ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๒


    ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะมีความต้องการอะไรรึเปล่า

    มีโทสะมีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆ บ้างรึเปล่า มีความคิดลึกนึกเป็นอกุศลเป็นไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า

    มีความคิดเรื่องการงานยุ่งๆ ทั้งวัน จะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็ ต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่สงบจากกิเลส การที่จะนั่งเฉยๆ อยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งจะสงบกิเลสได้ก็คือ ปัญญา

    คำว่า ปัญญา ในพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่า รู้แล้วเข้าใจแล้ว แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า นั่นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่าคนนี้มีสติปัญญามากน้อย แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่าปัญญา

    ทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้แต่ได้ยินคำว่า สมถะ ก็ยังไม่รู้ว่าอะไร แต่อยากจะทำแล้ว ความอยากขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลงเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม เพราะฉะนั้นน้ำหอมนี้ราคาแพงมาก ตามความนิยมหรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้แต่ราคาแพงมากอันนั้นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการที่จะซื้อ หรือต้องการเพียงแต่จะได้กลิ่นนิดหน่อยก็พอได้อะไรอย่างนั้น

    นี่แสดงให้เห็นว่า โลภะไม่เคยห่างไกลเราตั้งแต่เกิด ทางตาต้องการเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศที่เย็นๆ สบายๆ เก้าอี้นุ่มๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวีดูละคร คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี้แสดงให้เห็นว่า เรามีแต่ความต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องคำเช่นคำว่า สงบ หรือคำว่า นิพพาน ยังไม่ทันรู้เลยว่าแปลว่าอะไร อยากจะได้ซะแล้ว อยากจะทำซะแล้ว อยากจะถึงซะแล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้ยังไง

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1


    นาที 03:14

    แต่ว่า นี่เป็นโลภะในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่า โลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นอะไร นั้นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้วต้องรู้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ถ้ากำลังโกรธสภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะเห็นความกระด้างของจิตใจในขณะที่โกรธ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และก็มีกิจหน้าที่ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้น ว่าโกรธมาก โกรธน้อยยังไง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะ - วิปัสสนา ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่เข้าใจแล้วทำไม่ได้ สมถะ คือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไปนั่ง แล้วก็จะไปเห็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่กิเลสก็ยังเยอะ คือเห็นแล้วก็ยังกลัวบ้าง โกรธบ้าง ชอบบ้าง ถ้าเห็นนางฟ้าเทวดาก็ดีใจ ถ้าเห็นนรกเห็นอะไรก็ตกใจกลัว ขณะนั้นไม่ใช่ของจริงเลย เพราะเหตุว่าเป็นการนึกคิด เหมือนความฝัน เวลาฝันนี่จริงหรือเปล่า แต่เหมือนจริงฉันใด ขณะที่กำลังเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นอะไรต่างๆ เหมือนจริงแต่ไม่ใช่จริง เพราะเหตุว่า ความจริงคือขณะนี้ ที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องไปนึกฝัน หรือว่าสร้างอะไรขึ้นมา

    เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เจริญอบรมให้มีความเข้าใจในพระธรรมที่แท้จริงก่อน แล้วก็จะไม่ถูกความต้องการของเราชักนำไปให้เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นก่อนอื่นใดท่านคิดว่าจะมีประโยชน์มากถ้าเราจะเริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อนแทนที่จะคิดเรื่อง การเจริญสมถะ หรือ วิปัสสนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงมาก สมถภาวนาสามารถที่จะทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างขณะที่ให้ทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าความสงบของจิต จะมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาจริงๆ สติสัมปชัญญะปกติจริงๆ นั่นเป็นความสงบที่สามารถจะทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิได้ แต่ว่าดับกิเลสไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทางซึ่งผู้อื่นประพฤติปฏิบัติมาแล้วคือสมถภาวนา แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม จนสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องวันสองวัน หรือว่าชั่วโมงเดียวสองชั่วโมง เป็นเรื่องที่เราจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเราเองว่า การฟังแต่ละครั้งทำให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างสักนิดหน่อยหรือเปล่า หรือเพิ่มขึ้นมาก เพราะว่าประโยชน์ของการฟังคือความเข้าใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของพุทธศาสนาแล้วก็คือว่า ต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะเป็นพระธรรม แต่ถ้าฟังแล้วไม่มีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย ขณะนั้นก็จะต้องฟังต่อไปอีก แล้วพิจารณาในเหตุผลนั้นต่อไปอีกว่า เป็นความถูกต้องหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระธรรมจริงพิสูจน์ได้ แม้ในขณะนี้ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ

