ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราโกรธใครแล้วมีคนมาบอกว่า โกรธมากๆ ดีนะ ขณะนั้นถ้าเราเห็นด้วย เป็นสติหรือเปล่า ไม่เป็น แต่ถ้ามีคนบอกเราบอกว่า ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นจริงๆ ขณะนั้นเป็นสติ เป็นไปในทางที่ดีงามทั้งหมด เราต้องสามารถที่จะแยกออกได้ว่าธรรมไหนดี ธรรมไหนไม่ดี แล้วใครล่ะจะต้องการสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเอง แต่เพราะความไม่รู้ต่างหาก เราจึงสะสมสิ่งที่ไม่ดีมากๆ และเราก็ต้องมานั่งแก้สิ่งที่ไม่ดีของตัวเราเอง ซึ่งคนอื่นแก้ให้ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น อย่ารีบร้อนที่จะไปเจริญกุศลขั้นสูง สมถะ วิปัสสนา และก็ยังไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าเรามีความเป็นมิตรกับคนอื่นบ่อยๆ ใจเราสบายมาก เราจะไม่มีศัตรูเลย รับรองได้จริงๆ ว่าเราไม่มีศัตรู เพราะใจเราไม่เป็นศัตรูกับใคร คนอื่นไม่ชอบเรา เขาเดือดร้อน เขาวุ่นวาย เขาไม่ชอบเรา แต่เรามีความเป็นมิตร หวังดี ช่วยเขา เราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่คนที่ไม่ชอบเราที่เป็นศัตรูกับเรา เดือดร้อนตลอด และเราจะเป็นคนไหนดี คนที่เดือดร้อนกับคนที่ช่วยคนอื่น ทั้งๆ ที่เขาโกรธเรา แต่เราก็ไม่โกรธเขา เราก็ช่วยเขาได้ เราเป็นผ้าเช็ดธุลี เช็ดได้หมดทุกอย่าง รับได้หมดทุกอย่าง ไม่เดือดร้อนเลย หรือเราจะเป็นคนเก่า ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ เดือดร้อน ต้องพูดอย่างนี้ ต้องทำอย่างนั้น ให้ตรงกับใจเรา แล้วเมื่อไม่เป็นใจเราก็ไม่มีความสุข เราจะเป็นอย่างเก่า หรือว่าเราจะมีสติที่จะรู้ว่า ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเป็นศัตรูกับใคร

    เคยมีใครที่รู้สึกว่าน่ารักบ้างไหม เห็นใครเป็นคนที่น่ารักมากๆ พอจะมีตัวอย่างของใครซึ่งน่ารักมากๆ ไหม เราก็เป็นอย่างนั้นได้ เราดูว่า ทำไมน่ารักอย่างนั้น เขาเป็นคนที่คิดถึงคนอื่น ไม่คิดถึงตัวเอง แล้วก็ช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็อภัยให้คนอื่น คือมีชีวิตที่มีความสุข แล้วก็ไม่เดือดร้อน ใครเค้าจะเป็นยังไงเราก็บังคับเขาไม่ได้ ถ้าคนหนึ่งเป็นคนที่มีกิริยาก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี แล้วทำไมเราจะมาเดือดร้อน นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเราก็คือว่าเราไม่เดือดร้อนไม่ว่าใครจะเป็นยังไง แล้วเราก็สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้จริงๆ ถ้าสติเกิด

    เพราะฉะนั้น เราจะเห็นคุณของสติ ธรรมฝ่ายดี เพราะสติ และปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศล ไม่ใช่ว่าไปอยู่ป่า เพราะว่าไปอยู่ป่านั้นไม่มีใครมาอยู่รอบเรา พอเรากลับมาจากป่า เราก็เดือดร้อนอีกแล้ว

