บัญญัติ

ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย ปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป แต่ละลักษณะ แต่ละอาการ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ว่าเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ คือ การถืออาการของรูปและนามซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ เพราะยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการโดยสัณฐานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ จนปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กําลังเกิดดับในขณะนี้ จึงรู้แจ้งชัดว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เป็นแต่ปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้

ความลึกและเหนียวแน่นของอวิชชาที่ทําให้ยึดถือในสมมติสัจจะว่าเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ นั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วย่อมเห็นสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินเสียงที่ปรากฏ ได้กลิ่นที่ปรากฏ ลิ้มรสที่ปรากฏ รู้เย็นร้อนที่กระทบสัมผัสกาย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จึงยึดถือในอาการของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันตลอดเวลา ที่ปรากฏเสมือนไม่เกิดดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มีฆนบัญญัติ คือ การยึดถืออาการของสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยยังไม่รู้ว่าสมมติเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ความและยังพูดไม่ได้ และสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมรู้ฆนบัญญัติเหมือนกันจนกว่าจะเจริญเติบโตขึ้น เข้าใจความหมายของเสียง จึงรู้สมมติสัจจะ คือการสมมติบัญญัติเรียกสภาพธรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ฉะนั้น เมื่อเป็นเด็กเคยเห็นอาการของสภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนไม่เกิดดับอย่างไร เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็ยังคงเห็นเป็นอย่างนั้นเป็นสิ่งนั้น เช่น เห็นเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ตามความเป็นจริงนั้น สภาพที่แข็งไม่ว่าจะเป็นถ้วยหรือจาน หรือช้อน หรือส้อม ก็เป็นเพียงธาตุแข็ง เป็นปฐวีธาตุ แต่ในวันหนึ่งๆ นั้น เห็นอะไร กระทบสัมผัสอะไร ในขณะที่กระทบสัมผัสไม่เคยคิดว่าเพียงกระทบสัมผัสสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นสภาพที่แข็ง แต่มีความรู้สึกว่าสัมผัสช้อน หรือส้อม หรือจาน หรือถ้วย ตามที่เคยยึดถือในอาการที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทั้งๆ ที่เมื่อสัมผัสช้อนก็แข็ง ส้อมก็แข็ง ถ้วยก็แข็ง จานก็แข็ง เพราะลักษณะที่แท้จริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่แข็ง แต่โดยการจํารูปร่างต่างๆ จึงทําให้รู้ว่าถ้วยไม่ใช่จาน ช้อนไม่ใช่ส้อม ฉะนั้น แม้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงนั้นเป็นรูปธรรมที่มีลักษณะแข็ง แต่ก็ยังจําสมมติสภาพนั้นว่า จานสําหรับใส่ข้าว ถ้วยสําหรับใส่แกง ช้อนสําหรับตักอาหาร จําสมมติสภาพที่เป็นธาตุแข็งต่างๆ เช่น เหล็ก วัสดุที่นํามาประกอบกันเป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้น ปรากฏแต่ละลักษณะแล้วก็ดับไป

นี่คือการจําสมมติบัญญัติสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการประดิษฐ์ใหม่ๆ ทุกๆ วัน ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐานอาการที่ปรากฏรวมกันเป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ เป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ

นอกจากรู้ฆนบัญญัติทางตาแล้ว ยังรู้สัททบัญญัติ คือรู้ความหมายของเสียงด้วย นี่เป็นเรื่องชีวิตประจําวันที่จะต้องรู้ชัดว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม สภาพธรรมใดเป็นสมมติ สมมติหมายความถึงสิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เมื่อรู้อาการรูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นถ้วย ชาม ช้อน วิทยุ รถยนต์ โทรทัศน์ ฯลฯ แล้ว มนุษย์ยังสามารถเปล่งเสียงเป็นคําบัญญัติสมมติ เรียกสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งใด ซึ่งกําเนิดสัตว์ดิรัจฉานไม่มีความสามารถที่จะทําอย่างมนุษย์ได้โดยละเอียด เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริงและเสียงชื่อว่า “นาม” เพราะว่าถ้าไม่มีเสียง นาม (คือชื่อ) หรือคําทั้งหลายก็มีไม่ได้ แม้ว่ามีตาจึงเห็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าไม่มีเสียงก็จะไม่มีชื่อ ไม่มีคําที่ใช้เรียกสิ่งที่มองเห็นเลย ฉะนั้นการรู้ความหมายของเสียงจึงเป็นสัททบัญญัติ ทําให้มีคําพูด มีชื่อ เป็นเรื่องราวต่างๆ

ทุกคนติดในชื่อที่สมมติบัญญัติต่างๆ ฉะนั้น จึงควรรู้ลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คําว่า “เสียง” ไม่มีในภาษาบาลี สภาพธรรมที่เป็นเสียงนั้นภาษาบาลีบัญญัติเรียกว่า “สัททรูป” เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เสียงเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู

ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ มีข้อความอธิบายเรื่องปรมัตถธรรมและสมมติบัญญัติซึ่งเป็นชีวิตประจําวันที่ลึกซึ้งและควรจะได้เข้าใจให้ถูกต้อง แม้ในเรื่องชื่อต่างๆ ซึ่งจะมีได้ก็เพราะมีเสียง

ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกามีว่า สัททรูป (เสียง) ที่ชื่อว่า “นาม” (ในที่นี้หมายถึงชื่อ ไม่ใช่หมายถึงนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้) เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย นามนั้นมี ๒ อย่างด้วยอํานาจแห่งนาม (คือชื่อ) ที่คล้อยตามอรรถ ๑ และนาม (คือชื่อ) ตามนิยม ๑

วันหนึ่งๆ พูดเรื่องอะไร พูดทําไม พูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจเรื่อง เข้าใจสิ่งที่หมายถึง ฉะนั้น สัททรูปชื่อว่านาม เพราะอรรถว่าน้อมไปในอรรถ คือเรื่องราวทั้งหลาย

การที่จะให้ใครเข้าใจความหมายและเรื่องราวต่างๆ นั้น ก็ย่อมแล้วแต่ใครนิยมใช้คําอะไร ภาษาอะไร เพื่อให้เข้าใจความมุ่งหมายนั้นๆ เรื่องราวนั้นๆ หรือชื่อนั้นๆ

นอกจากนั้นข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ยังกล่าวถึงนาม (คือชื่อ) อีกหลายนัย คือ ชื่อมี ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่ง สามัญญนาม คือ ชื่อทั่วไป เช่น ฟ้า ฝน ลม ข้าว เป็นต้น คุณนาม คือ ชื่อตามคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชื่อนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ได้ประกอบด้วยคุณธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กิริยานาม คือ ชื่อของการกระทําต่างๆ และ ยถิจฉนาม คือ ชื่อตามใจชอบ

การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก เพราะเป็นการศึกษาสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาแสดงไว้เพื่ออนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทได้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า

ถามว่า เพราะเหตุไร แม้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้เป็นอันมากอย่างนั้น

แก้ว่า เพราะทรงประสงค์การอนุเคราะห์สัตว์ ๓ เหล่า ฯ จริงอยู่ สัตว์มี ๓ เหล่า ด้วยอํานาจ ความหลงงมงายในนาม ๑ ในรูป ๑ และในนามและรูปทั้งสองนั้น ๑ ด้วยอํานาจแห่งอินทรีย์แก่กล้า ๑ ไม่แก่กล้านัก ๑ อ่อน ๑ และด้วยอํานาจแห่งความชอบคําย่อ ๑ ชอบคําปานกลาง ๑ ชอบคําพิสดาร (ละเอียด) ๑

บรรดาสัตว์ ๓ จําพวกเหล่านั้น สัตว์ผู้งมงายในนาม จะรู้เข้าใจขันธ์ได้ เพราะแจกนามไว้ ๔ อย่างในขันธ์นั้นๆ

สัตว์ผู้งมงายในรูป จะรู้เข้าใจอายตนะได้เพราะแจกรูปไว้ ๑๐ อย่างกับอีกครึ่งอายตนะฯ (เพราะธัมมายตนะมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม)

สัตว์ผู้งมงายในนามและรูปทั้งสองจะรู้เข้าใจธาตุได้ เพราะแจกนามและรูป แม้ทั้งสองไว้ในจําพวกธาตุนั้นโดยพิสดาร ฯ

อายตนะ ๑๒

อายตนะภายใน ๖ คือ

จักขายตนะ ๑

โสตายตนะ ๑

ฆานายตนะ ๑

ชิวหายตนะ ๑

กายายตนะ ๑

มนายตนะ ๑

อายตนะภายนอก ๖ คือ

รูปายตนะ ๑

สัททายตนะ ๑

คันธายตนะ ๑

รสายตนะ ๑

โผฏฐัพพายตนะ ๑

ธัมมายตนะ ๑

อายตนะ คือ สภาพปรมัตถธรรมที่ประชุมกัน เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ ซึ่งจําแนกเป็นอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖

ปสาทรูป ๕ และจิต ๑ เป็นอายตนะภายใน ๖ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ และปสาทรูป ๕ เป็นที่อาศัยให้จิตรู้อารมณ์ จึงเป็นภายใน ปรมัตถธรรมนอกจากนั้น เป็นภายนอกทั้งสิ้น

อายตนะ ๑๒ เป็นรูป ๑๐ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นรูปอายตนะภายใน ๕ เป็นรูปอายตนะภายนอก ๕ + ครึ่ง ธัมมายตนะ (สุขุมรูป)

อายตนะ ๑๒ เป็นนาม ๑ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นมนายตนะภายใน ๑ + ครึ่งธัมมายตนะ (เจตสิกและนิพพาน)

ธาตุ ๑๘

สภาพปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละชนิด เมื่อประมวลตามทวาร ๖ เป็นธาตุ ๑๘ ดังนี้ คือ

จักขุธาตุ ๑ - จักขุธาตุ ๑ - จักขุวิญญาณธาตุ ๑

โสตธาตุ ๑ - สัททธาตุ ๑ - โสตวิญญาณธาตุ ๑

ฆานธาตุ ๑ - คันธธาตุ ๑ - ฆานวิญญาณธาตุ ๑

ชิวหาธาตุ ๑ - รสธาตุ ๑ - ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑

กายธาตุ ๑ - โผฏฐัพพธาตุ ๑ - กายวิญญาณธาตุ ๑

มโนธาตุ ๑ - ธัมมธาตุ ๑ - มโนวิญญาณธาตุ ๑

วิญญาณธาตุ ได้แก่จิต ๑๐ ดวง ที่รู้ได้แต่เฉพาะอารมณ์ของตนๆ เพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่รูปารมณ์อย่างเดียว

โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่สัททารมณ์อย่างเดียว

ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่คันธารมณ์อย่างเดียว

ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่รสารมณ์อย่างเดียว

กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่โผฏฐัพพารมณ์อย่างเดียว

มโนธาตุ ได้แก่จิต ๓ ดวง ที่รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทางทวาร ๕ เท่านั้น มโนธาตุ ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารได้ และบางดวงก็รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวง)

ประมวลจิต ๘๙ เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ประเภท คือ

จักขุวิญญาณธาตุ ๑

โสตวิญญาณธาตุ ๑

ฆานวิญญาณธาตุ ๑

ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑

กายวิญญาณธาตุ ๑

มโนธาตุ ๑

มโนวิญญาณธาตุ ๑

ฉะนั้น ควรพิจารณาว่าท่านเป็นผู้ที่งมงายในนามเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายในรูปเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายอยู่ทั้งในนามและรูป ถ้างมงายอยู่ทั้งในนามและรูป ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมและการศึกษาพระธรรมประการต่างๆ โดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายอย่างถูกต้อง เพื่ออบรมเจริญกุศลทุกประการ และเพื่อเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ มีว่า นามบัญญัติมี ๖ อย่าง คือ

๑. วิชชมานบัญญัติ เป็นคําบัญญัติเรียกสภาพธรรมที่มีจริง เช่นคําว่า รูป นาม เวทนา สัญญา เป็นต้น

๒. อวิชชมานบัญญัติ เป็นคําบัญญัติที่ไม่มีสภาพธรรม เช่น ไทย ฝรั่ง เป็นต้น ไทย ฝรั่งไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป ไทย ฝรั่ง เป็นสมมติ ไม่ใช่สภาวธรรม อกุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ไทย ฝรั่ง ฉะนั้น อกุศลจิตมี กุศลจิตมี แต่ไทย ฝรั่งไม่มี คําว่าไทย ฝรั่ง จึงเป็นอวิชชมานบัญญัติ

๓. วิชชมาเนนาวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี เช่นพูดว่า บุคคลชื่อว่าฉฬภิญญา เพราะอรรถว่ามีอภิญญา ๖ อภิญญามี แต่บุคคลไม่มี ฉะนั้น จึงเป็นบัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี

๔. อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงของผู้หญิง เสียงมีจริง แต่ผู้หญิงไม่มี

๕. วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี เช่น คําว่า จักขุวิญญาณ จักขุมีจริง เป็นจักขุปสาท วิญญาณมีจริงเป็นสภาพรู้

๖. อวิชชมาเนนาวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น พระโอรสของพระราชา (พระโอรสและพระราชาเป็นสมมติบัญญัติ)

อารมณ์ ๖

๑. รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น เมื่อรูปารมณ์ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นทางมโนทวารรับรู้รูปารมณ์ที่ดับไปทางจักขุทวารต่อ ฉะนั้น รูปารมณ์จึงรู้ได้ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวาร และทางมโนทวาร โดยมีภวังคจิตเกิดคั่น

๒. สัททารมณ์ คือ เสียง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางหู เป็นอารมณ์ของโสตทวารวิถีจิตที่อาศัยโสตปสาทเกิดขึ้น แล้วเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น แต่ละวาระของการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งๆ จะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น ระหว่างวิถีจิตทางปัญจทวารและวิถีจิตทางมโนทวาร ขณะที่ได้ยินเสียงและกําลังรู้คํานั้น ขณะที่กําลังรู้คําเป็นมโนทวารวิถีจิตที่กําลังคิดถึงคํา ไม่ใช่โสตทวารวิถีจิตที่กําลังรู้เสียงที่ยังไม่ดับ

๓. คันธารมณ์ คือ กลิ่น เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก เป็นอารมณ์ของฆานทวารวิถีจิตที่อาศัยฆานปสาทเกิดขึ้น แล้วต่อจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็รู้กลิ่นนั้นต่อ หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว

๔. รสารมณ์ คือ รส เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏที่ลิ้น เป็นอารมณ์ของชิวหาทวารวิถีจิตที่อาศัยชิวหาปสาทเกิดขึ้น และเมื่อชิวหาทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น แล้ววิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้รสารมณ์นั้นต่อทางมโนทวาร

๕. โผฏฐัพพารมณ์ คือ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ปรากฏทางกาย เป็นอารมณ์ของกายทวารวิถีจิตที่อาศัยกายปสาทเกิดขึ้น แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้นต่อทางมโนทวาร หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว

อารมณ์ทั้ง ๕ นี้เรียกว่า ปัญจารัมมณะ หรือปัญจารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๕ นี้ปรากฏได้ ๖ ทวาร คือ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์สืบต่อทางมโนทวาร เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ก็นัยเดียวกัน ฉะนั้น อารมณ์ทั้ง ๕ นี้จึงเป็นอารมณ์ของจิตได้ ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่อีกอารมณ์ ๑ คือ ธมฺมารมฺมณ หรือ ธัมมารมณ์นั้นรู้ได้เฉพาะทางมโนทวาร คือ ทางใจเท่านั้น

๖. ธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่าง คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน บัญญัติ

ธัมมารมณ์ ๕ คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม ธัมมารมณ์ ๑ คือ บัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีคําอธิบายว่าที่ชื่อว่าบัญญัติ “ปญฺญตฺติ” เพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ

จักขุทวารวิถีจิตทุกดวง คือ จักขุทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต รู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ จักขุทวารวิถีจิตจึงไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์

โสตทวารวิถีจิต คือ โสตทวาราวัชชนจิต โสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต รู้เสียงที่ยังไม่ดับ โสตทวารวิถีจิตจึงไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์

ฆานทวารวิถีจิต ชิวหาทวารวิถีจิต กายทวารวิถีจิต ก็โดยนัยเดียวกัน

เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวาร (ทวารหนึ่งทวารใด) ดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดสืบต่อ มโนทวารวิถีจิตวาระแรก มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ อารมณ์ที่เพิ่งดับไปทางปัญจทวารนั่นเองเป็นอารมณ์ มโนทวารวิถีจิตวาระแรกที่เกิดต่อจากปัญจทวารวิถีจิตนั้น ยังไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์

มโนทวารวิถีจิตแต่ละวาระมีวิถีจิต ๒ หรือ ๓ วิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนวิถีจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ ตทาลัมพนวิถีจิต ๒ ขณะ (บางวาระก็ไม่มีตทาลัมพนวิถีจิต) เมื่อมโนทวารวิถีจิตวาระที่ ๑ ดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่นหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตวาระต่อไป ก็เกิดต่อมีบัญญัติ คือ รูปร่างสัณฐานของอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ โดยเมื่อมโนทวารวิถีจิตแต่ละวาระดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่น แล้วมโนทวารวิถีจิตวาระต่อๆ ไปก็เกิดขึ้น มีอรรถ คือ ความหมาย หรือคําต่างๆ เป็นอารมณ์ทีละวาระโดยมีภวังคจิตเกิดคั่น ขณะที่รู้ว่าเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นจิตรู้บัญญัติ ไม่ใช่รู้ปรมัตถอารมณ์ ปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น แต่ขณะที่มโนทวารวิถีจิตรู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุ สิ่งต่างๆ ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์จึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

