ศรัทธา


        ผู้ถาม ศรัทธาเกิดได้ทั้งกับกุศล และอกุศลหรือเปล่าครับ คือฟังเดี๋ยวนี้อยู่ในลักษณะคล้ายๆ กับว่ามี ๒ แบบ ก็เลยอยากจะขอให้ท่านอาจารย์กรุณาอีกที ผมจำได้ว่าคราวก่อนอาจารย์บอกว่าเป็นโสภณอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น

        สุ. การฟังธรรม หรือว่าการอ่าน การศึกษา จะพิจารณาอย่างแคบๆ ไม่ได้เลย ต้องกว้าง และต้องเข้าใจให้ถูกต้อง “ศรัทธา” ได้ยินชื่อ เราก็ยังไม่ทราบว่าคำนี้ในภาษาบาลีหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมใด ก่อนอื่นเรารู้ว่าเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี นี่ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องระดับหนึ่งว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะประกอบด้วยศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย ศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะเกิดกับอกุศลจิตหรืออกุศลธรรมใดไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะใช้ในความหมายใด ใช้คำนี้บางทีเราก็ใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม แต่เมื่อศึกษาธรรมแล้วให้ทราบว่าเรากำลังศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น เพราะ ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาในลักษณะอื่นด้วย เช่น ขณะที่กำลังให้ทาน มีศรัทธาไหม

        ผู้ถาม มี แต่อาจจะผิดได้

        สุ. จะกล่าวว่าเชื่ออะไรหรือเปล่า กำลังให้ทาน ขณะที่ให้ เชื่ออะไรหรือเปล่า ลักษณะของจิตขณะที่ให้ เชื่ออะไรหรือเปล่า

        ผู้ถาม แล้วแต่บุคคล

        สุ. นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราใช้พยัญชนะเดียวว่าศรัทธาน้อมใจเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องก็คือขณะไหน แล้วก็ขณะที่ไม่ได้น้อมใจเชื่อ เพียงแต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ขณะนั้นปราศจากอกุศลเจตสิกทั้งหมด และก็ยังต้องมีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่นมีอโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเกิด ต้องไม่มีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิด เพราะฉะนั้นศรัทธาไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นลักษณะของศรัทธาไม่ว่าจะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยทางฝ่ายโสภณ ลักษณะของศรัทธาก็เป็นสภาพที่ผ่องใส เวลาที่ปราศจากอกุศล แต่อย่างที่ได้กล่าวแล้วชั่วหนึ่งขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นโสภณจิต เป็นจิตฝ่ายดี มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ มีทั้งผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มีอัญญสมนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วยังมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงชั่วหนึ่งขณะแล้วดับไป ใครจะรู้ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะมีคำที่กล่าวถึงศรัทธาในลักษณะที่เป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อ แล้วก็ในที่อื่นๆ ก็จะต้องมีความหมายอื่นด้วย เช่น ปสาท หรือว่าความผ่องใสของจิตซึ่งขณะนั้นก็ปราศจากอกุศลธรรมคือไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้น แต่จริงๆ แล้วต้องไม่ลืมว่าเรากำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงแม้ในขณะนี้ แต่ไม่ได้เห็นลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เรากล่าวถึงเลย แม้แต่ศรัทธาเจตสิกกำลังพูดถึงสภาพธรรมที่เกิดกับโสภณจิต แต่ขณะนี้ใครจะสามารถจะรู้ลักษณะเฉพาะของศรัทธาเจตสิกได้บ้าง นี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่าปัญญามีหลายระดับจากขั้นฟังเข้าใจเป็นแนวทางที่จะให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ผิดจากหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ถ้าในขณะที่ฟังเข้าใจผิด ไม่มีทางเลยที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้เพราะเหตุว่าแม้กำลังฟังก็ยังเข้าใจผิดได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ และรู้ว่า แม้ว่าจะแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยพยัญชนะภาษาบาลี หรือว่าเมื่อแปลเป็นภาษาอื่นๆ แล้วก็ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นแต่เพียงแนวทางที่ทำให้เราเริ่มที่จะเข้าใจความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ปัญญาต้องรู้ตามลำดับขั้น จะรู้ลักษณะสภาพของความผ่องใสซึ่งปกติมีจะรู้ลักษณะของโลภะปกติมี จะรู้ลักษณะของโทสะซึ่งปกติก็มี แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ในลักษณะที่เป็นธรรมก่อน และขณะนั้นเมื่อปัญญาเริ่มมีมากขึ้น การที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ต่างๆ กันออกไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างจึงจะเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดกว้างๆ เวลาที่ให้ทานเป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อหรือเปล่า เวลาที่ช่วยเหลือบุคคลอื่นยกของบ้างอะไรบ้าง ในขณะนั้นเป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อหรือเปล่า หรือว่าเป็นลักษณะของศรัทธาซึ่งผ่องใสจากอกุศล ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นทางที่จะทำให้เข้าใจธรรมกว้างขึ้น มิฉะนั้นเราก็จะไปเจาะจงคิดแต่เฉพาะที่ว่าถ้าเชื่อผิดไม่ใช่ศรัทธา ถ้าเชื่อถูกเป็นศรัทธา แล้วขณะที่ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้คิดอะไรในขณะนั้น แต่เป็นสภาพของกุศลที่เกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237


    หมายเลข 11627
    23 ม.ค. 2567