รูปารมณ์และธัมมารมณ์


        ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์วิชัย เรื่องธัมมารมณ์ อารมณ์ของทางใจ ก็มีปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก นิพพาน และบัญญัติ ทีนื้จิตจะต้องรู้อารมณ์ใน ๕ ทวารด้วย ยกตัวอย่าง รูปารมณ์ เรียนถามว่า ในขณะที่รูปดับไปแล้วทางปัญจทวาร ทางมโนทวารเกิด สงเคราะห์อยู่ในอะไรใน ๖ อารมณ์นี้

        อ.วิชัย วิถีจิตทางจักขุทวารเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ หลังจากวิถีจิตทางจักขุทวารดับแล้ว รูปก็ดับด้วย มีภวังคจิตคั่น มโนทวารสามารถรู้รูปารมณ์นั้นแหละที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์ได้

        ผู้ฟัง ขณะใด

        อ.วิชัย แต่ว่าดับไปแล้ว ธัมมารมณ์นี้ความหมายก็คือ อารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจ อย่างเช่นจิต จะรู้ทางตาไม่ได้ รู้ทางหูไม่ได้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ทั้งสิ้นเลย ต้องรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น อันนี้คือจิต เจตสิกก็เช่นเดียวกัน ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ ทั้งหมดนี้รู้ได้เฉพาะทางใจ

        ท่านอาจารย์ ขอถามนิดหนึ่ง ไม่เรียกว่า “ธัมมารมณ์” ได้ไหม

        ผู้ฟัง ธรรมไม่เรียกชื่อได้ แต่ก็จะไม่ทราบว่า อะไรที่รู้ทางใจ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรียกเพื่อให้รู้ความต่าง

        ผู้ฟัง ว่าธัมมารมณ์เป็นสิ่งที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ไม่ใช่รูปารมณ์ ไม่ใช่สัททารมณ์ ไม่ใช่กลิ่น รส

        ผู้ฟัง รูปารมณ์ที่รู้ทางใจ ก็เป็นความคิดนึก หรือคะ

        ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏทวารหนึ่งทวารใดแล้ว แม้ว่าภวังคจิตเกิดคั่น แต่การกระทบ และการรู้อารมณ์นั้นทางทวารนั้นเป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตสามารถเกิดขึ้น และรู้ได้ในสิ่งที่เคยเกิดแล้ว และเพิ่งดับไป และแท้ที่จริงแล้วเกิดดับสืบต่อหลายวาระ

        ผู้ฟัง แต่รูปารมณ์ก็ไม่ใช่ปสาทรูป และไม่ใช่สุขุมรูป

        ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นถึงได้ถามว่า การที่เราจำเป็นจะต้องใช้คำว่า “ธัมมารมณ์” ให้รู้ว่า หมายถึงเฉพาะรูปที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เวลาที่มโนทวารู้รูปารมณ์ ต่างกัน หรือเหมือนกันกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา

        ผู้ฟัง เหมือนกัน

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนลักษณะของรูปารมณ์ให้เป็นอื่นได้ไหม ไม่ให้เป็นอย่างรูปารมณ์ที่ปรากฏแล้ว ได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปารมณ์ไม่ว่าจะปรากฏทางไหนก็เป็นรูปารมณ์

        ผู้ฟัง อย่างนั้นลักษณะอารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนทวาร ก็ต้องรู้ทางปัญจทวารได้ด้วยทั้งหมด

        ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ อย่าสับสนนะคะ รูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหูสามารถรู้ได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ ทางใจรับรู้ต่อ เพราะฉะนั้นทางใจรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย นี่เป็นข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อะไร ปรากฏทางไหน มโนทวารรู้ต่อเสมอ เว้นขณะจุติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมโนทวารเกิดขึ้นรู้ต่อ นี่เป็นเหตุที่ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อนแทนวิถีทางมโนทวาร

        เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำว่า อารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้นในภาษาไทย อย่างจิต ไม่สามารถจะรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยเหตุนี้จิตเป็นสภาพที่รู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมารมณ์ เจตสิกก็ไม่สามารถรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เจตสิกเป็นธัมมารมณ์ แม้แต่ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน บัญญัติ ก็รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น

        เพราะฉะนั้นต้องแยก รูปารมณ์เป็นธัมมารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ แต่รู้ได้ทางมโนทวาร สัททารมณ์เป็นธัมมารมณ์ใช่ไหม ไม่ใช่ แต่รู้ได้ทางมโนทวารด้วย เปลี่ยนลักษณะของอารมณ์นั้นๆ ไม่ได้เลย อารมณ์นั้นๆ ยังปรากฏเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าจะรู้ทางทวารไหน