ฉะนั้น พระธรรมที่ว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ก็เพราะ ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แม้จะไม่ใช้คําบัญญัติใดๆ เรียกปรมัตถธรรมเลย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็มีลักษณะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ส่วนบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรมเพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง และที่ชื่อว่า ปญฺญตฺติ เพราะให้รู้ได้โดยประการนั้นๆ

เมื่อเห็นรูปภาพภูเขา ทะเล ต้นไม้ ก็รู้ว่าเป็นรูปภาพหรือรูปเขียน ไม่ใช่ภูเขา ทะเล ต้นไม้จริงๆ และเวลาที่เห็นภูเขา ทะเล ต้นไม้จริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ

เมื่อเห็นรูปภาพองุ่น เงาะ มังคุด และเห็นผลองุ่น เงาะ มังคุดจริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ

ธรรมย่อมเป็นจริงตามธรรม ชื่อเป็นบัญญัติ เพราะเป็นคําที่แสดงให้รู้ลักษณะหรืออรรถของสภาพธรรมได้ แต่แม้ว่ายังไม่เรียกหรือยังไม่มีชื่ออะไรเลย ก็มีฆนบัญญัติแล้ว ไม่จําเป็นต้องรู้ภาษาไหนเลย แต่ก็มีบัญญัติในสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไรนั้น ขณะนั้นรู้บัญญัติ เพราะบัญญัติคือให้รู้ได้โดยประการนั้นๆ แม้โดยยังไม่ต้องเรียกชื่อ เพียงเห็นรูปเขียนของผลไม้กับผลไม้จริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ หรือเป็นบัญญัติทั้งสองอย่าง

บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ ผลไม้จริงๆ กับรูปเขียนผลไม้มีอะไรต่างกัน ในขณะที่เห็นทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือวัตถุหนึ่งวัตถุใดทั้งสิ้น ทั้งในขณะที่เห็นรูปภาพองุ่น และในขณะที่เห็นผลองุ่น บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเฉพาะรูปภาพเป็นบัญญัติ และผลองุ่นไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงทั้งรูปภาพและผลองุ่นที่ปรากฏทางตานั้น เป็นบัญญัติอารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตที่เกิดสืบต่อแล้ว เพราะจักขุทวารวิถีจิตจะรู้แต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเท่านั้น ส่วนมโนทวารวิถีจิตรู้บัญญัติ คืออรรถที่เป็นองุ่น เพราะให้รู้ได้โดยประการนั้นๆ ว่าองุ่น ไม่ว่าจะเป็นผลองุ่นหรือรูปภาพองุ่นก็ตาม ที่รู้ว่าเป็นองุ่นนั้น เป็นบัญญัติอารมณ์ไม่ใช่ปรมัตถอารมณ์

ในขณะที่กําลังเห็นเป็นคนนั้นคนนี้ ก็ควรที่จะรู้ความจริงว่าเหมือนกับภาพเขียนที่เป็นบัญญัติแล้วยากที่จะไถ่ถอนบัญญัติออกได้ว่า ขณะที่รู้บัญญัติว่าเห็นเก้าอี้นั้น ปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางตา และปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางกาย เมื่อกระทบสัมผัสนั้น ไม่ใช่บัญญัติ

ถ. ยังไม่ค่อยเข้าใจ สมมติง่ายๆ ว่า ในตอนนี้เห็นปากกา ท่านอาจารย์บอกว่า เมื่อเห็นเป็นปากกาแล้วก็แสดงว่าผ่านทางปัญจทวารไปสู่มโนทวารแล้ว ที่นี้ไม่ทราบว่ามีการศึกษาหรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ให้ข้ามทางปัญจทวารก่อน

ส. ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าขณะไหนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ และจิตรู้บัญญัติอารมณ์ทางทวารไหน ขณะที่จิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์นั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุใดๆ เลย ขณะนี้ สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วจนทําให้เห็นเหมือนกับพัดลมกําลังหมุน การที่รูปใดจะปรากฏเป็นอาการเคลื่อนไหวนั้น ต้องมีรูปเกิดดับสืบต่อกันมากมายหลายรูป จึงจะทําให้เห็นเป็นการเคลื่อนไหวได้ ฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ จึงมากมายหลายวาระจนปิดกั้นลักษณะของปรมัตถธรรม ทําให้ไม่รู้เฉพาะลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงเลย

ถ. ถ้าอย่างนั้นจะให้เอาคําว่าบัญญัติไปทิ้งไว้ที่ไหน

สุ. ไม่ใช่ให้ทิ้ง แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กําลังรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตกําลังรู้บัญญัติ

ถ. เป็นสภาพนึกคิดคํา

ส. ขณะที่ไม่ได้คิดคําแต่รู้รูปสัณฐาน หรือรู้ความหมายอาการปรากฏก็เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ จะต้องรู้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมได้ ท่านที่บอกว่าไม่เห็นเก้าอี้ดับเลย เมื่อยังไม่ได้แยกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างที่รวมกันออก ก็เห็นเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติแล้วจะดับได้อย่างไร ตัวอย่างที่ว่า ภาพเขียนองุ่นกับผลองุ่นนั้นเมื่อกระทบสัมผัสทางกายทวารต่างกันไหม แข็งไม่เหมือนกัน หรือ ธาตุแข็งเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ กัน ทําให้แข็งมาก แข็งน้อย อ่อนมาก อ่อนน้อยก็จริง แต่แข็งก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ทั้งภาพองุ่นและผลองุ่น แต่องุ่นที่เป็นภาพเขียนไม่มีรสของผลองุ่น รูปที่เกิดรวมกันทําให้รู้ว่าเป็นผลองุ่นนั้น ความจริงแล้วรสก็เป็นรูป ๑ กลิ่นก็เป็นรูป ๑ เย็นหรือร้อนก็เป็นรูป ๑ อ่อนหรือแข็งก็เป็นรูป ๑ ตึงหรือไหวก็เป็นรูป ๑ เมื่อรวมกันและเกิดดับอย่างรวดเร็วก็ทําให้บัญญัติรู้โดยอาการนั้นๆ ว่านี่คือ สิ่งนี้ที่ดูเสมือนไม่ดับ แต่ตามความเป็นจริงนั้นปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว รูปที่ผลองุ่น ไม่ว่าจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ดับ รสก็ดับ สภาวรูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างไร เสียง กลิ่น รสอะไรก็ตาม ปัญญาต้องพิจารณาแยกย่อยฆนสัญญาออกจนรู้ความจริงว่า ที่บัญญัติเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับรวมกัน เมื่อรวมกันเป็นอาการสัณฐานแล้ว มโนทวารวิถีจิตจึงหมายรู้โดยประการนั้นๆ ขณะใด ขณะนั้นก็มีบัญญัติ คือ อาการสัณฐานนั้นๆ เป็นอารมณ์

ถ. แต่ถ้าทางมโนทวารทราบว่าเป็นปากกา ผิดหรือถูก

ส. ไม่ผิด เพราะว่าขณะนั้นมีธัมมารมณ์ คือบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ปัญญาต้องรู้ถูกต้องว่าชั่วขณะที่เป็นมโนทวารวิถีต่างกับขณะที่เป็นจักขุทวารวิถี ซึ่งผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ย่อมรู้รวมกันทั้งทางจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถีว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ในวันหนึ่งๆ นั้นทุกคนชอบอะไร โลภะชอบอะไร ชอบทุกอย่าง รวมทั้งอะไร

ถ. สิ่งที่พึงพอใจทุกประเภท

ส. โลภะชอบทุกอย่าง รวมทั้งบัญญัติด้วย โลกเต็มไปด้วยบัญญัติ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าชอบทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติด้วย เมื่อชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นชอบบัญญัติด้วย ไม่ใช่ชอบแต่เฉพาะปรมัตถ์เท่านั้น ถ้าชอบเข็มขัด ๑ เส้น ก็ชอบสีที่ปรากฏทางตา

ถ. ชอบยี่ห้อด้วย

สุ. ชอบทั้งหมดเลย ถ้าบอกว่าชอบสี สีอะไร สีที่เป็นคิ้ว เป็นตา เป็นจมูก เป็นปาก ถ้าไม่มีสีปรากฏ จะมีคิ้ว ตา จมูก ปากได้ไหม ไม่ได้ แต่เวลาเห็นสี สีก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะแดง เขียว ฟ้า น้ำเงิน ขาว แต่แม้กระนั้นก็ยังชอบสีที่เป็นคิ้ว สีที่เป็นตา สีที่เป็นจมูก สีที่เป็นปาก นั่นคือชอบบัญญัติ

ปรมัตถธรรมมีจริง แต่เมื่อชอบสิ่งใด ขณะนั้นก็ชอบทั้งปรมัตถธรรมที่กําลังปรากฏ และชอบบัญญัติของปรมัตถธรรมนั้นด้วย

ในอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสอินทรีย์อคุตตทวารตาทุกะ ข้อ ๑๓๕๒ อธิบายในนิทเทสแห่งความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีข้อความว่า

