ทวาร ๖ พอ.6357
แสงธรรม คือแต่ก่อนเข้าใจว่า จิตคิด คือ ชวนกิจ ใช่หรือเปล่าครับ
วิชัย โดยสภาพของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหนก็ตาม แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ก็มีกิจของเขา แต่โดยสภาพของจิตเอง ทุกขณะเป็นสภาพที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์
สุ. อย่างคุณแสงธรรมคิด มีไหมวันหนึ่งๆ
แสงธรรม มีครับ
สุ. ก่อนคิดมีจิตที่ไม่ได้คิดหรือเปล่า
แสงธรรม มีครับ
สุ. ก่อนจะคิดก็ต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อนที่ไม่ได้คิด เพราะฉะนั้นก่อนจิตคิดจะเกิด จิตที่เกิดก่อน คือจิตอะไร ที่ยังไม่ได้คิด
แสงธรรม ภวังค์
สุ. ค่ะ ภวังค์ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกเลย ก็ยังมีจิตซึ่งเกิดดับดำรงภพชาติ คือ ทำภวังคกิจ เพราะว่าจิตทุกขณะจะต้องเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใด
ขณะนี้มีปฏิสนธิกิจไหมคะ
แสงธรรม ไม่มีครับ
สุ. ไม่มีแน่ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิกิจใน ๑ ชาติ จะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ คือ ขณะแรกซึ่งเกิดสืบต่อจุติจิตของชาติก่อน ขณะนี้มีจุติจิตไหมคะ
แสงธรรม ไม่มี
สุ. ไม่มี ยังไม่ถึงเวลา เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่จุติจิต เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจิตไหม
แสงธรรม มี
สุ. จิตนั้นทำกิจอะไร
แสงธรรม ทำภวังคกิจ
สุ. ทำภวังคกิจ เรียกว่า “ภวังคจิต” ก็ได้ เพราะแต่ละคนก็ต้องมีปฏิสนธิจิต ซึ่งกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป แต่กรรมไม่ได้ทำเพียงแค่ให้ปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว ยังทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมเดียวกันกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ระหว่างที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก เพราะฉะนั้นก่อนคิดนึกก็ต้องมีจิตที่เป็นภวังค์เกิดก่อน แล้วจึงมีจิตที่คิด แต่โดยมากเราจะไม่รู้ความละเอียดของความเป็นปัจจัยว่า ก่อนที่แต่ละขณะที่คิดเป็นกุศล อกุศล ต้องมีจิตที่นึกถึงสิ่งที่คิดก่อน เร็วมากเลย เราอาจจะไม่รู้เลยว่า ขณะคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นกุศลจิตและอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดที่คิด ทุกครั้งที่คิด จะต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต แต่ก่อนนั้นอีก ก็จะต้องมีวิถีจิตแรก กุศลจิตและอกุศลจิตเป็นไปในอะไร เป็นไปในเรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเป็นกุศลและอกุศลในเรื่องที่คิด หลังจากที่ภวังคจิตดับไปแล้ว ก็จะมีวิถีจิตแรกที่จะทำให้เกิดการคิด วิถีจิตแรกนั้นก็คือ อาวัชชนจิต ที่ใช้คำว่า “มโนทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตซึ่งไม่ใช่ภวังค์ เพราะฉะนั้นภวังค์ที่เกิดก่อน เป็นมโนทวาร เพราะว่าถ้าภวังค์ที่เกิดไม่ดับ จนกระทั่งภวังค์ขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะ วิถีจิตไม่มี คิดไม่ได้ อย่างเวลาที่หลับสนิท ก็เป็นภวังค์สืบต่อไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดคิดเมื่อไร ภวังค์ที่เกิดก่อนวิปัสสนาเป็นมโนทวาร
เพราะฉะนั้นมโนทวาร ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เวลาพูดถึงทวาร ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็จะรู้ได้ว่า รูป ๕ รูปซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน เป็นปสาทรูป ต่างกับรูปอื่น เพราะว่าเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ แล้วจิตเห็น จิตได้ยิน จึงเกิดได้
เพราะฉะนั้นในทวาร ๖ ก็จะเป็นรูป ๕ ทวาร คือ จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร โสตปสาทเป็นโสตทวาร ฆานปสาทเป็นฆานทวาร ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร กายปสาทเป็นกายทวาร และภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร หมายถึงจิตที่เกิดก่อนวิถีจิตทางใจ