เรียนถาม เราจะใช้ธรรมข้อไหนในชีวิตประจำวัน

 
jerdGSD
วันที่  10 ก.ค. 2555
หมายเลข  21384
อ่าน  1,436

ในเมื่อชีวิตต้องเกิดมาเพื่อรอวันจากโลกนี้ไป ...

การดำเนินชีวิตประจำวันมีการเอารัดเอาเปรียบการเห็นแก่ตัวเอง การนินทาว่าร้าย

การให้ร้ายกัน การปล้นฆ่าชิงทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน

ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ เมื่อเรารู้สึกเกิดความรู้สึกหดหู่

เราจะวางตัวกับสภาวะนั้นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามธรรมดาของปุถุชน ผู้ที่หนาไปด้วยกิเลส ย่อมหวั่นไหวไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะ ความที่กิเลสที่มีมาก ซึ่งโดยทั่วไป เรามักจะเห็นแต่กิเลสที่เป็นความหวั่นไหว ที่เป็นโทสะ ความไม่ชอบใจ ความขุ่นเคืองใจ ความหดหู่ใจ เมื่อประสบเหตุการณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของ อกุศลที่เป็นโทสะ

แต่ในความเป็นจริง กิเลส ไม่ว่าประเภทใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น ซึ่งกิเลสที่เกิดมาก เกิดบ่อยกว่าความหดหู่ใจ ไม่ชอบใจ ที่เป็นโทสะ ก็คือ โลภะ ความติดข้อง ยินดีพอใจ ที่มีในชีวิตประจำวัน เกิดง่ายและเร็วอย่างไม่รู้ตัว ขณะนั้น หวั่นไหวแล้ว จิตเศร้าหมองแล้วด้วยอกุศลธรรม เพียงเห็นสิ่งที่สวย อาหารที่ชอบ อยากดื่มน้ำ จะไปแปรงฟัน ก็ไม่พ้นจากความติดข้อง โลภะ ที่เกิดในชีวิตประจำวัน จะเห็นนะครับว่า ห้ามกิเลสไม่ได้เลย เกิดแล้ว อย่างรวดเร็ว เพราะกิเลสมีมาก และที่สำคัญและเป็นตัวร้ายที่สุด ที่ไม่เคยรู้เลย คือกิเลส คือ อวิชชา ความไม่รู้ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงทำให้หวั่นไหวไปในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ชอบ หดหู่ใจ และ ก็ชอบในสิ่งต่างๆ แม้ความชอบ ติดข้องก็ไม่ดีและก็เกิดแล้ว ด้วย เพราะ เหตุมาจาก อวิชชา ความไม่รู้เป็นสำคัญ ครับ

ดังนั้น กิเลสที่น่ากลัว และเราไม่เคยเห็นโทษ ส่วนมากจะไม่ชอบ โทสะ ที่ทำให้ไม่สบายใจ หดหู่ใจ แต่ กิเลสที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และ ก็ยินดีกับกิเลสนั้น คือ โลภะ ติดข้อง ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ไม่ได้เห็นโทษ และ ความไม่รู้ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เห็นโทษของความไม่รู้ ที่เป็นกิเลสที่เป็นเหตุให้กิเลสประการอื่นๆ เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น แทนที่จะวางใจ จะทำอย่างไร ก็ให้เข้าใจความจริงว่า การจะทำใจ วางใจไม่ให้เป็นอกุศล จะต้องมีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ปัญญา และให้เข้าใจความจริงว่า กิเลสสะสมมามาก นับชาติไม่ถ้วน การจะไม่ให้กิเลสเกิด ในสิ่งที่เห็น ได้ยิน ในเหตุการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งเหลือวิสัย เพราะ สะสมปัญญา ที่เป็นสภาพธรรมที่ละกิเลส สะสมมาน้อยมาก หากเทียบกับเหตุให้เกิดปัญญา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม กับ การเสพคุ้นกับสิ่งที่ไม่ใช่พระธรรม ในวันๆ หนึ่ง ในปีๆ หนึ่ง ในชาติๆ หนึ่ง ในสังสารวัฏฏ์เราเสพคุ้นอะไรมากกว่า เพราะฉะนั้น ปัญญายังน้อย กิเลสมีมาก จึงไม่สามารถห้ามกิเลสที่จะเกิดขึ้นได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ประโยชน์ที่สำคัญ คือ เข้าใจหนทางการละดับกิเลสที่ถูกต้องว่าจะต้องเป็นไปตามลำดับ กิเลสจะต้องละเป็นลำดับ ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ หนทางที่ถูก คือ ละกิเลสที่ยึดถือว่าเป็นเราที่มีกิเลส เพราะสำคัญว่ามีเราที่มีกิเลส จึงเดือดร้อนกับกิเลสที่เกิดขึ้น สำคัญว่าเป็นเราที่หดหู่ ก็เดือดร้อนกับความหดหู่ที่เกิดขึ้น ครับ