คําว่า เป็นผู้ถือนิมิต คือ ย่อมถือนิมิตว่า หญิง ชาย

ใช้คําว่า นิมิต (รูปร่าง สัณฐาน) ในขณะที่ถือว่าเป็นหญิงชาย แสดงว่าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ขณะใดที่รู้ว่าเห็นหญิงเห็นชาย ขณะนั้นถือนิมิต หรือบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่รู้แต่ปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่มีบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต คือ ย่อมถือนิมิตว่าหญิงชาย หรือนิมิตอันเป็นวัตถุแห่งกิเลส มีสุภนิมิต เป็นต้น ด้วยอํานาจฉันทราคะ ถ้าชอบบัญญัติ คือ เข็มขัด ก็หมายความว่า เข็มขัดนั้นมีสุภนิมิต จึงเกิดความชอบด้วยอํานาจฉันทราคะ ถ้าเข็มขัดไม่สวย ไม่ใช่สุภนิมิตก็ไม่ชอบ ฉะนั้น สีที่ปรากฏทางตาจึงมีบัญญัติต่างๆ คือ สุภนิมิต และอสุภนิมิต

ข้อความต่อไปมีว่า คําว่า เป็นผู้ถืออนุพยัญชนะ คือถืออาการอันต่างด้วยมือ เท้า การยิ้ม การหัวเราะ การเจรจา การมองไป และการเหลียวซ้ายแลขวา เป็นต้น (อนุพยัญชนะเป็นส่วนละเอียดปลีกย่อย) ซึ่งได้โวหารว่า “อนุพยัญชนะ” เพราะเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือกระทํากิเลสให้ปรากฏ

ที่ได้โวหารว่า “อนุพยัญชนะ” เพราะเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือกระทํากิเลสให้ปรากฏ ฉะนั้น จึงเข้าใจอนุพยัญชนะได้ไม่ยาก

ที่ว่าชอบเข็มขัดนั้น เพราะนิมิตและอนุพยัญชนะด้วย ถ้าเข็มขัดเหมือนกันหมด ไม่ทําให้วิจิตรต่างๆ กัน อนุพยัญชนะก็ไม่ต่างกัน แต่เข็มขัดก็มีมากมายหลายแบบ ต่างกันด้วยอนุพยัญชนะ ฉะนั้น อนุพยัญชนะจึงเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือ ทําให้กิเลสประเภท ต่างๆ เกิดขึ้น

. ถ้าไม่ให้ติดในบัญญัติ ก็เกรงว่า ก็เลยไม่ทราบว่านี่คือปากกา

สุ. นั่นผิด เพราะไม่ใช่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าสิ่งทีปรากฏทางตาปรากฏแล้วดับไป แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้บัญญัติต่อ ปัญญาต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารเป็นอย่างไร ต่างกับขณะที่จิตรู้บัญญัติอย่างไร จึงสามารถที่จะละคลายการยึดถือรูปารมณ์ที่กําลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุที่ตั้งของความพอใจ และรู้ว่าในขณะที่เห็นเป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ นั้น เป็นการรู้นิมิตหรือบัญญัติทางมโนทวาร ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานและยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เมื่อยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ในขณะที่สภาพธรรมกําลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ. อาจารย์บอกว่า บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ชนิดหนึ่งใช่ไหม

สุ. บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจทางเดียวเท่านั้น

ถ. แล้วธัมมารมณ์นี้ถ้าจะเป็นปรมัตถอารมณ์

ส. ธัมมารมณ์มี ๖ ประเภท เป็นปรมัตถธรรม ๕ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ๑ ฉะนั้น จะรู้ได้ว่าขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ก็คือ ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

วันหนึ่งๆ บัญญัติปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงทําให้ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเลยว่า สภาพธรรมที่กําลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น เมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นจนรู้ความจริงในขณะที่กําลังเห็น จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และจะรู้ความต่างกันของปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

ขณะที่กําลังฝันเป็นอารมณ์อะไร ทุกคนฝันแน่นอนเพราะผู้ที่ไม่ฝันเลย คือพระอรหันต์ ทุกคนฝัน เมื่อตื่นขึ้นก็บอกว่าฝันเห็นญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ฯลฯ ฝันเห็นบัญญัติ หรือเห็นปรมัตถอารมณ์ ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยเพราะเหมือนเห็น แต่ตามความเป็นจริงนั้น เมื่อถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นคน เห็นญาติผู้ใหญ่ เห็นมิตรสหาย เห็นสัตว์ต่างๆ บุคคลต่างๆ นั่นคือฝันเห็นเรื่องบัญญัติ เพราะขณะนั้นจักขุทวารวิถีจิตไม่ได้เกิดเลย เพราะว่ากําลังหลับ แต่มโนทวารวิถีจิตเกิดคิดนึกเห็นเป็นเรื่องสัตว์ บุคคลต่างๆ ฉะนั้น ขณะที่กําลังฝันนั้นก็คิดนึกถึงเรื่องบัญญัติของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เป็นต้น ทุกท่านอ่านหนังสือพิมพ์ มีเรื่องราวต่างๆ และมีรูปภาพด้วย ขณะที่กําลังรู้เรื่องราวและเห็นเรื่องภาพต่างๆ นั้น ล้วนเป็นขณะที่คิดนึกถึงบัญญัติทั้งสิ้น ฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ จึงไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏเลยว่าต่างกับบัญญัติอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเห็นทางตาขณะใด ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ทํากิจการงานอยู่ที่ไหน ขณะใดก็คิดนึกถึงบัญญัติทั้งนั้น

สําหรับทางหูนั้น เมื่อเกิดมาแล้วยังเป็นเด็กอ่อนก็ได้ยินเสียงบ่อยๆ เป็นปกติ แต่ยังไม่รู้คํา ยังไม่เข้าใจภาษาหนึ่งภาษาใดเลย แต่สัญญาความจําในเสียงต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงทําให้นึกถึงบัญญัติความหมายต่างๆ ของเสียงที่จําไว้ เด็กอ่อนก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เจ็บ โกรธ ชอบ ไม่ชอบ ร้องไห้ แต่ไม่รู้คําที่จะอธิบาย ที่จะพูด ที่จะบอก จนกว่าจะเติบโตขึ้น ท่านผู้ใดจําเหตุการณ์ทั้งหลายตอนที่เพิ่งเกิดมาได้ไหม แม้ว่าในตอนนั้นก็เห็น ได้ยิน ฯลฯ แต่เมื่อยังไม่มีคําที่จะบอกเล่า เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของเสียงต่างๆ ความจําเหตุการณ์ต่างๆ ก็ลบเลือนไป แต่เมื่อโตขึ้นแล้วรู้ความหมายของเสียง รู้ภาษาต่างๆ ซึ่งนอกจากจําสิ่งที่เห็นทางตาแล้วก็ยังจําเรื่องที่ได้ยินทางหูรวมกันเป็นเรื่องราวนานาประการ โลกของสมมติบัญญัติจึงเพิ่มขึ้นเป็นวิวัฒนาการที่ไม่จบสิ้น เมื่ออ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วก็ยังต้องทําเป็นภาพยนตร์ให้ดูให้ได้ยินเสียงด้วย ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบก็พอจะเห็นได้ว่า โลกของสมมตินั้นปกปิดสภาพของปรมัตถธรรมมากมายเพียงใด เช่น ในขณะที่กําลังดูโทรทัศน์นั้น มีบัญญัติอะไรบ้าง ดูละครเรื่องอะไร ใครแสดงบทอะไร ดูเสมือนว่าผู้แสดงละครในโทรทัศน์เป็นคนจริงๆ แต่ละครและตัวละครเป็นบัญญัติ ฉันใด เมื่อปรมัตถธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วสืบต่อกันนั้น ขณะที่รู้ว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ก็เป็นการรู้บัญญัติ ฉันนั้น

สภาพปรมัตถธรรมในชีวิตประจําวันถูกปกปิดด้วยอวิชชาซึ่งไม่รู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมและบัญญัติ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้การศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป โดยละเอียดขึ้นๆ จึงทําให้ปัญญาในขั้นของการฟังเจริญขึ้น เป็นสังขารขันธ์เกื้อกูลปรุงแต่งให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ทําให้ละคลายการยึดมั่นในนิมิต อนุพยัญชนะ ซึ่งเป็นอาการปรากฏของบัญญัติ

ถ. บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม

ส. ไม่ได้

ถ. เมื่อกี้ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

ส. ปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดกระทบกับชิวหาปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวาร เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต แล้วรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และพิจารณาสังเกตรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ จึงยังมีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ ตลอดเวลา

ถ. เมื่อกี้ที่อาจารย์กล่าวว่าบัญญัติรู้ได้ทางมโนทวาร ถ้าจะเจริญสติปัฏฐานทางมโนทวาร ที่ฟังแล้วรู้สึกว่าบัญญัติจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

