ข้อความเตือนสติเรื่องชนสันธชาดก

 
wittawat
วันที่  16 ก.พ. 2555
หมายเลข  20563
อ่าน  4,435

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

ชนสันธชาดก .. พระราชาผู้ยังชนให้ตั้งมั่นด้วยดีในกุศลธรรม

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

๑. ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม วันหนึ่งต้องจากไป จะจากไปอย่างไร ส่วนหนึ่งอยู่ที่การกระทำทางกาย วาจา ใจในปัจจุบัน ที่จะนำไปสู่ภพใหม่ ผู้ไม่ได้ทำคุณความดี เมื่อใกล้ตายจะเดือดร้อนฟุ้งซ่านรำคาญใจในอกุศลที่ทำแล้วและกุศลที่ยังไม่ได้ทำ เป็นเหตุให้เศร้าหมองเมื่อใกล้ตายเพราะไม่มีที่พึ่ง จึงนำไปสู่ทุคติ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงคือ คุณความดี เช่น ทาน ศีล การปรนนิบัติบิดา มารดา เป็นต้น เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลธรรม เพื่อเห็นประโยชน์ของกุศล เพื่อหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นถอยกลับจากบาป เพื่อเป็นเหตุให้พาออกจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้ ซึ่งต้องอาศัยการฟัง การศึกษา อบรมความเข้าใจถูก สะสม ทีละเล็กละน้อย จึงเป็นเครื่องเกื้อกูลให้ปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับได้

๒. การเลี้ยงดู และการดูแลผู้มีคุณ “ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนใจภายหลังว่า เมื่อเราสามารถเลี้ยงดูท่านเมื่อเฒ่าชราได้ แต่มิได้เลี้ยงดู” ควรเลี้ยงดูท่านเมื่อถึงกาลที่ต้องเลี้ยงดู ถึงแม้ว่าท่านช่วยตนเองได้ แต่ก็มีบางขณะที่เราควรดูแลท่าน ไม่ใช่เพียงแต่เลี้ยงดูเท่านั้น ต้องดูแลด้วย ผู้มีพระคุณถึงอย่างนี้ ถ้าไม่คิดที่จะดูแลแล้วจะดูแลใคร ซึ่งตามความจริงก็คือกุศลจิตที่เกิดขึ้น คิดถึงคุณ และก็มีโอกาสได้กระทำตอบแทนคุณ ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา หรือใครก็ตาม ต้องเป็นผู้ไม่ทอดทิ้ง ต้องเป็นผู้ไม่ละเลยในการกระทำสิ่งที่ดีต่อผู้มีพระคุณ เพราะการทอดทิ้งละเลยผู้มีพระคุณไม่มีใครชื่นชม บุคคลผู้ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ มีแต่ถูกตำหนิ ถ้าไม่ถูกตำหนิ ก็ควรที่จะสำนึกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ควรทำ ไม่ควรทำ

๓. ความเดือดร้อนใจในภายหลังเป็นอย่างไร? ชีวิตปรกติประจำวัน เคยพูดคำไม่ดีต่อพ่อแม่หรือไม่ เดือดร้อนหรือไม่ เมื่อนึกขึ้นได้ว่าทำไม่ดีถึงอย่างนั้น เป็นต้น ก็คือความเดือดร้อนใจในภายหลัง เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ระวังทั้งกาย วาจา ที่จะไม่เป็นอกุศลไม่ใช่เพียงแต่การกระทำการพูดไม่ดีต่อพ่อแม่ แม้บุคคลอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะอกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้นเมื่อใด กาย วาจา เป็นไปในทางทุจริตเมื่อไร ย่อมเกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง

๔. ธรรมคือความเดือดร้อน และเหตุเกิด อกุศลมีหลายประการ เช่น โลภะ คือความติดข้อง โทสะ คือความขุ่นเคือง ความเดือดร้อนใจ ก็เป็นอกุศล ซึ่งแล้วแต่ว่าเกิดจากอะไรในขณะนั้น ซึ่งพร้อมที่จะเป็นอกุศลได้ทุกขณะ เช่น ถ้าไม่เดือดร้อนก็เป็นโลภะ หรืออาจโกรธ หรือผูกโกรธ ทำชั่วมาก็เดือดร้อน ยังไม่ได้ทำดีก็เดือดร้อน จึงควรที่จะเข้าใจความหลากหลายของธรรมว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ศึกษาเพื่อความมั่นคง ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งมีความหลากหลาย ซึ่งเกิดแล้วก็หายไปไม่เหลือสักอย่าง ถ้ารู้อยู่ว่าแม้เดือดร้อนเกิดแล้วก็หมดไปไม่เหลือ ก็ย่อมไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งที่จะไม่เดือดร้อนได้จริง ก็ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรม

๕. เหตุที่ทำให้ไม่เดือดร้อนคืออะไร? “บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้” เกิดมาแล้ว ถ้าไม่มีอาหารทานเลยก็เดือดร้อนหรือไม่ เพราะว่าอยู่ไม่ได้ บางคนให้ลูกเรียนสูงๆ แต่คนที่ไม่เป็นอย่างนั้นมีเงินมากได้หรือไม่ บางคนก็เป็นบุคคลขยันมากๆ หาเช้ากินค่ำก็มี ถ้าไม่มีศิลปะ แต่มีอาหารทานได้จนตายจะเดือดร้อนได้หรือไม่ แล้วแท้จริงเดือดร้อนเพราะอะไร และมีอะไรเป็นเกณฑ์ ทั้งหมดต้องมีเหตุซึ่งไม่ใช่เหตุเดียว แต่หมายถึง ความเป็นผู้ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความดี เพราะถ้าขยัน มีเงินทองมากแต่เป็นคนชั่ว ทำทุจริตจะเอาอะไรมารับประกันให้ตนเองไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจได้

๖. ความจริงทำให้ไม่เดือดร้อนได้อย่างไร? ทุกอย่างที่มีอยู่จริงเป็นธรรม เกิดเพราะมีปัจจัยให้เกิดเป็นอย่างนั้นแล้วหมดไป หายไป ไม่เหลือ มีแล้วหามีไม่ มีเพียงแค่ปรากฏแล้วหายไปไม่เหลือแม้สักอย่างเดียว ไม่มีใครสามารถเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนกลับมาได้ ผู้ที่คิดว่าหาได้ ก็คือ ไม่ได้เข้าใจธรรม ธรรมเก่าที่หายไป ก็มีธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นที่ให้ติดข้องเพลิดเพลินพอใจ แม้เป็นสิ่งใหม่ก็ชั่วขณะปรากฏ ของหายไปบางครั้งยังหาเจอ แต่ธรรมที่เกิดแล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ถ้ารู้อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้ไม่เดือดร้อนใจ เพราะว่าไม่ใช่ของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของ

๗. การปฏิบัติกิจด้วยอุบายอันแยบคาย “ผู้ใดย่อมปฏิบัติกิจเหล่านี้ด้วยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษควรทำ ย่อมไม่เดือนร้อนใจในภายหลังเลย” อุบายอันแยบคาย คือ เข้าใจถูกต้อง พิจารณาแล้วเห็นว่าถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้อง ก็คือ ไม่ได้พิจารณาด้วยความแยบคาย ซึ่งโยนิโสมนสิการ หมายถึง การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งไม่มีใครไปกระทำ แต่หมายถึง สภาพธรรมในขณะที่ฟังเข้าใจทำหน้าที่โดยแยบคาย