หนทางที่ถูกต้อง คือ ไม่ใช่การวางใจอย่างไร แต่อบรมเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ทีละน้อย นั่นคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น และค่อยๆ รู้ความจริงในขั้นการฟัง ว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป

เพราะฉะนั้น ทางลัด การจะให้ทำไม่มี เพราะ หนทางที่ดี คือ การอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม เป็นไปตามลำดับ ด้วยความยาวนาน เริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง ย่อมค่อยๆ ละ ดับกิเลสได้ แต่หากเริ่มที่เหตุไม่ถูกต้อง คือ ไม่ใช่ปัญญา แต่จะทำ ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ครับ เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูก คือ อบรมเหตุที่ถูกต้อง คือ การฟังพระธรรมที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ ปัญญาจะทำหน้าที่ให้เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ว่าทุกอย่างก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นไป และ เรื่องราวต่างๆ ที่มีได้ ก็เพราะอาศัยความคิดนึกของตนเองเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล

ดังนั้น พระธรรมทุกบท ไม่ว่าพระธรรมบทใด ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา และ ละคลายกิเลส ก็ควรศึกษาทั้งนั้น ครับ จึงไม่ได้จำกัด ที่บทใด ส่วนใดที่อ่าน ศึกษา ฟังเข้าใจ ก็ควรศึกษาส่วนนั้น ขณะที่เข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่หวั่นไหวไปในเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะจิตนั้น และก็สะสมปัญญาต่อไปในภพหน้า และที่สำคัญ เพียงพระธรรมไม่กี่บท ศึกษาเพียงไม่นาน จะทำให้กิเลสไม่เกิดไม่หวั่นไหว เป็นไปไม่ได้ แต่ หนทางคือ อาศัยการฟังพระธรรมส่วนต่างๆ ที่มีมากมาย ย่อมทำให้ปัญญากว้างขวาง เจริญขึ้น เพราะกิเลสมีมากนับประมาณไม่ได้

เพียง พระธรรม ไม่กี่บท จะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย การฟังพระธรรม อบรมปัญญาอย่างยาวนานเท่านั้น เป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นโรคร้ายมานาน คือ โรคกิเลส เพียง ยาขนานเดียว เวลาสั้นๆ คงไม่สามารถรักษาหายได้ และ ใช้ยาขนานแรง อยากหาย ก็ทำให้มีโทษกับร่างกาย แต่ถ้าใช้ยาถูกต้อง และ รักษาอย่างยาวนาน ก็มีโอกาสหายได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jerdGSD
วันที่ 10 ก.ค. 2555

สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส มากระทบจิตใจเรา

แนวทางที่สามารถแก้ไขได้ก็คือการอบรมให้เกิดปัญญา

ให้รู้ทัน ให้รับรู้ว่า นั้นเป็นเพียงแค่สภาพธรรมที่เป็นไป เกิดขึ้นใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

