สติปัฏฐานระลึกสภาพธรรมแต่ละทวารตามความเป็นจริง


    สำหรับอินทรีย์ ๕   ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะการเห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น   การลิ้มรส  ทางรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น  แต่ยังต้องมีอินทรีย์ที่ ๖  คือ  มนินทรีย์ด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นนี้   เมื่อทางตาจิตเกิดขึ้น   อาศัยตาเห็น  จิตที่เห็นและจิตอื่น ๆ   ที่เกิดโดยอาศัยทวารตา  ดับไปแล้ว  ภวังคจิตเกิดคั่น  มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่วิถีจิตทางตาเพิ่งรู้และดับไปซ้ำอีก   

    เพราะฉะนั้นทางใจก็รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ต่อจากจิตที่อาศัยทางตาเกิดขึ้นเห็น   จิตที่อาศัยทางหูเกิดขึ้นได้ยิน  จิตที่อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่น จิตที่อาศัยลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรส   จิตที่อาศัยกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  นอกจากนั้นทางใจก็ยังรู้เรื่องราวของอารมณ์ต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ  เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทวารตามความเป็นจริง

    ถ้าไม่ระลึกทางตาในขณะนี้   อาจจะระลึกทางใจก็ได้   หรือไม่ระลึกทางหูที่เสียงกำลังปรากฏ   หรือว่าจิตกำลังรู้เสียง   แต่ว่าระลึกทางใจในขณะที่นึกถึงคำ   หรือความหมายของเสียงที่ได้ยินก็ได้   หรือแม้แต่ในขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ   จิตก็สามารถที่จะมีสติเกิดร่วมด้วย  ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ   ทุกขณะนั้นอายุสั้นมาก  เล็กน้อยมาก   ถ้าสติเกิดระลึกได้จริง ๆ 

    เช่นในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้   ได้ยินต้องมีด้วยแน่ ๆ ใช่ไหม ?   เพราะฉะนั้นถ้าเห็นความรวดเร็วของการที่จิตเกิดขึ้นทางตาเห็น   ดับไป   ภวังคจิตเกิดคั่น   มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ   ภวังคจิตเกิดคั่น  และจิตได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินเสียง  ดับไป  ภวังคจิตเกิดคั่น   แล้วจิตก็เห็นอีกทางตา   

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ดูเหมือนว่าเห็นไม่ได้ดับไปเลย   ก็แสดงให้เห็นการเกิดดับทีละขณะอย่างรวดเร็วของจิต   จากทวารหนึ่งไปสู่อีกทวารหนึ่ง  โดยที่มีภวังค์คั่น  ทุก ๆ วาระของทวาริกจิต

    เพราะฉะนั้นสติจึงสามารถที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้  ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น   หรือทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส   ทางใจที่กำลังคิดนึก   ทางหูที่กำลังได้ยินเสียง  เป็นปกติในชีวิตประจำวัน   เพียงแต่ให้ทราบว่า  สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏนี้  เล็กน้อยจริง ๆ   อายุสั้นมาก   ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป   เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับการอบรมเจริญปัญญา  ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ   โดยอาศัยอินทรีย์ ๖  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันตามปกติได้


    หมายเลข 6025
    27 ส.ค. 2558