427
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