“อัตตวาทะ” หมายถึงวาทะชนิดใด


        ผู้ฟัง ผม พ.อ. บุนนาค บุญลา ผู้อำนวยการกองรักษาการณ์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ผมศึกษาอภิธรรม คำว่า “อัตตวาทะ” หมายถึงวาทะชนิดใดครับ

        สุ. ก่อนอื่น “อภิธรรม” เติมจากคำว่า “ธรรม” มาแล้ว ธรรมคือสิ่งที่ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ กำลังเห็นเป็นธรรมไหม เป็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมไหม เป็น เพราะฉะนั้นกำลังเห็นอะไร ถ้าจะเข้าใจความหมายของ “อัตตวาทะ” ก็ต้องมีความเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้เห็นอะไร

        นี่เป็นความละเอียด ถ้าเห็นว่าเป็นโต๊ะ เป็นอัตตา หรืออนัตตา “อนัตตา” คือ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็วสุดจะประมาณได้ แต่เพราะอาศัยการเกิดดับสืบต่อ จนไม่มีใครสามารถรู้ขณะที่เกิด และดับไป ก็มีการจำสีสันวัณณะของสิ่งที่ปรากฏ และรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น คนตาบอดไม่มีจักขุปสาท ไม่เห็น แต่คนที่มีจักขุปสาทขณะนี้กำลังเห็น แต่ไม่รู้ว่า มีความเห็นถูก หรือมีความเห็นผิด เป็น “อัตตวาทะ” หรือเปล่า แต่ถ้าขณะใดก็ตามมีความคิดว่า เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้มีอะไรเกิดดับเลย ขณะนั้นคือความหมายของอัตตวาทะ เพราะเหตุว่าตรงกันข้ามกับอนัตตา

        ขอเชิญคุณนิภัทรให้ความเห็นด้วยค่ะ ในเรื่องภาษาบาลี

        นิภัทร อัตตวาทะ เป็นศัพท์ที่มาจาก อัตตะ + วาทะ อัตตะ ความเป็นตัวตน วาทะ ในที่นี้แปลว่า “ว่า” เพราะมีคำต่อว่า อุปาทาน เป็นอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา

        คำว่า “วาทะ” จริงๆ แปลว่า “กล่าว” แปลว่า “พูด” แต่ในที่นี้ท่านแปลว่า “ว่า” ยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356


    หมายเลข 12506
    16 ม.ค. 2567