บุญ วาสนา บารมี


        ผู้ฟัง คำว่า “มีบุญ” “ มีวาสนา” และ “มีบารมี” ที่จะทำให้คนมีสันติสุขในโลกนี้ หมายความว่าอย่างไร และในบรรดา ๓ คำนี้ “บุญ” “วาสนา” “บารมี” เกิดขึ้นพร้อมกัน หรือเกิดขึ้นก่อนหน้ากันอย่างไร ขอเรียนถามครับ

        สุ. ค่ะ ขอสนทนาสั้นๆ สั้นที่สุด คือ คนดีเป็นคนที่ทุกคนได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับโทษจากคนดีหรือเปล่า และเราจะเรียก “ดี” โดยศัพท์หรือโดยคำได้หลายอย่าง “เดชะ” คือ เดช มีบุญเดชด้วย คือ พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาจะพบคำตอบทั้งหมด แต่ทั้งหมดก็คือ ความดีเป็นเราหรือเปล่า และความดีนั้นมีหลายระดับ และความดีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องการให้โลกเป็นสุข ไม่ใช่เรามีความชั่วกันทุกคน แล้วโลกจะเป็นสุขได้

        เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนเข้าใจความดี เพียงแค่วันนี้ เดี๋ยวนี้คืออะไร ความดีนั้นมีเดช มีกำลังที่ทำให้สามารถถึงการดับกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ความละเอียด ความลึกซึ้งจากการทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงแสดงไว้โดยนัยประการต่างๆ แม้แต่ชื่อต่างๆ อย่างโลภะ เราได้ยินคำเดียว สภาพที่ติดข้องต้องการ ที่ว่าโลภมาก แต่แม้แต่เพียงอาสา ในภาษาบาลี ความจริงก็คือความหวังในภาษาไทย เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า แม้ชั่วขณะหนึ่งขณะใดที่เกิดขึ้น พ้นจากความหวังไหม ในชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาหวังอะไร ที่โต๊ะอาหาร หรืออะไรก็ตามแต่ นี่คืออีกชื่อหนึ่งของโลภะ เพราะฉะนั้นชื่อต่างๆ ที่ถาม โดยสภาพธรรมก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง แต่มีลักษณะที่ต่างกันไป จะกล่าวง่ายๆ ว่า หน้าตาต่างๆ กันก็ได้ แต่เป็นลักษณะของความติดข้อง ความต้องการนั่นเอง

        เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “วาสนา” ในภาษาไทย คนไทยจะใช้คำภาษาบาลีมาก แต่ไม่ได้เอาความหมายที่ถูกต้องมาด้วย เราคิดถึงวาสนาในความเป็นใหญ่เป็นโต แต่วาสนาจริงๆ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ได้หมดไปเลย เพราะว่าสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้นอาสยานุสยะ เป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่สามารถรู้ว่า บุคคลนี้สะสมอกุศลมามากน้อยเท่าไร และสะสมกุศลมามากน้อยเท่าไร นี่คืออาสยานุสยะ ก็คือทางฝ่ายดี และชั่ว

        เพราะฉะนั้นสำหรับวาสนา ก็หมายความถึงการสะสมกุศล และอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ความละเอียดของธรรมก็คือ อกุศลจิตเกิดทำให้มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่เพียงแต่มีอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการเคลื่อนไหวกาย วาจา จะเห็นความละเอียดของอกุศลที่มีสะสมมาอย่างละเอียดมาก นานแสนนานในแสนโกฏิกัป จากไหน แม้แต่จากกิริยาอาการก็เป็นได้

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความหมายของ “วาสนา” อีกความหมายหนึ่ง คือ ความประพฤติที่เคยชินทางกาย ทางวาจา ขณะนี้ลองดู ทุกคนนั่งเหมือนกันไหมคะ แม้แต่นั่ง นั่งด้วยกันหมดเลย มีแขน มีขา แต่นั่งไม่เหมือนกัน การพูดก็ไม่เหมือนกันด้วย จังหวะหรือความคิด หรือเสียง หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่ทรงแสดงไว้ว่า ถ้าเป็นการสะสมที่เป็นวาสนาทางฝ่ายกุศล ไม่ต้องละ แต่ถ้าเป็นวาสนาทางฝ่ายอกุศล ใครละได้ พระอรหันต์ทั้งหลายละอกุศลหมด แต่ละวาสนาไม่ได้ เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

        นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้นชื่อต่างๆ ที่ถามถึง ถ้าศึกษาไปก็จะพบอีกมาก

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355


    หมายเลข 12502
    16 ม.ค. 2567