สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ หมายความว่าอย่างไรครับ

 
papon
วันที่  22 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24220
อ่าน  44,314

สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ หมายความว่าอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การจะดับกิเลสได้ ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง ดังนั้น การรู้ความจริงในอริยสัจ ๔ ก็เป็นปัญญาเช่นกัน การถึงการดับกิเลสได้ ก็ต้องเป็นปัญญา เข้าใจอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง แจ่มแจ้ง ซึ่งปัญญา ในการรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง มี ๓ ซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก คือ สัจจญาณ กิจญาณ และ กตญาณ

สัจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงในอริยสัจ ๔ เช่น รู้ว่านี้ทุกข์ รู้ด้วยปัญญา ด้วยความมั่นคงว่า ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงความปวดเมื่อยเท่านั้น แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เกิดขึ้นและดับไป ปัญญาที่รู้ความจริงในความเป็นทุกข์อริยสัจ เป็นสัจจญาณ แต่สัจจญาณจะมีได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม จนปัญญามั่นคง เห็นถูกว่า สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เองที่เป็นทุกข์ นี่คือสัจจญาณในทุกขอริยสัจ และปัญญาที่รู้ความจริงในสมุทัยสัจจะ ว่าเป็นอย่างนี้ คือ รู้ตัณหา โลภะ ตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้ โดยสัจจะอื่นๆ ก็โดยนัยเดียว คือรู้ในพระนิพพานในขั้นการฟัง ตามความเป็นจริงและรู้ในหนทางดับทุกข์ คือ อริยมรรค ตามความเป็นจริงครับ นี่คือสัจจญาณ ปัญญา ในอริยสัจ ๔ ซึ่งสัจจญาณก็มีหลายระดับ ตามระดับปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

สัจจญาณ

กิจญาณ คือ ปัญญาที่รู้หน้าที่ กิจที่ควรทำในอริยสัจ 4 เช่น ปัญญาที่รู้ว่าทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ รู้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ควรกำหนดรู้ รู้ด้วยปัญญา ที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใชเรา ดั้งนั้น จึงไม่มีเราที่ไปกำหนดรู้ แต่เป็นหน้าที่ของปัญญาว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือ ปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมและปัญญาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณ เป็นต้น เป็นกิจญาณในทุกขอริยสัจ

ปัญญาที่รู้กิจหน้าที่ใน สมุทัยสัจจะ ว่า โลภะ เป็นสิ่งที่ควรละ ด้วยปัญญาระดับสูง เป็นกิจญานในสมุทัยสัจจะ ปัญญาที่รู้ความจริงในนิโรธสัจจะ คือ รู้ความจริงว่าควรทำให้แจ้ง ให้ถึงพระนิพพาน ด้วยปัญญาระดับสูง เป็นกิจญานในนิโรธสัจจะ

ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า หนทางในการดับกิเลส คือ สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรค ควรเจริญ ควรอบรมให้มาก ปัญญารู้เช่นนี้ เป็นกิจญาณในอริยสัจข้อสุดท้ายที่เป็นหนทางดับกิเลสครับนั่นคือ มรรคอริยสัจจะ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

กิจญาณ

กตญาณ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งในกิจ ที่ได้ทำแล้วในอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง อันหมายถึงการบรรลุธรรม ดับกิเลสได้นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่..

กตญาณ

ดังนั้นปัญญา 3 ระดับ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ ในอริยสัจ 4 จึงหมายถึง การวนรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ปัญญาที่ สัจจญาณ รู้ในอริยสัจ 4 ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (สัจจญาณ x อริยสัจ 4 = 4) กิจญาณ ปัญญาที่รู้ในอริยสัจ 4 (กิจญาณ x อริยสัจ 4 = 4) กตญาณ ปัญญาที่รู้ในอริยสัจ 4 (กตญาณ x อริยสัจ 4 = 4) ปัญญา 3 อย่าง 3 รอบ (สัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ) ในแต่ละอริยสัจ ในอริยสัจ 4 จึงเป็นอาการ 12 ครับ การรู้แจ้งอริยสัจจ์มีญาณวน ๓ รอบ อาการ ๑๒ คือ

