ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้

 
เมตตา
วันที่  30 ม.ค. 2558
หมายเลข  26116
อ่าน  2,182

[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖- หน้าที่ 12

[๑๘๐] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศกและความรำพัน อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว

[๑๘๑] คำว่า เอวํวิหารี ในอุเทศว่า " เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต " ดังนี้ ความว่า ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งความยินดี ความพัวพัน วิญญาณอันสหรคต ด้วยอภิสังขาร กรรมภพและภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ คำว่า สโต ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติ เจริญสติปัฏฐาน เครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีสติ คำว่า อปฺปมตฺโต ความว่า ภิกษุเป็นผู้ทำด้วยความเต็มใจ คือ ทำเนืองๆ ทำไม่หยุด มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระ ไม่ประมาทในกุศลธรรม คือ ความพอใจ ความพยายาม ความหมั่น ความเป็นผู้มีความหมั่น ความไม่ถอยหลัง สติ สัมปชัญญะ ความเพียรให้กิเลสร้อนทั่ว ความเพียรชอบ ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใดในกุศลธรรมนั้นว่า ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือพึงอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... มื่อไร เราพึงบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์สมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุตติขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ความพอใจเป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม ความพอใจ ความพยายาม ... ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใด ในกุศลธรรมนั้นว่า ... เมื่อไร เราพึงกำหนดทุกข์ที่ยังไม่กำหนดรู้ เราพึงละกิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้ละ เราพึงเจริญมรรคที่ยังไม่เจริญ หรือเราพึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ความพอใจเป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีสติไม่ประมาท

[๑๘๒] ภิกษุเป็นกัลยาณปุถุชนก็ดี ภิกษุเป็นพระเสขะก็ดี ชื่อว่าภิกษุ ในอุเทศว่า " ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ " ดังนี้ คำว่า จรํ ความว่า เที่ยวไป คือเที่ยวไป ... เยียวยา

ความยึดถือว่าของเรามี ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหาฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเรา ละความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา สละคืนความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ละ สละบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... ละแล้วซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลายเที่ยวไป

[๑๘๓] ความเกิด ความเกิดพร้อม ... ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชาติ ในอุเทศว่า " ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเมว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกขํ " ดังนี้

ความแก่ ความเสื่อม ... ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่า ชรา ความโศก กิริยาที่โศก ... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ความโศก. ความร้องไห้ ความรำพัน ... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ปริเทวะ คำว่า อิธ ความว่า ในทิฏฐินี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้ คำว่า วิทฺวา ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความแจ่มแจ้ง เป็นนักปราชญ์ ชาติทุกข์ ฯลฯ ทุกข์คือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ชื่อว่า ทุกข์. คำว่า ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเธว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกฺขํ ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความแจ่มแจ้งเป็นปราชญ์ พึงละ คือ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งชาติ ชรา ความโศกและความร่ำไรในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้รู้แจ้งพึงละชาติ ชรา ความโศก และความร่ำไรอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเรา แล้วเที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศก และความรำพันอันเป็นทุกข์ ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