๘. กุศลจะเจริญขึ้นได้เมื่อไร หรือควรไม่ประมาทเมื่อไร? เมื่อวานนี้ เสียดายที่ไม่ได้ทำดี พรุ่งนี้จะทำ แต่วันนี้แย่มากทั้งพูด ทั้งคิด ไม่รู้ตัวเลย เป็นผู้ที่ประมาท เพราะแม้ขณะนี้ก็ผ่านไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่มา ก็กำลังจะเป็นขณะนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้สำคัญที่สุด มิฉะนั้นก็จะเลี่ยงไปเรื่อยๆ เมื่อวานกับพรุ่งนี้ แล้วลืมวันนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลทางกาย วาจา ใจ จะเจริญขึ้นได้ ก็คือ วันนี้ ปัจจุบันขณะนี้

๙. เคยโกงบ้างหรือไม่? เริ่มตั้งแต่เด็ก ผู้ไม่ประมาท รู้อะไรถูก อะไรควร ถ้าสะสมไว้แม้เป็นเด็กก็ไม่โกง แต่พอโตขึ้น อกุศลที่มีอยู่ ก็ยังมีความไม่แน่นอน ก็โกงมากขึ้นก็ได้ เมื่อมีการละเล่นเพลิดเพลินเพื่อความสนุก แม้เรื่องเล็กน้อย เคยโกงบ้างหรือไม่ ทุจริตเกิดขึ้นได้แม้เรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องเป็นผู้ซื่อตรง พิจารณาแยบคายด้วยความละเอียดถูกต้อง ไม่ว่าเมื่อใด สถาณการณ์ใด มิฉะนั้นโกงจากที่เล็กน้อย ก็เป็นโกงมากๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าประมาท อกุศลมีทางที่จะเพิ่มขึ้นให้โทษ โดยที่ผู้นั้นไม่รู้เลยว่าผลทั้งหมดมาจากกรรมของตน

๑๐. ความพินาศจากความประมาท ถ้าเป็นผู้ประมาทเพียงนิดเดียวในชีวิตประจำวัน เช่น คดโกง ก่อความพินาศให้แก่โลก โกงด้วยสินบน เป็นต้น จากเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งมีโอกาสได้ทำความดี มีโอกาสสะสมกุศลก็ตายไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งมีโอกาสอบรมเจริญกุศลยากมาก

๑๑. คดโกงเกิดได้อย่างไร? ถ้ายังมีกิเลสอยู่ การคดโกงก็เกิดขึ้นได้ เช่น แกล้งทอนเงินผิด เก็บของได้โดยเห็นเจ้าของแต่เอาเป็นของตนเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องจริง ซึ่งผู้นั้นจะรู้ได้ถ้าฟังธรรมแล้วเห็นตามเป็นจริง แต่ถ้ายังละไม่ได้ ก็เห็นถูกว่าเป็นสิ่งไม่ดีเป็นอกุศลเป็นโทษก่อน แล้วถึงจะละได้

๑๒. เหตุใดจึงควรคบหาสัตบุรุษ? “ผู้ไม่ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้วย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย” แม้โกงนิดเดียว เป็นต้น ก็ไม่ใช่สุจริตธรรม และถ้าไม่เข้าหาสัตบุรษจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิดหรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาส สามารถพบธรรมเข้าใจธรรมได้ ควรเห็นประโยชน์ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดแต่ละคำมีคุณค่า ซึ่งประมาทไม่ได้แม้อกุศลที่อาจเกิดขึ้นตามที่เล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด เช่น การโกง แม้เพียงเพื่อการละเล่น เป็นต้น