    บางคนเขาท่องเมตตาเก่งมากเลย แต่ว่าท่องอยู่ในห้อง ไม่มีใครเลย พอออกมานอกห้อง เมตตาหายไปหมดแล้ว ที่ท่องมาครึ่งวัน ความโกรธก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องของการท่อง แต่ว่าไม่รู้ลักษณะจิตว่า เมตตา คือความเป็นเพื่อน ความหวังดี และการเป็นเพื่อนกับคนอื่น ดีกว่าการเป็นศัตรู เพราะใจเราไม่ต้องไปคิดเรื่องที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน

    สิ่งที่ดีงาม ที่ประเสริฐสุด มีอยู่ในพระธรรมวินัยทั้งหมด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีกิเลสเลย เพราะฉะนั้นกายวาจาของพระองค์จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเราจะรู้จุดว่า อะไรก็ตามที่ไม่ดีทั้งหมด ที่ออกมาทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ตา หรือสีหน้าทั้งหมด มาจากกิเลส หรืออกุศลซึ่งอยู่ที่ใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ที่ใจ ทุกอย่างก็ดี และก็กิริยาวาจาที่งดงามทั้งหมดของผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียบพร้อมอยู่ในพระวินัยปิฏก

    ถ้าว่างๆ หรือที่นี่มีพระไตรปิฏก ก็น่าจะอ่านมากๆ เลย และก็พระสูตรก็พอจะอ่านแล้วพิจารณาได้ว่า เป็นคำสอนทุกระดับในชีวิตประจำวัน พระวินัยก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า กิริยาวาจาทั้งหมดที่เป็นมารยาทสังคมที่ดี เพียบพร้อมอยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วก็ถือว่าเป็นสากลด้วย เพราะว่าสิ่งที่ดีแล้ว ต้องดีสำหรับทุกเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรม

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3


    นาที 4.50

    พระธรรมยากไหม หรือว่าเป็นชีวิตจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ แล้วก็น่าศึกษา น่าจะเข้าใจตัวเรามากกว่านี้ แล้วทางเดียวที่จะเข้าใจตัวเราได้ คือศึกษาพระธรรม

    แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือจิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นคำใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย หมายความถึงสภาพที่เกิดกับจิต คำว่าเจตสิก เกิดกับจิต อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า จิต เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ว่ามีหลายประเภท ทำไมจึงมีจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต มีหลายอย่าง เพราะฉะนั้นก็ทำให้ จิต ต่างออกไปเป็นชนิดต่างๆ อย่างโกรธ เป็นเจตสิก โลภเป็นเจตสิก เมตตาเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเขาจะไม่จำอะไร จะไม่โลภ จะไม่โกรธ จะไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นลักษณะที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สามารถที่จะจำความละเอียดของทุกอย่างที่ปรากฏได้ รู้ด้วย ว่าคนนี้ไม่ใช่คนนั้น หรือว่าแม้แต่เพชรเทียมกับเพชรแท้ สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้สามารถ ที่จะรู้ได้ เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของจิต แต่ว่าขณะที่กำลังจำ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เจตสิกมี ๕๒ ชนิด ทำให้จิต ต่างกันไปเป็น ๘๙ ประเภท จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่คิดแม้ไม่เห็นไม่ได้ยินก็ยังคิดได้ คืนนี้ตอนนอน จะรู้เลยว่า ไม่เห็นอะไรได้ยินอะไรก็ยังคิด ขณะนั้นเป็นจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน จะไม่มีการที่จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิก เพราะเหตุว่าความหมายของสังขารธรรมคือสภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ แม้แต่รูปจะไม่มีสักรูปเดียวซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดจะต้องมีสภาพธรรมอื่นร่วมกันเกิดปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่แยกกันทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับจิตเห็น จิตได้ยิน

