ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ อาสาฬหบูชา ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  23 ก.ค. 2559
หมายเลข  28012
อ่าน  2,573

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคาร ที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และคณะวิทยากร ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ณ อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ ถนนเจริญนคร กรุงเทพมหานคร

เป็นปรกติของมูลนิธิฯ ที่มีการจัดให้มีการสนทนาธรรมในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยมีผู้สนใจ เดินทางมาจากที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเข้าร่วมฟังการสนทนาธรรม ซึ่งในวันนี้ ก็จะมีสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ.หลายท่าน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ในส่วนต่างๆ เช่นการจัดดอกไม้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ การเป็นเจ้าภาพในการนำอาหารคาวหวานชนิดต่างๆ รวมทั้งไอศครีม และน้ำดื่มหลากชนิด มาออกร้านเพื่อให้ผู้ร่วมรับฟังการสนทนาธรรม ได้รับประทานในตอนกลางวัน ขออนุโมทนาท่านเจ้าภาพทุกๆ ท่าน ด้วยครับ

การเดินทางมาฟังการสนทนาของท่านต่างๆ อย่างมากหน้าหลายตาในวันสำคัญๆ เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยัน และทำให้ได้เห็นว่า มีบุคคลจำนวนมาก ที่ได้รับประโยชน์ จากการเผยแพร่พระธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในนามของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จำนวนของผู้ที่ได้พบกับความจริง วาจาสัจจะ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ที่ได้เดินทางมาแสดงตน และกล่าวว่า บุญเหลือเกิน ที่ได้มีการ หมุนเจอ, เปิดเจอ, อ่านเจอ, ฯลฯ จนได้ฟังธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ ฯ

นี่เป็นสิ่งเดียว ที่ท่านอาจารย์ได้เพียรกระทำมาตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี แม้บัดนี้ ท่านมีอายุ ๙๐ ปีแล้ว แต่ท่านยังมีความเมตตาและความเพียรอย่างยิ่ง ในการที่จะเผยแพร่ความรู้ถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่ท่านเคยกล่าวกับข้าพเจ้าที่ประเทศเวียดนาม หลังจากที่ข้าพเจ้าได้กราบท่านว่า ชีวิตของท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านกล่าวตอบด้วยคำที่ทำให้ข้าพเจ้าจำได้ไม่ลืมว่า "ใช้ให้คุ้ม"

ขอนำความการสนทนาธรรมบางตอน ที่ท่านกล่าวถึง "ศีล" ซึ่งบุคคลที่จะศึกษาและเข้าใจพระธรรมได้ ย่อมเป็นผู้ที่มีความละเอียด ที่จะไม่ข้ามความละเอียด ลึกซึ้ง ในคำแม้เพียงคำเดียว เพราะเหตุว่า โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงคำว่า "ศีล" ก็มักคิดว่าเข้าใจแล้ว และมักคิดถึงการที่จะเข้าใจธรรมะได้ต้องเป็นผู้ที่รักษาศีลก่อน ต้องสมาทานศีล แต่ "ศีล" คืออะไร? มีนัยที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างไร? ผู้ที่ศึกษาธรรม ย่อมเป็นผู้ที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของตนเองในอันที่จะไม่เข้าใจผิด คิดเอง ซึ่งจะเป็นโทษแก่ตนนั้นเอง ทั้งยังเป็นการทำร้ายผู้อื่นให้เห็นผิดตาม เพราะชี้นำผู้อื่นด้วยความไม่รู้ ด้วยความสำคัญตนว่ารู้ นี้เป็นอันตรายและเป็นโทษอย่างยิ่ง

อ.ธิดารัตน์ สำหรับวันนี้ ก็เป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เราก็มีโอกาสจะสนทนาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ฟังธรรมะ เพื่อที่จะค่อยๆ เข้าใจธรรมะได้โดยลำดับ ท่านแสดงพระธรรมไว้ ซึ่งก็เป็นทั้งพระธรรมและพระวินัย หรือใช้คำว่า "ธรรมวินัย" อาจารย์สงบคะ คำว่า "วินัย" จะมีความหมายอย่างไรบ้างคะ?

