ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  8 ก.ค. 2562
หมายเลข  31018
อ่าน  2,196

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากร ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากคุณทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล และชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อไปสนทนาธรรมที่ อาคารบุญอินทรัมพรรย์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.

การเดินทางมาสนทนาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๕ ของปีนี้ (๒๕๖๑) ก่อนหน้านี้ ท่านได้เคยเดินทางมาสนทนาธรรมที่สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ตามลำดับ

สำหรับความการสนทนาที่ใคร่จะนำมาบันทึกไว้ในครั้งนี้ เป็นความการสนทนา เรื่อง เถรวาท ที่ท่านอาจารย์และคณะวิทยากร ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า พระพุทธศาสนาเถรวาท โดยละเอียดและชัดเจนอย่างยิ่ง ครบถ้วนด้วยเหตุผล ตามพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อความเป็นอยู่โดยผาสุขของหมู่สงฆ์ ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจ รู้ถึงอัธยาศัยของตนเอง สละเพศของคฤหัสถ์ ละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สิน วงศาคณาญาติ ออกบวชสู่เพศบรรพชิต เพื่ออยู่ประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส อันเป็นชีวิตที่ต่างจากความเป็นอยู่ของคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง

คุณทวีศักดิ์ ท่านอาจารย์ครับ อยากให้ท่านอาจารย์ได้กรุณากล่าวถึง "พระพุทธศาสนาเถรวาท" คำๆ นี้ เพิ่งบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.๒๕๖๐ ในหมวดของแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา ๖๗ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา บัญญัติไว้เพียงว่า พระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรต่อท้าย แต่ว่าในฉบับล่าสุดนี้ ได้บัญญัติถ้อยคำว่า "พระพุทธศาสนาเถรวาท" แล้วก็มีคำว่า "พระธรรมวินัย" อยู่ในนั้นด้วย อยากให้ท่านอาจารย์ได้กรุณาให้ความรู้ ความเข้าใจในเบื้องต้น ครับ
ท่านอาจารย์ เข้าใจทีละคำ ก็จะชัดเจน นะคะ "เถระ - วาทะ" เถรวาท ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ

อ.คำปั่น คำว่า เถระ - วาทะ มีคำสองคำรวมกัน ก็คือ คำแรก เถระ คือ มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง และ วาทะ คือ ถ้อยคำ หรือว่า คำพูด ในอรรถกถา จะมีคำว่า เถระ-วาทัง ก็คือ วาทะที่มั่นคง คำที่มั่นคง มาจากไหน? มาจากคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงแสดง เกื้อกูลแก่พุทธบริษัท ซึ่งก็มาจาก พระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย พระอริยบุคคลทั้งหลาย ที่ท่านได้รับประโยชน์จากพระธรรม ท่านก็ดำรงสืบต่อพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ท่านก็กล่าว แสดงธรรมะ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่เปลี่ยนแปลงในถ้อยคำ ซึ่งเป็นคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงนั้น ก็ดำรงสืบต่อความเป็นจริงของธรรมะ จนถึงยุคนี้ สมัยนี้ เพราะฉะนั้น คำพูดทั้งหมดที่มาจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถ้อยคำที่มั่นคง เพราะว่า ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เพื่อความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมะ ครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ พระพุทธพจน์ เป็นคำของใคร? พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระปัญญาที่ได้ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครที่จะกล่าวคำนั้นได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ที่เป็นพุทธพจน์ คำที่พระองค์ตรัสแล้ว เป็นความจริงซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะสวรรค์ พรหม เทพใดๆ ก็ตาม ยังต้องลงมาเฝ้า ทูลถามปัญหา แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครที่จะเปรียบพระองค์ได้ ในพระปัญญาคุณ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังธรรมะแล้ว จะเป็นผู้ที่มั่นคง หรือว่า ไม่มั่นคง? เพราะเหตุว่า วาทะ เป็นคำพูดของใครก็ได้ ใช่ไหม? เช่น เราฟังธรรมะแล้ว เราพูดธรรมะต่างกันไหม? ก็เป็นวาทะของแต่ละคน คนนี้จะกล่าววาทะอย่างไร ก็ตามความคิด ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น มี "อาจาริยวาท" อาจาริยะ-วาทะ ผู้ที่ฟังธรรมะแล้วก็มีความเห็น ต่างคนก็ต่างเห็นไป ตามความคิด ความเข้าใจ ไม่มั่นคง