    เรื่องของตัวเราทั้งหมด แต่เราไม่เคยรู้เลยจนกว่าเราจะศึกษาธรรมโดยละเอียด เราจะเห็นความเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ อยากจะเห็น แต่ถ้าตาบอดก็เห็นไม่ได้ อยากจะได้ยินแต่ไม่มีโสตปสาทก็ได้ยินไม่ได้ อยากจะคิดเรื่องดีๆ อ้าวคิดเรื่องที่ไม่ดีอีกแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ ตามการสะสม แต่ถ้าสะสมบ่อยๆ ในทางกุศลแล้วก็มีปัญญา ความคิดก็จะคิดในทางที่ดีเพิ่มขึ้น ในทางที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ในพุทธศาสนากล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อคนที่ฟังฟังจบก็ย้อนถาม แล้วที่ยืนมันเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่ยืนอยู่นะมีไหม มี เป็นอะไร ก็เป็นคน เป็นคนใช่ไหม ตรงไหนเป็นคน ตั้งแต่ศีรษะจดเท้ารวมกันแล้วเป็นคน รวมแล้วจึงเป็นคนใช่ไหม แต่ถ้าไม่รวมแล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบว่ามันจะแยกตรงไหน

    ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า มี มีแน่ๆ เลย แล้วเราเคยว่าเป็นคนด้วย ลองกระทบ ลองจับดูที่ว่าเป็นคนสิ จับเรื่อยมาตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า ลองจับดูสิ มีอะไร ก็จับแขน ที่นั่นหรือคือแขน จับจริงๆ กระทบอะไร

    ผู้ฟัง กระทบเนื้อ

    ท่านอาจารย์ เรียกว่าเนื้อใช่ไหม เอาจริงๆ ไปกว่านั้นอีก กระทบอะไร ถ้าไม่เรียกว่าเนื้อ ลักษณะอะไร สำหรับคนที่ไม่รู้อะไรเลย ยังไม่ต้องศึกษา

    ผู้ฟัง มีลักษณะไม่แข็งแต่ว่าอ่อนนุ่ม

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ใช่ไหม ลักษณะที่แข็งหรืออ่อนนุ่ม ไม่เรียกอะไรเลยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เรียกก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกเลย ไม่เรียกเลย มีจริงๆ ไม่เรียกได้ไหม สิ่งที่มี ไม่จำเป็นต้องเรียก บางทีรถยนต์คันหนึ่ง ส่วนปลีกย่อยในรถยนต์ อะไหล่แต่ละชิ้น เราก็เรียกไม่ถูก ทั้งๆ ที่มี เรารู้ว่ามี แต่เราเรียกไม่ถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่มี ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม ได้ อันนี้เป็นประการแรก สิ่งที่มี ต้องมีแม้ว่าไม่เรียกชื่อเลย นี่ประการหนึ่ง หรือว่าสิ่งที่มีเคยเรียกชื่อนี้ เปลี่ยนเป็นชื่ออื่นได้ไหม ได้ อย่างแขน คุณสุกลเรียกว่า แขน ภาษาไทย ภาษาอื่นเขาไม่ได้แขน เขาเรียกภาษาอื่นได้ไหม ได้ แต่ว่าแขนหรือสิ่งที่คุณสุกลเคยยึดถือว่าเป็นแขน ลักษณะจริงๆ เพียงแข็ง แข็งมี ถูกไหม แข็งมี กระทบสัมผัสแข็ง แข็งมี มีก็ต้องบอกว่ามี ลองกระทบสัมผัส แข็งมีไหม มี แข็งมี สิ่งที่มีนั้นคือแข็ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นความจริงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี มีจริงๆ จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ สิ่งที่มีนั้นจะเรียกว่าอะไรก็ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเรียกอย่างนี้ก็ได้ เรียกอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ เราจะต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องว่า ลักษณะที่มีจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน แข็งก็แข็ง ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง จะตอบเขายังไง