ส. ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มในขณะนี้เลย กําลังได้ยินเสียง มีบัญญัติไหม เสียงเป็นปรมัตถธรรม ขณะที่จิตรู้ความหมายของเสียงนั้น จิตรู้บัญญัติ จิตที่รู้ความหมายของเสียงเป็นจิตที่รู้บัญญัติ เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นนึกเป็นคําๆ สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทหนึ่งที่กําลังรู้คํา ทีละคํา

ถ. สติปัฏฐานระลึกรู้ปรมัตถธรรม แต่ไม่ระลึกรู้บัญญัติ ถ้าอย่างนั้น แสดงว่าสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะพ้นจากมโนทวารไม่ได้เลยใช่ไหม คือพอตามอง สภาพที่เห็นเกิดขึ้น มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วจึงต่อมโนทวาร

สุ. วิถีจิตทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกันกับที่วิถีจิตทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารวาระแรก ก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน จักขุทวารวิถีจิตกับมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อกันเร็วเหลือเกิน อุปมาเหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ปรากฏต่อทางมโนทวารวิถีจิตทันที หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วหลายขณะอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทําให้ไม่รู้ว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อกระทบจักขุปสาทแล้วก็ปรากฏ

ถ. อย่างทางตาขณะที่เห็น พอเห็นเป็นปากกาก็แสดงว่า คําว่าปากกาเป็นทางมโนทวารแล้ว

สุ. ยังไม่ได้คิดถึงคําว่าปากกาก็มีบัญญัติก่อนแล้ว ฉะนั้น บัญญัติจึงไม่ได้หมายเฉพาะแต่สัททบัญญัติหรือนามบัญญัติ ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นคํา

ถ. พอเห็นแล้วจําได้ นั่นก็บัญญัติแล้วใช่ไหม

สุ. ที่ชื่อว่าบัญญัติ เพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ

ถ. นั่นก็หมายความว่าทุกทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องผ่านทางมโนทวารด้วยใช่ไหม

สุ. อารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์นั้นจิตรู้ได้ ๒ ทวาร คือ จักขุทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์แล้ว มโนทวารวิถีจิตก็รู้รูปารมณ์นั้น ต่อเมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ จิตก็รู้ได้ ๒ ทวาร คือ เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นๆ รู้อารมณ์นั้นๆ แล้ว วิถีจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ สืบต่อทางทวารนั้นๆ เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว โดยนัยเดียวกัน

ถ. สมมติว่าเราลิ้มรสเปรี้ยว ขณะที่เปรี้ยวก็เป็นบัญญัติแล้ว ใช่ไหม

สุ. อะไรเปรี้ยว

ถ. สมมติว่ารับประทานส้มเปรี้ยว

สุ. รสเปรี้ยวเป็นปรมัตถธรรม คิดนึกว่าส้มเปรี้ยวเป็นบัญญัติ คําเป็นสัททบัญญัติ ขณะตั้งชื่อเรียกชื่อเป็นนามบัญญัติ ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคํา ไม่มีความหมาย เรื่องราวต่างๆ ก็จะไม่มากมายอย่างที่เป็นอยู่เลย แต่เมื่อเสียงเป็นอารมณ์แก่จิตทางโสตทวารวิถีแล้ว ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดสืบต่อทางมโนทวารวิถีจิตด้วย (เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว) สัญญาที่จําหมายรู้เสียงต่างๆ ทําให้นึกถึงคําต่างๆ ชื่อต่างๆ

ข้อความในธัมมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทส อธิวจนทุกะ ข้อ ๘๔๑ มีข้อความว่า อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน

อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อเป็นไฉน คือการกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อของธรรมนั้นๆ อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อธิวจนธรรม คือธรรมเป็นชื่อ (ทุกอย่างเป็นชื่อทั้งนั้น ดินสอ ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ)

ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่า อธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ

ถ้าไม่มีสภาพธรรมชื่อก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้วที่ไม่มีชื่อ มีไหม

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์มีว่า ธรรมทั้งหมดแลชื่อว่า อธิวจนปถธรรม คือธรรมเป็นเหตุของชื่อ ถ้าเข้าไปในป่ามีต้นไม้หลายชนิดก็จะมีผู้ถามว่านี่ต้นอะไร บางคนรู้จักชื่อก็บอกว่า ต้นกระถิน ต้นมะม่วง ต้นตะเคียน แม้ต้นไม้ไม่มีชื่อก็ยังบอกว่าต้นไม่มีชื่อ หรือบอกว่าต้นนี้ไม่รู้จักชื่อ ฉะนั้น ทุกอย่างจึงมีชื่อที่จะให้รู้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีธรรมใดๆ เลยที่จะไม่เป็นเหตุของชื่อ

ข้อความต่อไปมีว่า คําว่า “ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม” คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมที่ไม่เป็นเหตุของชื่อหามีไม่

ธรรมเอกย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหมดก็ประมวลเข้าในธรรมเอก ประมวลเข้าอย่างไร อธิบายว่านามบัญญัตินี้ชื่อว่า เป็นธรรมเอก ธรรมเอกนั้นย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้ง ๔ ภูมิทั้งสิ้น ทั้งสัตว์ทั้งสังขารชื่อว่าพ้นไปจากนามหามีไม่

ถ้าไม่มีชื่อก็ไม่สะดวกที่จะทําให้เข้าใจกันได้ ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมแต่ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ

ขันธบัญญัติ

อายตนบัญญัติ ๑๒

ธาตุบัญญัติ ๑๘

สัจจบัญญัติ

อินทรียบัญญัติ ๒๒

บุคคลบัญญัติหลายจําพวก

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากชื่อ นามบัญญัติต่างๆ

นิรุตติ (35) การพูด คือ การกล่าวอรรถออกโดยทางอักขระชื่อว่า นิรุตติ

พยัญชนะ นามที่ชื่อว่า พยัญชนะ (คํา) เพราะอรรถว่า ประกาศอรรถ

อภิลาปะ เสียง ที่ชื่อว่า อภิลาป เพราะอรรถว่าเป็นเสียงที่บุคคลพูด คือ ลําดับแห่งการประชุมของอักษรที่เป็นไปตามเสียง

ก็บัญญัตินั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ปญฺญาปิยตฺตาปญฺญตฺติ (การแต่งตั้งเพราะต้องการรู้ความหมาย) ๑ ปญฺญาปนโตปญฺญตฺติ (การแต่งตั้งโดยให้รู้อรรถตามเสียง) ๑

บัญญัติทั้งหลายมีประการต่างๆ ดังนี้

สันตานบัญญัติ บัญญัติที่เทียบอาการ คือ ความเปลี่ยนแปลงสืบต่อของภูตนั้นๆ คือบัญญัติว่า แผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น

สมุหบัญญัติ บัญญัติที่หมายถึงอาการ คือ การประชุมแห่งสัมภาระ เช่น บัญญัติว่า รถ เกวียน เป็นต้น

สมมติบัญญัติ บัญญัติเป็นต้นว่า บุรุษ บุคคล หมายถึง ขันธปัญจกะ

ทิสาบัญญัติ บัญญัติทิศ หมายถึง ความหมุนเวียนของพระจันทร์ มีทิศตะวันออก เป็นต้น

กาลบัญญัติ บัญญัติกาลเวลา เช่น เวลาเช้า เป็นต้น

มาสาทิบัญญัติ บัญญัติเดือน ฤดู และชื่อเดือน มีวิสาขมาส เป็นต้น

อากาสบัญญัติ บัญญัติ หลุม ถ้ำ หมายถึง อาการที่มหาภูตรูปไม่จรดถึงกัน

นิมิตตบัญญัติ บัญญัติกสิณนิมิต หมายถึง ภูตนิมิตนั้นๆ และอาการพิเศษที่สืบเนื่องกันของภาวนา

ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วด้วยประการอย่างนี้ แม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปปาทโดยอาการ คือ เงาของอรรถ (ส่วนเปรียบของปรมัตถ์) ถูกกําหนดหมายโดยอาการนั้นๆ เพราะเทียบเคียง คือเปรียบเทียบ ได้แก่ ทําอาการสัณฐานเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าบัญญัติ

โลภมูลจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจําทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ไม่ใช่ว่ายินดีพอใจแต่เฉพาะปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น แต่ยังยินดีพอใจตลอดไป จนกระทั่งบัญญัติต่างๆ ทั้งนิมิต อนุพยัญชนะ ชื่อต่างๆ และเรื่องราวต่างๆ ด้วย

ฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าสอบถามกันก็ตอบได้แล้วว่า ส่วนมากใน ชีวิตประจําวันนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์จนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง

ถ. ที่ว่าองุ่นหรือภาพองุ่น เวลาเราไปแตะต้องมัน อ่อนแข็งอย่างนี้เป็นปรมัตถ์ รสขององุ่นเป็นปรมัตถ์ หลายๆ อย่างรวมกันก็เป็นองุ่นจริงๆ ที่เรียกว่าบัญญัติ เพราะฉะนั้นบัญญัติก็เป็นของจริง

สุ. รูป รส เกิดแล้วก็ดับไป เพราะว่ามีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต รูปสีที่เห็นว่าเป็นองุ่นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว รูปมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น จะมีองุ่นไหม