        ผู้ฟัง ขอทวนความเข้าใจ คือ ธัมมารมณ์ ก็คืออารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น แต่ถ้าเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์

        ท่านอาจารย์ รู้ได้ ๒ ทวาร เพราะอะไร เพราะมโนทวารรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ มโนทวารสามารถรู้อารมณ์ต่อจากทางทวารนั้นๆ แต่ถ้าไม่มีทางทวารนั้นๆ มโนทวารก็ยังนึก หรือจำอารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ฝัน ฝันเห็นรูปารมณ์ หรือเปล่า

        ผู้ฟัง ฝันเห็นก็เป็นคิดนึก แต่ไม่มีรูปารมณ์

        ท่านอาจารย์ ค่ะ เพียงจำไว้อย่างแน่นหนาเลย ไม่ลืมเลย เพราะฉะนั้นสามารถจะนึกถึงสีสันวัณณะ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องราว เพราะแม้แต่ในขณะนี้ที่รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ แต่ไม่รู้เลย เป็นเรื่องราวหมดเลย เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ได้รู้ความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้วหมดไป แล้วก็มีการคิดนึก จำสิ่งที่ปรากฏไว้เป็นรูปร่าง เป็นบุคคลต่างๆ

        เพราะฉะนั้นเมื่อจำสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยรูปร่างสีสัน เป็นเรื่องราวต่างๆ เวลาที่ฝันเหมือนเห็น แต่ไม่ได้มีรูปารมณ์ปรากฏในฝัน แต่เป็นเพียงสัญญา ความจำ และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราว เหมือนกับขณะนี้กำลังคิดเรื่องราว ไม่ได้สนใจในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าจำเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันใด เวลาที่ฝันก็ฝันเป็นเรื่องเป็นราว เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ แต่ให้ทราบว่า ทางมโนทวารขณะนั้นไม่ใช่มีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ แต่ว่ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่เวลาที่ทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดแล้วดับ มีภวังค์คั่นก็จริง แต่มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อ มีรูปที่เป็นรูปารมณ์จริงๆ แต่เป็นรูปที่ดับแล้ว นี่เป็นความต่างกัน

        ผู้ฟัง ในชีวิตจริงๆ เนื่องจากสติปัฏฐานยังไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยกตัวอย่างเช่น เห็นขณะนี้ก็เป็นดอกไม้ ท่านอาจารย์ และท่านวิทยากร เพราะฉะนั้นเวลาในฝัน เราก็ไม่เคยฝันเห็นรูปารมณ์ แต่จะฝันถึงท่านอาจารย์ ก็ได้เห็น และได้คุยสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องราวที่เหมือนเราไม่เคยจำรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์

        ท่านอาจารย์ จริงๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ไหมคะ หรือเป็นคนอื่นในฝันไป ไม่ใช่คนนี้ที่กำลังเห็น

        ผู้ฟัง ก็เหมือนท่านอาจารย์ ถ้าฝันถึงคุณธิดารัตน์ก็จะเหมือนคุณธิดารัตน์

        ท่านอาจารย์ แต่ไม่มีรูปารมณ์ปรากฏ เพราะไม่มีอะไรกระทบจักขุปสาท

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าสมมติลักษณะของสติปัฏฐานยังไม่เกิด เราไม่มีทางฝันเป็นรูปารมณ์ เพราะเราไม่เคยรู้รูปารมณ์จริงๆ

        ท่านอาจารย์ มีความจำเรื่องราว และจำรูปารมณ์ด้วย ถ้าไม่มีรูปารมณ์ จะกล่าวว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เห็นคนนั้นคนนี้ได้อย่างไร แต่เป็นเพียงความจำ ซึ่งจำเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องเป็นราว แต่สภาพของรูปารมณ์จริงๆ วัณณธาตุต้องกระทบจักขุปสาทรูป แล้วจิตเห็นเกิดขึ้น จึงกล่าวว่าขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นวัณณธาตุจริงๆ ในฝันไม่มีอะไรมากระทบจักขุปสาท จิตเห็นก็ไม่ได้เกิด มีแต่ความจำเรื่องราว


        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360


    หมายเลข 12529
    28 ธ.ค. 2566