ปัตตานุโมทนามัย มีเงื่อนไขอย่างไร

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  20 พ.ย. 2554
หมายเลข  20063
อ่าน  18,930

ปัตตานุโมทนามัย (บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ) จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ทำปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ) ให้เราก่อน หมายความว่า ถ้ายังไม่มีการให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญก็ย่อมจะสำเร็จไม่ได้ ใช่หรือไม่

เดินไปตามถนนตอนเช้า เห็นคนใส่บาตร เราก็ทำใจให้พลอยยินดีอนุโมทนาไปกับเขาด้วย โดยที่ผู้ใส่บาตรยังไม่ได้แบ่งส่วนบุญให้เรา เช่นนี้ สำเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัยหรือยัง?

ขออนุโมทนากับท่านผู้ที่จะให้ความรู้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญที่เป็นปัตตานุโมทนา ย่อมสำเร็จกับหมู่สัตว์ทุกๆ เหล่า ถ้าเขารับรู้และมีิจิตอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นทำแล้ว กุศลก็ย่อมเป็นของบุคคลผู้อนุโมทนา แม้ว่าจะไม่ต้องรอให้บุคคลอื่นแบ่งส่วนบุญให้ แต่เมื่อเห็นแล้ว (ดังตัวอย่างที่ได้ยกมา) ได้ทราบแล้ว เกิดกุศลจิต อนุโมทนาชื่นชมในความดีของผู้อื่น นั่นก็เป็นบุญที่เป็นปัตตานุโมทนา สำคัญอยู่ที่สภาพจิตในขณะนั้นจริงๆ ว่า จะอนุโมทนาหรือไม่ ถ้าไม่อนุโมทนา กุศล-จิตไม่เกิด ไม่ใช่บุญ แต่ถ้ากุศลจิต เกิด ก็เป็นบุญ ครับ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ขอเิชิญคลิกและอ่านพิจารณาเพิ่มเติมจากข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้ครับ

ปัตตานุโมทนามัย [อภิธรรมปิฎก]

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๘๙

ปัตตานุโมทนามัย

บุญกิริยาวัตถุ คือ การพลอยอนุโมทนาบุญ พึงทราบด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรือ อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำแล้วทั้งสิ้น ว่า สาธุ (ดีแล้ว) .

(ข้อความบางตอนจาก ...อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ทาน (๕)

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

การแบ่งบุญกับการอนุโมทนาบุญ?

โมทนา และ อนุโมทนา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เริ่มจากความเห็นถูกก่อนครับว่า บุญ อยู่ที่จิต เพราะบุญคือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต และเจตสิกฝ่ายดีเกิดขึ้น อันเป็นจิตที่ปราศจากกิเลส แต่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ทำให้จิตนั้นดีงาม เป็นบุญเป็นกุศลในขณะนั้นครับ

ปัตตานุโมทนามัย (บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ) ก็เป็นกุศลประเภทหนึ่งในบุญ 10 ประการ ซึ่ง จะเป็น ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จจากการอนุโมทนาได้ ก็ด้วย กุศลจิตเกิดขึ้น ยินดี ชื่นชม ในกุศลของผู้อื่นที่ได้ทำ ซึ่งไม่จำเป็นเลยครับว่า ผู้อื่นจะมาบอกบุญ หรือ มาอุทิศให้ เพราะตามที่กล่าวแล้ว บุญไม่ว่าประเภทใด เกิดที่จิตและจิตของตนเองครับ ดังนั้นแม้จะบอกบุญ หรือ อุทิศบุญให้ แต่ไม่เกิดกุศลจิตอนุโมทนา คือ ไม่ยินดีและชื่นชมในกุศลจิตนั้นก็ได้ครับ แต่แม้ผู้อื่นไม่ได้บอกบุญ ไมไ่ด้อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ผู้อื่นรู้ในบุญนั้น ไม่ว่าจะเห็น หรือ ได้ยินในกุศลของผู้อื่นที่ได้ทำ ก็สามารถเกิดกุศลจิต อนุโมทนา คือ ชื่นชม ยินดีในกุศลที่ทำนั้นได้ครับ ขณะที่เกิดกุศลจิต ชื่นชมยินดี สภาพจิตที่ดีเกิดแล้ว เป็นบุญแล้ว เป็น ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จจากการอนุโมทนาแล้วครับ