๑๓. ความต่างของการให้สมณะกับการให้บุคคลอื่น เวลาที่ให้คนอื่น กับให้ผู้ที่สงบจากอกุศล ย่อมมีความแตกต่าง เพราะว่าเวลาให้บุคคลที่ไม่ใช่สมณะคือผู้ที่ยังโลภะ โทสะ โมหะให้สงบ เมื่อให้แล้วก็คือให้ไปไม่สามารถทำให้เราเข้าใจความจริงได้ แต่ถ้าเป็นสมณะคือผู้ที่สงบได้เพราะมีปัญญา ซึ่งจะรู้ได้ก็เมื่อสนทนา ว่าต้องมีเหตุทำให้สงบได้ ถ้าไม่ได้สนทนาด้วยย่อมเสียโอกาส เพราะว่าไม่ได้รับสิ่งที่เป็นปัญญา ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดความสงบซึ่งต้องเป็นธรรมที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น เพื่อมีส่วนที่จะได้ฟังเข้าใจและไม่เสียใจภายหลัง

๑๔. ฐานรองรับแห่งพระธรรม ชาดก หรือ ชาตก หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งประมวลความประพฤติเป็นไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เช่น พระเจ้าชนสันธะซึ่งทรงแสดงธรรมแก่มหาชนตามกำลังความรู้ของตน นำพาเหล่าสัตว์สู่สวรรค์ เป็นต้น ความดีที่พระโพธิสัตว์สะสมมา จนกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นความดีทั้งหมดที่จะเป็นฐานรองรับแห่งพระธรรม

๑๕. ประพฤติตามธรรมในชาดกได้มากน้อยเพียงใด? แม้เป็นธรรมของพระโพธิสัตว์ตามในชาดก เช่น การไม่โกง (โดยละเอียด คือ ไม่ควรโกงทุกสถานการณ์ แม้เพียงเพื่อการละเล่น) เป็นต้น ผู้ที่อ่านแล้วประพฤติตามได้มากน้อยเพียงใด ฟังดูพื้นๆ ยังยากถึงเพียงนี้ ถ้าเป็นความจริงเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับอกุศลไม่เกิดขึ้นอีกเลยจะยากถึงเพียงใด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเตือนให้เราไม่เป็นผู้ประมาทในธรรมทุกคำขณะนี้ และเพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม เพียงแต่ได้ยินคำว่า ธรรม และความประพฤติในวันหนึ่งๆ หากไม่มีการอบรมกุศลภาวนา ความดีแม้เล็กน้อยก็ไม่มีทางที่จะดับอกุศลได้ ซึ่งต้องอบรมความเห็นถูกมากยิ่งขึ้น

๑๖. ใครจะเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทใด? พระโพธิสัตว์ หมายถึง สัตว์ซึ่งอบรมความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การตรัสรู้ ได้แก่ พระมหาโพธิสัตว์ สำหรับผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิสัตว์ สำหรับผู้ที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกโพธิสัตว์ สำหรับสาวกผู้ที่ฟังธรรม แล้ววันหนึ่งรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจธรรมเป็นพระโพธิสัตว์ในระดับไหน ที่ไม่ถึงแน่นอนก็คือพระมหาโพธิสัตว์ แต่ถ้าเป็นสาวกโพธิสัตว์ ขณะนี้ก็คือยังไม่ได้รู้แจ้งสภาพธรรม ก็ยังเป็นสัตว์ที่ข้องอยู่ในการที่จะรู้ความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และจะเป็นพระอริยบุคคลได้ต้องมาจากการฟังธรรมเข้าใจข้อความเตือนสติที่เป็นประโยชน์อื่นๆ

๑๗. ความมากของอกุศลที่เกิดขึ้น เมื่ออกุศลพร้อมเกิดขึ้นเมื่อไร สถานการณ์ใด ก็เกิดขึ้น จากที่นั่งเรียบร้อย กาย วาจาดี ในขณะฟังธรรม เป็นต้น แต่เมื่อไปสู่ที่หนึ่งประสบกับสิ่งใด กาย วาจาที่ประพฤติต่อบุคคลอื่นเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่าอกุศลพร้อมที่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว ทั้งง่ายมาก เพราะว่ามีมากจึงเกิดบ่อย