อ.สงบ "วินัย" แปลว่า นำออก ซึ่ง อกุศล หรือ ทุจริต วินัย พระวินัยก็เป็นวินัย พระสูตรก็เป็นวินัย พระอภิธรรมก็เป็นวินัย ทั้งนำออกซึ่ง "วีติกกมกิเลส" คือ กิเลสอย่างหยาบ ทางกาย ทางวาจา ก็เป็นวินัย แล้วก็ "ปริยุฏฐานกิเลส" เช่น นิวรณ์ ๕ ก็เป็นวินัยเหมือนกัน ในส่วนของ "อนุสัยกิเลส" คือ กิเลสอย่างละเอียด ที่ปัญญาเกิดขึ้นและรู้ตามความเป็นจริง ละคลายความไม่รู้ นั้นก็เป็นวินัยเหมือนกัน

อ.ธิดารัตน์ ในพระอภิธรรมก็ได้แสดงวินัยไว้ ๒ อย่าง ซึ่งเป็น "สังวรวินัย" และ "ปหานวินัย" เพราะฉะนั้น วินัย ไม่ว่าจะเป็นนัยของข้อแรก สังวรก็หมายถึง "ศีล" ก็คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ และการสำรวมด้วยสติ สำรวมด้วยญาณหรือปัญญา สำรวมด้วยขันติ แล้วก็วิริยะสังวรหรือการสำรวมด้วยความเพียร อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ อธิบายว่าการสังวร สำรวม โดยนัยต่างๆ เหล่านี้ค่ะ

ท่านอาจารย์ พระธรรมทุกคำ ลึกซึ้ง และประโยชน์อย่างยิ่งก็คือ ได้เข้าใจถูกต้องว่า ก่อนอื่น ต้องรู้ก่อนว่า ที่ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงก็คือสภาพธรรมะที่กำลังมีในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะตามข้อความในพระวินัย ในพระสูตรหรือพระอภิธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะข้อความใด แม้แต่ข้อความที่คุณธิดารัตน์กล่าวถึง แต่เราไม่ไปเรียนแบบที่ว่า เราจะต้องไปจำเป็นพระสูตร แล้วก็เป็นข้อๆ แต่ให้รู้ว่า "ทุกคำ" มุ่งหมายเพื่อให้เรามีความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมะที่มีจริง อันนี้เป็นวินัยหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะฟังให้เข้าใจ ก็เป็นวินัย เพราะเหตุว่า จะนำออกซึ่งความไม่รู้และการยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ทุกคำ ลึกซึ้งจริงๆ ไม่ควรจะข้าม ไม่ควรจะผ่าน ไม่ควรจะไปคิดว่า เราจะรู้ข้อความตอนนั้น ตอนนี้ ให้มากขึ้นโดยเฉพาะ แต่ว่าขณะนี้เป็นธรรมะทั้งหมด เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ฟัง ต้องไม่ลืม เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ แม้แต่ข้อความที่คุณธิดารัตน์กล่าวถึง...

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ หมายถึงว่า "ศีล" เป็นวินัย

ท่านอาจารย์ "ศีล" คือ อะไร? เห็นไหม? ทุกคำ เมื่อกี้นี้เราทราบแล้วใช่ไหม "วินัย" คือ นำออกซึ่งอกุศล เพราะฉะนั้น ศีล คือ อะไร? เดี๋ยวนี้มีศีลหรือเปล่า? การศึกษาธรรมะ ถ้ารู้ความลึกซึ้ง ก็จะศึกษาทีละคำ เพื่อความเข้าใจที่มั่นคง ไม่ว่าจะได้ยินที่ไหน ก็รู้จักว่าศีลคืออะไร แต่ถ้าใครยังไม่รู้ว่าศีลคืออะไร แล้วกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมะทีละคำ...เพื่ออะไร? เข้าใจสิ่งที่มี "ทีละหนึ่ง" เดี๋ยวนี้ที่มีจริงๆ แล้วก็เป็นแต่ละหนึ่งด้วย

