สังขารนิมิต พอ.7361
กุลวิไล การศึกษาในส่วนของพื้นฐานพระอภิธรรม ก็เพื่อให้เรามีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ทั้งจิต เจตสิกและรูป ถึงแม้เรื่องของอารมณ์ก็ตาม
อารมณ์ท่านจำแนกไว้ ๖ อย่าง ซึ่งเราก็ได้สนทนากันตั้งแต่ตอนต้นชั่วโมง เริ่มตั้งแต่รูปารมณ์ที่สามารถปรากฏได้ทางตา ก็คือสี สัททารมณ์ก็คือเสียง คันธารมณ์ คือกลิ่น รสารมณ์ คือ รส โผฏฐัพพารมณ์ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะสิ่งที่เราจะรู้ได้ทางกายก็ไม่พ้นเย็นหรือร้อน ที่เป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็ง ที่เป็นธาตุดิน ตึงหรือไหว ที่เป็นธาตุลม
อันนี้เราก็สามารถเทียบเคียงได้ เพราะมีจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนอารมณ์สุดท้าย คือ ธัมมารมณ์ ก็คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ซึ่งก็ประกอบด้วยรูปที่เหลือทั้งหมด เพราะว่าเรากล่าวไปแล้ว รูปที่เป็นอารมณ์ ๕ อย่าง
เพราะฉะนั้นปสาทรูป ๕ ก็เป็นธัมมารมณ์ เพราะรู้ได้ทางใจเท่านั้น รูปละเอียด ๑๖ รูป ใช้คำว่า สุขุมรูป ก็รู้ได้ทางใจเท่านั้น เป็นธัมมารมณ์ จิตทั้ง ๘๙ รู้ได้ทางใจเท่านั้น เจตสิก ๕๒ ก็รู้ได้ทางใจเท่านั้น นิพพานเป็นธัมมารมณ์ และบัญญัติซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีจริง ก็ยังรู้ได้ทางใจเท่านั้น
อันนี้คืออารมณ์ทั้ง ๖ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การศึกษาในส่วนของพระอภิธรรม จะทำให้เราค่อยๆ มีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แล้วก็ละคลายการยึดถือว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะว่าถ้าเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องเป็นลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นเองที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ประภาส ชื่อว่า “สังขารนิมิต” จากการได้ศึกษาวิถีจิตและการเกิดดับของรูปในปัญจทวาร ก็แสดงว่า มโนทวาร ที่แม้รูปนั้นดับไป แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่พระองค์ทรงแสดงว่า เป็นสังขารนิมิต แสดงว่าลักษณะยังมีอยู่ ถูกต้องไหมครับ ที่จะให้เราค่อยๆ เรียนรู้ได้ เพราะว่ารูปธรรมเกิดทางปัญจทวารเล็กน้อย แล้วก็ดับไปรวดเร็ว แต่มโนทวารวิถีมีมากกว่า ก็เป็นปัจจัยให้สามารถศึกษาลักษณะของรูปธรรมที่แม้ดับไปแล้ว แต่มีลักษณะที่ต่างจากบัญญัติ ใช่ไหมครับ
สุ. เวลาที่ศึกษาธรรมต้องทราบว่า ความจริงธรรมเป็นอย่างนั้น แต่แต่ละบุคคลสามารถจะรู้ความจริงนั้นได้แค่ไหน
ประภาส ต้องได้ยินได้ฟังเท่านั้น
สุ. และเดี๋ยวนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ
ประภาส รู้แค่ลักษณะธรรมที่มีจริง
สุ. ได้ยินคำว่า “สังขารนิมิต” ก็เข้าใจ ใช่ไหมคะว่า ทำไมมีคำว่า “นิมิต” ถ้าไม่มีสังขารธรรม คือ สภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ สืบต่ออย่างเร็ว นิมิตจะมีได้ไหม เพราะฉะนั้นแต่ละคำก็ต้องเข้าใจ แม้แต่สังขาร แล้วยังมีนิมิตด้วย ก็เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับไป ปรากฏให้เห็นเป็นนิมิตของสิ่งที่มี ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ต้องมีสิ่งที่เกิดดับ
เพราะฉะนั้นปัญญาของใครจะเริ่มเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า ดับไปแล้วกี่ทวาร และสลับกันอย่างไร ทวารนั้นทวารนี้ นั่นคือคิด แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้เป็นอย่างนี้ คือ มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้รู้เลย เป็นคนเสมอ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้อย่างรวดเร็ว จนกว่าจะฟังแล้วแยก แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า จริงๆ รู้จักรูปารมณ์หรือยัง หรือเพียงแต่ได้ยินชื่อ แต่ว่ารูปารมณ์จริงๆ กำลังเผชิญหน้า และกำลังฟังเรื่องรูปารมณ์ด้วย
เพราะฉะนั้นมีความเข้าใจในรูปารมณ์แค่ไหน และจะเข้าใจได้มากขึ้นได้อย่างไร มีหนทางหรือไม่ แต่ไม่ใช่ไปนั่งคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เกิดดับสลับกันทางทวารไหน อะไร ซึ่งปัญญาสามารถจะรู้อย่างนั้นได้หรือเปล่า แต่ว่าเมื่อฟังอะไร ก็สามารถจะเข้าใจความหมายของคำนั้น
ประภาส ถ้าเกิดในขณะนั้นคิดเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ ไม่มีทางรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ
สุ. ก็มีสิ่งที่ปรากฏเท่าไรๆ ก็ไม่รู้สักที