แต่ ถ้ามั่นคงแล้ว หมายความว่า ไม่เปลี่ยนคำจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เพราะว่าคนฟังสามารถเข้าใจ เข้าถึงคำจริงนั้นว่า คำนั้น ใครก็กล่าวไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่ฟังแล้ว ก็ไตร่ตรอง รู้ว่าคำนั้นเป็นคำจริง เพราะฉะนั้น วาทะของผู้ที่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคำจริงซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นวาทะที่มั่นคง

เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์เถระ ท่านพระมหากัสสปะเถระ ท่านพระอนุรุทธเถระ พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่มั่นคง ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนเลย ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อที่จะให้ผู้ที่ขออุปสมบท ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ดำเนินตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกายและวาจา ที่จะต้องขัดเกลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ผู้นั้นไม่เปลี่ยน เพราะว่ามีความมั่นคง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว มีการกระทำสังคายนา เพื่อที่จะรวบรวมคำทั้งหมดของพระองค์ ให้เป็นหลักฐานที่มั่นคง ประชุมกัน กระทำสังคายนา ท่านเหล่านั้น "รักษาคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ไม่เปลี่ยนเลย" เป็น "เถรวาท" (เถระ -วาทะ) แต่ว่า ถ้าต่อมา มีการที่จะเข้าใจ คิดว่า ธรรมะก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลสมัย เพราะฉะนั้น อาจารย์บางท่านก็คิดว่า ก็เปลี่ยนได้ ไม่ได้ครองจีวร แต่ เปลี่ยนไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออะไรก็ตาม ที่ไม่มั่นคง คำนั้นก็เป็น "อาจาริยวาท" หมายความว่า เป็นคำของอาจารย์ ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความเห็น มีความคิดอย่างนั้น แล้วคนอื่นก็เชื่อถือตาม

เพราะฉะนั้น เถรวาท ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าได้ประจักษ์แจ้งความจริง ไม่เปลี่ยน

ด้วยเหตุนี้ ต่อมาภายหลังถึงในยุคนี้ ก็จะมีคำสอนซึ่งหลากหลาย ต่างกันมาก แต่ว่า คำสอนใดที่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้นั้นสามารถที่จะเข้าใจมั่นคงได้ ผู้นั้นก็จะไม่เปลี่ยนเลย ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมและพระวินัย ก็จะดำรงรักษาความมั่นคงไว้ เพราะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิกขาบททุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง จะมีใครที่จะบัญญัติได้ดีกว่าไหม? เก่งกว่า ที่จะเปลี่ยน ได้ไหม? เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เถรวาท เถระ - วาทะ ไม่เปลี่ยน

คุณทวีศักดิ์ ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะว่า เกี่ยวข้องกับความเห็นถูก หรือความเห็นผิด ถ้ามีการศึกษาและเข้าใจในพระพุทธศาสนาเถรวาท ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ก็ย่อมเป็นเหตุไปสู่ความเห็นถูก หรือที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราไปฟังหรือไปศึกษา ไปอ่าน ซึ่งไม่ตรงกับพระพุทธศาสนาเถรวาท จะเป็นนิกาย เป็นลัทธิอื่นใดก็แล้วแต่ ก็ย่อมนำไปสู่ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ ก็อยากจะสนทนากับอาจารย์อรรณพว่า ในทุกวันนี้ พุทธบริษัทในประเทศไทยของเรา ก็ประกอบด้วยทั้งภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุก็คือผู้บวชในเพศบรรพชิต อุบาสก อุบาสิกา ก็คือเราๆ ท่านทั้งหลาย ที่ไม่ได้บวช ความเห็นผิดเกิดขึ้นในพุทธบริษัทอย่างกว้างขวางมาก ในแง่ที่เรานั่งในที่ประชุมแห่งนี้ เราเริ่มมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกแล้ว แต่เมื่อเราไปพบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมคำสอน ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เช่น บางคนก็นิยมตื่นเช้าไปทำบุญตักบาตร เพราะรู้ว่าสบายใจ จิตใจผ่องใส ก็รู้อยู่แค่นั้น บางคนก็ทำบุญ อธิษฐาน ไปสวด ไปขอ ด้วยความต้องการ ไม่ใช่ชาวพุทธที่มีปัญญา หรือแม้กระทั่งภิกษุ ออกบิณฑบาต จริงๆ ภิกษุต้องออกบิณฑบาต แต่ภิกษุในทุกวันนี้ เราก็เห็นยืนอยู่ตามจุดต่างๆ จะเป็นตลาด เป็นร้านค้าย่านถิ่น ก็แล้วแต่ แล้วก็ยังรับเงินด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อยากให้ท่านอาจารย์อรรณพได้กล่าวถึงครับ