    นาที 07:31

    มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้บ่อยคือคำว่า สติ คงไม่มีใครไม่ใช้คำนี้ แต่ว่าใช้ผิด อย่างเคย คืออะไรๆ ก็ต้องผิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่เรียนจริงๆ ตามพระพุทธศาสนา และเราก็แปลความหมายเอาเอง อย่างบางคนเขาบอกว่า เดินข้ามถนน และรถไม่ชน ก็มีสติ ปอกผลไม้มีดไม่บาดก็มีสติ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สติ จริงๆ ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นสภาพธรรมที่มีการระลึกได้ ที่เป็นไปในทางกุศลทั้งหมด

    อย่างวันนี้มีใครคิดให้ทานบ้างหรือยัง ทานที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวัตถุมโหฬารใหญ่โต แม้แต่เพียงสิ่งเล็กน้อยที่ให้เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น อาจจะเป็นคนที่ไม่มีกระดาษเช็ดมือ แล้วเรามีเราให้ ขณะนั้นก็เป็นทาน เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์กับผู้รับ และเราก็มีจิตที่จะไม่เห็นแก่ตัว คือไม่ลำบากในการที่จะให้คนนั้นเลย มีความเป็นเพื่อน แล้วก็มีการช่วย มีการให้สิ่งนั้นไป ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่งซึ่งดี ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย จึงเป็นไปในการให้ ถ้าคนไม่มีสติเกิด เห็นคนที่กำลังต้องการกระดาษ และตัวเองก็มี และก็อยู่ในกระเป๋า ก็ไม่เกิดการคิดที่จะเปิดกระเป๋าแล้วหยิบให้ ขณะนั้นก็เป็นธรรมหมด เป็นความตระหนี่ เป็นความเกียจคร้าน เป็นอะไรที่เป็นฝ่ายไม่ดี แต่ถ้าธรรมฝ่ายดีคือ สติมีการระลึกที่จะเป็นไปในการช่วยเหลือ ในการให้ ขณะนั้นต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติสมถะ ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติวิปัสสนา แต่เป็นสติการระลึกได้ที่จะเจริญกุศล และก็ไม่ใช่กุศลเพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ ทานชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการที่จะทำให้จิตของเรา สงบจากอกุศลทุกอย่าง แล้วเพิ่มความมั่นคงในการสงบขึ้น นั้่นถึงจะเป็นสมถภาวนา แล้วก็สภาพธรรมหลายอย่างซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีช่วยกัน เกิดขึ้นปฏิบัติกิจ ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนว่า อยากจะนั่งให้สงบ เครียด และก็อยากจะไม่เครียด แล้วก็เลยไปทำอะไรขึ้นมา แล้วคิดว่าขณะนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่

    ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะได้ยินคำหนึ่งคำใด ขอให้มีความเข้าใจถูกจริงๆ ในคำนั้น ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา นั่นเป็นการเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กที่ละน้อยเพิ่มขึ้น ถ้าปราศจากปัญญา อย่าปฏิบัติอะไรทั้งหมด ทานก็ไม่ได้ วิปัสสนาก็ไม่ได้ ผิดหมด ต้องเป็นปัญญาของเราเองซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย แล้วก็จะเห็นประโยชน์ของปัญญาเพิ่มขึ้น

    นาที 10:25

    ถ้าปราศจากปัญญา อย่าปฏิบัติอะไรทั้งหมด ทานก็ไม่ได้ วิปัสสนาก็ไม่ได้ ผิดหมด ต้องเป็นปัญญาของเราเองซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย แล้วก็จะเห็นประโยชน์ของปัญญาเพิ่มขึ้น

