สัจญาณที่มั่นคง


        ผู้ฟัง ที่ว่ามีสัจญาณที่มั่นคงที่เราเรียน เราศึกษากัน จริงๆ แล้วมีแต่ธรรม คือ เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสิ่งของใดๆ แต่ความเป็นตัวเรา หรือสัตว์บุคคลสิ่งใดๆ มันเยอะหมดก็จะลืมเสมอว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่ได้รับรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเกิดดับตามเหตุปัจจัย อันนี้หมายความว่าเรายังไม่มั่นคงในขั้นสัจญาณ ใช่ไหมคะ

        สุ. ค่ะ จริงๆ แล้วก็ต้องเข้าใจว่า สัจญาณคืออะไร แล้วมั่นคงหรือไม่มั่นคง ก็คือจากการฟังแล้วเข้าใจว่า สัจญาณคืออะไร ทุกคนจะพูดถึงสติปัฏฐาน อยากให้มีสติปัฏฐาน แล้วหาทางลัดให้สติปัฏฐานเกิด อยากให้มีสติปัฏฐานมากๆ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏจริงๆ มี แล้วมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏแค่ไหน แล้วก็ไปคิดถึงสติปัฏฐาน ไปคิดถึงปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม โดยที่ขณะนี้ก็มีเห็น แล้วก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นจริงๆ มั่นคงแค่ไหน

        นี่คือไม่ใช่ไปถามใครว่า สัจญาณคืออะไร ญาณ เป็นปัญญาที่รู้ความจริง ขณะนี้สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังซึ่งคุณอรวรรณก็บอกว่า สะสมความไม่รู้มามาก เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นสัจญาณหรือยัง ทั้งๆ ที่ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเวลาพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดเรื่องอื่น หรือว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจตามที่ได้ฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจตามที่ได้ฟังในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องพูดถึงสติปัฏฐานเลย เพราะฉะนั้นต้องมีสัจญาณก่อน และเป็นปัจจัยให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่กำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นความรู้ระดับหนึ่ง ซึ่งมักจะลืมที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกๆ ขณะเป็นธรรม เมื่อลืมอย่างนี้ จึงมีการพูดถึงสิ่งที่มีจริง ที่ส่วนใหญ่จะลืมไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปคิดอย่างอื่น คือ ไปคิดอยากจะมีสติปัฏฐานมากๆ หรืออยากจะมีสติปัฏฐาน มีวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้ว ธรรมมี ให้พิสูจน์ความรู้ความเข้าใจว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ยินได้ฟังบ้างหรือยัง และการที่จะรู้ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นธรรม เพราะว่าพอเห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แสดงว่าไม่คุ้นเคยกับธาตุที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต่อเมื่อใดในขณะที่กำลังฟัง และมีความเข้าใจ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ ผู้นั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า ปัญญาจริงๆ ที่รู้จักธรรมจริงๆ ที่เข้าใจธรรมจริงๆ คือ ขณะที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ กำลังเผชิญหน้า แล้วค่อยๆ เข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าไม่คุ้นเคยกับการที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาจากการฟัง ก็จะทำให้เห็นความต่างว่า ตราบใดที่ยังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แม้เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็ไม่ใช่รู้ตรงลักษณะซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังคงเป็นเรื่องอื่นๆ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

        ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ให้เข้าใจว่า ขณะที่คิด คิดเรื่อง แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และไม่มีกฎเกณฑ์ด้วย เมื่อไรที่มีสิ่งที่ปรากฏ แม้กำลังฟัง เริ่มเข้าใจ จะเห็นความต่างไหมคะ ฟังมาบ่อยๆ แต่ไม่เคยรู้ตรงลักษณะ กับฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็มีลักษณะที่ปรากฏ ให้ค่อยๆ รู้ตรง อยู่ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่จะเห็นได้ว่า ยังไม่ถึงการละความเป็นตัวตนที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ รวมทั้งการยังคงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะค่อยๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ดับไปแล้วก็จริง แต่การสืบต่อทำให้มีการจำ สัญญาเจตสิกก็จำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยความเป็นอัตตสัญญา ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอนัตตสัญญา เพราะว่าอนัตตสัญญา ไม่ใช่เพียงจำว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงพูดว่า เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ลักษณะแท้จริงซึ่งเป็นอนัตตา ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

        เพราะฉะนั้นนี่คือสัญญา ความจำที่มั่นคงจากสัจญาณ ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะไม่มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นเพียงเรื่องราวไปเรื่อยๆ ศึกษาปริยัติธรรมก็กลายเป็นภาษาต่างๆ แต่ไม่ได้รู้ว่า ปริยัติ หมายความถึงการศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง จึงจะเป็นการศึกษาแท้จริง

        ผู้ฟัง เวลาที่เราฟังแล้ว เข้าใจปริยัติ และเรื่องราว แต่เมื่อยังไม่รู้ลักษณะ ก็เหมือนกับไม่แน่ใจว่า เราก็จะจำผิดเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ อยู่อย่างนี้หรือเปล่า

        สุ. ฟังอย่างไรคะจะจำผิด ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดให้เข้าใจว่า สิ่งนี้มีจริง และถ้าไม่เคยฟัง ก็ไม่เคยจะรู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏ เพียงปรากฏค่ะ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่ว่าการจำผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มาจากการที่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่เพียงปรากฏ

        เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการไตร่ตรองตั้งแต่ต้น อะไรถูก นี่คือความเห็น สัตว์บุคคลมีจริงหรือเปล่า หรือสิ่งที่มีจริงๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และความคิดนึกก็มีจริง แต่ว่าเป็นความคิดนึกจากการจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่จำรูปร่างสัณฐาน จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าแม้มีสิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็จำรูปร่างสัณฐาน ซึ่งมีเพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนสิ่งที่ลวงตาให้เห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่ความคิดนึกจากการจดจำ นานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ ต้องสามารถที่จะรู้แม้การคิดนึก แม้การจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือ ชั่วขณะที่กำลังคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่มี กลายเป็นอื่นไปแล้ว กลายเป็นขณะรู้เสียง ขณะรู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่คิด

        เพราะฉะนั้นคิดก็มี แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ แล้วก็จะนำไปสู่การละอัตตสัญญา และนำไปสู่การประจักษ์แจ้งความจริง ซึ่งเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นจะไถ่ถอนหรือจะคลาย จะหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดขึ้นอย่างไร ดับอย่างไร ไม่ใช่ความรู้ขั้นเข้าใจสามารถจะไปรู้ลักษณะนั้นได้ แต่เข้าใจว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ที่จะรู้ได้นั้นคือปัญญา ไม่ใช่เราไปแสวงหาหนทางลัด แต่ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะอะไรคะ ฟังมาตั้งนาน เข้าใจขึ้นเหมือนจับด้ามมีดหรือเปล่า ทีละเล็กละน้อยอย่างนั้น จนกว่าด้ามมีดจะสึก เมื่อด้ามมีดยังไม่สึก มองเห็นไหมว่า ขณะนี้ที่กำลังจับอยู่ ด้ามมีดจะค่อยๆ สึกไป

        ผู้ฟัง ไม่เห็นค่ะ ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องเชื่อมั่นว่า การที่ไม่เคยทราบ และไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าเราได้ฟังบ่อยๆ สัญญาที่จำผิด ก็จะมีสัญญาใหม่ที่จำถูกเพิ่มขึ้นแทนสัญญาที่จำผิด

        สุ. อยากเห็นธรรม นี่ใคร

        ผู้ฟัง ก็โลภะ

        สุ. ไม่มีทางที่จะรู้จักโลภะเลยค่ะ ติดตาม มีอยู่ ไม่ปรากฏตัว ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นลักษณะของความติดข้อง ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นใครอยาก อยากเกิดขึ้น ยึดถืออยากนั้นว่าเป็นเรา แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือสภาพที่ติดข้องต้องการนั่นเอง ลักษณะที่ติดข้องต้องการ ไม่เคยพรากหรือขาดไปจากสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เช่น พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องไหมคะ ติดข้อง ยึดถือว่าของเราหรือเปล่า ยึดถือว่าเป็นเราหรือเปล่า เรื่องราวทั้งหมด เป็นเรา เป็นของเรา เป็นคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มีจริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับไป จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียด ที่จะมีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน ทรงแสดงความจริงเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในความไม่ประมาท ธรรมไม่ใช่สิ่งที่ประมาทว่าจบแล้ว รู้แล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แต่จากการที่ทรงพระมหากรุณาแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่ง ก็จะทำให้ผู้ได้รับฟังรู้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องให้ไม่รู้ค่ะ เป็นเรื่องให้ค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก เพื่อละความไม่รู้ เพื่อไม่ใช่เราที่รู้ ไม่ใช่เราที่ต้องการ เวลาที่ความต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นแสดงให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม สัจญาณก็คือมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน มั่นคง ไม่ต้องไปคอยเวลาไหนเลย ถ้ามีความเข้าใจพอ สติสัมปชัญญะเกิดแล้วค่ะ ไม่ใช่เราจะไปดูนั่น ดูนี่ แต่ว่าขณะใดที่หลงลืมสติ ก็คือขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้

        ผู้ฟัง แต่ความเป็นอนัตตา โลภะเป็นอนัตตา ก็จะมีความต้องการ เมื่อเราฟังแล้วคิดอยากจะรู้สภาพธรรม ก็เป็นอนัตตา ที่เราก็ไม่รู้ตัวว่า อยากจะรู้สิ่งที่ฟัง เหมือนกับไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อมีความเข้าใจขั้นฟัง โลภะซึ่งเป็นอนัตตาก็อยากรู้สภาพธรรมจริงๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นอนัตตา

        สุ. เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญา จะเห็นโลภะไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่เห็นค่ะ

        สุ. อริยสัจ มีโลภะไหมคะ เพื่อละ แล้วก็ไม่รู้ ตามไปตลอด ไม่ได้ละอะไรเลย เพราะไม่รู้จักโลภะ แล้วจะละโลภะได้อย่างไร ธรรมต้องตรง จึงจะได้สาระจากการฟังแต่ละครั้ง เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อละ ถ้าไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ จะไม่เห็นความละเอียดของโลภะว่า ขณะใดเป็นโลภะ โลภะมีจริงค่ะ แต่ถ้าไม่เห็น ขณะนั้นก็ยิ่งมีโลภะ เพราะว่าไม่มีใครรู้จักโลภะ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น

        ผู้ฟัง คือในขั้นนี้เหมือนกับว่า เราก็ทราบว่า ความต้องการหรือโลภะเป็นเครื่องกั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องปัญญาเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นแล้วไปละโลภะเท่านั้น

        สุ. หนทางละ มีหนทางเดียว คือ ปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกใน ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342


    หมายเลข 12444
    23 ม.ค. 2567