๑๘. เพราะความไม่รู้มี อกุศลและทุจริตทั้งหลายจึงมี ตราบใดที่อวิชชาความไม่รู้ยังมีอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้างตามกาล เพียงเห็น อกุศลก็เกิดแล้ว ทั้งมากด้วย แต่ถ้ามีปัญญาที่จะเห็นแล้วกุศลเกิดได้ก็เพราะปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ยากที่จะเป็นกุศล การฟังธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เข้าใจถูกว่า เป็นธรรม เป็นกุศลและอกุศลที่สะสมมา เมื่อมีกำลัง ก็สามารถทำสิ่งที่ไม่ดีได้

๑๙. ถ้าทำดีไม่ได้ก็ควรเว้นชั่ว ทุกอย่างเป็นธรรมที่เราควรเห็นถูก ถ้าทำความดีไม่ได้หรือยังไม่ได้ทำ ก็อย่าทำชั่ว ควรเว้นสิ่งชั่ว เพราะบางคนโอกาสที่จะทำดีน้อย หรืออาจไม่มี แม้อย่างนั้น ก็ควรเว้นชั่ว

๒๐. ควรละกิเลสหรือควรฟัง? ถ้าคิดที่จะละกิเลสโดยที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วอะไรที่จะละอะไร? แต่ขณะใดที่รู้ ขณะนั้นละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ไม่พอก็ละไม่ได้ แทนที่จะคิดที่จะละควรที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งยังไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือใคร แต่เป็นธรรมจริงๆ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง

๒๑. ทำไมถึงควรฟังธรรม? พุทธะ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าไม่ได้ฟังธรรมจะมีความรู้ได้อย่างไร? เพราะไม่มีทางที่ธรรมจะคิดเองได้ เพราะถ้าคิดเองก็คิดผิด

๒๒. ไม่ประมาทในการฟังธรรม เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังธรรม ไม่เพียงแต่พบพยัญชนะบางส่วนแล้วคิดเอง เข้าใจเอง เพราะพระธรรมเป็นเรื่องละเอียด เมื่อฟังแล้วควรเป็นผู้มีเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองถึงอรรถ พิจารณาถึงความจริงของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจที่ละเอียดยิ่งขึ้น

๒๓. สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจความจริงถูกขึ้น ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ แต่แม้สิ่งนี้มีจริงก็ไม่รู้ แล้วก็จะไม่รู้ทุกขณะถ้าไม่ได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูก ไม่ใช่การตู่ขึ้น หรือการคิดเอง

๒๔. ประโยชน์ของปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาขั้นฟัง คือ เพื่อเข้าใจถูกให้มั่นคงขึ้นว่า มีความจริงเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนความจริงนี้ไม่ได้ ซึ่งสามารถที่จะรู้ความจริงนี้ได้เมื่ออบรมปัญญาละความไม่รู้ความติดข้อง

๒๕. มือที่มองไม่เห็น และความจริงของกรรม ไม่ว่าใครหรือเมื่อไร ถ้าทำกรรมนั้น ผลอย่างนั้นต้องเกิด เวลาที่ได้รับผลของกรรมเราไม่สามารถรู้จัก “มือที่มองไม่เห็น” คือ “กรรม” ที่ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่เคยคิด หรือ ไม่น่าจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นในจุดนั้น หรือสถานการณ์นั้น แต่กรรมก็ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งถ้าเป็นสิ่งดีก็ให้ผลดี ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีก็ให้ผลไม่ดี ทุจริตกรรม เช่น การเผาทำลายทรัพย์สมบัติผู้อื่น การทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นใคร สถานที่ใดเกิดขึ้นเพราะขณะนั้นอกุศลเกิด ไม่มีคน หรือใครทั้งนั้น นอกจากธรรม ทุกอย่างคือ จิต เจตสิก รูป แต่ถ้ากุศลเกิด ก็มีเมตตา ไม่ว่ายุคสมัยใด ธรรมก็เป็นจริงอย่างนั้น ถ้าปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถเห็นถูกตามจริงในอกุศลว่าเป็นอกุศล เป็นทุจริตแม้ทางกาย หรือทางวาจาเกิด ก็เว้นได้