    นาที 10:40

    นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจชีวิตว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว พรุ่งนี้ไม่ทราบจะอยู่ที่ไหน และเย็นนี้ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แม้แต่เพียงขณะหนึ่งขณะใดต่อไปนี้เราก็ยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ย่อมได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ว่า ขณะนี้ ถ้าจะมีปัญญาก็มีปัญญาขณะนี้ได้ ถ้าจะมีความสงบก็มีความสงบในขณะนี้ได้ ถ้าคนที่มีแต่โลภะ มีแต่โทสะ ขณะนี้เขาเกิดได้ โทสะเขาก็เกิดได้ เพราะว่าชีวิตนี้อยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นโลภะไม่ใช่ขณะที่เป็นโทสะ ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเป็นโทสะ โทสะเกิด ขณะที่โทสะไม่เกิดแต่ปัญญาเกิด เอาอย่างไหน เพราะว่าชั่วขณะจิตเดียว ทุกคนมีชีวิตอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่เกิดดับสืบต่อกัน นี่คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นไตรลักษณะ ก็คงจะได้ยินได้ฟังว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่ทุกข์ที่นี่ไม่ใช่ทุกข์เจ็บตัว ไม่ใช่ทุกเจ็บใจ แต่ทุกข์นั้นไม่เที่ยงเพราะเกิดขึ้นสั้นมากแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเลยซึ่งเกิดขึ้น และคงอยู่โดยไม่ดับ แต่ว่าความไม่รู้ก็ทำให้คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง เมื่อไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ แต่คนที่จะหมดกิเลสได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องมีปัญญาแน่นอน ถ้าไม่มีปัญญาแล้วดับกิเลสไม่ได้

    แต่ว่ามันยาก ก็ต้องมีการตั้งต้น มีการเริ่มต้น ตั้งแต่การที่บุคคลใดก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ต้องฟังพระธรรมของพระองค์ก่อน จะได้ทราบว่า เราเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกมาก่อนที่จะได้ฟัง ถ้าทุกคนเข้าใจได้ถูกต้องก่อนฟัง ไม่ต้องฟัง เสียเวลาไม่มีประโยชน์ แต่ทุกครั้งที่ฟังจะรู้ว่า แต่ก่อนเราไม่เคยได้เข้าใจอย่างนี้ แม้แต่ความหมายของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เคยคิดเลยว่าหมายความถึง สภาพธรรมในขณะนี้ กำลังไม่เที่ยง กำลังเกิดขึ้น และดับไป เราไปคิดว่า เกิดมาแล้วแก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย นั่นคือความไม่เที่ยง เราเข้าใจอย่างนั้น

    แต่ศึกษาแล้วจะรู้ได้ว่า ถ้าเข้าใจเพียงเท่านั้น หมดกิเลสไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องซึ่ง เราก็รู้เวลานี้พูดก็จริง เกิดแล้วแก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย กิเลสก็ยังอยู่เต็ม ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ความหมายของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ต้องลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น และผู้ที่ประจักษ์แจ้งพระองค์แรกก็คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้คนอื่นเข้าใจตาม

    อย่างคำว่า สังขาร เคยเข้าใจว่าหมายความถึง รูปร่างกาย ใช่ไหม พิจารณาสังขาร เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่ใช้คำว่าสังขาร นี้หมายความถึง ร่างกายกับวิญญาณ ใช่ไหม อันนี้ก็ไม่ตรง เพราะว่าขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ สังขารกับวิญญาณแยกกัน สังขารไม่ใช่วิญญาณ และสังขารก็ไม่ใช้รูปด้วย

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2


    นาที 14.30

    เพราะว่า ขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ สังขารกับวิญญาณแยกกัน เพราะฉะนั้นสังขารไม่ใช่วิญญาณ และสังขารก็ไม่ใช้รูปด้วย เพราะว่าขันธ์มี ๕ รูปขันธ์ทุกอย่างซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ทั้งหมด เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป ทุกอย่างซึ่งไม่สามารถรู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม ซึ่งสมัยนี้ ยุคนี้ รู้สึกจะใช้คำนี้กันมาก แต่ไม่ตรงตามพระพุทธศาสนาเลย ทุกอย่างที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็บอกว่าเป็นรูปธรรม กำลังจะเป็นรูปธรรม ไม่ทราบความนิยมทำไมไปเอาคำซึ่งไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องมาใช้

