ความจริงของสมณะ - บวชพระเองได้ไหม ...

 
Wholooking
วันที่  8 ก.พ. 2561
หมายเลข  29475
อ่าน  1,042

1. บวชพระเองได้ไหม

2. พระฉันอาหารวันละกี่ครั้ง

3. อดิเรกลาภคืออะไร

4. พระเดินทางด้วยวิธีใด

5. พระรับกิจนิมนต์ได้ไหม

6. พระต้องธุดงค์ไหม

7. ที่อยู่ของพระควรมีลักษณะแบบใด

ขอความรู้จากอาจารย์ด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมณะ เป็นผู้สงบ สูงสุดของความเป็นสมณะ คือสามารถดับกิเลสได้หมดสิ้น

บวชพระเองได้ไหม?

บวชเป็นพระภิกษุเอง ไม่ได้ ต้องได้รับการบวชอย่างถูกต้องตาม พระวินัย ตามสังฆกรรมของพระภิกษุ จึงจะสำเร็จเป็นพระภิกษุได้ ซึ่งความเป็นพระภิกษุ อยู่ที่พระธรรมวินัย ไม่ใช่เพียงแค่บวช เท่านั้น การบวชเองไม่เป็นพระภิกษุ แต่เป็นคนขโมยเพศของพระภิกษุ ที่เรียกว่า คนลักเพศ

พระฉันอาหารวันละกี่ครั้ง?

พระภิกษุเป็นเพศที่ขัดเกลา ท่านสามารถฉันอาหารได้เช้าชั่วเที่ยงเท่านั้น ฉันเกินเที่ยงไม่ได้ ในระหว่างเช้าชั่วเที่ยงนั้น ไม่ได้จำกัดว่าจะฉันกี่ครั้ง แต่ต้องไม่เกินเที่ยง ที่สำคัญจะต้องมีการพิจารณาอยู่เสมอว่า ฉันอาหาร เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ฉันเพื่อให้มีกำลัง เพื่อประดับตกแต่งร่างกาย เป็นต้น

อดิเรกลาภคืออะไร?

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตที่ควรแก่ภิกษุจริงๆ มี ๔ อย่าง คือจีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค อดิเรกลาภ คือสิ่งที่ได้มากกว่านั้น เกินกว่านั้น อย่างจีวร ก็ได้มาก อาหารก็ได้มาก ยาก็ได้มาก เรียกว่า อดิเรกลาภ

พระเดินทางด้วยวิธีใด?

ปกติชีวิตของพระภิกษุท่่านก็อยู่ที่วัด ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้ามีกิจที่จะไปที่อื่นที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต ท่านก็เดินทาง จะด้วยการเดิน หรือมีคฤหัสถ์ไปส่งด้วยยานพาหนะต่างๆ ก็สามารถที่จะไปได้ โดยไม่เกี่ยวกับการใช้เงินทอง เพราะเงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิต บรรพชิตรับเงินทองไม่ได้ ใช้เงินทองไม่ได้

พระรับกิจนิมนต์ได้ไหม?

สามารถรับกิจนิมนต์ ไปฉันภัตตาหารได้ ถ้าหากท่านไม่ได้สมาทานที่จะถือเอาเป็นปฏิบัติในเรื่องของการเที่ยวบิณฑบาต เป็นปกติ เพราะเหตุว่า ถ้าท่านสมาทานธุดงค์ข้อเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ ท่านก็ไม่รับกิจนิมนต์ ปฏิเสธที่จะรับกิจนิมนต์ได้

พระต้องธุดงค์ไหม?

ธุดงค์ เป็นองค์ของการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการรักษาพระวินัยแต่ละสิกขาบท เป็นเรื่องอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ไม่ได้บังคับว่าพระภิกษุทุกรูปจะต้องสมาทานถือเอาที่จะรักษาธุดงค์ เป็นเรื่องของแต่ละรูปที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่รู้ว่าธุดงค์คืออะไร ก็ไม่สามารถที่จะรักษาธุดงค์ได้
ขอเชิญคลิกศึกษารายละเอียดได้ที่นี่ ครับ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับธุดงค์

ที่อยู่ของพระควรมีลักษณะแบบใด?

วัดหรืออาราม เป็นสถานที่อยู่ของบุคคลต้องการความสงบ เป็นที่อยู่อาศัยของเพศบรรพชิต คือพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส และเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธ ไปฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและถวายสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เหมือนอย่างอารามในสมัยพุทธกาล เช่น พระเชตวัน พระเวฬุวัน เป็นต้น ถ้าที่ใดก็ตามไม่เป็นอย่างนี้ มีการทำสิ่งอื่นที่เป็นความไม่สงบ เช่น มีดนตรีมหรสพ ขายของในวัด ไม่เป็นอารามในพระพุทธศาสนา ครับ

ขอเชิญคลิกชมวีดีโอสนทนาธรรมที่นี่ ครับ

บ้านธัมมะ ๙๓ อารามที่แท้จริง

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sasha
วันที่ 9 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 10 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