พิลังคิกสูตร (ความโกรธ)


    สำหรับญาติมิตรของพราหมณ์ภารทวาชโคตร มีอีกท่านหนึ่งซึ่งแสดงความโกรธต่างกับท่านอื่น ข้อความใน พิลังคิกสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของ พระสมณโคดม ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    ท่านผู้นี้ไม่ด่า ไม่บริภาษ แต่ก็โกรธ และความโกรธของท่านผู้นี้ คือ เมื่อได้ไปเฝ้าแล้วก็ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะไม่แสดงความโกรธทางกาย ทางวาจา แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นเห็นโทษแม้ความโกรธซึ่งมีอยู่ในใจ ที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพิลังคิกภาร-ทวาชพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า

    ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้นผู้เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น ฯ

    ผลของการฟัง แม้พระธรรมสั้นๆ แต่พิจารณาธรรมด้วยความเคารพ คือ ในเหตุผลของธรรมที่ได้ฟัง ทำให้พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

    แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรม เรื่องอะไร ผู้ฟังที่ได้พิจารณาจริงๆ ย่อมได้รับประโยชน์ และมีศรัทธาเลื่อมใสที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งผลคือ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

    นอกจากนั้น ข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลนั้นเจริญกุศล


    หมายเลข 3614
    9 ต.ค. 2566