    แต่ว่าทางธรรมแล้ว รูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่สภาพนั้นไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งใดก็ตามซึ่งมีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งนั้นเป็นรูป หรือรูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง พวกนี้เป็นรูป เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ นี้ รูปธรรมได้แก่สภาพธรรมทุกอย่างซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ขันธ์หนึ่งแล้ว

    เวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึก คนไทยเราใช้บ่อยคือเวทนา ออกเสียงว่าเวด-ทะ-นา และเราก็แปลว่า สงสารเหลือเกิน คนนี้น่าเวทนามาก ก็น่าสงสารมาก แต่ ในพระพุทธศาสนา เวทนา เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วมีกับทุกคนด้วย เพราะเหตุว่าหมายความถึงความรู้สึก ซึ่งความรู้สึก มีความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรากล่าวโดยย่อ เป็นเวทนา ๓ แต่ถ้าเราแยกเป็นทางกาย กับ ทางใจ จะเพิ่มโสมนัสเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขใจ และก็โทมนัสเวทนาความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ ไม่มีใครที่ไม่มีเวทนาทั้ง ๕ นี้ ทุกคนมี เวลาเด็กร้องไห้ มีเวทนาไหม ต้องมี ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา และถ้าร่างกายปวดเจ็บด้วย สำหรับใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น ทุกข์กาย ก็คือความรู้สึกที่กาย ที่ร่างกาย ที่ปวดที่เจ็บ ที่เมื่อย คันอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับกายนี้ทั้งหมด ขณะนั้นเป็นความรู้สึกซึ่งมีจริงๆ เป็นทุกข์เวทนาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่พระอรหันต์ ถึงแม้ว่าท่านจะปวดเจ็บสักเท่าไหร่ก็ตาม ไม่มีโทมนัสเวทนาคือไม่มีทุกข์ใจเลย มีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เวทนาก็แยกออก ถ้าใครที่มีสติเกิดเร็ว เวลาทุกขเวทนาเกิดเขาก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาหรือสติไม่เกิด พอทุกข์กายเกิดนิดนึง ความทุกข์ใจมากมายหลายเท่ากว่าทุกข์กาย เป็นห่วงไปถึงว่า อีกสิบวันจะเป็นยังไง จะต้องผ่าตัดไหม จะต้องอะไรบ้าง หลายอย่าง จะต้องกินยาอะไรต่างๆ พวกนี้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกข์ใจมากมาย ในพระไตรปิฏกอุปมาไว้ไพเราะมากว่า สำหรับทุกข์กาย ไม่มีใครที่หนีพ้นเลย ตราบใดที่มีกาย เมื่อมีตา ก็ต้องมีโรคตา ใช่ไหม ต้อ ไปผ่าตัด ไปรักษา มีหู ก็ต้องมีโรคหู ส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปร่างกายเป็นทุกข์กายได้ทั้งหมด เหมือนกับ ถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๑ เวลาที่ทุกข์กายเกิด และเวลาที่ทุกข์กายเกิดแล้วก็เป็นห่วงกังวลวิตกทุกข์ร้อน เป็นทุกข์ใจ เพราะว่ากายเจ็บ แต่กายคิดไม่ได้ แต่ความคิดปรุงแต่งไปสารพัดอย่างที่จะเป็นความทุกข์

    เพราะฉะนั้น ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกข์กายแล้ว อุปมาเหมือนกับลูกศรดอกที่ ๒ ที่ยิงซ้ำที่แผลเก่า ความทุกข์จะเพิ่มมากขึ้นอีกสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นในชีวิตของเราได้เราแยกได้ ที่ทุกคนคิดว่ากำลังมีทุกข์หรือมีปัญหา จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความคิด ทางทุกข์จริงๆ ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้นเลย เฉพาะทุกข์กายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าสมมติว่าร่างกายแข็งแรงดีไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ทุกข์ ให้ทราบว่าทุกข์ที่เหลือทั้งหมด เป็นเรื่องของทุกข์ใจ เป็นเรื่องของความคิด เป็นความกังวล ความเดือดร้อนต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เราเอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่อยากจะมีทุกข์อันนี้ เราก็สามารถจะมีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้นได้ แต่ว่าก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับอีก แต่ว่าให้ทราบว่า แม้แต่ความรู้สึกก็บังคับไม่ได้ นี่คือความหมายของขันธ์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับสิ้นไป แต่ว่าเพราะเหตุว่าเรายึดถือสภาพธรรม ๕ อย่างนี้ว่าเป็นเรา เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา เรายึดถือความรู้สึกไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ก็พลอยวุ่นวายเดือดร้อนกังวลว่าเป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง ก็เป็นขั้นที่ ๒ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์

