มหาเวทัลลสูตร


    ข้อความในมัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์   มหาเวทัลสูตร

       ณ  พระวิหารเชตวัน   ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น   ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้ไปหาท่านพระสารีบุตรและสนทนาธรรมกัน  ซึ่งข้อความในมหาเวทัลสูตรมีว่า

       ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

       ดูกรท่านผู้มีอายุ  อินทรีย์ ๕ ประการคือ  จักขุนทรีย์ ๑  โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑   ชิวหินทรีย์ ๑   กายินทรีย์ ๑  มีวิสัยต่างกัน  มีโคจรต่างกัน  ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน  และธรรมอะไรรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

     

    จะเห็นได้ว่า   ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะศึกษาข้อความตอนใดในพระไตรปิฎกนี้   จะไม่พ้นจากสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา  ทางหู   ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ   ไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น   ในอดีตกาลล่วงเลยมาแล้ว   ไม่ว่าจะเป็นกี่โกฏิกัปปี   หรือว่าในขณะนี้  หรือต่อไปในอนาคตกาล   ก็จะมีเรื่องตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ซึ่งเป็นทางให้อารมณ์ต่าง ๆ ปรากฏ  เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการที่จะรู้สัจธรรม คือ ความจริงของตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ก็จะต้องสอบถาม  แล้วก็สนทนาธรรมกันในเรื่องของตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจนั่นเอง 

    แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะก็ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

       ดูกรท่านผู้มีอายุ  อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑  โสตินทรีย์ ๑  ฆานินทรีย์ ๑   ชิวหินทรีย์ ๑   กายินทรีย์ ๑  มีวิสัยต่างกัน  มีโคจรต่างกัน 

    คือ หมายความว่า  มีอารมณ์ต่างกัน  บางครั้งจะใช้คำว่า “วิสยะ”  หรือวิสัย   บางครั้งก็จะใช้คำว่า  “โคจระ”  หรือโคจร  หมายความถึงอารมณ์ของจักขุนทรีย์  อารมณ์ของโสตินทรีย์เป็นต้น  มีโคจรต่างกัน   มีอารมณ์ต่างกัน  ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน

    คือตาไม่มีทางที่จะได้ยิน  หูก็ไม่มีทางที่จะเห็น  จมูกก็ไม่มีทางที่จะรับกระทบโผฏฐัพพะ   เพราะว่าสิ่งเดียวซึ่งจะกระทบกับจักขุปสาท   เป็นวิสัยของจักขุปสาท  เป็นโคจรของจักขุปสาทได้  คือสีสันวรรณะต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏทางตา  เพราะฉะนั้นอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้  จึงมีโคจรต่างกัน   ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน

    คำถามต่อไปมีว่า 

       เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้  มีวิสัยต่างกัน  มีโคจรต่างกัน  ธรรมอะไรรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

    เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน   ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า  ที่สงสัยกันนักหนาว่า   เวลาเจริญสติปัฏฐานแล้วทางใจรู้อารมณ์อะไร  ก็ไม่พ้นจากอารมณ์ที่รู้ต่อจากทางตา  ทางหู   ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายนั่นเอง


    หมายเลข 6026
    27 ส.ค. 2558