    ท่านอาจารย์ ก็มีแข็ง และสิ่งที่มีเป็นอะไรก็ตอบว่ามีแข็ง มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีทุกอย่าง แต่ว่าเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ตัวตน ความหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่นี่คือ ไม่ยั่งยืน แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นมี แล้วก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่สงสัยว่าคนฟังก็คงจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลา ที่จะต้องเข้าใจพิจารณาบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความจริง

    เพราะฉะนั้น มีอีกคำหนึ่ง นอกจากคำว่า ธรรม แล้ว มีคำว่า ปรมัตถธรรม และ อภิธรรม ปรมัตถธรรม หมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ สิ่งนั้นก็มี หรือแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่ออะไรก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็คงเป็นสภาพธรรมนั้น อย่างภาษาบาลีใช้คำว่า โลภะ ภาษาไทยเราบอกว่า ความติดข้อง ความอยากได้ ความต้องการ ภาษาอังกฤษเรียกอีกคำหนึ่ง ภาษาอื่นก็เปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนลักษณะของโลภะไม่ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมมันไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อเลยก็ได้ จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ จะเปลี่ยนชื่อก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่มี คือมีปรมัตถธรรม มีธรรมจริงๆ จะเรียกก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ จะไม่บอกว่าเป็นตัวตน ไม่บอกว่าเป็นคน ไม่บอกว่าอะไร แต่ลักษณะของรูปก็เป็นรูป ลักษณะของนามก็เป็นนาม

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5


    นาที 13.00

    ผู้ฟัง ขอรบกวนเรียนถามท่านอาจารย์ช่วยแนะวิธีประยุกต์หลักธรรมเข้ามาใช้กับชีวิตการทำงานประจำวันให้มีความสุขความสงบราบรื่นด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องการวิธี เหมือนยา เอาไปรับประทาน แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ที่จะมีความสุขราบรื่นทั้งนอกบ้านในบ้านเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และกิเลสทั้งหมด จะลดน้อยลงก็ต่อเมื่อมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางเลย ซึ่งใครจะหายา หาวิธี หาอะไรก็ตามแต่ ที่คิดว่าตนเองจะเป็นสุข เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดว่าจะเอาธรรมข้อไหนหรืออะไรก็ตาม อบรมเจริญปัญญาแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าขณะนี้ถ้าถามคนทุกคนว่า โลภะความโลภดีไหม ไม่ดี ละเสีย ได้ไหม ก็รู้ว่าไม่ดีก็อย่ามีสิ ได้ไหม ไม่ได้เพราะอะไร เพราะไม่มีปัญญา ที่จะเห็นโทษของโลภะจริงๆ โทสะดีไหม ทุกคนบอกว่าไม่ดี เมื่อไม่ดีก็อย่าเกิดสิ ละเสีย แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาก็ละโทสะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งอกุศลเหล่านั้นไม่ให้เกิดได้ บางคนก็ชื่นชมกับวิธีของนักจิตวิทยา นักปรัชญาอะไรก็ตามแต่ ซึ่งพยายามที่จะใช้คำพูด หาหนทางที่จะพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ แล้วก็ประเล้าประโลมให้จิตใจสบายขึ้น แต่ไม่ใช่หนทางดับกิเลส ยังไงๆ ก็ตามเกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง มากหรือน้อยวันใดก็วันหนึ่ง

    แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องการเพียง ไม่มีโลภะเดี๋ยวเดียว ไม่มีโทสะเดี๋ยวเดียว หรือว่าต้องการที่จะดับอกุศลทั้งหมด ถ้าจะดับอกุศลทั้งหมด ทางอื่นไม่มีเลย นอกจากอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาตามความคิดด้วย ต้องเป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการศึกษาเข้าใจพระธรรมจริงๆ จึงจะเป็นปัญญาได้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตกราบเรียนถามต่อไป เนื่องจากกระผมได้เคยสนทนาธรรมกับบางท่าน ก็พูดถึงเรื่องปัญหาของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันนี้ว่า น่าจะมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยว หรือว่าบังคับจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าผลของการที่คนหนุ่มคนสาวไปยึดถือสิ่งที่เป็นความสนุกเพลิดเพลิน เช่นสถานเริงรมย์ต่างๆ ก็นำมาซึ่งความเสียหาย และความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิหรือจะเป็นสัมมาสมาธิเขาก็พูดบอกว่า ดีกว่าปล่อยให้คนหนุ่มคนสาว ไปใช้ชีวิตในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง และครอบครัว เพราะฉะนั้นก็สนับสนุนให้มีการไปปฏิบัติด้วยการนั่งสมาธิตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า สมาธิ ไม่ผิด แล้วก็บอกให้รู้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ก็ไม่ผิด คือให้ความจริง ให้ความถูกต้อง ไม่ใช่ว่า สิ่งที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิก็บอกว่าสัมมาสมาธิ แต่บอกว่านี่คือสมาธิมีผลอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ว่าความเห็นของผู้ใหญ่ท่านนั้น ก็ไม่หวังว่าจะให้มีปัญญารู้แจ้งอะไร เป็นแต่เพียงว่าดีกว่าปล่อยให้ไปใช้ชีวิตในทางที่จะเดือดร้อน และเสียหาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวว่า จะเป็น กุศลหรือว่าเป็นอกุศล แต่ว่าอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ดีงาม จึงได้มีการชักชวนกันไปปฏิบัติธรรม อย่างเช่นเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนามักจะมีการเชิญชวน และก็มีภาพปรากฎมา ซึ่งถ้าจะพูดกันถึงประโยชน์ ในความเข้าใจของผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องละเอียดมากกว่าที่จะไปบอกว่าควรหรือไม่ควรไปปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ก็บอกตามความเป็นจริงว่า ไปทำสมาธิ และสมาธินี่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าการไปโรงเรียนก็มีหลายวิชา แต่ว่านี่ไม่ใช่ไปโรงเรียน นี่ไปทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ก็ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไรใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ให้เขาเข้าใจถูกว่า นี่คือสมาธิ และก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้วก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิแน่นอน มิจฉาสมาธิไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทยทุกประเทศมี บางประเทศก็ยังบอกว่านั่นเป็นหนทางที่จะรู้แจ้งนิพพาน อย่างที่เร็วๆ นี้ก็มีที่ติดป้ายประกาศแล้วคนก็ตื่นเต้นไป โดยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นไม่มีเครื่องวัด แต่ถ้าศึกษาพระธรรมแล้วสามารถที่จะชี้แจงได้ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะอะไร ไม่ไช่กล่าวเฉยๆ ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ต้องมีเหตุผลด้วยว่าเป็นมิจฉาสมาธิเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ผู้สอนก็จะต้องประกาศว่า สมาธิที่สอน นำไปสู่ถึงที่สุดคือความหลุดพ้น หรือนิพพานอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าผลที่ตามมาดียังไง ไม่เห็นมีที่ไหนบอกเลยว่าเป็นมิจฉาสมาธิ ตัวเด็กเองหรือผู้ที่เข้าไปศึกษาก็ไม่มีโอกาสได้ทราบ หรือว่าผู้ปกครองที่ส่งไป ก็ไม่ได้มีความรู้พอที่จะตัดสินได้ว่าเป็นสมาธิชนิดไหน มันลำบากตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังไตร่ตรองคำที่ได้ฟังนี้ สำคัญที่สุด คือผู้ฟังมีสิทธิ์ คนที่พูด อยากจะพูดอะไรก็ได้ แต่คนฟังรู้ว่าคำพูดนั้นถูกหรือผิด คำพูดนั้นจริงหรือเท็จ ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นผู้พูดแล้ว เราจะต้องเชื่อ ในพระพุทธศาสนาไม่มีเลย ที่จะมีการบังคับให้เชื่อ หรือบอกว่าเชื่อเพราะเป็นครู เชื่อเพราะเป็นอาจารย์ ก็ไม่ได้ แม้แต่ว่าได้ยิน ได้ฟัง มาจากพระโอษฐ์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะไตร่ตรองว่า คำนั้นถูกต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้นผู้พูด พูดไปเถอะ จะพูดยังไงก็ได้