    สัญญาขันธ์ สัญญาที่นี่ ก็เป็นภาษาบาลีอีก ถ้าเราเริ่มเข้าใจภาษาบาลีให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย เราจะฟังพระธรรมเข้าใจขึ้นอีก สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำ แต่ว่าในภาษาไทยเราต้องมีการเซ็นต์ ต้องมีการร่าง ต้องมีการลงชื่อให้จำกันแม่นๆ แต่จริงๆ แล้วขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งใด จำสิ่งนั้นทันที

    เพราะฉะนั้น พอเห็นอีกทีเราก็จำได้ เพราะสิ่งนี้เราเคยเห็นละจำได้ นี้ก็เป็นขันธ์หนึ่ง เป็นสัญญาขันธ์ สำหรับสังขารขันธ์ไม่ใช่รูป ได้แก่โลภะบ้าง โทสะบ้าง สติบ้าง วิริยะบ้าง พวกนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เป็นสังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา

    แล้วก็สภาพอื่นซึ่งเกิดขึ้นจิตทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นที่จะบอกว่า พิจารณาสังขาร ความเข้าใจของเราถูกต้องหรือยัง มิฉะนั้นก็ใช้คำผิดอีก เราก็เลยผิดไปตั้งแต่ต้น ถ้าเข้าใจถูกก็เข้าใจถูกตั้งแต่ต้น จิตก็คือจิต ความรู้สึกก็คือความรู้สึก รูปคือรูป แยกออกจากกันได้เป็นแต่ละลักษณะ แม้แต่ว่าจะพิจารณาสังขาร ก็ต้องพิจารณาว่า มีความเข้าใจในคำนั้นถูกต้องหรือยัง

    แม้แต่คำว่า สติ ต่อไปนี้เราก็รู้ ขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นจึงเป็นสติ ถ้าไม่ใช่กุศลขณะนั้น จะใช้คำว่าสติก็ใช้ภาษาไทยกันเอง แต่ไม่ใช่สภาพของสติ สติจริงๆ ต้องระลึกเป็นไปในกุศล กำลังโกรธ สติเกิดไหม ไม่เกิด แต่พอระลึกได้ว่า ไม่ดี โกรธนี้ คนที่เราโกรธเขากำลังสบาย กำลังเป็นสุขสนุกสนาน เราคนเดียวกำลังเดือดร้อน กำลังไม่สบายเลยสักนิดนึง จิตใจกำลังขุ่นมัวเต็มที่ แล้วใครทำให้ เราทำเอง ถ้ามีปัญญาจริงๆ เห็นโทษของอกุศล ขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดสติเกิดขณะนั้นเป็นไปในทางที่ดี แต่ว่าขณะใดที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี ขณะนั้นสติก็ไม่เกิด และเราก็อยากจะมีสติเยอะๆ นั่นเพียงอย่าง แต่ไม่เราไม่สามารถจะได้สติด้วยความอยาก ต้องได้ด้วยการเจริญอบรมทีละเล็กทีละน้อย จริงจะมีความมั่นคงขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่มีอยู่แล้ว แต่ต้องอบรมในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็น สมถะ หรือ วิปัสสนา

    อย่าง สติ ก็ต้องมีการระลึกได้บ่อยๆ ขณะที่ฟัง และเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นสติ ถ้ากำลังฟังแล้วก็นึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะนั้นเป็นสติไหม ไม่เป็น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งเราก็บังคับไม่ได้อีก แต่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ลักษณะของสติ ต้องต่างกับขณะที่เป็นอกุศล

    ถ้าเราโกรธใครแล้วมีคนมาบอกว่า โกรธมากๆ ดีนะ ขณะนั้นถ้าเราเห็นด้วย เป็นสติหรือเปล่า

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3


    หมายเลข 49
    12 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