ผศ.อรรณพ ก็เป็นประโยชน์มาก ที่อาจารย์ทวีศักดิ์ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ตั้งแต่พระพุทธศาสนาเถรวาท ตามพระธรรมวินัยคืออย่างไร และรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดก็ดีมาก เป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วยการบรรจุข้อความ พระพุทธศาสนาเถรวาทไว้อย่างชัดเจนที่สุด แต่แม้บรรจุไว้ในกฏหมาย แต่ชาวพุทธไม่มีความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทคืออย่างไร เข้าใจธรรมะ พระวินัย บ้างไหม ถ้าไม่เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร ก็ไปทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงตามคำสอน เพราะเพียงแค่คิดว่าเป็นคนพุทธ เราก็อยากจะละกิเลส แต่ก็ไม่เข้าใจธรรมะเลย แล้วเราก็ไปหาธรรมะ ถ้าเราตอบได้ว่าธรรมะอยู่ที่ไหน ท่านจะไปหาธรรมะที่อื่นๆ หรือ? ท่านจะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม หรือท่านจะไปที่สถานที่ปฏิบัติธรรมไหม? ในเมื่อท่านเข้าใจด้วยปัญญาว่า ธรรมะคืออะไร และธรรมะอยู่ที่ไหน ขณะนี้มีธรรมะไหม หรือปฏิเสธสิ่งเหล่านี้หมดเลย เพราะฉะนั้น ก็คือ ไม่เข้าใจธรรมะ ก็ไปทำอย่างนั้น

และที่สำคัญ รากแก้วของพระพุทธศาสนา ก็คือ พระวินัย พระวินัยมีถึง ๒๒๗ ข้อ สำหรับพระภิกษุ แต่บางประการที่ชาวพุทธเราไม่ได้เข้าใจเลย เราก็ควรรับรู้บ้าง เช่น ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดี ในเงินและทอง ถ้าเป็นเพียงแค่ว่า เราไม่รู้ เราอยากจะเอาเงินไปให้พระภิกษุ ไม่อย่างนั้นท่านจะอยู่อย่างไร แต่เราลืมไปว่า ไม่ได้มีใครบังคับให้ไปบวช ถ้าเราไปบวชเพื่อที่จะไปอยู่แบบชาวบ้านเหมือนเดิม ความเสียหายเกิดขึ้นเยอะ ทั้งในส่วนของบุคคลผู้ที่ไม่รู้แล้วไปบวช นั้นด้วย เราเกณฑ์กันไปบวชบ้าง เราสนับสนุนการไปบวชบ้าง โดยที่เราไม่รู้จักเลย ว่าการบวชคืออย่างไร? และชีวิตที่ต่างกันของผู้ที่บวชเป็นภิกษุกับฆราวาส คืออย่างไร? ก็คิดว่า ท่านก็ต้องอยู่แบบเรา เอาเงินเอาทองไปให้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธ ไม่ได้เป็นเถรวาท เพราะพระเถระที่ท่านได้กล่าวคำที่มั่นคง เป็นเถระ - วาทะ วาทะก็แปลว่าคำพูด เป็นคำกล่าว คำสอน สืบกันมาอย่างมั่นคง เพราะความจริงเป็นจริง เปลี่ยนไม่ได้