ซึ่งจากตัวอย่างในพระไตรปิฎก ก็แสดงเรื่องนี้โดยตรง เกี่ยวกับ ผู้ที่อนุโมทนาบุญของผู้อื่น โดยที่ผู้นั้นแม้ไม่ไ้ด้บอกบุญ แต่บุญนั้นก็สำเร็จแล้ว เป็น ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จจากการอนุโมทนา ขณะที่มีจิตอนุโมทนาครับ เช่น เพื่อนของนางวิสาขาได้สร้าง ปุพพาราม อุทิศถวายกับพระภิกษูสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อนของนางวิสาขา เห็นปราสาท ปุพพารามแล้ว แม้นางวิสาขาไม่บอกเลย แต่เมื่อได้เห็นก็เกิดจิตอนุโมทนาบุญนั้นที่นางวิสาขาได้ทำ บุญนั้นสำเร็จแล้ว เป็น ปัตตานุโมทนามัย เพราะผลของบุญนั้น เพื่อนของนางวิสาขาไปเกิดบนสวรรค์ และบอกกับพระเถระที่ขึ้นไปบนสวรรค์ว่า เพราะผลของบุญที่ท่านอนุโมทนา ปราสาทปุพพารามของนางวิสาขาที่ถวายกับพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จึงทำให้เกิดในสวรรค์และมีสมบัติมากเช่นนี้ครับ นี่แสดงให้เห็นครับว่า แม้จะไม่ได้มีใครบอก หรือ อุทิศให้ บุญนั้นก็สำเร็จแล้ว สำเร็จเมื่อเกิดจิตชื่นชม ยินดีในกุศลของผู้อื่นที่ได้ทำนั่นเองครับ

วิหารวิมาน ว่าด้วยวิหารวิมาน

ท่านพระอนุรุทธะถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า

[๔๔] ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีวรรณะงาม เปล่งรัศมีสว่างไปทุกทิศ เหมือนดาวประกายพรึก เมื่อท่านฟ้อนรำอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์ น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจก็เปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน กลิ่นทิพย์ที่หอมหวนยวนใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุก....ดูก่อนเทพธิดา ท่านสูดดมกลิ่นที่หอมหวน เห็นรูปทิพย์ซึ่งมิใช่ของมนุษย์ท่านถูกอาตมาถามแล้วโปรดบอกทีเถิด นี้เป็นผลของกรรมอะไร.

เทพธิดานั้นตอบว่า

ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาสหายของดีฉันอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารและการบริจาคทรัพย์อุทิศสงฆ์ ซึ่งเป็นที่รักของดีฉัน เลื่อมใสในบุญนั้นจึงอนุโมทนา ดิฉันได้วิมานที่อัศจรรย์น่าทัศนา ด้วยอนุโมทนาอันบริสุทธิ์นั้นเอง วิมานลอยไปในเวหาเปล่งรัศมี ๑๒ โยชน์โดยรอบ ด้วยฤทธิ์ของดีฉัน ห้องรโหฐานที่อยู่อาศัยของดีฉัน .......

พระอนุรุทธเถระประสงค์จะให้นางบอกสถานที่ที่นางวิสาขาบังเกิดจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า ท่านได้วิมานที่อัศจรรย์น่าทัศนา ด้วยอนุโมทนาอันบริสุทธิ์นั้นเอง ขอท่านจงบอกคติของนางวิสาขาผู้ที่ได้ถวายทานนั้น นางวิสาขานั้นเกิดที่ไหน.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ว่า พึงอนุโมทนาในความดีของสัตว์ทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่า การอนุโมทนาในความดีที่ผู้อื่นทำ เป็นความดีที่บัณฺฑิตทั้งหลายได้กระทำแล้ว แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงชื่นชม ทรงอนุโมทนาในความดีทีพระสาวกได้กระทำแล้วค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
miran
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ผมอ่านพระไตรปิฏกเห็นการบำเพ็ญบารมีของบุคคลต่างๆ ในสมัยพุทธกาลมีการให้ทานของพระโพธิสัตว์เป็นต้น แล้วเกิดซาบซึ้งในการทำทานของท่านแล้วอนุโมทนาก็คงได้ส่วนแห่งบุญเหมือนกันใช่ไหมครับ เพราะอย่างน้อยจิตก็มีความสุขชื่นชมในการกระทำของท่าน

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

เมื่อใดที่เกิดจิตยินดีในกุศลของผู้อื่น ไม่ว่าของใคร กุศลจิตเกิดกับจิตของตนเอง เป็นบุญเป็นกุศลในขณะนั้น และย่อมมีส่วนแห่งบุญนั้นที่อนุโมทนาในบุญนั้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 22 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 23 พ.ย. 2554

ถ้าการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ทำบุญนั้นๆ ให้ส่วนบุญแก่เราเสียก่อนดังที่ได้กรุณาตอบชี้แจงมา ขอเรียนถามว่า กรณีเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้รู้เห็นอยู่แล้วว่าพระเจ้าพิมพิสารกำลังทำบุญและได้ทำบุญเสร็จไปแล้ว ไฉนจึงต้องรอให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้เสียก่อน เปรตเหล่านั้นจึงจะได้บุญ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศส่วนบุญให้ เปรตเหล่านั้นก็ไม่ได้รับส่วนบุญจึงมาร้องขอส่วนบุญ จนพระเจ้าพิมพิสารต้องไปทูลถามพระพุทธองค์ และต้องทำบุญใหม่ แล้วอุทิศให้ เปรตเหล่านั้นจึงได้รับส่วนบุญ