"รูป" ไม่ใช่ศีลแน่ ใช่ไหม? แต่ว่า "สภาพรู้" บางครั้งดี บางครั้งชั่ว จากอกุศลที่มีมาก จนกระทั่งมีกุศลเพิ่มขึ้น จนกระทั่งดับหมดทั้งกุศลและอกุศล ก็เป็นความประพฤติเป็นไปของจิต ทั้งหมด ไม่ว่าจะกล่าวถึงศีลโดยนัยใด

ขณะนี้ เป็นอะไร? ถ้าเป็นอกุศล เปลี่ยนเป็นกุศลได้ไหม? เกิดแล้วเป็นกุศลแล้วดับแล้ว เปลี่ยนไม่ได้เลย ศึกษาธรรมะเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ประโยชน์ที่สุดคือ ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ไม่ใช่เรา ได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก ความลึกซึ้งของธรรมะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปแล้วก็จำชื่อ จำเรื่อง แต่ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้!! เป็นอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่า?

เช่น "จิต" เป็นอกุศลก็มี จิตเกิดขึ้น ประพฤติเป็นไป เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น "ศีล" คือ ปกติของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น เป็นไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็สามารถที่จะเข้าใจข้อความนี้และข้อความอื่น โดยที่ว่าสอดคล้องกันทั้งหมด การศึกษาธรรมะ ขอให้เข้าใจจริงๆ เดี๋ยวนี้ ในสิ่งที่กำลังมี!!

ขณะนี้ มีศีลไหม? ถ้ามีจิต เจตสิก ก็ต้องมีศีล มีจิตโดยไม่มีเจตสิกได้ไหม? ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศลศีล ก็เมื่อจิตเป็นกุศล จะเป็นอกุศลศีล ก็เมื่อจิตเป็นอกุศล เมื่อดับกิเลสหมดแล้ว ไม่เหลือ และขณะนั้นดับกิเลสแล้ว จึงไม่เป็นกุศลและอกุศล เป็นอัพยากตศีล นี่คือความลึกซึ้งของธรรมะ ซึ่งถ้าใครจะอ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเอง แล้วก็ไม่มีพื้นฐานการเข้าใจอย่างละเอียดมาก่อน ก็จะได้ความเข้าใจเพียงตื้นๆ แต่ให้ทราบว่า ลึกกว่านั้นก็คือว่า เดี๋ยวนี้ กำลังเป็นอย่างนี้!!!

อ.ธิดารัตน์ ไม่ว่าจะเป็นศีลโดยนัยไหน หมายถึงความเป็นปกติ และถ้ากล่าวถึงการที่จะเว้นทุจริตกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องเป็นกุศลทั้งนั้น ขณะที่กุศลเกิดเท่านั้น ถึงจะมีการเว้นทุจริตกรรมได้ และที่ยากก็คือ เว้นอกุศลที่เกิดทางใจค่ะ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ที่สำคัญที่สุด ก็คือ รู้ว่า ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะกาย วาจา ต้องถึง "ใจ" ด้วย ที่ควรที่จะชำระล้างจิต ให้สะอาดจากอกุศลและการยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา มานานแสนนานแล้ว ไม่อย่างนั้น เราก็ละเลย คิดว่าพอแล้ว เรามีศีลทางกาย ครบถ้วน แล้วก็มีศีลทางวาจาครบถ้วน ลืมว่า แล้ว "ใจ" ล่ะ? ยังเต็มไปด้วยอกุศล

เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องเข้าใจถูกต้องว่า ฟังธรรมะเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีแล้วไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้ มีแต่ชื่อ!! บางคนก็พยายามคิดว่า ถ้ารู้มากๆ ขัดเกลาโดยการไปอ่านแล้วก็จำไว้ ว่าศีลมีอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ แล้วก็เป็นการขัดเกลาตัวเอง ไม่ใช่เลย!!! ขณะนั้น เป็นตัวตนที่กำลังอ่าน กำลังอาจจะติดข้อง ต้องการที่จะรู้มากขึ้น อยากที่จะจำได้ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะนั้น เป็นธรรมะ!!!

