กรรมปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย

 
peeraphon
วันที่  10 ก.ค. 2555
หมายเลข  21385
อ่าน  1,301

เรียนอาจารย์ครับ

วันนี้ได้ฟังเรื่องกัมมปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย

จึงอยากจะมีข้อสอบถาม เพื่อความเข้าใจที่ยิ่งขึ้นครับ

- จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป ฆานปสาทรูป กายปสาทรูป เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะมีกรรมเป็นปัจจัย ดังนั้นรูปที่เกิดเพราะกรรม หรือ กัมมชรูป สามารถเรียกได้ว่า เป็น วิบากรูป เนื่องจากเป็นผลของกรรม ได้หรือไม่ครับ?

- ความหมายของคำว่า อนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย ดูเหมือนว่าใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันที่ว่า อนันตรปัจจัย เช่น เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว เป็น อนันตรปัจจัย ให้ จิตต่อไป เกิดต่อสืบเนื่องกัน แต่สมนันตรปัจจัย เช่น จิตที่เกิดขึ้นแล้วขณะหนึ่ง เป็นสมนันตรปัจจัย ให้จิตเกิดสืบเนื่องกัน ต่อกันเป็นระเบียบ เช่น สันตีรณจิต เป็น สมนันตรปัจจัย ให้ โวฏฐัพพนจิต เกิดขึ้นเท่านั้น เป็นจิตอื่นๆ ไม่ได้ ข้อความนี้ เข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ?

- วิปปยุตตธรรม สัมปยุตตธรรม ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ ได้ความคร่าวๆ ว่า วิปปยุตธรรม คือ ธรรมะ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งมีแค่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดขึ้น ส่วนสัมปยุตตธรรม คือ เป็นปัจจัยของกันและกันเพื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

รบกวนอาจารย์ ช่วย อธิบายเพิ่มเติม เรื่องของคำสองคำครับ

และอยากทราบเรื่องของ มหากุศลญาณวิปปยุตต์ และ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพิ่มเติมครับ

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จากการที่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะมีความเข้าใจว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว สามารถเป็นเหตุให้เกิดวิบาก (จิต และเจตสิก) และ เป็นเหตุให้รูปที่เกิดจากกรรม เกิดขึ้นได้

ดังนั้น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป ฆานะปสาทรูป กายปสาทรูป เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะมีกรรมเป็นปัจจัย จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง รูปดังกล่าวจะไม่เกิดจากสมุฏฐานอื่นเลย นอกจากกรรมเท่านั้น แต่ รูปที่เกิดจากกรรม ไม่เรียกว่า วิบากรูป เพราะเหตุว่า รูป เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ที่เป็นวิบากจะต้องหมายถึงเฉพาะวิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่านั้น

ที่สำคัญ ก็อยู่ที่ความเข้าใจตามความเป็นจริงในเหตุในผลของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป

- ประเด็นเรื่องของปัจจัยทั้งสองปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย (ความเป็นปัจจัย โดยไม่มีระหว่างคั่น, ไม่มีธรรมอย่างอื่นคั่น) และ สมนันตรปัจจัย (ความเป็นปัจจัย โดยไม่มีระหว่างคั่นและด้วยดี หรือ ที่เข้าใจกัน คือ ความเป็นปัจจัยโดยเป็นลำดับด้วยดี ไม่สลับลำดับกัน ตามความเป็นไปของจิต) นั้น ทั้งสองปัจจัยนี้ หมายถึง เฉพาะ นามธรรม คือ จิต และ เจตสิก ที่เกิดร่วมด้วย เท่านั้น เมื่อจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งเมื่อไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ยังจะต้องเป็นลำดับด้วยดีด้วย จะสลับลำดับกันไม่ได้ เพราะตามความเป็นจริงของจิตแล้ว จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ จิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัยและ สมนันตรปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งจิตขณะต่อไปที่เกิดขึ้น (รวมทั้งเจตสิก) นั้น ก็เป็นผลของอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย นั่นเอง