๒๖. เมตตากับบุคคลที่ประพฤติไม่ดี เมตตาไม่จำกัดเฉพาะคนดี ปรกติถ้าเป็นคนดีก็ง่ายที่จะเกิดมีเมตตา แต่ถ้าสะสมที่จะร้ายมาก แม้แต่คนดีก็ยังเมตตาเกิดไม่ได้ก็มี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมซึ่งเป็นธาตุที่กุศลธรรมจะเกิดหรือไม่ ก็แล้วแต่การสะสม ซึ่งเมตตาสามารถเกิดได้ไม่จำกัดเฉพาะบุคคล ใครที่ทำอกุศลกรรมด้วยความไม่รู้ ต้องได้รับผลโดยไม่ต้องเรียกร้อง ควรเมตตา หรือว่าสงสารช้า คือสงสารเมื่อเวลาที่เขาได้รับผลของกรรมแล้ว

๒๗. ลืมดูโลกภายใน ดูโลกภายนอก แต่ลืมดูตนเอง คือ โลกภายใน ขณะที่ไม่พอใจขุ่นเคือง วิพากย์วิจารณ์ หรือกำลังติ ขณะนั้นจิตอะไร ต้องเป็นจิตซึ่งรู้ยาก แต่คุ้นเคยกับโลกภายนอก เพราะฉะนั้น ไม่ควรลืมว่า ถ้าไม่มีโลกภายใน คือ จิต โลกภายนอก หรือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

๒๘. อะไรบ้างเป็นเรา? อะไรบ้างเป็นของเรา? สิ่งไม่ดี มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นอกุศล ไม่ดีแล้วก็ดับไป เป็นธรรมทั้งหมด เวลานี้มีอะไรเป็นเรา อะไรเป็นของเราบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่างเดียว พอจากโลกนี้ไป รูปที่สวยงามยังสวยน่าดูอยู่หรือว่ามีแต่หนอน กลิ่น ถ้าเป็นของเราจริงๆ ทำไมไม่เหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำให้เห็นถูกเข้าใจถูก ที่จะมีกุศลภาวนา อบรมจิตที่ดีงาม ซึ่งจะดับกิเลสได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมความเข้าใจถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

๒๙. อะไรประพฤติสุจริต? การประพฤติสุจริตได้ต้องไม่ใช่เราทำสุจริต แต่เพราะโสภณธรรมเกิดปรุงแต่งจิต ทำให้มีความสุจริตทางกาย วาจา ใจ ซึ่งจะสุจริตได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งผู้ที่จะมีความสุจริตอย่างแท้จริงคือพระอรหันต์ เพราะถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ อกุศลธรรมก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้

๓๐. ลักษณะของธาตุเห็น และ เหตุที่ทำให้ไม่เข้าใจลักษณะเห็น เห็นมีจริงๆ แล้วเห็นจะเป็นใครสักคนก็ไม่ได้ นอกจากสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เห็นเสียงไม่ได้ เห็นกลิ่นก็ไม่ได้ เห็นได้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏว่ามีจริง เพราะมีการเห็น ต้องมีจักขุปสาทและรูปที่สามารถเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ที่ไม่รู้ความจริงเพราะว่าสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก สิ่งที่กำลังเห็นในขณะนี้เกิดแล้วโดยไม่รู้เลยถึงปัจจัย ซึ่งทำให้ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วก็มีจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และแสดงความเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะไม่มีใครบังคับให้เกิดดับ แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

