ระหว่างการให้ธรรมเป็นทานกับอภัยทาน ธรรมใดมีอานิสงส์มากกว่ากันครับ

 
jerdGSD
วันที่  9 ก.ค. 2555
หมายเลข  21379
อ่าน  12,356

ขอเรียนถาม ระหว่างการให้ธรรมเป็นทาน กับ อภัยทาน ทานแบบไหนมีอนิสงส์มากกว่ากันครับ เพราะอะไรครับผม กรุณาอธิบายให้ละเอียดด้วยนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทาน คือ การให้ อันเป็นเจตนาสละ สิ่งใด สิ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นการสละ ที่เป็นวัตถุรูปธรรม และเป็นการสละ ให้ สิ่งที่เป็นามธรรม มีการให้ ปัญญา ความเข้าใจ เป็นต้น

ทาน แบ่งเป็น ๓ อย่างดังนี้ คือ อามิสทาน อภัยทาน และ ธรรมทาน

อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นที่รับ ด้วยเจตนาในการสละ ให้ด้วยจิตที่เป็นกุศล จึงเป็นการสละ สิ่งที่มีอยู่ เป็นวัตถุภายนอก

อภัยทาน ภัย คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความน่ากลัว อภัย คือ ความไม่มีภัย ความไม่มีความน่ากลัว ไม่นำมาซึ่งสิ่งไม่ดี ดังนั้น อภัยทาน จึงเป็นการให้ความไม่มีภัย คือ ให้ความไม่น่ากลัว ให้ความไม่มีโทษ ดังนั้น การให้อภัย อภัยทาน จึงเป็นการให้ที่ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่ เป็นการให้ที่เกิดจากกุศลจิตของผู้ให้ เมื่อเกิดกุศลจิต ที่จะงดเว้นจากบาป มีการไม่ฆ่า เป็นต้น ขณะนั้น ก็ให้ความไม่มีภัย ให้ความไม่น่ากลัว กับสัตว์อื่น ทำให้สัตว์อื่นปลอดภัยจากการกระทำของตนเองที่เกิดจากกุศลจิต กุศลขั้นศีล ๕ เป็นต้น ที่เป็นการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ก็ชื่อว่า อภัยทาน

อภัยทาน อีกนัยหนึ่ง คือ ความไม่โกรธผู้อื่น เมื่อได้รับสิ่งที่กระทบทางตา หู ... กาย อันสมมติว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น เมื่อไม่โกรธ ก็ให้ความไม่มีภัย กับผู้นั้น เพราะ ภัย สิ่งที่น่ากลัว มาจากกิเลส หากไม่มีกิเลส ก็จะไม่นำมาซึ่งความน่ากลัว การกระทำที่ไม่ดี ไม่ได้เลย ครับ เมื่อไม่โกรธ ก็ให้อภัย คือ ไม่มีภัย กับผู้อื่นในขณะนั้น เพราะไม่มีการกระทำทางกายที่ไม่ดี ไม่มีการกระทำทางวาจาที่ไม่ดี อันมีเหตุมาจากความโกรธ ที่เป็นภัย

อภัยทาน จึงสูงกว่า มีอานิสงส์มากกว่า อามิสทาน เพราะอภัยทาน เป็นการให้ ที่สละยากกว่า เพราะ เกิดจากกุศลจิตขั้นศีล ที่งดเว้นจากบาป ไม่ใช่ เป็นการสละวัตถุภายนอก ที่เป็นรูปธรรม อันเป็นอามิสทาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2555

ธรรมทาน คือ การแสดงธรรมที่ถูกต้อง แก่ผู้อื่น ทั้งในธรรมเบื้องต้น และ จนถึงธรรมที่สูงสุด มีการเจริญอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส เป็นต้น อันไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่ ด้วยความอนุเคราะห์กับผู้อื่นเท่านั้น

ธรรมทาน จึงเป็นการให้ ปัญญา ให้ความเข้าใจพระธรรม กับผู้อื่น เป็นการให้ที่ประเสริฐสูงสุด เพราะว่า อามิสทาน ก็เป็นเพียงการให้ความสุขเพียงโลกนี้ ที่จะสามารถให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีการให้อาหาร เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้น มีความเข้าใจถูกว่า การจะได้มาด้วยสิ่งนั้นจะต้องทำกุศล และ ความทุกข์ที่เกิดขึ้น มาจากกิเลส ส่วนอภัยทาน ก็เป็นการให้ความไม่มีภัยกับบุคคลนั้น เพราะ อาศัยการกระทำที่ดีทางกาย วาจาของเรา จึงไม่มีภัยกับบุคคลนั้น แต่ผู้นั้น ก็ยังจะต้องได้รับทุกข์ภัยจากผู้อื่น และที่สำคัญ ก็ต้องได้รับภัย คือ กิเลส และอภัยทานก็ไม่สามารถทำให้ผู้นั้นพ้นภัยที่แท้จริงได้ ยังจะต้องเกิด ตาย เพราะมีกิเลส คือ ภัยที่แท้จริง เป็นต้นเหตุ ครับ