เรียนคุณ jerdGSD ครับ

ถูกต้อง การอบรมปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ทีละน้อย ปัญญาที่เจริญขึ้น จะค่อยๆ รู้ สิ่งที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริงในจิตใจ แม้แต่กิเลสที่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถ บังคับให้เกิดได้ พระโสดาบัน ท่านก็ยังมีกิเลส ยังหวั่นไหวในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ท่านเข้าใจกิเลสที่เกิดกับจิตของท่านว่า ไม่ใช่เราที่มีกิเลส เป็นแต่เพียงธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่ง เราคือผู้ที่จะดับกิเลส ก็ต้องเดินหนทางนี้ คือ การอบรมปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปแรื่อยๆ ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป ที่เป็นแต่เพียง จิตที่เกิดขึ้น ความขุ่นใจ หดหู่ที่เกิดขึ้น ก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็จะค่อยๆ ไถ่ถอนความเห็นผิด ว่าเป็นสัตว์ บุคคล และ เมื่อดำเนินในหนทางนี้ ก็จะละกิเลสได้ในที่สุดในอนาคตกาลข้างหน้าที่ยาวนาน เพียงแต่ว่าหนทางที่ถูก ที่เป็นหนทางที่ถูกต้อง จะต้องอบรมปัญญาอย่างยาวนาน กว่าจะรู้เท่าทันกิเลสว่าเป็นแต่เพียงธรรม แม้ตอนนี้ไม่รู้ แต่ค่อยๆ เข้าใจและอบรมเหตุให้รู้ได้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไปเรื่อยๆ ไม่มีวิธีอื่น เพราะ สาวก แปลว่า ผู้ที่สำเร็จจากการฟัง ฟังอะไร ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ครับ

ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peeraphon
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ฟังพระธรรมที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ เมื่อปัญญาที่สะสมจากการศึกษา มากพอที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกๆ สภาพธรรม โดยไม่เลือกตามปกติ ตามความเป็นจริง เช่นเสียงนินทาว่าร้าย ก็เป็นสภาพธรรม รู้สึกหดหู่ ก็เป็นสภาพธรรมครับ. ไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ ตายตัวว่าต้องใช้ธรรมข้อไหนในชีวิตประจำวันครับ.

ขออนุโมทนาในความเห็นถูกด้วยครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jerdGSD
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ถ้าหากผมเจอเหตุการณ์ที่ผมจะพอจะช่วยเหลือได้

ยกตัวอย่าง เจอสุนัขกำลังป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ผมช่วยเหลือนำไปรักษาที่โรงพยาบาล

ตอนแรกผมรู้สึกสงสาร (คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้น)

แต่ช่วยแล้วเกิดความสบายใจ (ก็เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น)

ให้คิดว่าเป็นสภาวธรรมทั้งหมดใช่ไหมครับ เพื่อความเข้าใจของผมเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ถูกต้อง ครับ ค่อยๆ เข้าใจในขณะนี้ครับว่า ทุกอย่างไม่พ้นจากธรรม แม้ขณะที่ช่วยเหลือ ก็ต้องมีจิตที่คิดจะช่วย จิตก็เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ที่คิดช่วย ขณะที่สงสาร ก็ไม่ใช่เราที่สงสาร เป็นแต่เพียงธรรม คือ ความกรุณา ความสงสารที่เกิดขึ้น ที่เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่ช่วยแล้ว ความสบายใจเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่จริง เกิดขึ้นแล้ว ความสบายใจก็เป็นแต่เพียงธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ที่สบายใจ ครับ

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ซึ่งก็ค่อยๆ เข้าใจ

ขั้นการฟังอย่างนี้ การเข้าใจถูกเบื้องต้นเช่นนี้ ย่อมอุปการะให้เกิดความเข้าใจถูก และ ดำเนินตามหนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง โดยไม่ได้หวั่นไหวว่า จะทำอย่างไรไม่ให้กิเลสเกิด กิเลสต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะยังมีกิเลสมาก หนทางคือเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น แม้แต่กิเลสที่เกิดขึ้น ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ในอนาคตได้ ครับ

เพียงแต่ว่า ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คือ เข้าใจว่า ไม่ต้องไปพยายามที่จะทำอะไร คือ พยายามให้คิดอย่างนั้น ว่าเป็นธรรม เมื่อเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เพราะ ไม่จำเป็นว่าจะต้องคิดถูกอย่างนั้น ในขณะนั้นเสมอไป อาจจะคิดไปอย่างอื่นก็ได้

