สมถภาวนา มีแนวทางปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องอย่างไร

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  1 ก.ค. 2554
หมายเลข  18647
อ่าน  5,591

รบกวนอย่างสูงครับ

เนื่องด้วยเป็นผู้อาจจะเก่าในการศึกษา แต่ศึกษาแบบหยิบโหย่ง ไม่มีขั้นตอนอะไรเลย และ เวลาชีวิตนี้เหลือน้อยเต็มทีครับ ที่สำคัญ !!!!!

ขอความกรุณาซักไซ้แบบไม่เกรงใจอาจารย์จะรำคาญ ได้มั้ยครับ?

ถ้าไปถามที่มูลนิธิฯ พี่พี่เก๋าเก่าคงรำคาญแย่ครับ

* * * --------------------------- * * *

กาลนี้อยากรบกวนอาจารย์ ให้การอนุเคราะห์อย่างนี้ครับ

คือทราบว่า จากพระไตรปิฎกนั้น สุดท้ายแล้วมาลงที่ * * * ทาน ศีล ภาวนา

* ทาน ผมพอจะศึกษาและเข้าใจได้

(แต่ละเอียดมาก เพราะสำคัญที่จิตของผู้กระทำ ใช่มั้ยครับ)

* * ศีล ก็พอที่จะเข้าใจ ในแต่ละระดับ (ซึ่งละเอียดมากเช่นกัน) แต่

* * * ภาวนา นี่ซิครับ มีสองอย่างที่สอนผมมาแล้ว ซึ่ง

? ในขั้นสมถภาวนาคือความเจริญความสงบของจิต (สงบจากอกุศล)

จากที่อาจารย์กรุณาตอบมาแล้ว ก็คือมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นที่ตั้งของจิตเป็นอารมณ์

โดยรบกวนสอบถามว่ามีรายละเอียดอื่น หรือ แนวทางการอบรมอย่างไรบ้างครับ

ประมาณว่า นอกจาก กรรมฐาน ๔๐ แล้ว มีหัวข้อศึกษาอีกหรือไม่นะครับ

ซึ่งผมอยากปูพื้นฐานใหม่ ของเก่าที่ฟังมา ดูจะไม่เป็นรูปแบบและไม่ชัดเจนเลยครับ

อย่างน้อยเวลาที่เหลืออยู่จะได้เข้าใจและสะสมคำสอนที่ถูกต้อง

* * * ------------ * * *

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

* * * * --------------------- * * * *


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ที่ตั้งที่จะให้จิตสงบ คือ อารมณ์ของสมถภาวนานั้น มี ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อ การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา

จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรมนั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่น เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา

เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนา ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ ที่คุณผ้าเช็ดธุลี กล่าวว่า เวลาชีวิตนี้เหลือน้อยเต็มที ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเหตุว่า เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมละกิเลสได้ แต่ สมถภาวนา ละกิเลสไม่ได้เลย เพียงแค่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น

ควรที่จะได้พิจารณาถึงความสงบในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ยังเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ในชีวิตประจำวันจึงมีขณะที่ไม่สงบอย่างมากมาย เพราะเหตุว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศล นี้เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลขณะนั้นย่อมไม่สงบ แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นย่อมสงบจากอกุศล เพราะกุศลกับอกุศลจะไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด อย่างเช่น ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นปัญญาเกิด ย่อมสงบจากความไม่รู้ เพราะคำว่า สงบ หมายถึง ขณะที่อกุศลไม่เกิด แต่กุศลจิตเกิด จึงสงบ ซึ่งสูงสุด คือ ดับกิเลสทั้งปวงได้

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมเกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นเหตุให้จิตใจสงบจากกิเลส สงบจากอกุศลตามระดับขั้นของความเข้าใจ จนกว่าจะถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลส สงบจากอกุศลโดยประการทั้งปวงได้ในที่สุด ครับ. เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียด

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ

การเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ และยากมาก

ในยุคนี้ ไม่ใช่กาละสมบัติที่จะเจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นฌานจิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 1 ก.ค. 2554

กราบขอบพระคุณ คุณคำปั่น อย่างมากครับ ที่อนุเคราะห์

และ

ขออนุโมทนาจิตที่เป็นกุศลด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขออนุญาตอธิบายให้เข้าใจละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของการเจริญภาวนานะครับ

ภาวนา หมายถึง การอบรมสิ่งที่ยังไม่มีให้มีขึ้น หรือสิ่งที่มีแล้วก็ให้เจริญขึ้น ดังนั้น ต้องไม่ใช่อกุศลแน่ที่จะทำให้เจริญ หรือไม่มีให้มี เพราะมีอยู่แล้ว ไม่อยากมีก็มีและก็เจริญมากๆ ด้วยซิครับ แต่สิ่งที่จะให้มีคือปัญญานั่นเอง ดังนั้น เมื่อใช้คำว่า ภาวนาเมื่อไหร่ เป็นอันหมายรู้ได้ทันทีว่า เป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น

ภาวนา จึงมี ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา สมถ หมายถึง ความสงบของจิต ภาวนา หมายถึงการอบรมให้เจริญขึ้น ดังนั้น จึงหมายถึง การอบรมความสงบของจิตจากกิเลส จากนิวรณ์ ให้เจริญมากขึ้นจนถึงได้ฌาน เป็นต้น แต่การจะทำให้จิตสงบติดต่อกันไปจนแนบแน่นนั้น ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าจะอบรมอย่างไรครับ

การอบรมสมถภาวนา เริ่มแรกในหนทางที่ถูก คือ เป็นผู้เห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน จึงเห็นคุณของกุศล เพราะสงบจากกิเลส จึงเจริญสมถภาวนา ดังนั้น หากเริ่มด้วยความต้องการอยากสงบ นั่นเริ่มด้วยโลภะ ก็เท่ากับว่า อกุศลจะทำให้สงบไม่ได้เลย แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ จึงอบรมสมถภาวนาครับ บางคนไม่ชอบโทสะ แต่โลภะไม่เป็นไร นั่นก็เท่ากับว่าไม่เห็นโทษของกิเลสจริงๆ อยากสงบ ไม่อยากวุ่นวาย ก็เป็นโลภะที่อยากสงบ ก็ไม่ใช่ทางที่จะเจริญสมถภาวนา เห็นไหมครับว่ายาก เพราะต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกก่อนครับ ด้วยการเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็นโทษแล้ว การเจริญสมถภาวนาก็ต้องมีอารมณ์ ๔๐ ประการที่ระลึกแล้วจะเป็นกุศล

ดังนั้น ที่ถามว่ามีมากกว่านี้ไหม คงไม่มากกว่านี้แล้วครับ ในอารมณ์ ๔๐ ประการ แต่การอบรมให้เป็นกุศลที่เป็นสมถภาวนานั้น จะต้องรู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลจริงๆ ขณะไหนเป็นอกุศลครับ ต้องแยกให้ออก นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาอีกแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ค. 2554

ยกตัวอย่าง เช่น จะเจริญเมตตา แล้วขณะไหนเป็นเมตตา ขณะไหนเป็นโลภะ ในชีวิตประจำวันแยกออกหรือไม่ ให้ของคนที่รัก ใช่เมตตาหรือโลภะ ในจิตขณะนั้นครับ ถ้าแยกไม่ออกก็เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะไม่มีปัญญา และก็เท่ากับว่าอาจเจริญอกุศล ไม่ใช่กุศลก็ได้ครับ และเมื่อแยกออกแล้วก็ต้องมีการพิจารณาตรึกให้ถูก ที่จะทำให้จิตแนบแน่น เห็นไหมครับว่ายากจริงๆ เพราะเป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ

ที่สำคัญ การเจริญสมถภาวนานั้น ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะเพียงระงับกิเลสไว้ชั่วคราวครับ ดังนั้น สิ่งที่อยากปูพื้นฐาน คือ การเจริญภาวนาไม่ว่าแบบใดก็เป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น แต่ให้เข้าใจถูกว่า สมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ แม้จะเจริญถึงขั้นสูงสุดก็ไม่สามารถทำอะไรกิเลสได้เลย เพราะเพียงระงับกิเลสไว้ชั่วคราวเท่านั้น

แต่การเจริญวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน เป็นหนทางดับกิเลสที่แท้จริง เพราะสามารถเข้าใจความจริงของตัวธรรมที่มีลักษณะว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา คือพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจถูก และอบรมสั่งสอนว่าหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้คือการเจริญสติปัฏฐาน โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรมครับ

ขออนุโมทนาที่ถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
SOAMUSA
วันที่ 2 ก.ค. 2554

กราบอนุโมทนาอย่างสูงในธรรมทานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 4 ก.ค. 2554

* * * ----------------- * * *

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

และ

ขออนุโมทนากับใจดีๆ ที่เอื้อเฟื้อครับ

* * * * ------------------------- * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 30 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
lokiya
วันที่ 2 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