ระลึกถึงพระคุณหรือมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้


        ผู้ฟัง ที่นี่ไม่มีพระพุทธรูป ๒. พระบรมสารีริกธาตุที่จัดตั้งไว้นี่ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นของจริง และ ๓. ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ครับ

        สุ. ค่ะ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน ไม่มีพระพุทธรูป แต่ว่ามีการแจกพระบรมสารีริกธาตุให้แคว้นต่างๆ เพื่อจะนำไปสักการบูชา เพราะฉะนั้นที่ใดที่ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุ ที่นั่นจึงต้องอาศัยรูปเป็นการเตือนให้ระลึกถึง แต่ขอให้พิจารณารูปนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ไม่ว่าใครจะสร้างในยุคไหนก็ตาม พระพักตร์ต่างกันไปตามภูมิประเทศ ที่จีน ที่ญี่ปุ่น ที่พม่า ที่ลาว นั่นน่ะหรือเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะมองดูอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระคุณ แต่ทีนี้ข้อสำคัญก็คือ เราคิดว่าต้องมี หรือเราคิดว่าพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหากที่ควรระลึกถึง ถ้ามีพระพุทธรูป แต่ไม่รู้พระคุณเลย มีประโยชน์ไหม ต่อการที่ได้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อทรงแสดงพระธรรม ไม่ได้ให้ลาภ ยศ ใครเลย แต่ให้ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นเหตุของความสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะเหตุว่าทุกคนไม่ปรารถนาความทุกข์เลย แต่ไม่รู้ว่า ทำไมทุกข์เกิดขึ้น อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล เพียงแต่มีความต้องการ แม้แต่ว่าจะมีพระพุทธรูปไว้ทำไม ก็ไม่เคยคิด แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจพระธรรม และรู้ว่า ไม่ว่า ณ สถานที่นั้นมีพระพุทธรูปหรือไม่มีก็สามารถระลึกถึงพระคุณได้ ทุกกาลค่ะ ไม่ได้หมายความว่า เราจะลืม แต่เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง นี่คือการรู้ว่า ประโยชน์ที่สุด คือ ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

        เพราะฉะนั้นมีสิ่งใดเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระคุณ ผู้ที่จะระลึกถึงพระคุณ ต้องเป็นผู้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจพระคุณ มิฉะนั้นแล้วขณะนี้ให้ระลึกถึงพระคุณ ระลึกได้ไหม รู้ได้ไหม ถ้าไม่มีความเห็นถูกเลย

        เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเหนืออย่างอื่น ก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ไม่มีคำสอนในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ให้สร้างพระพุทธรูป แต่ผู้ใดก็ตามที่ฟังเข้าใจพระธรรม สามารถจะมีพุทธานุสติ ระลึกถึงพระคุณได้ตามความเข้าใจ

        ไม่ทราบข้อนี้หายสงสัยหรือยังคะ สำหรับปัญหาข้อที่ ๑

        ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าเราเข้าใจหลักธรรม แล้วเข้าใจพระพุทธคุณ ไม่มีพระพุทธรูปก็ได้ ใช่ไหมครับ

        สุ. ที่ไหนก็ได้ที่มีการระลึกถึง พระคุณอยู่ที่การระลึกถึงด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

        ผู้ฟัง คำพูดที่ว่า คนบางคนที่บางครั้งต้องใช้สื่อ ถึงจะระลึกถึงพระพุทธคุณได้ ต้องมีรูปเคารพ หรือต้องมีสัญลักษณ์ เป็นเครื่องสะกิดเตือนใจ อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

        สุ. ก่อนที่จะสะกิดเตือนใจ มีคำที่ทำให้เขาเข้าใจพระธรรมหรือเปล่า หรือว่าไม่มีเลย มีแต่เพียงพระพุทธรูป ระหว่างการที่มีพระพุทธรูปกับมีการพูดถึงพระธรรม ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไหนสำคัญ

        ผู้ฟัง การที่คนบางคนพกพระ แขวนพระไว้ที่คอ แล้วไม่ยอมทำความชั่ว กลัวว่าพระเสื่อม อย่างนี้ถือว่าเป็นสื่อ หรือเปล่าครับ

        สุ. ขอประทานโทษนะคะ ไม่ทราบว่าแขวนเพื่ออะไร เพราะอะไร และขณะที่แขวนนั้นทำอะไร เพราะมีผู้ที่แขวน แต่ก็ทำทุจริต แล้วก็ถึงกับสิ้นชีวิตเพราะเป็นโจร ก็ยังแขวน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนั้นจะคุ้มครอง แต่ลองดูซิคะ ในพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีไหมที่จะบอกว่า ให้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อจะได้คุ้มครอง หรือว่าทรงสอนให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรแน่ซึ่งคุ้มครองโลกจริงๆ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคประสูติ และตรัสรู้ สังคมที่นั่นก็เป็นสังคมที่ไม่เข้าใจธรรม และมีการแตกแยกทางความคิดทุกกาลสมัย ที่จะให้คนเราเหมือนกันแม้แต่ในความคิด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่คนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจ แต่เมื่อมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มิใช่ว่าคนอื่นนับถือลัทธิอื่นจะได้มาเฝ้า และฟังพระธรรม

        เพราะฉะนั้นแม้แต่ในกาลไหนๆ ก็ตาม พระธรรมก็ยังมีอยู่ เราก็ไม่สามารถจะไปบังคับใครให้มีความสนใจเพื่อจะเข้าถึงพระธรรม ได้ฟังพระธรรม ได้ไตร่ตรองพระธรรม จนกระทั่งเป็นความเห็นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น แต่ละคนก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ไม่ว่ากระแสไปทางไหนก็ตาม ถ้ามีโจร ๕๐๐ คน แต่เราจะเป็น ๑ ใน ๕๐๐ นั้นหรือเปล่า หรือไม่ว่าจะมีพลเมืองมากสักเท่าไกรก็ตาม กระแสเป็นอย่างไรก็ตาม เราเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุ และผล ในการที่จะได้ยินได้ฟังก่อน เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ เพราะว่าถ้าทำอะไรไปก็ตามด้วยความไม่รู้ ผลก็คือไม่รู้ อย่างไรก็รู้ไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้ตั้งแต่ต้น

        เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ละเอียด และมั่นใจ เข้าใจในเหตุผล และพระพุทธศาสนาก็ทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ โดยละเอียด ถ้าได้เข้าใจจริงๆ ก็จะไม่เป็นผู้หลงทำสิ่งที่ไม่เข้าใจ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354


    หมายเลข 12500
    16 ม.ค. 2567