๓๑. ลักษณะของธรรมโดยนัยที่ทนอยู่ไม่ได้ เห็นมีจริงเป็นธรรม เกิดแล้วเห็น ไม่มีใครทำให้เกิด ได้ยินเกิดแล้ว ได้ยินเสียงที่ปรากฏแล้ว ไม่มีใคร ทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ค่อยๆ เข้าใจความจริงอย่างนี้ก่อน จึงจะสามารถรู้ความจริง ซึ่งเกิดแล้วดับคำว่าทนอยู่ไม่ได้ หมายถึง ทนที่จะเป็นสภาพธรรมนั้นต่อไปไม่ได้ เกิดแล้วก็ต้องเปลี่ยนทันที เกิดแล้วก็ดับ ประโยชน์ คือ เพื่อขณะนี้เริ่มเข้าใจว่า เห็นมีจริงๆ เป็นธรรมไม่ใช่เรา เกิดแล้วเพราะมีปัจจัยแล้วก็ดับไป

๓๒. ชีวิตประจำวันข้องอยู่กับสิ่งใด? เรื่องราวหรือความจริง? ถ้าเริ่มรู้จักว่าความจริงคืออะไร ก็จะเข้าใจความจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ว่าแต่ละอย่างหลากหลาย แตกต่างกัน เช่น เห็นก็จริง ได้ยินก็จริง ซึ่งได้ยินไม่ใช่เห็นเลย แตกต่างกันมาก เพราะมีเสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียง ซึ่งไม่มีรูปร่างสีสันอย่างที่ปรากฏทางตา แล้ววันหนึ่งก็แค่นี้ คือ มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยที่ไม่รู้เลยว่าเกิดดับ แต่จำไว้โดยความเป็นเรื่องราวสัณฐานบุคคลซึ่งแท้จริงคือนิมิตของสิ่งที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับ จึงจำไว้เป็นรูปร่างสัณฐาณ รู้โดยความหมาย รู้คำ รู้บัญญัติ รู้ชื่อ

๓๓. กายมีอยู่ก็เพื่อให้รู้ความจริง ถ้าจำคำว่า รูปเกิดดับได้ โดยที่ไม่รู้ลักษณะเลย ก็เป็นเพียงแต่การท่องจำได้ ไม่ได้เป็นความเข้าใจธรรม สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะมีจริงหรือไม่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งหมายถึง กายมีอยู่สักแต่ว่าเป็นเพียงที่อาศัยให้ระลึก ซึ่งไม่ใช่ให้ทำอะไรกับกาย แต่เพราะมีกายก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่ว่ากายมีอยู่เพียงอาศัยเพื่อระลึก ก็คือเพื่อให้เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เช่น แข็งหรืออ่อน ก็เป็นธาตุหนึ่งซึ่งมีจริง เพราะเกิดขึ้นเพียงให้รู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ แค่เพียงปรากฏแล้วหมดไปเท่านั้น

๓๔. รู้ความจริงของสิ่งใด ขณะใด? จะรู้ความจริงขณะอื่นไม่ได้ นอกจากความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ เช่น ความรู้สึก ขณะนี้ก็มีเป็นที่อาศัยให้ระลึกเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม แล้วก็หมดไป ตลอดทั้งสังสารวัฏฏ์ไม่ว่าเกิดเป็นใคร หรือมียศศักดิ์เพียงใด

๓๕. ลักษณะของคิด ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีเรื่องราวซึ่งเป็นสิ่งที่จิตคิดนึก เป็นที่เกิดของอกุศลโดยมาก ที่ว่าเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ก็เพราะจำรูปร่างสัณฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไว้ แม้ความคิดก็ไม่ได้เป็นจริงตามที่คิดทุกอย่าง เช่น คิดว่าจะมาวันนั้น อาจตายก่อนก็เป็นได้ คิดอย่างหนึ่งแต่อะไรเกิดจริงต้องอาศัยปัจจัยเกิด อาจตรงหรือไม่ตรงกับความคิดเรื่องราวที่คิด ไม่ใช่ความจริง แต่ความคิดก็คือธรรมที่เกิดขึ้นจริงแล้วดับ ไม่เที่ยง และเกิดได้เพราะมีเหตุมีปัจจัย