เพราะฉะนั้น ธรรมะ ไม่ใช่ไปจำเรื่อง ในพระไตรปิฎก กล่าวข้อความทั้งหมดเป็นสูตรๆ แต่ว่า แต่ละคำ ต้องเข้าใจว่า หมายความถึง สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ แล้วไม่เคยรู้เลย!!! แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเราด้วย!!!

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ ถ้าหากว่า ไม่ได้มีความเข้าใจหรือว่ามีการศึกษาจริงๆ แม้การที่เว้นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ก็เป็นตัวตน เป็นเรา ที่เว้น

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ปกติศีล ไม่นำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาตามลำดับขั้น

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ ก็โยงเข้ามาถึงว่า ถ้ามีความเข้าใจถูก การเว้นอกุศลธรรมทั้งหลาย ถึงจะเป็นศีลบารมี ใช่ไหมคะ?

ท่านอาจารย์ รักษาศีลหรือว่ามีศีล เพื่ออะไร?

อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ก็ ละอกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์ แค่ละหรือ? หรือว่า เพราะเข้าใจถูกต้องว่า "ไม่ใช่เรา"

อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ศีลเพื่อความบริสุทธิ์ หรือ ปาริสุทธิศีล ๔ ความเข้าใจเกี่ยวกับศีลเพื่อความบริสุทธิ์ โดยสาระแล้ว คืออย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์ เพื่อรู้ว่า ศีลไม่ใช่เรา!! อยู่ดีๆ ศีลจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร? แค่ไม่ฆ่าสัตว์ บริสุทธิ์แล้วหรือ? เพียงแค่ขณะนั้น เป็นกุศลจิตที่เว้นการฆ่า

อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ศีล ก็คือ ปกติ ซึ่งก็มีความเป็นปกติของจิต เจตสิก อยู่สอง ก็คือ มีจิต เจตสิกที่ปกติแล้วเป็นอกุศล ก็เป็น อกุศลศีล กับ จิต เจตสิก ที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลศีล แต่ว่า ท่านก็ยังแสดงว่า กุศลศีล ที่เป็น "ปาริสุทธิศีล" ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องเข้าใจในความเป็นธรรมะ

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา ยังเป็น "เรา" ใช่ไหม ที่รักษาศีล? บริสุทธิ์ไหม?

อ.อรรณพ ยังไม่บริสุทธิ์จากการยึดถือว่าเป็นเรา

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น "ปาริสุทธิศีล" คือ ไม่ใช่ "ปกติศีล" แต่ปกติศีล ถ้าเข้าใจธรรมะถูกต้องตามความเป็นจริงด้วยสติสัมปชัญญะ ก็เป็นปาริสุทธิศีล ได้ แต่ทรงแสดงไว้ว่า ปาริสุทธิศีล ๔ ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิสสิตศีล ๔ อย่างนี้ เป็น "จตุปาริสุทธิศีล" แต่ยังไม่ใช่ "วิสุทธิศีล" ถึงแม้ว่าจะรักษาพระวินัยได้ครบถ้วนประการใดก็ตาม แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางที่จะเป็นวิสุทธิศีลได้ เพราะฉะนั้น สำหรับ วิสุทธิ ๗ มีอะไรบ้าง

อ.อรรณพ ศีลวิสุทธิ, จิตตวิสุทธิ, ทิฏฐิวิสุทธิ, กังขาวิตรณวิสุทธิ, มัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ, ปฏิปทาญาณทัสสนะวิสุทธิ, ญาณทัสสนะวิสุทธิ

ท่านอาจารย์ ศีลวิสุทธิ ไม่ใช่ปกติศีล ที่รักษากัน ศีล ๕ ศีล ๘ ซึ่งเข้าใจผิด คิดว่าต้องเริ่มต้น ด้วยการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ แต่ไม่ใช่เลย ต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้น เพียงแค่ ศีล ๕ ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