รู้ทุกขอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้สมุทัยอริสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้นิโรธอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้มรรคอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

แต่ละสัจจะมีวน ๓ รอบ สัจจทั้งหมดมี ๔ จึงมีอาการ ๑๒

การจะถึงปัญญา ๓ ระดับตามที่กล่าวมาในอริยสัจ ๔ นั้น ที่สำคัญต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากขั้นการฟัง ว่าขณะนี้เป็นธรรม การรู้ความจริงก็ต้องรู้ขณะนี้ ขณะนั้นกำลังอบรมสัจจญาณ ความมั่นคงในการู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นทุกขอริยสัจ ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องของชื่อปัญญา เพียงแต่อบรมเหตุคือการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ธรรมจะทำหน้าที่ ปัญญาเจริญขึ้น สัจจญาณก็เจริญขึ้นตามลำดับ และย่อมทำให้ถึงปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมด้วยการประจักษ์แจ้งความเป็นนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นกิจญาณและถึงการดับกิเลส บรรลุธรรมอันเป็นกตญาณได้ครับ ซึ่งก็ไม่พ้นจากการรู้ความจริงในขณะนี้เลยครับ

พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก ท่านก็รู้ความจริงในขณะนี้ อันเป็นการเจริญสัจจญาณ กิจญาณและกตญาณตามความเป็นจริง จนได้บรรลุธรรมนั่นเองครับ แต่สำคัญ คือ อบรมเหตุคือฟังพระธรรม หากทำอย่างอื่น จะปฏิบัติ และจะไปหาธรรม นั่นก็เท่ากับว่า ขาดความเข้าใจเบื้องต้น และไม่ใช่สัจจญาณ เมื่อไม่มีสัจจญาณแล้ว ก็ไม่มีทางถึงการู้ความจริงและการดับกิเลสที่เป็นกิจญาณและกตญาณได้เลยครับ

ขออนุโมทนาที่สนทนาเพื่อความเข้าใจครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์ สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ อยากถามที่ท่านอาจารย์พูดว่า ถ้าสัจญาณไม่มี กิจญาณก็มีไม่ได้ อยากจะถามว่า สัจญาณหมายความว่าอะไร

ท่านอาจารย์ อริยสัจมี ๔ แต่มี ๓ รอบ เป็นอาการ ๑๒ ของอริยสัจ ๓ รอบ ก็คือ สัจญาณ ๑ กิจญาณ ๑ กตญาณ ๑ ในอริยสัจทั้ง ๔ เข้าใจหรือยังคะ

ผู้ฟัง เข้าใจชื่อ

ท่านอาจารย์ เข้าใจชื่อนะคะ สัจญาณในอริยสัจ ๔ กิจญาณในอริยสัจ ๔ กตญาณในอริยสัจ ๔ รวมเป็น ๑๒ ซึ่งถ้าเราคิดถึงอริยสัจ ๔ เท่านั้น แล้วไม่รู้เรื่องสัจญาณ กิจญาณ กตญาณ เราหลงทาง คือ การที่จะหลงทางไม่ยาก ถ้าศึกษาไม่ละเอียด และประมาทและไม่รอบคอบ เราจะหลงทางง่ายที่สุด เพราะทุกคนคิดว่า อริยสัจ ๔ นี่ไม่ยาก ทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวก็รู้ นี่คือไม่รู้เรื่องของอาการ ๑๒ คือ ขั้นแรกต้องมีสัจญาณ มีความเข้าใจในสัจจะ ๔ อย่างมั่นคงว่า ขณะนี้ทุกขสัจ คือ เดี๋ยวนี้ที่เห็น เดี๋ยวนี้ที่ได้ยิน ทุกขณะเกิดขึ้นแล้วดับไป

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้อริยสัจจะที่ ๑ คือ สามารถรู้ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ไม่ใช่รู้อื่นเลย ขณะนี้อะไรที่ไม่ปรากฏ คุณกิมรสรู้ได้ไหมคะ อะไรที่ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว คุณกิมรสรู้ได้ไหม

ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วก็ดับทันที เร็วมาก แต่ปัญญาก็ยังสามารถที่จะรู้ ถ้ามีความเข้าใจถูกที่จะอบรมโดยสติปัฏฐาน ไม่มีหนทางอื่นค่ะ มีหนทางเดียว

เพราะฉะนั้น เราบังคับให้สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ นี่คือความเข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา เราทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎกไม่ได้เลย ต้องประกอบกัน ขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้น ก็คือไม่เกิด ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว แต่การฟังแล้วมีความเข้าใจที่มั่นคงเพิ่มขึ้น จะทำให้สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร ใครบอกได้คะ รู้อารมณ์อะไร ใครบอกได้ ก็บอกไม่ได้เลย แสดงความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้นจนตลอด

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า ขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เราเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้วเรารู้ว่า สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นสัมปชัญญะอย่างไร แค่ไหน เราก็จะไม่ไปทำสมาธิ เพราะว่า ๒ อย่างนี่ใกล้กันมาก เพราะว่าเกิดร่วมกัน ต้องสามารถที่จะรู้สติสัมปชัญญะ คือ ปกติอย่างไร แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วเราก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะ อันนี้ก็เป็นสัจญาณ

และเวลาที่สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร นั่นคือกิจญาณ และเวลาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเป็นวิปัสสนาญาณจนถึงที่สุด คือ เป็นพระอริยบุคคล นั่นคือกตญาณ

ผู้ฟัง การคิดที่ถูกต้องเป็นสัจญาณ ใช่ไหมคะ ที่มั่นคง สติปัฏฐานเป็นทางเดียว เป็นสัจญาณด้วย ไม่ใช่ชื่อ

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จำชื่อ แล้วก็บอกว่า อันนี้เป็นอริยสัจ

ผู้ฟัง แต่เราได้ยินเสมอตรงลักษณะอย่างไร โดยฟัง

ท่านอาจารย์ เข้าใจว่ามีลักษณะอย่างนั้น และเวลาที่สติปัฏฐานระลึก ก็คือลักษณะตรงกับที่ได้เรียน

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อยากขอความกระจ่างเรื่อง สัจญาณ กิจญาณ และ กตญาณ ครับ

รอบ 3 อาการ 12 ขอคำตอบที่ชัดเจนและรอบคอบ ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

สัจจญาณไม่ใช่เฉพาะปริยัติ

ข้อความในพระไตรปิฎก เกี่ยวกับเรื่อง รอบ 3 และอาการ 12 ครับ

เชิญคลิก

ญาณทัสสนะมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

สัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ ๓ รอบ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ญาณ หมายถึง ปัญญาความเข้าใจถูก เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เหตุสำคัญที่จะให้ความเข้าใจถูกเจริญขึ้น คือ การฟังพระธรรม ถ้าไม่ฟังพระธรรมแล้ว จะเอาความเข้าใจถูกเห็นถูกมาจากที่ไหน เพราะขึ้นชื่อว่าสาวกแล้ว จะต้องได้ฟังพระธรรม ศึกษาในสิ่งที่มีจริง

เพราะฉะนั้น แล้วจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่เบื้องต้นจริงๆ มั่นคงในความเป็นจริง ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะสิ่งที่มีจริงนั้นไม่พ้นจากขณะนี้เลย ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม จะต้องอาศัยการฟังการศึกษา ฟังในสิ่งที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นสัจจญาณ เมื่อไม่มีปัญญาในขั้นนี้แล้ว การที่จะไปถึงปัญญาขั้นต่อไปที่เป็นการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม และ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะมีไม่ได้ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ เป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

สัจจญาณ คือ สัญญาความจำที่มั่นคงในขั้นการฟัง ว่าธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม และ รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 16 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 19 ม.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
sumek
วันที่ 17 พ.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
มกร
วันที่ 21 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
s_sophon
วันที่ 24 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มังกรทอง
วันที่ 24 พ.ค. 2564

ความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม เป็นสัจจญาณ (สัจจญาณจะมีได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม) น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ก.ไก่
วันที่ 12 มี.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 17 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
jank
วันที่ 6 ม.ค. 2567

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