ถ. มีในความจํา

สุ. ฉะนั้น ก็เป็นบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นองุ่น แต่ความจริงสิ่งนั้นคือรสที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นคือแข็งที่เกิดแล้วดับ

ถ. บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่างมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน

สุ. เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่รวมกัน ก็ยึดถืออาการที่ปรากฏรวมกันนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ถ. บัญญัติไม่ใช่ของจริงหรือ บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่าง อ่อน แข็ง เย็น ร้อน สี กลิ่น รส รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นวัตถุ มีสีอย่างนั้น สัณฐานอย่างนั้น หรือว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างนั้น ก็เป็นบุคคลนั้น บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์

สุ. ที่จะรู้ได้ว่าบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรมนั้น จะต้องแยกปรมัตถธรรมที่เกิดรวมกันออกเป็นปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทวาร และต้องประจักษ์การเกิดดับของรูปที่ปรากฏแต่ละทวาร สภาวรูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับ รูปที่เกิดมาชั่ว ๑๗ ขณะจิตนั้นยังไม่ทันยืนหรือเดินหรือทําอะไรทั้งนั้น เพราะที่ยกมือขึ้นก็เกิน ๑๗ ขณะจิตแล้ว ฉะนั้น ที่เห็นเป็นคนเดิน หรือเห็นเป็นคนยกมือ ก็แสดงให้เห็นว่ารูปดับแล้วเกิดสืบต่อ ปรากฏทั้งทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีหลายวาระ โดยมีภวังค์คั่นจนปรากฏเป็นคนกําลังเดินหรือกําลังยกมือ แต่ตามความเป็นจริง ๑๗ ขณะจิตนั้นเร็วมาก ซึ่งพิจารณาเข้าใจตามได้ว่า รูปที่ปรากฏทางตาซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิตนั้น ต้องดับก่อนที่จะได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่ปรากฏเสมือนว่าทั้งได้ยินและทั้งเห็นด้วยนั้น แต่ระหว่างจิตได้ยินกับจิตเห็นนั้นก็ห่างกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น รูปที่กําลังปรากฏทางตาขณะนี้ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ จิตเห็นต้องดับไปก่อนจิตได้ยินจึงเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ที่ปรากฏเสมือนทั้งได้ยินและเห็นด้วยนั้น ก็เพราะรูปเกิดดับปรากฏสืบต่อทั้งทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีมากมายโดยมีภวังค์คั่น จนกระทั่งปรากฏเป็นคนกําลังเดิน หรือว่ากําลังยกมือ และกําลังเคลื่อนไหว เป็นต้น แต่เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม จึงยึดถือโดยบัญญัติสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นคนบ้าง เป็นหญิงบ้าง ชายบ้าง วัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง แต่ควรระลึกว่าตั้งแต่เริ่มศึกษาปรมัตถธรรมนั้นรู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ ธรรมที่เป็นสัจจธรรมนั้นต้องเป็นความจริงตั้งแต่ต้นไปจนตลอด จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาขึ้นถึงขั้นประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามที่ชินหูและพูดตามว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน รสมีจริง แข็งมีจริง บัญญัติรสและแข็งนั้นว่าองุ่น แต่สิ่งที่มีจริง คือรูปเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่มีองุ่น ไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่เพียงรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

ปรมัตถธรรมเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่บัญญัติ การศึกษาและการปฏิบัติธรรมจะต้องตรงตามที่ได้ศึกษาแม้ในตอนต้น และ ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น ตามที่ศึกษาว่าปรมัตถธรรมเป็นอนัตตานั้น ก็จะต้องเข้าถึงอรรถของปรมัตถธรรมทั้งขั้นของการฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญปัญญา จนประจักษ์แจ้งความจริงตามที่ได้ศึกษาแล้วด้วย

ถ. เมื่อกี้ที่คุณผู้ฟังถามว่า บัญญัติก็เป็นของจริงใช่ไหม ถ้าจะพูดว่า ของจริงที่ท่านแยกไว้ว่าเป็นปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ บัญญัติจะเป็นสมมติสัจจะได้ไหม

สุ. ได้ แต่บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ อย่างชื่อองุ่น ชื่อองุ่นไม่มีรสอะไรทั้งนั้น แต่รสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และบัญญัติรสนั้นว่าเป็น องุ่น

โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น นอกจากจะพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และพอใจบัญญัติในชีวิตประจําวันแล้ว ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะโดยให้จิตตั้งมั่น จดจ้องที่ลมหายใจ จะทําให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นเป็นการทําสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตก็จะต้องเป็นโลภมูลจิต ซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี้เป็นหนทางที่จะทําให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความพอใจ ที่จะทําสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่าต้องทําอย่างนี้เสียก่อน แล้วภายหลังจึงมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรม จะได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติ ไม่รู้ว่าสัมมาสติเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าให้ไปทํามิจฉาสมาธิก่อน แล้วจะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่การที่สติจะเป็นสัมมาสติเป็นมรรค ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตาที่กําลังเห็น ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือดูกีฬาอะไรก็ตามแต่ จะอ่านหนังสือ จะดูภาพเขียน ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ เพราะมิฉะนั้นแล้ว อาจจะคิดว่าเรื่องในโทรทัศน์เป็นบัญญัติ แต่ขณะที่ไม่ใช่เรื่องในโทรทัศน์นั้นไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงแล้วทั้งเรื่องในโทรทัศน์และไม่ใช่ในโทรทัศน์ก็เป็นบัญญัติทั้งนั้น แม้แต่ชื่อของทุกท่านที่เป็นนามบัญญัติ เป็นคําที่ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงจิต เจตสิก รูปใดที่เกิดรวมกัน ที่สมมติขึ้นเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้

มิจฉาสมาธิที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ต่างกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเข้าใจว่ามิจฉาสมาธินั้นเป็นทางที่จะทําให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มิจฉาสมาธิมีทั่วไปในทุกประเทศ เพราะการทําสมาธิขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลญาณสัมปยุตต์ คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าใครเข้าใจว่ามิจฉาสมาธิเป็นหนทางที่จะทําให้สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เร็วขึ้นก็เข้าใจผิด เพราะสัมมาสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏได้ถูกต้อง ก็เมื่อเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏเสียก่อน แต่ไม่ใช่โดยอาศัยการทํามิจฉาสมาธิเสียก่อน

ถ. ในลักขณาทิจตุกกะบอกว่าสมาธิเป็นเหตุใกล้ของวิปัสสนา

สุ. หมายถึงสมาธิอะไร

ถ. ก็คงจะเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเป็นเหตุใกล้

สุ. ต้องเป็นสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมสังกัปปะ และสัมมาวายามะ

บัญญัติอารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตในชีวิตประจําวัน ในขณะที่จิตไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆ จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์มากไหม ทางตาที่กําลังเห็นก็มีเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูที่ได้ยินก็มีเรื่องของเสียงที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่นก็มีเรื่องของกลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรสก็มีเรื่องของรส ทางกายที่กระทบสัมผัสก็มีเรื่องของโผฏฐัพพารมณ์ ในวันหนึ่งๆ จิตที่เกิดขึ้นทางใจนั้นรู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ และคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ของอารมณ์เหล่านั้น จะมีอารมณ์อื่นอีกไหม ในวันหนึ่งๆ นอกจากปรมัตถอารมณ์ กับบัญญัติอารมณ์ ในวันหนึ่งๆ ทั้งชาตินี้ ชาติก่อน ชาติหน้า ทุกภูมิ ทุกโลกจะมีอารมณ์อื่นนอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์มี ๖ เท่านั้น และในอารมณ์ ๖ นี้ นอกจาก ปรมัตถธรรมแล้วก็เป็นบัญญัติ ฉะนั้น จึงไม่มีอารมณ์อื่นอีก

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า

ชีวิตประจําวันของทุกสัตว์บุคคลนั้น เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็มีปรมัตถอารมณ์เดียวกับทางจักขุทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไปวาระ ๑ และเมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อก็นึกถึงรูปร่างสันฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เอาสีออกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะที่ใดก็ตาม ที่มีมหาภูตรูป ๔ ที่นั้นต้องมีรูปสี (วัณณะ) กลิ่น รส โอชา รวมอยู่ด้วย แยกกันไม่ได้เลย เมื่อเอาสีออกไปจากมหาภูตรูปไม่ได้ สีจึงปรากฏให้เห็นทางตา และสัญญาจําหมายเป็นรูปร่างสัณฐานให้รู้บัญญัติว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่มีสีเลยเอาสีออกจากมหาภูตรูปหมด จะเห็นเป็นคน สัตว์วัตถุ สิ่งของต่างๆ ได้ไหม แม้จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาไม่ได้เลย เพราะไม่มีสิ่งที่กระทบจักขุปสาท

ฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า ต้องมี การฟังพระธรรมนั้นต้องพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรมประกอบกันด้วย อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ ปรมัตถธรรมและบัญญัติ ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ที่กล่าวย้ำบ่อยๆ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏให้ถูกต้องว่า ในขณะที่มีสิ่งที่กําลังปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ นั้น เมื่อสีแยกจากมหาภูตรูปไม่ได้ สีที่เกิดกับมหาภูตรูปจึงปรากฏให้เห็นเป็นบัญญัติต่างๆ ขึ้น เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็แยกระลึกพิจารณาสังเกตรู้ได้ถูกต้องว่า สิ่งที่กําลังปรากฏเป็นสีสันต่างๆ นั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางตา และขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร ก็เป็นวิถีจิตที่รู้ทางมโนทวาร

เมื่อได้ศึกษาเข้าใจแล้วก็จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจําวันของทุกสัตว์บุคคลนั้น บางขณะจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และบางขณะก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์สืบต่อกัน เช่น ทางตาก็ไม่ได้มีแต่จักขุทวารวิถีจิตซึ่งมีแต่สีเป็นอารมณ์เท่านั้น เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้สีต่อจากจักขุทวารวิถี เมื่อมโนทวารวิถีจิตวาระแรกดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตวาระต่อไปก็เกิดขึ้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่รู้บัญญัติว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอาหาร เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นช้อน ฯลฯ ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย สัตว์ดิรัจฉานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม ต้องมีเหมือนกัน ถ้าไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ย่อมมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นอาหาร อะไรไม่ใช่อาหาร

ผู้ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคล และปุถุชน ต่างกันอย่างไรหรือไม่ต่างกันเลย ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้ากับผู้ที่เป็นปุถุชนต่างกันที่ปัญญา ปุถุชนที่ไม่รู้เรื่องปรมัตถธรรมเลยก็ยึดถือว่าบัญญัติเป็นสิ่งที่จริง แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฎทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่เที่ยง และบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ที่ชื่อว่าบัญญัตินั้นเพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ ฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ขณะรู้ความหมายหรืออรรถของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก มีบัญญัติได้ไหม สภาพธรรมเป็นสิ่งที่พิจารณาได้ตามเหตุผล ถ้าไม่มี จิต เจตสิก จะมีบัญญัติไม่ได้ ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้นไม่มีนามธรรมเลย ไม่มีจิต เจตสิกเลย จะมีบัญญัติไหม ไม่มี เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ จิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ถ้าจิตและเจตสิกไม่เกิดก็ไม่มีการรู้บัญญัติ การมีบัญญัติเป็นอารมณ์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลกับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลนั้น ต่างกันที่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยึดถือ บัญญัติว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ผู้ที่เป็นอริยบุคคลรู้ว่าจิตขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์และจิตขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์

ขณะใดที่จิตรู้บัญญัติ คือกําลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า แล้วแต่ประเภทของจิตที่กําลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายดับทิฏฐิเจตสิกเป็นสมุจเฉท ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดก็จะไม่รู้ว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์กับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ต่างกันอย่างไร โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ยินดีพอใจในอารมณ์ทุกอย่าง พอใจสิ่งที่ปรากฏทางตา พอใจเสียงที่ปรากฏทางหู และบัญญัติของเสียงที่ได้ยินทางหูด้วย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกันเป็นชีวิตปกติประจําวัน ขณะใดที่ไม่มีความคิดเห็นผิดในเรื่องสภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

พระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคล มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ พระอนาคามีบุคคลมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ในธัมมารมณ์ เพราะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นกามอารมณ์เป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์นั้น แม้ว่ามีอารมณ์ ๖ แต่ก็ไม่มีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสและอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุทเฉท ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น ถึงแม้จะรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นบัญญัติ แม้กระนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสหมด จึงยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ยินดี ยินร้ายไปตามปรมัตถอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ตามขั้นของบุคคลนั้นๆ

ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขณะที่ยึดมั่นในบัญญัติต่างๆ ด้วยความเห็นผิดว่า สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมนั้นมีจริง ในขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เห็นผิด ยึดถือบัญญัติว่าเป็นสิ่งที่เป็นตัวตนจริงๆ เป็นสัตว์บุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จริงๆ จึงเป็นความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อสักกายทิฏฐิยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดประการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เห็นว่ามีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสร้างโลกและสัตว์บุคคลทั้งหลายทั้งปวง เมื่อไม่รู้ปัจจัยที่ทําให้สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ทําให้เกิดความเห็นผิดต่างๆ แต่ในขณะใดก็ตามที่จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ใช่มีมิจฉาทิฏฐิทุกครั้ง เพราะมิจฉาทิฏฐิต้องเป็นขณะที่ยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ

บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ไหม ได้ เป็นอยู่เป็นประจํา โลภมูลจิตเกิดพอใจในบัญญัติ โทสมูลจิตเกิดไม่พอใจในบัญญัติ เช่น ไม่พอใจคนนั้น ไม่พอใจคนนี้ ในขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดก็ตาม

บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหม ได้ เพราะชีวิตตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ได้เลย ในขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นเป็นอะไร กุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่วิรัติทุจริตรักษาศีล ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ก็จะมีการวิรัติทุจริตไม่ได้ ในขณะที่อบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นสมถภาวนา มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ไหม บางท่านอาจจะคิดว่ายังไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาหรืออารมณ์ของสมถภาวนาโดยละเอียด จึงตอบไม่ได้ แต่ถ้าไม่ลืมความจริงที่ว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็พอที่จะรู้ได้ว่าแม้สมถภาวนาก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ด้วย นอกจากสติปัฏฐานและปัญจทวารวิถีจิตแล้วจิตขณะอื่นย่อมมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ การที่จะรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรมนั้นต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ถ้าขณะใดสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็ไม่มีการพิจารณาศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้น ชีวิตปกติประจําวันจึงมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียดมาก เพราะเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ถ. สติปัฏฐานไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถูกหรือผิด

สุ. ถูก

ถ. เจริญสติปัฏฐานโดยพยายามไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ถูกหรือผิด

สุ. ผิด เพราะว่าไม่ใช่ชีวิตตามความเป็นจริง ใครจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ได้ แต่ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นจนสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์นั้น คือจิตซึ่งเป็นนามธรรมกําลังรู้บัญญัติ มิฉะนั้นจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงไม่ใช่พยายามที่จะไม่คิดอะไรเลย หรือพยายามที่จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยเห็น ที่เคยรู้ตามปกตินั้นเป็นอะไร ถ้าพยายามทําอย่างนั้นก็จะไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ ว่า ขณะที่กําลังมี บัญญัติเป็นอารมณ์นั้นก็เป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้น สติปัฏฐานระลึก ศึกษาพิจารณาสังเกตว่าขณะใดที่คิดนึก ขณะนั้นเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล และรู้สภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายว่ายับยั้งจิตไม่ให้เกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ ฉะนั้น ปัญญาจึงจะต้องรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมต่างๆ ที่มีอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะหมดความสงสัยใน ลักษณะของนามธรรมได้ แต่ถ้าไปกั้นไว้ไม่ให้รู้บัญญัติ ไม่ให้คิดนึก ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะไม่มีใครจะห้ามการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมทั้งหลายในชีวิตประจําวันตามความเป็นจริงได้ แต่เพราะความไม่รู้จึงทําให้เข้าใจว่าจะพยายามไม่ให้จิตคิดนึก หรือจะพยายามไม่ให้รู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้นจึงพิจารณาจากหนทางปฏิบัติได้ว่า หนทางปฏิบัติใดไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่ศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่พยายามทําให้ผิดปกติจากชีวิตประจําวันตามความเป็นจริง หนทางนั้นก็เป็นมิจฉามรรค คือ เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมามรรคซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญวิปัสสนา

การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และไม่รู้เหตุและผลของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ทําให้เข้าใจผิดยึดมั่น เห็นผิด และพอใจแสวงหาหนทางปฏิบัติที่ผิดด้วยความไม่รู้ แม้ในขณะที่เห็นสีต่างๆ สิ่งต่างๆ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคมัคคสังยุตต์ พราหมณสูตร ข้อ ๑๒ มีข้อความโดยย่อว่า สาวัตถีนิทาน (คือ เรื่องนี้เกิดที่พระนครสาวัตถี)

ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้เห็นชานุสโสณีพราหมณ์ออกจากกรุงสาวัตถีด้วยรถเทียมด้วยม้าขาวล้วน ได้ยินว่าม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามพัดก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ

(เพียงเห็นสีขาวก็เข้าใจผิดได้เมื่อไม่รู้สภาพธรรม ไม่รู้หนทางที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ก็แสวงหาหนทางอื่นแล้วก็เข้าใจผิดว่ายานที่มีสีขาวเป็นยานที่ประเสริฐ)

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตรกลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเล่าเรื่องที่เห็นชานุสโสณีพราหมณ์ให้พระผู้มีพระภาคฟัง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่า เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ไม่ใช่รถขาวและทุกอย่างขาว แล้วได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

อริยมัคคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นแอก มีศรัทธาเป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขาและสมาธิเป็นทูบ มีความไม่อยากได้เป็นประทุน กุลบุตรใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียนและวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้เกิดแล้วในตนของบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไปจากโลกโดยความแน่ใจว่ามีชัยชนะโดยแท้

(แสดงให้เห็นว่า รถสีขาวและเครื่องประดับขาวหมดไม่ใช่ อริยยาน)

ในอรรถกถาพราหมณสูตร มีข้อความว่า ชานุสโสณีพราหมณ์ ย่อมกระทําประทักษิณนคร ๖ เดือนครั้งหนึ่ง โดยมีคนประกาศไปล่วงหน้าว่า แต่นี้ไปพราหมณ์นั้นจะกระทําประทักษิณนครโดยวันทั้งหลายประมาณเท่านี้ ชนเหล่าใดฟังการประกาศนั้นแล้วกําลังออกไปจากพระนคร ชนเหล่านั้นจะยังไม่หลีกไป (พอได้ข่าวว่าชานุสโสณี พราหมณ์จะประทักษิณ แม้คนที่มีธุระจะออกไปจากนครก็ยังไม่ไป) แม้ชนเหล่าใดหลีกไปแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมกลับ เพื่อที่จะได้ดูชานุสโสณีพราหมณ์กระทําประทักษิณพระนคร ด้วยคิดว่าพวกเราจะได้เห็นสิริสมบัติของท่านผู้มีบุญ

พราหมณ์ย่อมเที่ยวไปสู่นครตลอดวันใด ชาวเมืองทั้งหลายกวาดถนนในนครในกาลนั้นแต่เช้าตรู่ เกลี่ยทรายลง โปรยด้วยดอกไม้ทั้งหลาย อันมีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ให้ตั้งหม้อน้ำ ช่วยกันยกต้นกล้วยทั้งหลายและธงทั้งหลายขึ้น แล้วย่อมทํานครทั้งสิ้นให้อบอวลด้วยกลิ่นธูป พราหมณ์ประทักษิณนครด้วยรถเครื่องประดับ คือ ด้วยรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัวอันขาวล้วน รถมีล้อและซี่กงทั้งหมดได้หุ้มด้วยเงิน (คือ ขาวหมดไม่ว่าจะเป็นด้วยเงินหรือด้วยเครื่องประดับใดๆ ทั้งสิ้น) รถมี ๒ อย่าง คือ รถรบ ๑ และรถเครื่องประดับ ๑ รถรบมีสัณฐานสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่นัก สามารถบรรทุกคนได้ ๒ คน หรือ ๓ คน แต่รถเครื่องประดับนั้นเป็นรถใหญ่ คือ ยาวและกว้าง คนถือร่ม ถือวาลวิชนี ถือพัดใบตาล ย่อมอยู่ในรถนั้น ๘ คน หรือ ๑๐ คน สามารถจะยืนก็ได้ นอนก็ได้ตามสบายในรถนั้น และม้าที่เทียมรถนั้นก็ขาว เครื่องประดับของม้าเหล่านั้นได้เป็นของที่สําเร็จด้วยเงินทั้งหมด รถชื่อว่าขาวเพราะหุ้มด้วยเงิน และเพราะประดับด้วยงาในที่นั้นๆ รถเหล่าอื่นหุ้มด้วยหนังราชสีห์บ้าง หุ้มด้วยหนังเสือบ้าง หุ้มด้วยผ้ากําพลเหลืองบ้าง ฉันใด รถของชานุสโสณีพราหมณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าได้หุ้มด้วยผ้าอย่างดี เชือกอันหุ้มด้วยเงินและแก้วประพาฬ แม้ด้ามประตักก็หุ้มด้วยเงิน แม้ร่มที่เขาให้ยกขึ้นในท่ามกลางรถก็ขาว ผ้าโพกทําด้วยเงินกว้าง ๗ นิ้วก็ขาว ผ้านุ่งขาว คือมีสีดังก้อนฟองน้ำในผ้าเหล่านั้น ผ้านุ่งมีราคา ๕๐๐ ผ้าห่มมีราคาพันหนึ่ง และสําหรับรองเท้านั้น คนเดินทางหรือคนผู้เข้าสู่ดงย่อมมีได้ แต่ส่วนรองเท้านี้สําหรับขึ้นรถเป็นเครื่องประดับเท้าที่ผสมเงิน จามรและพัดวาลวิชนีมีสีขาว มีด้ามทําด้วยแก้วผลึก ก็เครื่องประดับเฉพาะเท่านี้ขาว ได้มีแล้วแก่พราหมณ์นั้นอย่างเดียว เท่านั้นหามิได้ แม้เครื่องประดับของพราหมณ์ก็ทําด้วยเงิน มีเป็นต้น อย่างนี้ว่า ก็พราหมณ์นั้นลูบไล้ขาว ประดับดอกไม้ขาว ที่นิ้วทั้ง ๑๐ สวมแหวน ที่หูทั้งสองใส่ต่างหู แม้พราหมณ์ผู้เป็นบริวารของเขา ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ก็ประดับขาวล้วนทั้งหมด ทั้งเสื้อผ้า ดอกไม้ และเครื่องประดับตัวด้วยประมาณเท่านั้นเหมือนกัน

ชานุสโสณีพราหมณ์สนานศีรษะแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหารเช้า แล้วก็แต่งตัวด้วยเครื่องนุ่งห่มมีผ้านุ่งขาว เป็นต้น ลงจากปราสาท ขึ้นรถ พวกพราหมณ์ก็ตกแต่งด้วยผ้า เครื่องลูบไล้ และดอกไม้ขาวทั้งหมด ถือร่มขาวแวดล้อมชานุสโสณีพราหมณ์

ต่อจากนั้นชนทั้งหลายก็ย่อมโปรยผลาผลแก่พวกเด็กหนุ่มก่อน เพื่อการประชุมของมหาชน ต่อจากนั้นก็ย่อมโปรยเงินมาสก ต่อจากนั้นก็โปรยกหาปณะทั้งหมด มหาชนย่อมประชุมกันโห่ร้องและโยนผ้า พราหมณ์ย่อมเที่ยวไปสู่นครเพื่อมหาสมบัติ เมื่อชนทั้งหลายผู้มีความต้องการมงคลและต้องการสวัสดี เป็นต้น กระทํามงคลและสวัสดีอยู่ มนุษย์ทั้งหลายผู้มีบุญขึ้นไปบนปราสาท มีชั้นเดียว เป็นต้น เปิดช่องหน้าต่างเช่นกับปีกนกแก้วแลดูอยู่ แม้พราหมณ์ย่อมมุ่งตรงไปทางประตูทิศใต้ คล้ายจะครอบครองนครด้วยยศและสิริสมบัติของตน

เมื่อมหาชนเห็นรถนั้นก็กล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยาน เช่นยานอันประเสริฐหนอ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ ธรรมดาว่ามนุษย์ทั้งหลายให้ทรัพย์แก่ผู้ที่กล่าวสรรเสริญ แล้วก็ย่อมให้ขับร้องเพลงขับสรรเสริญทาริกาทั้งหลายของตนว่า เป็นผู้น่ารัก น่าดู มีทรัพย์มาก มีโภคะมากดังนี้ แต่บุตรหลานเหล่านั้นก็หาเป็นผู้น่ารักหรือมีโภคะมาก ด้วยเพียงการกล่าวสรรเสริญนั้นไม่ มหาชนเห็นรถของพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงกล่าวสรรเสริญอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นยานนั้นจะชื่อว่าเป็นยานประเสริฐด้วยเพียงการกล่าวสรรเสริญก็หามิได้ ที่จริงนั้น ยานนั้นเป็นของลามก เลว

ดูกร อานนท์ แต่โดยปรมัตถ์ ยานนั้นเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้นแล ก็อริยมรรคนี้ประเสริฐเพราะปราศจากโทษทั้งปวง ด้วยว่าพระอริยะทั้งหลายย่อมไปสู่นิพพานด้วยอริยมรรคนี้ ดังนั้นจึงควรกล่าวว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง เพราะเป็นธรรมและเป็นยาน ว่าเป็นรถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง เพราะไม่มีสิ่งอื่นอันยิ่งกว่า และเพราะชนะสงครามคือกิเลสแล้ว

นี้คือความต่างกัน ซึ่งเกิดจากเพียงการเห็นก็ทําให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจหนทางปฏิบัติผิด เพราะคิดว่าสีขาวจะเป็นมงคล ทําให้เป็นผู้ที่บริสุทธิ์หรือหมดกิเลสได้ แต่ความจริงนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ที่จริงยานนั้นเป็นของลามก เลว เพราะว่าทําให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นยานประเสริฐ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องสีของเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับตกแต่ง แต่ว่า เมื่อใดที่สติปัญญาเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ จึงชื่อว่ายานนั้นมีในผู้นั้นที่จะนําไปสู่การดับกิเลสได้


(35) อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘

เปิด  638
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