ไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา


        ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตต่างๆ ไม่ทราบเป็นอย่างไรคะ ปัญญาเรียบเรียงไม่ได้เลยค่ะ ต้องศึกษาวิถีจิตให้ละเอียด และเข้าใจหมดเลยใช่ไหมคะว่า วิถีจิตต่อๆ ไป เกิดได้อย่างไร

        สุ. ที่จริงแล้ว เวลาที่เราเข้าใจแล้ว ก็คือไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าเข้าใจ แต่ความเข้าใจของเราในสิ่งอื่นยังไม่มี ก็ฟังต่อไปให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่า เป็นธรรม เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ไร้ประโยชน์เลย เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด สามารถทำให้ละคลายความเป็นตัวตน เพราะว่าเคยเข้าใจในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง และกำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการมุ่งหวัง ทุกอย่างเป็นสังขารขันธ์ที่ไม่มีใครรู้ว่า แต่ละจิตของแต่ละคน และเจตสิกที่เกิดที่เป็นสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้คิดอย่างไร ให้เข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่จะรู้ได้ เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น

        ผู้ฟัง เมื่อกี้ท่านอาจารย์กล่าวเกี่ยวกับเรื่องปฏิสนธิจิต ความจริงหนูมีความรู้เก่าๆ

        สุ. เดี๋ยวก่อนนะคะ ความรู้เก่าๆ มาจากไหนคะ คิดเองหรือได้ยินได้ฟัง

        ผู้ฟัง เขาพูด ได้ยินได้ฟังมาค่ะ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ปฏิสนธิจิตเกิดจากการประมวลมาด้วยกรรมทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์

        สุ. จิตทีละ ๑ ขณะจริงๆ เกิดแล้วดับ ไม่ใช่ทีละ ๒ ขณะ ๓ ขณะ ตั้งแต่เช้ามาจำอะไรได้บ้าง จำได้บ้าง

        ผู้ฟัง จำได้บ้าง ไม่ได้บ้างค่ะ

        สุ. ตั้งแต่เช้ามา แล้วแต่ว่าจะเห็นอะไร คิดอะไร ไม่ได้หายไปไหนเลยค่ะ สะสมสืบต่อเป็นปัจจัยพร้อมที่ว่าจะปรุงแต่งให้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนกำลังนั่งที่นี่ ก็มีกุศลจิตขณะที่มีศรัทธาที่จะฟังให้เข้าใจธรรมที่ทรงแสดง เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง แต่ละคนสะสมอะไรมามากน้อยเท่าไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่ก็สะสมสืบต่อไปอย่างละเอียดทีละ ๑ ขณะ และทั้งหมดก็ประมวลมา เมื่อถึงกาลที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด มีกรรมที่ได้กระทำ คือ กำลังฟังธรรมด้วยกันอย่างนี้แหละ และจะมีความเข้าใจมากน้อยเท่าไรก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นกุศลกรรม ปัญญาจะมากน้อยแค่ไหน เอาของคนนี้ไปใส่คนโน้นได้ไหมคะ ของที่ไม่มีเลย ให้เอามาใส่ไว้ในจิตนี้ก็ไม่ได้ แต่เป็นไปตามการสะสมอย่างละเอียดมาก ใน ๑ ขณะในแสนโกฏิกัป มิฉะนั้นคนเราแต่ละคนก็จะไม่ต่างกันในความคิด ในรูปร่าง ผิวพรรณหน้าตา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาจากไหน ในเมื่อกรรมก็เหมือนๆ กัน คล้ายๆ กัน แต่เวลาที่เป็นอกุศลกรรมเกิดขึ้น ก็ฆ่าสัตว์ ยุง มด หรืออะไรก็แล้วแต่ เจตนาก็เป็นอกุศลเจตนาเหมือนๆ กัน แต่เวลาที่ให้ผล ทำไมถึงได้วิจิตรต่างกันอย่างนั้น ถ้าไม่มีการประมวลมาซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้ว อายูหนา (?) คือ การประมวลมาของกรรมในขณะปฏิสนธิที่จะทำให้แม้เป็นจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก จิตของมด ก็เป็นอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิ จิตของช้าง แมลงป่อง งู ปลา ทั้งหมดก็เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ความวิจิตรที่ต่างกัน ก็ต้องประมวลมาซึ่งสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วทั้งหมด

        ผู้ฟัง หนูไปเข้าใจว่า เมื่อเกิดจุติจิต ก็หมดความเป็นคนนั้น ใช่ไหมคะ

        สุ. จุติจิตดับเมื่อไร สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อนั้น

        ผู้ฟัง แล้วก็มีการส่งต่อ

        สุ. ใครส่ง

        ผู้ฟัง จิตนั้น ไม่มีหรือคะ

        สุ. จิตแต่ละจิตเป็นอนันตรปัจจัย เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น เกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แล้วแต่จะเป็นจิตประเภทไหน แต่ไม่ได้ส่งนะคะ

        ผู้ฟัง ค่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดต่อเป็นปฏิสนธิจิต

        สุ. เป็นปัจจัยให้นามธรรม คือ จิต และเจตสิกต่อไปเกิดขึ้น

        ผู้ฟัง ทีนี้ความเข้าใจเดิมตอนนั้นที่มีคนพูดว่า จะต้องพยายามฝึกจิต นั่งสมาธิ เพื่อให้ตอนจุติจิตจะดับ เกิดจิตที่ดี ส่งไปเกิดที่ดี

        สุ. ขณะนั้นเข้าใจธรรมหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ไม่ได้เข้าใจ