๓๖. ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่รู้ความจริงอะไรเลย เห็นมีจริงเพียงสักว่าให้เป็นที่ระลึกแล้วหมดไป ทุกอย่างที่มีจริงถ้าไม่ระลึกก็ไม่รู้ แล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย โดยที่ไม่รู้อะไรเลยตลอดทั้งชีวิต ตลอดชาติหรือหลายชาติ แต่ถ้าได้ฟังธรรมเริ่มเข้าใจ ก็เป็นปัจจัยให้รู้ความจริงได้ในอนาคต ซึ่งอนาคตต้องมีปัจจัยมาจากปัจจุบันขณะนี้

๓๗. ประโยชน์และการเสียประโยชน์ของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าความจริงมี แต่ไม่มีปัญญา ธรรมนั้นก็ไม่ได้เป็นที่อาศัยของปัญญา คือ มีก็มีไป แต่ถ้าเป็นปัญญา ธรรมจะเป็นที่อาศัยให้ระลึกรู้ความจริงว่า เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ก็ไม่เสียประโยชน์จากการมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ

๓๘. ฟังความจริงในความฝัน และตื่นเมื่อรู้ความจริง วิชชาต่างกับอวิชชา ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่ขณะที่รู้ แม้ฟังธรรมเข้าใจ ก็รู้ในระดับว่ามีธรรมนั้น จริง แต่ก็ยังไม่ถึงการรู้ลักษณะของธรรม เสมือนการฟังเรื่องในฝัน ฟังว่ามีจิต เจตสิก รูป เกิดดับ แต่ขณะใดไม่รู้สิ่งที่มีจริงเพราะยังไม่ตื่นจากกิเลส ซึ่งปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อสิ่งที่มีจริงนั้นเป็นที่อาศัยให้ระลึกรู้ความจริง ตื่นเมื่อไรก็คือรู้ความจริงของลักษณะที่ปรากฏจากในฝันที่ว่าแข็งมีจริง เมื่อตื่นก็คือ รู้ลักษณะของแข็งจริงๆ ยืนยันสิ่งที่ฟังในฝัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พรรณี
วันที่ 11 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยค่ะ ที่นำธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้บรรยายไว้มาให้ได้ทบทวนกันอีก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2555

“ผู้ใดย่อมปฏิบัติกิจเหล่านี้ด้วยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษควรทำ ย่อมไม่เดือนร้อนใจในภายหลังเลย” อุบายอันแยบคาย คือเข้าใจถูกต้อง พิจารณาแล้วเห็นว่าถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็คือไม่ได้พิจารณาด้วยความแยบคาย ซึ่งโยนิโสมนสิการหมายถึงการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งไม่มีใครไปกระทำ แต่หมายถึง สภาพธรรมในขณะที่ฟังเข้าใจทำหน้าที่โดยแยบคาย

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวิทวัส ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 28 มี.ค. 2555

การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา และ ไม่ประมาทในกุศลธรรม ประเสริฐที่สุด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
aurasa
วันที่ 3 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 20 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณในกุศลจิตของทุกๆ ท่านที่กรุณานำเสนอ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 8 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 6 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 ก.ค. 2558

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 16 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เจียมจิต
วันที่ 29 พ.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอกราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขอเชิญอ่าน ...

อรรถกถาชนสันธชาดก

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
มังกรทอง
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังธรรม ไม่เพียงแต่พบพยัญชนะบางส่วนแล้วคิดเอง เข้าใจเอง เพราะพระธรรมเป็นเรื่องละเอียด เมื่อฟังแล้วควรเป็นผู้มีเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองถึงอรรถ พิจารณาถึงความจริงของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจที่ละเอียดยิ่งขึ้น

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sea
วันที่ 3 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