อหิงสกสูตร (ผู้ไม่เบียดเบียน)


    นอกจากนั้น ข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลนั้นเจริญกุศล

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อหิงสกสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน ฯ

    ครั้งนั้นแล อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ อหิงสกภารทวาชะพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ฯ

    เป็นการสนทนาปราศรัยธรรมดาๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถ้าว่าท่านมีชื่อว่าอหิงสกะ ท่านพึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอหิงสกะโดยแท้ เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งผู้อื่น ฯ

    ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ให้เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เฝ้าและสนทนาปราศรัย แม้ในโอกาสที่ควรจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลชื่ออย่างไร ก็ควรที่จะมีความประพฤติเหมือนชื่อนั้น


    หมายเลข 3615
    9 ต.ค. 2566