ธรรมะ สนทนากันมาเป็นพื้นฐานพอสมควรแล้วว่า ธรรมะคือสิ่งที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย และใครจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างนี้ ผู้รู้จริงท่านก็แสดงไว้อย่างนี้ ถ้าผู้ที่จะเจริญกุศลในเพศพระภิกษุ ท่านก็ต้องรักษาสิกขาบท อย่างมหาวิทยาลัยเกษตรที่เราทำงานอยู่นี้ เราก็อยากให้นิสิตเขาทำถูกระเบียบ เป็นนิสิตก็อยากให้ทำถูกระเบียบ แค่นิสิตไม่ทำตามระเบียบของนิสิต เราก็ยังรู้ว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้าปฏิญาณตนเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เป็นศากยบุตร แล้วไม่กระทำตาม (พระวินัยบัญญัติ) และพุทธบริษัทก็ไม่ได้มีแค่บรรพชิต อย่างที่อาจารย์ทวีศักดิ์ท่านพูดไปแล้ว แม้พวกเราซึ่งเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือเป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นชาวบ้าน ภาษาไทยธรรมดานี่ ก็ไม่เข้าใจพระวินัยเลย เราก็อยากจะทำตามที่เราคิดว่าดี แล้วเป็นบุญ

ถามว่า ไปทำบุญ ถามชาวพุทธง่ายๆ ถามว่าไปทำบุญคืออย่างไร เขาต้องคิดว่า ต้องไปทำบุญ ก็คือต้องไปที่วัด คือทำบุญต้องไปวัด ไปวัดแล้วทำอย่างไร? ก็ต้องเอาเงินทองไป ต้องใช้เงินทองทั้งสิ้น ถ้าเงินทองนั้นให้ในทางที่ถูก ก็คือ ไม่ได้ไปให้พระภิกษุ ให้ผู้ที่ดูแลจัดการ เพื่อที่จะได้ถวายสิ่งที่เหมาะควรกับภิกษุ อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ซึ่งควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เขาไม่รู้ คิดว่าถ้าให้ถึงมือภิกษุจะได้บุญเยอะ หรือเห็นว่า ภิกษุท่านก็ช่วยเอาไปทำประโยชน์กับสาธารณะประโยชน์ คิดว่าดีนะท่านช่วยไปสร้างโรงพยาบาล ดีเสียอีกที่มีทั้งประธานฝ่ายสงฆ์ ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ช่วยกันทำกุศล แต่เราไม่ได้รู้พระวินัย เพราะฉะนั้น ต้องให้ถูกต้อง มีเรื่องอีกมากมาย เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมที่ผิด เรื่องที่ไม่เข้าใจแม้พื้นฐานพระวินัย เพราะฉะนั้น เป็นชาวพุทธก็ต้องไตร่ตรอง แค่สองเรื่องนี้ก็มากมายแล้ว

อ.ทวีศักดิ์ อีกนิดหนึ่งนะครับ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่า ผู้ที่คิดจะบวชเป็นภิกษุ ในอดีตที่ผ่านมา และทุกวันนี้ ก็บวชด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ได้ศึกษาเลยว่า ตนเองมีความเคารพ ศรัทธา ในพระพุทธศาสนา อย่างไร? และ ไม่เข้าใจว่า จากการสละเพศของคฤหัสถ์เป็นเพศบรรพชิต ต้องประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย ๒๒๗ ข้อ ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เราๆ ท่านๆ โดยทั่วไป ศีล ๕ ก็หนักพอสมควรสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่ภิกษุ ศีล ๒๒๗ ข้อ มากมายเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้มีอัธยาศัย ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเราในปัจจุบัน มีผู้บวชเป็นภิกษุมีโทษในทุกระดับ และโทษหนักก็มีมาก ตามที่เป็นข่าว กรณีเรื่องการรับเงินรับทอง เป็นเรื่องร้ายแรง และเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้อาจารย์คำปั่นกล่าว ว่าการที่คฤหัสถ์ ทำบุญกับภิกษุ ไม่ว่าจะทำบุญตักบาตรก็ดี การทำสังฆทาน การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แล้วก็มีการถวายปัจจัย มีการให้เงินอะไรต่างๆ เป็นผลร้ายต่อเราอย่างไร เป็นผลเสียอย่างไร ทั้งในตัวภิกษุเอง ได้รับโทษอย่างไร