ส่วน ธรรมทาน ชื่อว่าเลิศที่สุดในบรรดาทานทั้งหลาย เพราะ เป็นการให้ความเข้าใจพระธรรม คือ ให้สิ่งที่เลิศที่สุด คือ ปัญญา และให้กุศลธรรมอื่นๆ ที่เกิดจากการมีปัญญาเป็นปัจจัย เมื่อปัญญาเกิดขึ้น รู้สิ่งที่ดี ไม่ดี สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ย่อมทำให้มีการให้อามิสทานมากขึ้น มีการเจริญขึ้นของกุศลประการต่างๆ รวมทั้ง ให้อภัยได้มากขึ้น เพราะ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เพราะ อาศัยการฟังพระธรรม ก็ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังพระธรรมปัญญาเจริญขึ้น ก็มีการให้อภัยมากขึ้นด้วย หากไม่มีความเข้าใจธรรมแล้ว กุศลประการต่างๆ ทั้งอามิสทาน และ อภัยทาน ย่อมไม่เจริญมากขึ้นเลย ครับ

ที่สำคัญที่สุด เพราะอาศัยปัญญา ก็สามารถที่จะละภัยที่แท้จริง คือ กิเลส และ สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะ อาศัย การฟังพระธรรม ที่เป็นธรรมทานจากผู้อื่น ธรรมทานจึงเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย และ มีอานิสงส์มากกว่าอภัยทานและอามิสทาน เพราะ ธรรมทาน ทำให้ผู้ฟัง ได้ปัญญา และทำให้สละสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็นกิเลส และ ดับทุกข์ได้ทั้งหมดในอนาคต ครับ

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมทานเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย ครับ

อีกนัยหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ นั้น แบ่งเป็น บุญขั้นทาน ศีล และภาวนา

อามิสทาน จัดอยู่ในกุศลขั้นทาน

อภัยทาน จัดอยู่ในกุศลขั้นศีล

และ การแสดงธรรม (ธรรมทาน) ที่เป็น ธัมมเทสนามัย เป็นกุศลขั้นภาวนา ซึ่ง กุศลขั้นภาวนา สูงกว่า กุศลขั้นทาน และ ศีล ครับ

การแสดงธรรมที่เป็นธรรมทาน เป็นเลิศกว่าทานทั้งหลายด้วยนัยนี้ ที่เป็นกุศลที่มีกำลังกว่า และ ที่สำคัญ ผู้ที่แสดงธรรมได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีปัญญา ความเข้าใจธรรม การมีปัญญา เข้าใจธรรมในขณะที่แสดง ก็เป็นกุศลที่มีกำลังกว่ากุศลขั้นอามิสทาน และ อภัยทาน เพราะ มีปัญญา เข้าใจธรรมในขณะนั้น

ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง

รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง

ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง

ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง [คาถาธรรมบท]

อภัยทานและธรรมทาน [จริยาปิฎก]

ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง

อภัยทาน [ปฐมสัปปุริสสูตร]

อภัยทาน

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jerdGSD
วันที่ 9 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

ขอบพระคุณครับ ... ที่อธิบายให้ผมเข้าใจ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก พระธรรมแต่ละคำก็เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งนั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง

ถ้าจะว่าไปแล้ว ทั้งอภัยทาน และ ธรรมทาน ก็ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย

อภัยทาน หมายถึงการให้ซึ่งความไม่มีภัยแก่ผู้อื่น เป็นการงดเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต เป็นต้น เป็นการให้ความไม่มีภัยซึ่งก็คือเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น และ ยังหมายถึงความไม่โกรธตอบเมื่อบุคคลอื่นกระทำสิ่งที่ไม่สมควรให้แก่ตน

ถ้าจะเข้าใจโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน การให้อภัย คือ ไม่โกรธ ถ้ายังโกรธผู้อื่นอยู่ แสดงว่ายังไม่ให้อภัย เพราะขณะนั้นถูกภัยคือความโกรธทำร้าย ทำให้ขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถ้าสะสมต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำร้ายทำลายทุกอย่าง อย่างที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นถึงอย่างนั้นไปได้ เพราะในขณะนั้นโกรธ ผูกโกรธ และไม่ลืมที่จะโกรธ แต่ถ้าเป็นการให้อภัยแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ไม่โกรธ ไม่เป็นภัยในขณะนั้น และไม่ทำให้ภัยเกิดขึ้นจากการที่ไม่โกรธ ด้วย