อ.อรรณพ ตรงนี้ดีมากเลยครับท่านอาจารย์ เพราะว่า จะเห็นระดับที่พระองค์ท่านทรงแสดงพระธรรมเทศนา เพื่อความวิสุทธิจริงๆ เพราะฉะนั้น ศีลวิสุทธิ ก็ต้องเป็นปัญญา ที่ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมะ เป็นสติปัฏฐาน

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า "วิสุทธิ" โดยไม่มีปัญญาไม่ได้เลย ต้องเป็นการเข้าใจธรรมะ อบรมเจริญปัญญา จนถึงขั้นที่สามารถ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมะ

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ ท่านก็ได้อธิบายว่า ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นมูลหรือว่าเป็นเบื้องต้น ที่จะทำให้ถึง ทิฎฐิวิสุทธิ อย่างนี้ หมายความว่าก่อนที่ นามรูปปริจเฉทญาณ จะเกิด ก็ต้องมี ศีลวิสุทธิ แล้ว

ท่านอาจารย์ ค่ะ สติ เป็นศีลหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ เป็นค่ะ

ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน เป็นศีลหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ เป็นค่ะ

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสติปัฏฐาน ศีลนั้นจะเป็นศีลวิสุทธิ ได้ไหม? วิสุทธิ จากการที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา จนกว่าจะถึง ทิฏฐิวิสุทธิ

อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่า การที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้น ศีลก็เป็นอธิศีล จิตก็เป็นอธิจิต ปัญญาก็เริ่มเป็นอธิปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้น หมายถึงว่า ศีลที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์ก็เป็นศีลวิสุทธิ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่อธิศีลสิกขา ไม่ใช่อธิจิตสิกขา ไม่ใช่อธิปัญญาสิกขา เพราะว่า การเพียงฟัง ก็เป็นปัญญา แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ยิ่งเห็นในความละเอียดว่า ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ชาวพุทธก็คิดว่า ศีลก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ เท่านั้น แล้วก็คิดว่า นี่คือพุทธศาสนา

ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้แล้วก็ไม่ศึกษาพระธรรม คิดเอง!! จะถูกต้องได้อย่างไร? ใช่ไหม? เช่น คิดว่า ต้อง "สมาทานศีล" ด้วย โดยไม่รู้ว่า สมาทานคืออะไร? และ ศีลคืออะไร? ก็ไปนั่งสมาทาน สมาทานเสร็จก็ล่วงศีลทันที เพราะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อย่าง สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ไม่ได้บังคับใคร แต่ผู้นั้นมี "เจตนาเว้น" ด้วยตนเอง แต่พอไม่รู้ ก็ไปรับศีล ๕ พอจบแล้วก็ดื่มสุรา เพราะไม่รู้ ไม่ใช่เจตนาที่จะวิรัติ

อ.อรรณพ แต่พอได้ศึกษาพระธรรม ก็ยิ่งเห็นละเอียด แม้ "ศีล" เพียงแค่คำเดียว แต่ก็มีความละเอียด ลึกซึ้ง และแม้ท่านจะแสดงลำดับของปัญญาไว้ ท่านก็ยังแสดง "วิสุทธิ" ไว้อีกครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ ก็เลยสมาทานศีล ไม่มีใครไม่ได้ ต้องไปขอ ขอจากใครก็ไม่รู้ ขอแล้ว ทำอะไรก็ไม่รู้ แค่พูดตาม!! อย่างนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่รู้แล้วก็สมาทานศีล กับ ศีล-ปกติ แล้วก็รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล เป็น อินทริย์สังวรศีล ๑ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าจะถึง ศีลวิสุทธิ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peem
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wirat.k
วันที่ 24 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
intra
วันที่ 24 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 24 ก.ค. 2559

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 24 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Noparat
วันที่ 24 ก.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 24 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jirat wen
วันที่ 25 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
j.jim
วันที่ 25 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 25 ก.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
tuijin
วันที่ 26 ก.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Boonyavee
วันที่ 27 ก.ค. 2559
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
wannee.s
วันที่ 30 ก.ค. 2559

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