อ.คำปั่น ก่อนอื่นก็ขออนุญาตกล่าวถึงพยัญชนะคำหนึ่ง ที่ได้ยินกันอยู่เสมอ ก็คือคำว่า "ปัจจัย" จริงๆ ปัจจัยที่กล่าวถึง ก็คือ เครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไปได้ หลักๆ ของมนุษย์เราก็คือ มีเครื่องนุ่งห่ม มีอาหาร มีที่อยู่อาศัย และ มียารักษาโรค นี่คือ ปัจจัย ๔ เพราะฉะนั้น สิ่งที่พุทธบริษัทที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ควรจะถวายแก่ภิกษุ ก็คือ ปัจจัย ๔ เหล่านี้ ไม่ใช่เงิน เงินไม่ใช่ปัจจัยที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตเลย เพราะว่าเงินทอง เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ เท่านั้น เพราะว่า ก่อนที่พระภิกษุท่านจะบวช ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจธรรมะ เป็นผู้ที่รู้แล้วว่า ชีวิตของเพศที่สูงยิ่งคือเพศบรรพชิต มีความแตกต่างกันจากเพศคฤหัสถ์ อย่างสิ้นเชิง เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ จึงสละชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติทุกประการ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า จะไม่เป็นคฤหัสถ์ แต่ว่าจะดำรงเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เป็นผู้ที่มีความจริงใจที่จะมีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสทั้งหมด นี่จึงเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยจริงๆ ที่ศึกษาธรรมะ รักษาพระวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเอง จะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงชีวิตของความเป็นบรรพชิต ตามพระธรรมวินัย จะมีความงดงาม เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสทั้งหมด ความหมายหนึ่งของภิกษุในธรรมวินัย ก็คือ ผู้มีธรรมะอันงาม ก็คือ ผู้ที่มีแต่คุณความดี มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขี้นเป็นไป ที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีกาย มีวาจา มีจิต ที่งดงาม เพราะมีสภาพธรรมะที่ดีงามเกิดขึ้นในจิต ของท่าน นี่คือความเป็นภิกษุในธรรมวินัย

แต่ถ้ามีความประพฤติที่ผิด ประพฤติไม่ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นการกระทำในสิ่งที่ผิด อย่างเช่น การรับเงิน การรับเงินของภิกษุ เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบท สิกขาบทก็คือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาที่จะได้น้อมประพฤติตาม เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ถ้ามีการรับเงินเมื่อไหร่ เป็นการล่วงละเมิดพระวินัย เป็นอาบัติ อาบัติก็คือ อาการที่ภิกษุกระทำผิดพระวินัย และมีโทษ การรับเงินของพระภิกษุ มีโทษ พระภิกษุจะเอาเงินมาจากไหน? ถ้าคฤหัสถ์ไม่ถวาย ถ้าคฤหัสถ์ไม่ให้

เพราะฉะนั้น การที่คฤหัสถ์ให้เงินแก่ภิกษุ คฤหัสถ์ก็เป็นผู้ที่กระทำในสิ่งที่ผิดด้วย เพราะไม่รู้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยคือใคร จึงกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร กระทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจถูก เห็นถูก การกระทำของคฤหัสถ์ที่ถวายเงินแก่ภิกษุ เป็นเหตุให้พระภิกษุล่วงละเมิดพระวินัย เป็นเหตุให้พระภิกษุเป็นผู้ที่มีโทษ ไม่มุ่งประโยชน์ต่อพระภิกษุเลย ถ้ามีการถวายเงินแก่พระภิกษุ ก็เท่ากับว่า เป็นการกระทำให้พระภิกษุท่านเป็นผู้ที่มีโทษ ถ้าหากว่าท่านล่วงละเมิดสิกขาบทแล้วไม่แก้ไข ไม่ปลงอาบัติ เมื่อท่านตายไปในขณะที่ท่านยังมีโทษอยู่ ชาติหน้า คือชาติที่ถัดจากความเป็นภิกษุ ก็เกิดในอบายภูมิเท่านั้น แล้วใครเป็นผู้ที่ส่งท่านลงนรก หรือว่าเกิดในอบายภูมิ? ก็คือความประพฤติของคฤหัสถ์ ที่ไม่เข้าใจในพระธรรมวินัย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคฤหัสถ์ถวายเงินแก่พระภิกษุ ถ้าภิกษุรูปนั้น เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ท่านจะปฏิเสธโดยประการทั้งปวงว่า พระภิกษุในธรรมวินัย รับเงินและทองไม่ได้ พร้อมกับสามารถกล่าว อธิบาย ให้คฤหัสถ์ผู้นั้น ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ด้วย ก็เป็นการเกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่น เพราะท่านเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั่นเอง