- ประเด็นเรื่องของสัมปยุตตธรรม และ วิปปยุตตธรรม สามารถพิจารณาได้ดังนี้

คำว่า สัมปยุตตธรรม โดยศัพท์ แปลว่า ธรรมที่ประกอบทั่วพร้อม โดยอรรถแล้ว คือ เข้ากันได้อย่างสนิท ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิต และเจตสิก ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกัน ด้วย เพราะในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปธรรม มีแต่นามธรรม จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น

คำว่า วิปปยุตตธรรม โดยศัพท์ แปลว่า ธรรมที่ไม่ประกอบด้วยกัน หรือ ปราศจากการประกอบกัน โดยอรรถแล้ว เป็นธรรมที่ไม่เข้ากัน ได้แก่ นามและรูปที่ไม่ปะปนกัน ไม่เข้ากันอย่างสนิทเหมือนอย่างนามธรรม กับ นามธรรม และ คำว่า วิปปยุตต์ บางนัยหมายถึง วิปปยุตต์ โดยความไม่มี เช่น กุศล ญาณวิปปยุตต์ (กุศล ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา) โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ (โลภะ ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด)

- กุศล ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และ ประกอบด้วยปัญญา และควรที่จะได้พิจารณาว่า ปัญญา เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่เคยสะสมปัญญามาเลย ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ แต่เพราะได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เข้าใจในเหตุในผลของธรรม ปัญญาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้แต่ในขณะให้ทาน ก็เช่นเดียวกัน ปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า การให้ทานมีผล การให้ทานเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประเสริฐยิ่ง เพราะประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตในชีวิตประจำวัน เกิดน้อยมาก และยิ่งกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ยิ่งน้อยกว่านั้นอีก แต่ถึงแม้ว่า จะเป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังดีกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ทุกคนสามารถที่จะอบรมเจริญให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นี้แหละ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก และยังจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย

ในเรื่องของทาน การสละวัตถุสิ่งของ สละกิเลส สละความตระหนี่ของตนเอง

ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ประพฤติในสิ่งทีดีงามในชีวิตประจำวัน และเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ฟัง ได้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะเห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้เข้าใจขึ้น ก็คือ ฟังต่อไป เมื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ซึ่งสติปัฏฐาน ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา อีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป ฆานปสาทรูป กายปสาทรูป เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะมีกรรมเป็นปัจจัย ดังนั้นรูปที่เกิดเพราะกรรม หรือ กัมมชรูป สามารถเรียกได้ว่า เป็น วิบากรูป เนื่องจากเป็นผลของกรรม ได้หรือไม่ครับ?


- ถ้าจะกล่าวให้ถูก คือ ผลของกรรม สามารถแบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ รูปและนาม

รูป ที่เป็นผลของกรรม รูป คือ กัมมชรูป ยกตัวอย่างเช่น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

ผลของกรรม อีกประการหนึ่ง คือ จิต เจตสิก ซึ่งเราจะเรียกว่า วิบาก เพราะ วิบาก มุ่งหมายถึงนามธรรมเท่านั้น ที่เป็น จิต เจตสิก วิบาก ไม่ได้มุ่งหมายถึงรูป แต่รูป จัดเป็นผลของกรรม

เพราะฉะนั้น รูป เป็นผลของกรรม ประการหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิบาก จึงไม่สามารถที่จะเรียกว่า วิบากรูปได้ ครับ แต่เรียกว่า เป็นรูปที่เกิดจากรรม ที่เป็นรูปที่เป็นผลขอกงรรม ดังนั้น ผลของกรรม จึงกินความหมายกว้างกว่า วิบาก เพราะ ผลของกรรม จะรวมทั้งรูป และนาม ที่เป็นผลของกรรม อันเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย ส่วน วิบาก เป็นเฉพาะนามธรรม ที่เป็นจิต เจตสิก อันเป็นส่วนหนึ่งของผลของกรรม ครับ

กัมมชรูป ถ้าจะเรียก เรียกว่า วิบากรูป ไม่ได้ แต่เรียกว่า รูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่เป็นผลของกรรมได้ ครับ

ส่วนประเด็นเรื่อง ความแตกต่างของ อนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย

เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่าอาจารย์สุจินต์ ได้ที่นี่ครับ

ความเหมือนและความต่างกันของอนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย


- วิปปยุตตธรรม สัมปยุตตธรรม ผมไม่แน่ใจว่า เข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ ได้ความคร่าวๆ ว่า วิปปยุตตธรรม คือ ธรรมะ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งมีแค่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดขึ้น ส่วนสัมปยุตตธรรม คือ เป็นปัจจัยของกันและกันเพื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รบกวนอาจารย์ ช่วย อธิบายเพิ่มเติม เรื่องของคำสองคำครับ

- สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมที่ประกอบทั่วพร้อม หมายถึง จิตและเจตสิกที่ประกอบกันได้อย่างสนิท เพราะเป็นนามธรรมด้วยกัน นามธรรมที่เป็นสัมปยุตต์กับนามธรรมนั้น จะต้องเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกันเท่านั้น จิตคนละดวงไม่เป็นสัมปยุตต์ต่อกัน และ เจตสิกที่เกิดกับจิตคนละดวงก็ไม่เป็นสัมปยุตต์ต่อกันนามธรรมที่เกิดร่วมกันอย่างกลมกลืน เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ได้แก่ ... จิต ... อาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นสัมปยุตตปัจจัย

เจตสิก ... ก็อาศัย จิตที่เกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย และ เจตสิก ... ก็อาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย วิปปยุตตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ประกอบทั่ว หมายถึง นามธรรมกับรูปธรรมซึ่งไม่สามารถเข้ากันได้อย่างสนิทเหมือนนามกับนาม แม้จะเกิดที่เดียวกัน เช่น ปสาทรูป ๕ เป็นวิปปยุตต์กับทวิปัญจวิญญาณ หทยวัตถุเป็นวิปปยุตต์กับจิตที่เป็นมโนธาตุ และ มโนวิญญาณธาตุ หรือ แม้จิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปก็เป็นวิปปยุตต์ต่อกัน โสตวิญญาณอาศัยโสตปสาทรูปเป็นที่เกิด โสตปสาทรูป จึงเป็นวิปปยุตตปัยจัยแก่โสตวิญญาณ หรือ รูปธรรมที่อาศัยนามธรรมเป็นปัจจัย เช่น จิตตชรูป หรือ นามธรรม และ รูปธรรมต่างก็เป็นวิปปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกันในปฏิสนธิกาล คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นวิปปยุตตปัจจัยแก่กันกับปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นต้น

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

สัมปยุตปัจจัย - วิปยุตปัจจัย

สัมปยุตตปัจจัย - วิปยุตตปัจจัย

วิปปยุตปัจจัย


อยากทราบเรื่องของ มหากุศลญาณวิปปยุตต์ และ มหากุศลญาณสัมมปยุตต์ เพิ่มเติมครับ


- มหากุศลญาณวิปปยุตต์ คือ กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เช่น ให้ทาน โดยไม่ได้ระลึกว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ ถ้าเป็นกุศลขั้น สมถภาวนาและวิปัสสนา จะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ

มหากุศลญาณสัมมปยุตต์ คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาคือความเห็นถูก ตามความเป็นจริง เช่น สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นปัญญาเพราะเห็นถูกตาม.ความเป็นจริง เป็นต้น ปัญญาก็มีหลายระดับ เช่น ขั้นที่คิดถูกต้อง เช่น คิดว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ขณะนั้น แม้เพียงการเชื่อกรรมและผลของกรรม ก็เป็นปัญญา ที่เป็นระดับเชื่อกรรมและผลของกรรม หรือ ขณะใดที่ฟังพระธรรมเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นปัญญา หรือ ขั้นประจักษ์แจ้ง คือ รู้ธัมมะตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เป็นธัมมะ (วิปัสสนาญาณ) ขั้นแทงตลอดจนดับกิเลส เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง (มรรคปัญญา)

ดังนั้น ปัญญาในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นความเห็นถูกตามความเป็นจริงซึ่งมีหลายระดับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

สัมมาทิฏฐิ ๕ [อุปริปัณณาสก์ ]

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ญาณสัปยุตต์ - ญาณวิปยุตต์

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ถ้าไม่มีอาจารย์คอยอธิบายให้รู้คงจะลำบากมากนะครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peeraphon
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขอขอบพระคุณ และ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