ถ้าเข้าใจลักษณะของธรรม จะมีเราหรือมีธรรม


        ผู้ฟัง ความรู้สึกเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดที่จะรู้ได้ ใช่ไหมคะ ทีนี้สภาพธรรมก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รูปธรรม และนามธรรม อย่างรูปธรรมก็พอจะสังเกตได้ว่า มีความเป็นจริง และเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ในสภาพของนามธรรม ถ้านามธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิตเป็นนามธรรม หรือเปล่าคะ

        ท่านอาจารย์ เปลี่ยนนามธรรมให้เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง เปลี่ยนนามธรรมให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ว่าลักษณะ อย่างนามธรรมก็ต้องมีลักษณะของนามธรรม ๒ ประเภท คือ มีจิตกับเจตสิก ทีนี้เวลาขณะที่เกิด จะเข้าใจว่า สิ่งที่เกิด หรือสภาพธรรมที่เกิดเป็นรูปธรรมนามธรรม หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

        ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะเหมือนกัน หรือต่างกัน

        ผู้ฟัง มีลักษณะแตกต่างกัน

        ท่านอาจารย์ ก็รู้ตามความเป็นจริงในลักษณะนั้น ไม่ต้องใช้ชื่ออะไร

        ผู้ฟัง ไม่ต้องใช้ชื่อ และไม่ต้องตรึกพิจารณาว่า สิ่งนั้นคืออะไร หรือเปล่าคะ

        ท่านอาจารย์ ศึกษาเพื่อเข้าใจ ถูกต้องไหมคะ ไม่ใช่จำชื่อ ขณะนี้มีแข็งกำลังปรากฏไหมคะ

        ผู้ฟัง มีค่ะ

        ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แข็งปรากฏแล้ว ต้องเรียกชื่ออะไร หรือเปล่า

        ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกชื่อ

        ท่านอาจารย์ แต่ไม่เคยรู้ว่าแข็งเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง วันนี้มีแข็งเยอะแยะเลยตั้งแต่เช้าที่ปรากฏกระทบสัมผัส รู้ไหมว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่แข็งก็ปรากฏ แม้เดี๋ยวนี้แข็งก็ปรากฏ ถามใคร ใครก็บอกว่าแข็ง จับอะไรดูก็แข็ง แต่คนที่ตอบอย่างนั้น รู้ไหมว่าแข็งเป็นธรรม

        ผู้ฟัง คือ ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เนื่องจากสภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่เกิดมีหลากหลายมาก ในเรื่องของความรู้สึก ซึ่งตามการศึกษา เมื่อสภาพของความรู้สึกเกิดขึ้นนั้น คือ สภาพอารมณ์ของจิต คือ จิตเกิดขึ้นแล้วรู้อารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน และก็เกิดบ่อยมาก เมื่อสภาพธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการคิดนึกต่อในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นว่าเป็นสิ่งใด และเป็นลักษณะปรมัตถธรรมชนิดไหน

        ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังเกิด เราเคยฟังมาแล้ว นามธรรมก็เคยฟัง รูปธรรมก็เคยฟัง ความรู้สึกก็เคยฟัง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาคือสามารถเข้าใจลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้น จริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่มีจริงๆ และเป็นลักษณะของธรรม ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏโดยตลอดทั้ง ๖ ทาง จะมีเรา หรือมีธรรม

        ผู้ฟัง มีธรรมค่ะ แต่เหมือนกับเข้าไม่ถึงลักษณะของสภาพธรรม แต่สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเกิดจริง และความรู้สึกมีจริง เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้น ก็เกิดความสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นอารมณ์ของจิต หรือจะเรียกว่า เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง นี่คือความคิดนึกที่เกิดจากการฟังธรรม

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรมก็ทราบว่า คำว่า “อารมณ์” ในภาษาไทย หรืออารัมมณะ ในภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ อะไรก็ได้ทั้งหมดที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์

        ผู้ฟัง อย่างนั้นไม่ว่าสภาพสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรม และเป็นเพียงระยะสั้นๆ เล็กน้อย นอกจากก็จะคิดนึกหมดใช่ไหมคะ

        ท่านอาจารย์ คิดนึกเป็นธรรม หรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง ก็เป็นค่ะ

        ท่านอาจารย์ เรื่องที่คิดเป็นธรรม หรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็น

        ท่านอาจารย์ เป็นสมมติบัญญัติ เป็นความทรงจำ เป็นเรื่องราวของจิตที่กำลังคิดค่ะ


        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360


    หมายเลข 12526
    10 ม.ค. 2567