        สุ. แล้วมีประโยชน์ที่จะทำสิ่งที่ไม่เข้าใจ

        ผู้ฟัง ตอนนี้หนูเข้าใจแล้วค่ะว่า ไม่มีประโยชน์

        สุ. เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปสนใจสิ่งที่ไม่เข้าใจ

        ผู้ฟัง ค่ะ อย่างนั้นพอจุติจิตดับปุ๊บ จะเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต ในขณะที่ ปฏิสนธิจิตเกิดแม้ขณะเดียว สามารถประมวลทั้งหมด ซึ่งประมวลอย่างไรก็ไม่ทราบ ใช่ไหมคะ

        สุ. เวลานี้ประมวลอยู่หรือเปล่าที่คิดนี่

        ผู้ฟัง ประมวลค่ะ

        สุ. ค่ะ ทำไมคิดไม่เหมือนกัน ปัญญาเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าไม่ประมวลมา ปัญญาของผู้ที่สะสมมาในอดีต จะเป็นพระอัครสาวกได้ไหม จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดแล้วดับไป จริง แต่ว่าสะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไปซึ่งเกิดสืบต่อ จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหนหรือคะ มีแล้ว

        ผู้ฟัง ทีนี้เวลาที่หนูฟังชาดก จะสับสนว่า ผู้นี้ทำกรรมชั่ว แต่ ณ ขณะที่จะถูกประหารชีวิต ได้ทำกรรมดีให้กับพระอริยบุคคล และปฏิสนธิจิตก็ไปเกิดในที่ที่ไม่ใช่อบาย พอท่านอาจารย์บอกว่า ประมวลมา หนูเลยไม่เข้าใจว่า อย่างไร

        สุ. ประมวลมา ไม่ได้หมายความว่า มารวมกันให้เป็นอื่น แต่หมายความว่า เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่ง อกุศลกรรมนั้นทำกิจปฏิสนธิ แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะกรรมนั้นเท่านั้น ยังมีการสะสมของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด พร้อมที่จะให้ผล ไม่อย่างนั้นคนเราก็หน้าตาเหมือนกัน ถ้าเป็นผลของกุศล ทำให้เกิดที่ไหน

        ผู้ฟัง ไม่เกิดในอบาย

        สุ. ค่ะ แล้วถ้าเป็นผลของอกุศล

        ผู้ฟัง ก็เกิดในอบาย

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ เป็นผลของอะไร

        ผู้ฟัง เป็นผลของกุศลกรรม

        สุ. ค่ะ ต้องเป็นผลของกรรมที่เป็นกุศล

        ผู้ฟัง แต่เผอิญที่เล่า ณ จุดตอนนั้น หนูคิดว่า ...

        สุ. ก็เราคิดเองไม่ใช่หรือคะ ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จุดนั้นจุดนี้ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กุศลกรรมให้ผลเป็นกุศลวิบาก จิตที่เป็นกุศลกรรม จะเป็นอกุศลวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกขณะจิต ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล

        ผู้ฟัง ซึ่งปัจจัยมากน้อย ก็ไม่มีใครทราบ

        สุ. ค่ะ แล้วตัวอย่างอื่นมีไหมคะ พออกุศลจิตเกิดก่อนตาย ก็ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นก่อนใกล้จะตายจริงๆ ใครรู้ว่าอะไรจะเกิด

        ผู้ฟัง ไม่มีใครรู้

        สุ. เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่กรรมใดจะให้ผล ไม่ใช่ต้องให้ผล

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นชาตินี้เราเข้าใจธรรมขึ้นไปอีกมาก ก็ไม่ได้ไปหวังผลว่า ณ ที่จุติจิตดับแล้ว กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมให้ผล ถูกไหมคะ

        สุ. ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่เข้าใจคำว่า “อนัตตา” ไม่เข้าใจคำว่า “ธรรม” เพราะฉะนั้นมีเครื่องที่จะเตือนตลอดเวลาว่า เราเข้าใจคำว่า “อนัตตา” หรือเปล่า และเราเข้าใจคำว่า “ธรรม” หรือเปล่า รู้จักม้ากัณฐกะ ไหมคะ

        ผู้ฟัง ค่ะ เป็นม้าที่พระพุทธเจ้าท่านทรงขี่ไป

        สุ. ค่ะ เป็นม้าใช่ไหมคะ ตาย เกิดในสวรรค์ ลงมาเฝ้าฟังธรรม เป็นพระโสดาบัน เราจะคิดแคบๆ อย่างนี้หรือ เป็นไปได้อย่างไร เป็นม้า แล้วทำไมเกิดบนสวรรค์ เมื่อเกิดบนสวรรค์ ลงมาฟังธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นได้อย่างไร เราอาจจะคิดสั้นๆ แคบๆ แค่นี้ แต่ธรรมไม่ได้สั้นหรือแคบแค่ขณะจิตเดียว หรือเพียงชาติเดียว

        ผู้ฟัง คำถามสุดท้ายค่ะ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตมี ๒ ประเภทใหญ่ คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต

        สุ. เราสามารถจำแนกจิตได้โดยหลายนัย นัยหนึ่งที่จะเข้าใจ คือ จิตที่เป็นวิถี หมายถึงต้องอาศัยตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทวารนั้นๆ ประเภทหนึ่ง และจิตซึ่งสามารถรู้อารมณ์ โดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ก็ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ถ้าเป็นวิถีจิต ก็ต้องรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ

        ผู้ฟัง ไม่ใช่วิถีจิต เป็นภวังค์หรือเปล่าคะ

        สุ. จิตเกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไป ภวังคกิจ หมายถึงจิตเกิดขึ้นดำรงภพชาติ แม้ขณะไม่เห็น ไม่ได้ยินเลย เมื่อจุติจิตยังไม่เกิด ภวังคจิตต้องเกิดดำรงภพชาติ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343


    หมายเลข 12451
    23 ม.ค. 2567