อภัยทาน จึงเป็นธรรมที่ควรน้อมประพฤติปฏิบัติจริงๆ เพราะขณะที่โกรธ ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ถ้าให้อภัย ก็เบาสบายไม่หนักด้วยอกุศล

ส่วน ธรรมทาน เป็น การให้ธรรม การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรม

กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะธรรมทาน บุคคลผู้ให้ธรรมทานอย่างยิ่ง โดยไม่มีใครเสมอเหมือน คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

การให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการให้ชีวิต ให้เป็นชีวิตที่ประเสริฐด้วยความดีและความเข้าใจธรรม ให้ความเบิกบาน เบิกบานที่ได้เข้าใจความจริง ให้ยารักษาโรค (โรคคือกิเลส) ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกโรคทุกกาล เป็นเสมือนการปล่อยสัตว์ออกจากกรง (กรงใหญ่ คือ สังสารวัฏฏ์ กรงของความทุกข์ ความไม่รู้ และความเห็นผิดรวมไปถึงกิเลสทั้งหลาย) .

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑

ถ้าหากจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมเผยแพร่พระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ตรงตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนาธรรม แสดงธรรม ถามตอบปัญหาธรรม การสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปในธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมทาน สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
saree
วันที่ 9 ก.ค. 2555

และถ้าตนเองเข้าใจธรรมะผิด แต่เข้าใจว่าตัวเราเข้าใจถูก และพยายามให้ธรรมะ เป็นทานด้วยจิตเป็นกุศลละครับ จะได้รับผลอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ขณะที่หวังดี อยากให้คนอื่นเข้าใจถูก เป็นขณะจิตหนึ่ง แต่ ขณะที่กล่าวในสิ่งที่ผิด เพราะตนเองเห็นผิด ขณะนั้นเป็นอกุศลที่เป็นความเห็นผิดที่ล่วงออกมาทางวาจา เป็นโทษ เป็นอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ คือ ตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ก็ยังกล่าว ชักชวนในทางที่ผิด ให้ผู้อื่นเห็นผิดตามด้วย มีโทษมาก และ บาปมาก ครับ นี่คือ โทษของความไม่รู้ ไม่รู้ว่าตนเองเห็นผิด แต่สำคัญว่าเห็นถูก จึงแนะนำสิ่งที่ผิด ให้กับคนอื่น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 558

อสัตบุรุษยิ่งกว่าอัสตบุรุษ เป็นไฉน? บุคคลบางคนเป็นผู้มีความเห็นผิด ฯลฯ มีวิมุตติผิดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ.

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

อาจารย์สอนผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
saree
วันที่ 9 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6

ขอขอบคุณมากครับที่ให้คำตอบ

ถามต่อครับ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราคิดผิด หรือคิดถูก หรือเพียงเทียบตามตำรา และตามตำราจะถูกหรือผิด สมมติว่าตำราถูก เราตีความหมายตามความรู้สึกเราไม่ใช่ว่าจะถูกแต่ฝ่ายเดียว อย่างนี้จะหาที่สุดได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ขัดแย้งกัน ผู้ที่สะสมความเห็นผิด ก็จะคล้อยไปตามควาเมห็นผิด แม้อ่านพระธรรมที่พระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว

ผู้ที่สะสมความเห็นถูกมา เมื่อได้อ่านพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คล้อย เข้าใจไปในทางเห็นถูก ครับ

ดังนั้น โลกนี้ จึงมี ความเห็นถูก และ ความเห็นผิด ไม่สามารถบังคับใครได้เลย เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่สะสมมา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

มหาประเทศ ๔ [มหาปเทสสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
saree
วันที่ 9 ก.ค. 2555

