พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา


        ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา ก็พอเข้าใจ แต่อยากรู้สภาพธรรมที่ชื่อว่า อุเบกขา ที่เมื่อเกิดปรากฏแล้ว เป็นคุณธรรมที่ดีอย่างไรครับ

        สุ. ก่อนอื่นไม่ข้ามความหมายของคำว่า “พรหมวิหาร” มิฉะนั้นแล้วก็เป็นแต่ชื่อ พรหม คือ ผู้ประเสริฐ วิหาร คือ ความเป็นอยู่ ดังนั้น พรหมวิหาร คือ ความเป็นอยู่ของผู้ประเสริฐ หรือความอยู่ ผู้ประเสริฐอยู่อย่างไร อยู่ด้วยโลภะ อยู่ด้วยความเกลียดชัง อยู่ด้วยความริษยา อยู่ด้วยความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า นั่นไม่ใช่ผู้ประเสริฐเลย

        เพราะฉะนั้นผู้ประเสริฐจริงๆ แม้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ เมตตา หมายความว่าอะไรคะ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน พร้อมจะเกื้อกูล ไม่ได้หมายความว่า ให้เราหลงผิด ทำผิดไปกับคนอื่น แต่การเกื้อกูล คือ เกื้อกูลให้ถูกต้อง ให้เขามีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจถูก ให้มีกายวาจาใจที่ถูก นี่คือความเป็นมิตรที่แท้จริง

        เพราะฉะนั้นก็เห็นได้ว่า ไม่ใช่ให้เราไปนั่งท่อง แล้วหวังผลของเมตตา บางคนท่องตั้งหลายจบ ภาษาบาลีด้วย ภาษาไทยด้วย พอท่องเสร็จก็โกรธ อย่างนั้นไม่ใช่เลยค่ะ ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในความหมายของความประพฤติหรือความเป็นอยู่ หรือธรรมของพรหม คือ ผู้ประเสริฐ มีความเป็นเพื่อน และความเป็นเพื่อน ที่เราใช้คำว่า เจริญพรหมวิหาร ไม่ใช่คับแคบเฉพาะอยู่ในหมู่ของเรา ในบ้านของเรา ในวงศาคณาญาติของเราไม่พอ เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นมิตรเป็นกุศล ทำไมไม่ให้มีมากๆ กุศลทั้งหลายควรเจริญให้มาก มีความเป็นเพื่อน ไม่เดือดร้อนเลยสักขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นตรงไหน ที่ไหน และเวลาที่เราใช้คำว่า “ความเป็นเพื่อน” จะใช้กับสัตว์บุคคล เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่เราเคยไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ทั้งเรา และเขา แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นความหวังดีเท่าที่จะกระทำได้ เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนใจใครได้ แต่ใจของเราที่ไม่เป็นศัตรู ไม่คิดร้ายต่อใคร ขณะนั้นเราจะไม่มีศัตรูเลย เพราะว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร แต่มีความฉลาดที่จะรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นมิตรแท้ มิตรที่ดีของแต่ละคนได้ โดยการรู้จักตัวเขาจริงๆ แล้วถึงกาลโอกาสไหนที่สามารถจะกระทำสิ่งใดให้เขาเป็นคนดีได้ หรือมีความคิดความเห็นที่ถูกได้ เราก็ทำ

        เพราะฉะนั้นความเป็นมิตร ทุกกาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีคนให้เราเห็นเสมอ จะเป็นคนแปลกหน้า เป็นเพื่อนเขาได้ไหม หวังดีได้ไหม คนไทยมีอุปนิสัยทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ชื่นชม คือ เป็นผู้มีน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นแขกแปลกหน้ามาเมื่อไร ที่ไหน ชาวต่างประเทศหรือใครก็ตามแต่ คนไทยก็จะเอื้อเฟื้อ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่ปลูกฝังมาในทางธรรม แต่ถ้าไม่กระทำต่อไป หรือไม่เข้าใจจริงๆ เราจะเป็นผู้หวังผล เพราะว่าบางคนก็จะถามว่า เมตตาแล้วได้อะไร และเมตตามีอานิสงส์อย่างไร ข้ามการที่จะเมตตาไปสู่ว่า เมตตาแล้วจะได้อะไร นี่ไม่ถูกต้องเลย เมตตาเป็นคุณธรรม ซึ่งมีได้ทุกกาล คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน วันนี้มีเมตตาแค่ไหน ธรรมไม่ใช่ไปดูอื่นไกลเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่บ้านวันนี้เมตตาใครหรือเปล่า คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าเราคิดจะเมตตาคนอื่น แต่คนที่อยู่ใกล้เรา เราไม่เมตตาเลย และจะมีความสุขไหม และจะมีความเจริญ มีความเมตตาเพิ่มขึ้นไหม

        เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมีปัญญาแล้ว กาย วาจาของเราจะดีขึ้น คนที่เคยพูดคำที่ไม่น่าฟัง แต่พอเข้าใจในความเป็นเพื่อน และคิดถึงว่า คนอื่นก็ไม่อยากได้ยินคำอย่างนี้ จะหยุด แม้ว่ากำลังจะกล่าวคำที่ไม่น่าฟัง นี่คือความเมตตา คือ ความเป็นเพื่อน ทุกกรณี ทุกสถานการณ์ เป็นประโยชน์

        สำหรับกรุณา ก็มีคนอีกมาก ซึ่งกำลังเป็นทุกข์ เราจะพบบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ถ้าสามารถอนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล กรุณาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ผู้ที่มีพระมหากรุณากว่าคนอื่นทั้งหมด ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าสัตว์โลกมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด เข้าใจผิดในธรรม เพราะฉะนั้นจึงทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม เห็นได้เลยว่า ธรรมมีประโยชน์ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นทั้งกายวาจาใจ

        เพราะฉะนั้นเมื่อมีเมตตา กรุณาด้วย ไม่ใช่กรุณาเฉพาะกาย แต่กรุณาถึงใจของเขาด้วย ใครที่ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก มีหนทางใดที่จะทำให้เขาได้ยินได้ฟัง ก็กรุณาได้

        มุทิตา อีกเรื่องหนึ่ง สัตว์โลกเดี๋ยวก็ได้ลาภ เดี๋ยวก็เสื่อมลาภ ใครนำมาให้ อาจจะคิดว่าคนอื่นนำมาให้ แต่จริงๆ แล้ว กรรมของตนที่ได้กระทำแล้วนำมา มากน้อยตามปัจจัยที่ได้สะสมมาทั้งสิ้น แม้แต่จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว ถึงแม้ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ทำไมต่างกัน เพราะว่ากรรมที่ได้สะสมมาในแสนโกฏิกัป ไม่ได้หายไปไหนเลย ประมวลมาที่จะทำให้กรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ประสบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้วเท่านั้นที่นำมาให้ ที่จะให้ได้รับผลทั้งที่เป็นฝ่ายที่น่าพอใจ และฝ่ายที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เมื่อมีความกรุณาแล้ว และมีมุทิตาด้วยเวลาใครได้รับสิ่งที่ดี เพราะผลของกรรมของเขา ก็ชื่นชมในกรรมที่เขาได้กระทำมา ที่ทำให้เขาได้รับสิ่งที่ดี

        สำหรับอุเบกขา ช่วยได้ทุกคนหรือเปล่า เมื่อช่วยไม่ได้แล้วจะโศกเศร้า หรือจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตใจก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเป็นทุกข์ แม้เพียงการร้องไห้ ก็ทรงแสดงว่า มีประโยชน์อะไรที่จะรู้สึกโทมนัส เสียใจ แต่ถ้ามีปัญญาที่สามารถไม่หวั่นไหวในขณะนั้น เพราะรู้ว่า แต่ละคนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นไปตามกรรม

        อันนี้ก็คงจะเป็นชีวิตประจำวัน ที่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็อบรมเจริญขึ้นได้ แต่ต้องเข้าใจความหมายด้วย เข้าใจสภาพธรรมในขณะนั้นด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356


    หมายเลข 12505
    16 ม.ค. 2567