สรุปคำถามสั้นๆ ว่า เปรตก็รู้เห็นอยู่แล้วว่าพระเจ้าพิมพิสารทำบุญ ทำไมจึงไม่อนุโมทนาบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) ไปเลย ทำไมจึงต้องรอให้เขาอุทิศส่วนบุญก่อนจึงได้รับส่วนบุญ

ขอความกรุณาอธิบายข้อเยื้องแย้งนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 8 ครับ

การเกิดเป็นเปรต ซึ่งเป็นภูมิหนึ่งในบรรดาอบายภูมิ ๔ เป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้เปรตได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน และหิวโหยอยู่ตลอดเวลา ความเป็นอยู่ของเปรตต้องอาศัยการรับอุทิศส่วนบุญที่ญาติทั้งหลายได้อุทิศไปให้ เมื่อเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็ทำให้พ้นจากสภาพที่เป็นทุกข์เดือดร้อนนั้น หรือ ถึงกับพ้นจากความเป็นเปรตเลยก็มี เพราะภพภูมิต่างกัน จึงไม่สำเร็จเพียงอนุโมทนาฝ่ายเดียว ต้องอาศัยญาติอุทิศส่วนบุญให้ จึงสำเร็จได้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาแล้ว สามารถมีกุศลจิตอนุโมทนาได้เลย โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นทำบุญอุทิศให้ ครับ อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านนาวาเอกทองย้อยได้ถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องราวของอันนภาระ (อดีตชาติของพระอนุรุทธะ) ที่เป็นคนหาบหญ้ารับจ้างท่านสุมนเศรษฐี ในกาลสมัยที่ว่างจากพระพุทธศาสนา เมื่ออันนภาระได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้ว ทำไมสุมนเศรษฐีจึงไม่อนุโมทนา ต้องไปบอกให้อันนภาระให้ส่วนบุญแก่ตนก่อน เป็นต้น ในประเด็นนี้ได้แสดงความคิดเห็นไปแล้ว ๒ ครั้ง ด้วยกัน แต่เนื่องจากเกิดเว็บล่ม ข้อมูลหาย ทั้งคำถามและคำตอบ ก็เลยขอแสดงความคิดเห็นใหม่อีกที เป็นครั้งที่๓ ดังนี้ ครับ

ขอกล่าวทบทวนก่อนนะครับ อันนภาระ เป็นคนหาบหญ้ารับจ้างท่านสุมนเศรษฐี ท่านสุมนเศรษฐี เป็นผู้ที่ให้ทานเป็นประจำอยู่ทุกๆ วัน อยู่มาวันหนึ่ง อันนภาระได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เทวดาได้เปล่งเสียงสาธุการชื่นชมยินดีในกุศลที่อันนภาระได้กระทำซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากอย่างยิ่ง ท่านสุมนเศรษฐีก็แปลกใจว่าเราให้ทานอยู่ทุกๆ วัน ทำไมเทวดาพึ่งจะมาเปล่งเสียงสาธุการในวันนี้ เทวดาได้กล่าวว่าไม่ได้เปล่งเสียงสาธุการให้แก่ท่าน แต่เปล่งเสียงสาธุการชื่นชมยินดีในการถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ของอันนภาระ ทำให้ท่านสุมนเศรษฐีเกิดอัศจรรย์ใจในการกระทำของอันนภาระ ประสงค์ที่จะไปขอให้การถวายบิณฑบาตดังกล่าวนั้นมาเป็นของตน พร้อมกับให้เงินจำนวนหนึ่งแก่อันนภาระ ซึ่งอันนภาระก็ไม่ยอมให้ เศรษฐีก็ขึ้นเงินเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งพัน อย่างไรอันนภาระก็ไม่ให้ จนในที่สุดเศรษฐีก็บอกว่าถ้าไม่ยอมให้ก็ขอให้รับเงินหนึ่งพันนี้ไปแล้วให้ส่วนบุญแก่ตน ด้วย คือ ขอมีส่วนในการกระทำบุญครั้งนี้ ด้วย อันนภาระจึงได้ไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้า ว่าความกระจ่างในเรื่องนี้เป็นอย่างไร พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า การให้ส่วนบุญ ไม่ทำให้บุญหมดไป มีแต่บุญยิ่งเจริญขึ้น เปรียบเหมือนกับประทีปหลายๆ ดวงที่จุดจากคนที่เป็นต้นของดวงประทีป จุดไปเท่าใดๆ แสงสว่างก็ยิ่งมากขึ้น ในลำดับต่อมาอันนภาระจึงได้ให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐี มิใช่เพื่อทรัพย์ แต่ด้วยศรัทธา ท่านสุมนเศรษฐีเห็นว่าอันนภาระได้ให้ส่วนบุญแก่ตนด้วยศรัทธา จึงได้มอบเงินจำนวนดังกล่าว ให้แก่อันนภาระเพื่อเป็นการบูชาคุณ และบอกให้อันนภาระไม่ต้องทำงานรับจ้างอีกต่อไป พร้อมทั้งปลูกบ้านให้อยู่อาศัย และถ้าอันนภาระต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็สามารถมารับเอาจากบ้านของท่านเศรษฐีได้ตามที่ประสงค์ แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยที่แต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา เป็นที่น่าพิจารณาว่า ท่านสุมนเศรษฐี เป็นผู้ที่เจริญกุศลอยู่เป็นประจำ มีหรือที่ท่านเห็นคนอื่นเจริญกุศลแล้วท่านจะไม่อนุโมทนา แต่เพราะยังมีความติดข้องต้องการ คือ ยังมีโลภะ อยู่ จึงติดข้องในกุศล คือ อยากได้กุศล หรือ อยากได้บุญ นั่นเอง กรณีของท่านเศรษฐี ย่อมเป็นอย่างนี้ เพราะจิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การแบ่งส่วนบุญ [เรื่องอดีตชาติของพระอนุรุทธะ]