    แต่ผู้ฟังตัดสินเอง ใช่ไหม เพราะว่าผู้ฟังมีวิจารณญาณ มีเหตุผลว่า คำพูดนี้ถูก หรือว่าคำพูดนี้ผิด ถ้าอยากจะเชื่อ ไม่ไตร่ตรองก็ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม แต่ผู้ที่แสวงหาความจริงคือสัจจธรรม ผู้นั้นไม่ต้องการของหลอก ของลวง ของเท็จ ผู้ที่แสวงหาสัจจธรรมนี้ต้องการความจริง และรู้ว่าความจริงมันต้องมีเหตุผล แล้วก็ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ และโดยเฉพาะถ้าเป็นคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องละ ถ้าเรื่องอะไรก็ตามเพื่อได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปทำแล้วจะได้อะไร นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทราบได้เลย

    ละทั้งหมดตั้งแต่ฟัง ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดความเข้าใจผิด ละความไม่มีเหตุผล ให้เข้าใจในเหตุผล ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง นั่นจึงจะเป็นคำสอน แต่ถ้าไปแล้วจะได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่

    เคยมีคนที่เขาไปหาบางท่านที่ท่านก็ไขว่คว้าหาใส่สร้อยนาฬิกาอะไรมาให้สารพัดอย่าง ใช่ไหม ถ้าไปถามผู้นั้นบอกว่า เราไม่ได้ต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง ไม่ได้มีความต้องการในสิ่งนั้น ขอฟังธรรมที่จะทำให้ไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นได้จริงๆ ให้ดับโลภะหมดเป็นสมุจเฉท ท่านผู้นั้นจะสอนได้ไหม ในเมื่อท่านคว้าอะไรต่ออะไรมาให้ ก็แสดงว่าท่านคนนั้นยังมีโลภะ มีความต้องการ

    แต่คนที่ต้องการปัญญาจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร แม้แต่ นิพพาน ก็ไม่ต้องการ ต้องการความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เรื่องนิพพานไม่ต้องห่วง ต้องถึงถ้าเป็นผู้ที่เดินทางที่ถูก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ต้องการนิพพาน

    แต่ไปผิดไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วก็เชื่อว่าได้นิพพาน ก็เหมือนกับคนตาบอดที่ได้ผ้าดำมา และคนอื่นก็บอกว่านี้ผ้าขาว คนนั้นก็ปลาบปลื้มใจคิดว่าตัวเองได้ผ้าขาวมาแล้ว แต่ความจริงก็คือผ้าดำ เพราะว่าตาเขาไม่สามารถที่จะเห็นได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคำเหมือนรักษาคนตาบอดให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความเป็นจริง ด้วยตัวของตัวเอง อย่าคิดว่าคนที่พูด คนอื่นจะเชื่อ คนฟังมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่จำเป็นต้องเชื่อ สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น หรือว่าการขัดแย้งก็ได้ ถ้าไม่เห็นด้วย ใช่ไหม แต่ผลก็คือว่าถ้าสิ่งใดผิดต้องยอมรับว่าผิด ถ้าสิ่งใดถูกก็ยอมรับว่าถูก การสนทนาธรรมนั้นจึงจะมีประโยชน์ พระเถระท่านหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะแสดงธรรมท่านกล่าวเลย ว่าเมื่อฟังแล้ว ก็ขอให้มีเหตุผล หมายความว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้บอก แล้วก็ถ้าพิจารณาแล้ว จึงสมควรที่จะเห็นด้วยหรือเห็นว่าถูก

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9


    หมายเลข 49
    12 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