อ.ทวีศักดิ์ อาจารย์อรรณพครับ ทุกวันนี้เราไปทำบุญ เราต้องการความสบายใจ อยากได้บุญ และที่สำคัญ หลายกรณีเราทำบุญในพิธีกรรมต่างๆ โดยมีการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ภิกษุที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เป็นภิกษุทุศีล ไม่มีศีลบริสุทธิ์ หรือเป็นอลัชชี แล้วการทำบุญของเรานั้นจะเกิดผลอะไรหรือไม่?

ผศ.อรรณพ นี่ก็คือ ความไม่รู้ของชาวพุทธ พอมีผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นญาติผู้ใหญ่ เราก็ได้ยินข้อความว่า สามารถที่จะ เจริญกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีข้อความอย่างนี้จริง แต่ต้องเป็นการ "เจริญสิ่งที่เป็นกุศล" จึงจะอุทิศได้ แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ จะอุทิศได้ไหม? "อุทิศอกุศล" อุทิศบาป ได้ไหม? ภิกษุที่ทุศีล เราเอาเงินทองไปให้ ภิกษุใดรับเงินและทอง ภิกษุนั้นเป็นภิกษุทุศีล แน่นอน เพราะรับเงินทอง ตรงนั้นเลย ไม่ต้องว่าก่อนหน้านั้นไปทุศีลอะไรมา ถ้ารับเงินทองตรงนั้นเมื่อไหร่ ก็เป็นภิกษุที่ไม่ได้ทำตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ทุศีล เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นบุญด้วยเหตุสองสถาน หนึ่ง เอาสิ่งที่ไม่สมควร คือ อกัปปิยะ คือ สิ่งที่ไม่สมควร คือ เงินทอง ไปให้ภิกษุ และถ้าภิกษุนั้นรับ ภิกษุนั้นก็ ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นก็เป็นภิกษุทุศีล หรือไม่ให้เงินทอง แม้คฤหัสถ์นั้นจะเข้าใจพระวินัย แต่ภิกษุนั้นทุศีล แม้จะถวายสิ่งที่เหมาะควร มีภัตตาหาร จีวร เป็นต้น แต่ภิกษุนั้นทุศีล ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ไปอยู่ในภพภูมิอย่างเช่นเป็นเปรต เขาก็ไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้ เพราะผู้ที่รับไม่เป็นเนื้อนาบุญ

และ ถ้ายิ่งเอาเงินทองไปให้ภิกษุ ก็ยิ่งไม่เป็นบุญ แล้วตรงไหนที่เป็นกุศล ที่จะอุทิศส่วนกุศลได้? ไม่มีส่วนที่เป็นกุศล มีแต่ส่วนที่ไม่เข้าใจ เพื่อความสบายใจเท่านั้น ว่าได้ทำอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธต้องเข้าใจ มีข้อความจริง ว่า เจริญกุศลแล้วอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่จะเป็น ปัตตานุโมทนามัย คือ การอุทิศส่วนกุศล แต่ ต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ก็ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควร ซึ่งในพระสูตรก็แสดงไว้ว่า ถ้าภิกษุทุศีล แม้อุบาสกอุบาสิกาจะถวายสิ่งที่ควร แต่เปรตก็ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้