จากเรื่องนี้ ในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๔๘๒ บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เหมือนกัน เมื่อได้ฟัง (อ่าน) แล้วได้ข้อคิดเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมาประกอบในที่นี้ ด้วย ดังนี้

ผู้ถาม : "อาจารย์ครับ อันนภารบุรุษ แสดงว่าเป็นคนมีปัญญาแน่ๆ เพราะว่าเวลาให้ทานถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว เศรษฐีขอซื้อ ไม่ยอมขาย เพราะถ้าท่านขาย ท่านจะต้องเป็นคนมีโลภะ เศรษฐีนี่มีโลภะแน่ๆ คือจะต้องอยากได้บุญจากอันนภาระ เอาเป็นของตัวเลย อันนภาระไม่ต้องเอาแล้ว เพราะฉะนั้น อันนภาระจะต้องเป็นคนมีปัญญาว่า บุญนี่ขายกันไม่ได้ แต่พอเศรษฐีขอส่วนบุญด้วย ขอมีส่วนร่วม ขออนุโมทนาส่วนบุญด้วย อันนภาระไม่ได้ตอบว่า จะให้หรือไม่ให้ จะต้องไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าเสียก่อน พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์เล่าว่า การให้ส่วนบุญมันไม่หมด มันเหมือนยังกับมีตะเกียงหลายๆ ดวงจุดจากคนที่เป็นต้นตะเกียง เพราะจุดไปเท่าไรๆ ก็สว่างไสวเท่านั้น เพราะฉะนั้น แสดงว่า อันนภาระจะต้องเป็นคนมีปัญญาอย่างแน่นอน"

ท่านอาจารย์สุจินต์ : "แล้วก็ถ้าจะพิจารณาเรื่องนี้ แต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า ท่านเศรษฐีท่านต้องการส่วนบุญ ที่ท่านขอซื้อ จะเรียกว่า ให้ทรัพย์กับอันนภาระ แล้วขอให้บิณฑบาตนั้นเป็นของท่าน จิตนี่วิจิตรจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ลองคิดถึงดูใจของคนหนึ่งซึ่งเห็นอีกคนหนึ่งทำกุศล แล้วก็เทวดาอนุโมทนา ก็แสดงว่าต้องเป็นกุศลพิเศษจริงๆ ซึ่งท่านเองไม่มีโอกาสจะได้กระทำ เพราะฉะนั้น จึงอยากได้ การที่ศึกษาหรือฟังอดีตชาติของพระภิกษุทั้งหลาย ก็เพื่อที่จะได้เทียบเคียงแม้กุศลจิตของท่านเอง อย่าได้เป็นผู้ที่อยากได้กุศล แต่ควรที่จะเห็นอานิสงส์ของกุศลว่า เพราะอกุศลนี่มีมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเจริญกุศล กุศลอะไรก็ได้ ถ้าคนอื่นทำกุศล แล้วเราอนุโมทนา ก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปซื้อกุศลนั้นมาเป็นของเรา ในขณะที่เกิดปีติ อนุโมทนาด้วย นั่นก็เป็นกุศลแล้ว"

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 16 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