อสุรินทกสูตร (ความโกรธ ขัดใจ)


    พราหมณ์ภารทวาชโคตร ซึ่งได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเป็นผู้ที่มีญาติมิตรสหายมาก เพราะฉะนั้น เมื่อญาติมิตรสหายของท่านได้ทราบข่าวว่า ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ญาติมิตรสหายของท่านก็โกรธ ขัดใจ และได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แสดงอาการโกรธต่างๆ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เกิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์

    ต่อไปเป็นข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อสุรินทกสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    ... อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่า บริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจา อันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

    อาการของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษย่อมต่างกัน

    เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง นิ่งเสีย ฯ

    ไม่โต้ตอบด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้ฟังที่ยังมีกิเลสอยู่ ลองพิจารณาการนิ่งของท่านว่า ถึงแม้จะเป็นการนิ่งด้วยกัน แต่สภาพของจิตในขณะที่กำลังนิ่งนั้น ย่อมต่างกัน การนิ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ของพระอนาคามีบุคคล ของพระสกทาคามีบุคคล ของพระโสดาบัน และของปุถุชน ย่อมต่างกัน เพราะผู้ที่ยังไม่ได้ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท บางครั้งอาจจะนิ่ง ไม่แสดงอาการทางกาย ทางวาจาให้ปรากฏ แต่ใจใครจะรู้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ และสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เวลาเห็นคนอื่นนิ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจตามอัธยาศัยของตนเองว่า บุคคลนั้นนิ่งเพราะเหตุอื่น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า

    พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น

    บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ก็เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

    สั้นมาก แต่ผู้ที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์จริงๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ที่อบรมได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตาม เวลาที่ท่านผู้ใดกล่าวคำหยาบ ขณะนั้นเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ อาจจะเข้าใจว่าชนะแล้ว ที่สามารถจะกล่าวคำอย่างนั้นกับผู้อื่นได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้แพ้อกุศล ไม่ควรที่จะเข้าใจว่าเป็นผู้ที่ชนะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่จะอบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลากิเลสต่อไป คงจะพิจารณาได้ว่า ท่านจะชนะอะไรดี จะชนะคนอื่นด้วยการแสดงวาจาหรือกิริยาด้วยความโกรธ โดยเข้าใจว่าในขณะนั้นชนะ แต่ความจริงแพ้ ที่จะชนะจริงๆ คือ ชนะกิเลส เพราะ ผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก

    ถ้าใครกำลังโกรธ ก็อย่าอยู่ร่วมกับเขา คือ อย่าโกรธกับเขาด้วย เพราะขณะใดที่โกรธตอบ ขณะนั้นอยู่ร่วมกัน บริโภคร่วมกันกับอกุศลธรรม


    หมายเลข 3613
    9 ต.ค. 2566