อ.ทวีศักดิ์ มีเรื่องสำคัญที่อยากจะกราบท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึง ความสำคัญจริงๆ ของชาวพุทธ ต้องเป็นชาวพุทธที่มีปัญญา และปัญญาก็ต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง เรานับถือพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชาวพุทธจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมนะคะ ธรรมะเป็นสิ่งที่เข้าใจยากหรือง่าย? คะ? เสียงเดียวกันหรือเปล่าคะ? หรือว่าหลายเสียง ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง เข้าใจง่ายหรือยาก? คะ? เสียงเดียวนะคะ ยาก เพราะ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่ไหนก็ตาม เพราะไม่รู้จักเถรวาท แม้ว่าจะเรียกชื่อว่าเถรวาท บัญญัติในกฏหมายว่า "เถรวาท" แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะ จะเป็นเถรวาทได้ไหม?

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเข้าใจถึง เบื้องลึก ตั้งต้น ต้นตอจริงๆ ว่า ไม่ว่าจะพูดคำอะไรก็ตาม อย่าเผิน ต้องเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ มีสองคำ "เถระ-วาทะ" ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ

อ.คำปั่น เถระ คือ มั่นคง วาทะ คือ ถ้อยคำ รวมกันเป็น ถ้อยคำที่มั่นคง ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม ใช่ไหม? ถ้าเข้าใจผิด มั่นคงได้ไหม? ก็ไม่มั่นคงแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะใช้คำนี้ตามกฏหมายหรือว่าไม่ใช่ตามกฏหมายก็ตามแต่ แต่ก็รู้ได้ว่า คำใด ที่ไม่ใช่คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว แล้วคนนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นคำไม่จริง และ ไม่ตรง เพราะเหตุว่า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่จริง เปลี่ยนไม่ได้อีกเลย วาจาสัจจะ ทุกคำ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เพียงเอ่ยคำว่าเถรวาท แต่ถ้าเข้าใจผิด ไม่ใช่เถรวาท เพราะฉะนั้น วาทะที่มั่นคงเพราะ เถระ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่เพราะบวชนาน คิดว่าบวชตั้งหลายปีคงมั่นคง ไม่ใช่ หรือว่าคนที่บวชเมื่อแก่ อายุมาก ก็เรียกว่าพระเถระ ก็ไม่ใช่ แต่ต้องเป็น "ธรรมเถระ" เท่านั้น ที่จะมั่นคงในพระธรรม จึงจะเป็น เถระวาท (เถระ-วาทะ) ไม่เปลี่ยนเลย

ด้วยเหตุนี้ ใครจะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ใช่เถรวาท ทุกคำ ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง พระภิกษุรับเงินทอง หรือว่า สำนักปฏิบัติ ซึ่งทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เถรวาท เพราะเหตุว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่มั่นคงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เราจะหยิบยกเพียงบางประเด็น แต่ให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีความมั่นคง ในความเข้าใจที่ถูกต้อง ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เถรวาท

ภิกษุรับเงินทอง เป็นเถรวาทหรือเปล่า? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร? พระองค์เป็นผู้ที่ทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับพระภิกษุ เพื่อขัดเกลากิเลส ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เพราะผู้ที่บวชต้องรู้ ว่าไม่ใช่คฤหัสถ์ แล้วบวชทำไม? ถ้าเป็นภิกษุเถรวาท บวชเพื่อขัดเกลากิเลส ยิ่งขึ้น ในเพศบรรพชิต ซึ่งต่างกับคฤหัสถ์ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตื่นขึ้น ก็รู้แล้ว เราไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป และสิ่งที่พระภิกษุต่างกับคฤหัสถ์ ก็โดยสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เพื่อการขัดเกลากิเลส กิเลสมากมายมหาศาล ผู้ที่ฟังธรรมะในเพศคฤหัสถ์ สามารถที่จะดับกิเลสรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความเป็นพระสกทาคามี ถึงความเป็นพระอนาคามี เมื่อใดถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิต เพราะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความตรง และ ความจริง ว่า ภิกษุคือใคร? ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ รับเงินทอง และมีสำนักปฏิบัติ ไม่ใช่เถรวาท

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

.........

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้ที่นี่...

และ ขอเชิญคลิกชม บันทึก ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งก่อน ได้ที่นี่...

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 8 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chvj
วันที่ 9 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