ถามต่อนะครับ

๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ทั้ง ๓ ปิฎกของเราถูกเปลี่ยนแปลงมาตั้งเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ยากที่เราชนรุ่นหลังจะทราบได้ มีการศึกษาทั้ง ๓ ปิฎก ประเทศพม่าที่ได้ชื่อว่ามีผู้ทรงปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกได้อยู่ประเทศเดียวถึง ๑๓ รูป ประเทศอื่นไม่มีแม้แต่ประเทศไทยเราก็ไม่มี และ ยิ่งพูดถึงการปฏิบัติด้วยแล้ว ถกเที่ยงกันไม่มีวันจบ นักปริยัติบางที่ไม่นิยมนั่งสมาธิ นักปริยัติบางท่านก็นิยมนั่งสมาธิไปด้วย ศึกษามาจากตำราเดียวกันยังตีความหมายไม่เหมือนกัน เราจะทำอย่างไรดี กับชีวิตการศึกษาพระธรรมของพระพุทธองค์ เราควรจะยึดตามแนวทางของเราเอง หรือควรจะเปิดโอกาสให้ราได้ศึกษาธรรมมะหลายๆ สถานที่ดีครับ เพื่อเป็นการเทียบเคียงกับสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ครับ แล้วเมื่อเราเทียบเคียงกับหลายๆ ที่ ที่เขามีความแตกต่าง เราถึงสรุปดีมั้ยครับ ไม่ว่าจะนั่งหรือไม่นั่งสมาธิ ไม่ว่าคำสอนที่แตกต่างนั้น เพราะเราต่างคนต่างปรารถนาในเป้าหมายเดียวกัน นั้นคือความหลุดพ้น นี่คือความเห็นส่วนตัวผมนะครับ ท่านละครับมีความเห็นเป็นเช่นไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงทำให้มีทั้งผู้มีความเห็นถูก และ ความเห็นผิด คู่ไปกับโลก ตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การอบรมเจริญปัญญาขาดปริยัติไม่ได้ ไม่ใช่จะไปปฏิบัติเลย

มีชาวพุทธบางส่วนมักกล่าวว่าพระไตรปิฎกไม่ใช่พุทธพจน์ ๑๐๐%

พระสูตรนอกเหนือพระไตรปิฎก

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Graabphra
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณในธรรมทานจากท่านอาจารย์ และทุกท่านที่ร่วมสนทนา

ขอน้อมอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
หลานตาจอน
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 ก.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21379 ความคิดเห็นที่ 9 โดย saree

ถามต่อนะครับ 2500 กว่าปีแล้ว ทั้ง3ปิฎกของเราถูกเปลี่ยนแปลงมาตั้งเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ยากที่เราชนรุ่นหลังจะทราบได้ มีก่ารศึกษาทั้ง3ปิฎก ปรเทศพม่าที่ได้ชื่อว่ามีผู้ทรงปิฏกทั้ง3ปิฏกได้อยู่ประเทศเดียวถึง13รูป ประเทศอิ่นไม่มีแม้แต่ประเทศไทยเราก็ไม่มี และยิ่งพูดถึงการปฏิบัติด้วยแล้วถกเที่ยงกันไม่มีวันจบ นักปริยัติบางที่ไม่นิยมนั่งสมาธิ นักปริยัติบางท่านก็นิยมนั่งสมาธิไปด้วย ศึกษามาจากตำราเดียวกันยังตีความหมายไม่เหมือนกัน เราจะทำอย่างไรดี กับชีวิตการศึกษาพระธรรมของพระพุทธองค์ เราควรจะยึดตามแนวทางของเราเอง หรือควรจะเปิดโอกาศให้ราได้ศึกษาธรรมมะหลายๆ สถานที่ดีครับ เพื่อเป็นการเที่ยบเคียงกับสิ่งที่เราปฎิบัติอยู่ครับ แล้วเมื่อเราเทียบเคียงกับหลายๆ ที่ๆ เขามีความแตกต่าง เราถึงสรุปดีมั้ยครับ ไม่ว่าจะนั่งหรือไม่นั่งสมาธิ ไม่ว่าคำสอนที่แตกต่างนั้น เพราะเราต่างคนต่างปรารถนาในเป้าหมายเดียวกัน นั้นคือความหลุดพ้น นี่คือความเห็นส่วนตัวผมนะครับ ท่านละครับมีวามเห็นเป็นเช่นไรครับ

ใครก็ตามที่สอนให้ "เข้าใจความจริง"

คนๆ นั้นสอนธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สัจจธรรมมีจริง แม้ไม่เรียกชื่อ

และสัจจธรรมนี้เองปรากฏให้รู้ได้ทาง ... ทวารทั้ง ๖ ไม่มีทางอื่นนอกไปจากนี้

ไม่ว่าจะ นั่ง นอน ยืน เดิน

ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏให้ระลึกศึกษา

ทำไมต้องรอไปปฏิบัติหรือนั่งสมาธิเสียก่อนละค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้นให้เลวทรามยิ่งกว่า ความพินาศที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรกระทำ (ให้แก่กัน) นั้น (เสียอีก) "

"เพียงสิ่งที่ปรากฏ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป" ฟังพระธรรมไปศึกษาพระธรรมไป

"จนกว่าจะเข้าใจว่าทุกขณะเป็นธรรม ไม่ใช่เรา"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ตามพระไตรปิฎกที่แสดง การให้ธรรมทานสูงกว่าการให้ทั้งปวง แต่ก็อยู่กับคนที่ให้ธรรมะ มีคุณธรรมหรือไม่ เพราะปัจจุบันบางคนให้ธรรมะ แต่ไม่ให้อภัยทาน ยังผูกโกรธ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
jaturong
วันที่ 9 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 11 พ.ย. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