ผลที่ได้รับในพระพุทธศาสนามี5ส่วนถูกต้องมั้ยครับ

 
saree
วันที่  11 ก.ค. 2555
หมายเลข  21390
อ่าน  1,208
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของผู้รู้ คือเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนทุกข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ควรที่พุทธศาสนิกชนจะศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ทั้งเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อริยสัจจ์ ๔ และ พระสูตรทั้งหลายที่แสดงถึงความจริง

เพราะพระอริยสาวกเมื่อรู้ความจริง ย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง พระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง สูงสุดแล้ว เป็นไปเพื่อความดับกิเลส พ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงได้ทรงแสดงพระธรรม ก็เพื่อให้พุทธบริษัทเกิดปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละความไม่รู้ สูงสุด คือ วิมุตติ (ความหลุดพ้น, การบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด) ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ชื่อเสียง ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น

วิมุตติ การหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ขั้นรองลงมา ก็คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคล ตามลำดับ

สำหรับกัลยาณปุถุชนทั้งหลายก็สามารถเข้าถึงแก่นแท้ได้ระดับหนึ่ง คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ มีปัญญา รู้หนทางที่ถูกต้องเพื่อเป็นปัจจัยแห่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอนาคตข้างหน้าต่อไปครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หากกล่าวว่า ผลที่ได้รับจากพระพุทธศาสนา มี ๕ ส่วนก็กล่าวถูกต้องโดยนัยหนึ่งที่ว่า ผู้ที่ศึกษาพระธรรม และ น้อมประพฤติปฺฏบัติตาม ก็จะนำมาซึ่ง ลาภ สักการะ ชื่อเสียง ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึง การหลุดพ้นจากกิเลส

แต่ที่ควรพิจารณา ตามพระสูตร คือ มหาสาโรปมสูตร นั้น การได้มาซึ่ง ลาภ สักการะ ศีล สมาธิ ปัญญานั้น หากเป็นผู้ประมาทแล้ว ก็ย่อมตกไปในอำนาจกิเลสได้ เพราะ ถูกโลภะที่เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง พอใจยินดีได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้น สภาพธรรมที่หลุดพ้นเท่านั้น เมื่อประพฤติ ศึกษาในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อเสียง ก็ติดข้อง ยินดีพอใจ และ ย่อมดูหมิ่นผู้อื่น เพราะ ตนได้ลาภสักกาะร หรือ ยินดีพอใจ ในลาภสักการะที่ตนได้ ก็ชื่อว่า ได้เพียงกิ่งและใบ เปรียบเหมือนผู้แสวงหา แก่นไม้ แต่สำคัญว่า กิ่งไม้ เป็นแก่นไม้ ก็ได้ในสิ่งที่ผิด ย่อมไม่สามารถไปถึงแก่นได้เลย ครับ

โดยนัยเดียวกัน แม้ไม่ติดข้อง ลาภ สักการะ แต่ประพฤติมั่นในศีล และก็เพียงยินดีพอใจ ในศีลเท่านั้น ด้วยโลภะที่ติดข้องในคุณธรรมที่เป็นเพียงศีล จะเห็นว่า โลภะ เข้ามาแทรกได้ตลอด เมื่อติดข้อง ก็ทำให้ดูหมิ่นผู้ที่ไม่ได้ศีลอย่างตน ก็ติดในสิ่งที่เป็นเพียง สะเก็ดของต้นไม้ ทั้งๆ ที่แสวงหาแก่นไม้ แต่ก็ได้เพียงสะเก็ด สมาธิ ปัญญา ก็โดยนัยเดียวกัน โลภะก็สามารถติดในสิ่งเหล่านี้ได้ หากเป็นผู้ประมาท

สมกับคำว่าที่ว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ความหมาย คือ แม้จะดีอย่างไร ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังไม่พอ ไม่เพียงพอที่จะให้พ้นจากกิเลส คือ โลภะได้เลย และย่อมทำให้ติดอยู่แต่เพียง สิ่งที่ไม่ใช่แก่น คือ การหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้

เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท แม้แต่ในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ และไม่ประมาทในการเจริญอบรมปัญญา ไม่สำคัญว่า เพียงพอแล้ว

ทางโลก ที่ทานอาหาร ก็สำคัญว่า อิ่มพอแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในบรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ ซึ่งจะถึงความอิ่ม จริงๆ คือ การดับกิเลสหมดสิ้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ถึงแก่น ย่อมได้สิ่งที่เป็นสาระสูงสุดกับชีวิต เพราะ หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งปวง ครับ

แต่กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูก คือ การเจริญสติปัฏฐาน รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นไปตามลำดับ และ ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ ก็เท่ากับว่า กำลังเดินไปหาต้นไม้ เพื่อหาแก่นไม้ หยิบขวาน คือ ปัญญา ไม่เอาขวานฟันกิ่งเล็กน้อย ไม่เก็บเอากิ่งใบไป แต่ใช้ขวาน คือ ปัญญาตัดต้นไม้นั้น

ละสะเก็ดต้นไม้ ละกระพี้ ไม่เก็บกระพี้ไป แต่ เอาแก่นไม้ ย่อมได้ประโยชน์จากการตัดต้นไม้จริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระสูตรค่ะ

แก่นของพรหมจรรย์

ว่าด้วยที่สุดของพรหมจรรย์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
saree
วันที่ 12 ก.ค. 2555
ขอขอบคุณทุกท่านครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