ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล


        คุณอุไรวรรณ มีคำถามจากพระคุณเจ้า พระมหาสกุล โกสโล ถามว่า การเจริญสมถกัมมัฏฐาน ท่านบอกว่า ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน ต้องตัดปลิโพธต่างๆ ให้ได้เสียก่อน จึงจะเจริญสมถกัมมัฏฐานได้ และการเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีข้อปฏิบัติอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่มี ไม่ผิดจากพระพุทธพจน์หรือ เพราะว่าหนทางให้ถึงความดับทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติในเบื้องต้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดผล ถ้าเราจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว จะครบองค์ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาได้อย่างไรคะ

        สุ. ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจว่า สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ก็ผิดไปตั้งแต่ต้น

        เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจให้ถูกต้องว่า สมถะ คือ ความสงบซึ่งต้องเป็นกุศล อกุศลไม่สงบแน่นอนค่ะ แต่ขณะใดก็ตามที่สงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ ขณะนั้นเป็นความสงบ ขณะที่ให้ทาน เป็นกุศลจิต สงบ แต่สั้น เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลใดๆ ก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างมากที่สุดเพียงแค่ ๗ ขณะ ยังไม่ทันจะรู้ว่าเป็นอะไร

        เพราะฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวถึงความสงบ ก็ต้องเข้าใจว่า ต้องเป็นกุศลจิต และผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศล จะเจริญทำไม เพราะฉะนั้นผู้นั้นมีปัญญาที่จะรู้ว่า ปกติธรรมดา เห็นแล้วเป็นอกุศล ถูกต้องหรือเปล่าคะ ได้ยินแล้วก็เป็นอกุศล ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้คิดนึกก็เป็นไปในอกุศลต่างๆ วันหนึ่งๆ อกุศลมากเหลือเกิน ถ้าเห็นโทษอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า ถ้าจะให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ต้องเป็นผู้ที่สามารถรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต มิฉะนั้นก็จะสับสน

        เพราะฉะนั้นขณะที่ต้องการตั้งใจ ที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะอบรมเจริญความสงบได้ เพราะเหตุว่าสมาธิก็มีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ และพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องละ การละโดยนัยของสมถะ คือ ละการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ และจิตก็สงบมั่นคงขึ้นเป็นกุศล จนกระทั่งเป็นความสงบระดับขั้นต่างๆ กว่าจะถึงฌานจิต ซึ่งกว่าจะถึงฌานจิต ก็มีข้อความที่แสดงว่า ไม่ใช่วิสัยที่พึงจะคิดถึงฌานจิต เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่สภาพของจิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นปกติ ขณะนั้นหมายความว่า มีปัญญาถึงระดับขั้นที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตที่เหนือจากชีวิตประจำวันที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ

        เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง ที่จะเห็นถูกว่า สมถภาวนาคืออะไร ขณะไหนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เราฟังเรื่องกุศลจิต และฟังเรื่องอกุศลจิต พอเข้าใจใช่ไหมคะ แต่ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324


    หมายเลข 12366
    23 ม.ค. 2567