แต่ที่สำคัญ คือ การอบรมเหตุให้คิดถูก คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jerdGSD
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ผมมีความสงสัยมานานแล้วครับผม

ขอยกตัวอย่าง ถ้าหากว่าแม่เราป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาลไม่ได้สติ ให้อาหารทางสายยาง อยู่ด้วยออกซิเจน ถ้าจะหากว่าจะให้หมอถอดสายยาง แม่ของเราก็จะจากไปอย่างสบาย

ผมจะถามว่า การให้หมอ ถอดสายยางออกเพื่อให้แม่จากไปอย่างสบาย ถือว่าเป็นการฆ่าแม่

ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมไหม ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

บาปไม่บาป หรือจะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ

ดังนั้นหากมีเจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไปอย่างสบาย ก็คือพูดง่ายๆ คือให้สิ้นชีวิตนั่นเองจะได้ไม่ทุกข์ทรมาน โดยให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่า แม้จะมีความหวังดี ดังนั้น ขณะที่มีความหวังดี เป็นจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่เจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไป คือเจตนาให้สิ้นชีวิต โดยการให้ถอดเครื่องหายใจ ก็เป็นอีกขณะหนึ่งครับ

ดังนั้น เมื่อมีเจตนาฆ่า และ ผู้เป็นมารดา บิดา ตายเพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจ กรรมนั้นเป็นอนันตริยกรรมครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรมคืออะไร

ผู้ป่วยหนักที่รักษาไม่ได้

แพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจคนป่วยเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ

เกี่ยวกับเรื่องกายรุณยฆาต (Euthanacia)

การทำการุณยฆาต

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jerdGSD
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอบคุณครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 10 ก.ค. 2555

การให้หมอ ถอดสายยางออกเพื่อให้แม่จากไปอย่างสบาย ไม่ควรทำ เพราะเสี่ยงกับการเป็นอนันตริยกรรม บางคนคิดว่าคนไข้ทรมาน แต่การเกิดในนรกทรมานกว่าหลายแสนเท่า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส มีกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากมาย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นทันที เป็นอกุศลทันที

อกุศลเป็นธรรม เกิดกับใครก็เป็นอกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่เพราะมีความยึดถือในความเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ มีความยึดถือว่าเป็นบุคคลคนนั้น คนนี้ที่ทำไม่ดี ตัวเราเองจึงเกิดอกุศลจิตในเพราะอกุศลของบุคคลอื่น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจ สงสารเข้าใจในอกุศลของบุคคลอื่น เพราะขณะนั้น เขากำลังสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตัวเขาเอง ดังนั้น จึงควรพิจารณาตนเองได้ว่า สมควรหรือไม่ที่จิตของเราจะเป็นอกุศล เพราะอกุศลของบุคคลอื่น? เพราะขณะที่ตนเองเกิดอกุศล ก็เป็นการสะสมโทษภัยให้กับตนเองแล้วในขณะนั้น ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่กุศลจิตเกิดอย่างสิ้นเชิง

และที่สำคัญ ในที่สุดแล้วทุกคนก็จะต้องตาย ไหนๆ ก็จะตายอยู่แล้ว การเป็นคนดี ด้วยการทำดีและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จึงเป็นกิจที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kinder
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
หลานตาจอน
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา"

"อยู่กับปัจจุบันขณะทุกลมหายใจ"

"ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จนกว่าจะเข้าใจ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ใจได้ นอกจากกิเลสของเราเองค่ะ

พระอรหันต์ท่านไม่หวั่นไหวกับเรื่องราวทางโลก ไม่ว่าร้ายหรือดี

... เพราะท่านไม่มีกิเลส

ดังนั้นที่ทุกข์ ... ก็ทุกข์เพราะกิเลสของตนเอง ไม่ใช่คนอื่นค่ะ

คนเราเมื่อมีปัญญามากขึ้น ก็จะทุกข์น้อยลงไปตามลำดับค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
เข้าใจ
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนากับอาจารย์และสหายธรรมทุกๆ ท่านด้วยครับ

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