ความต่างของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา


        สุ. เราฟังเรื่องกุศลจิต และฟังเรื่องอกุศลจิต พอเข้าใจใช่ไหมคะ แต่ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บอกได้ไหมคะ เกิดแล้วดับแล้ว โดยไม่รู้

        เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือสติปัฏฐานที่ทำให้รู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นปัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนา เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่คิดเอาเอง นึกเอาเอง จิตไม่สงบ ก็เข้าใจว่าสงบแล้ว อย่างนั้นก็ไม่สามารถอบรมเจริญภาวนาใดๆ ได้เลย

        ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความว่า ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จึงสามารถที่จะอบรมเจริญได้ ถ้าไม่ใช่กุศลที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นกุศลในชีวิตประจำวันตามการสะสม เช่น เป็นผู้มีอัธยาศัยในการให้ทาน ไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นจิตเห็น ไม่ใช่กุศลจิต และทานขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นขณะที่สะสมมาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิต ไม่ใช่เรา และเป็นจิตที่ดีงามด้วยในการไม่ติดข้องในวัตถุ จนกระทั่งสามารถสละให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ แค่นี้ก็ยังไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญา คือ สติสัมปชัญญะที่รู้ขณะจิตว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล เพราะว่าเวลาที่กล่าวถึงความสงบของจิต ก็จะใช้อีกคำหนึ่งว่า “ปราศจากนิวรณธรรม” คือ ธรรมเครื่องกั้นความดี หรือกุศลจิตนั่นเอง อะไรกั้นกุศลจิต กามฉันทนิวรณ์ ความผูกพันพัวพันกับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้จิตไม่สงบ

        วันนี้เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เห็นโทษหรือยัง ถึงแม้เห็นโทษแต่ไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต ก็ไม่สามารถจะกันนิวรณธรรมไม่ให้เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุว่าเกิดเป็นปกติ เป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และรู้ว่า ถ้าตรึก คือ ระลึกถึงอะไรแล้วจิตสงบ ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะว่าบางแห่งซึ่งเป็นการอบรมเจริญสมาธิ มีทั่วโลก ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย หรือว่าประเทศหนึ่งประเทศใด และวิธีการที่ใช้คำว่า “เจริญสมาธิ” หรือบางแห่งก็บอกว่า “สมถภาวนา” เลย เพราะไม่รู้ว่า สมถภาวนาต้องมีปัญญาที่เป็นระดับขั้นสติสัมปชัญญะ ก็กล่าวว่าให้ท่องอะไรก็ได้ แต่ละคนก็แต่ละคำ ไม่ให้บอกกันด้วย ไปบอกแล้วจะไม่สงบ หรือยังไงก็ไม่ทราบ แต่บางแห่งก็ยังมีราคาของคำด้วย แล้วแต่อาชีพ แล้วแต่ฐานะการงาน ที่จะให้คำที่คิดว่า เอาไปท่องบ่นแล้วจิตจะสงบ แต่นั่นไม่ใช่สมถภาวนา

        เพราะฉะนั้นการใช้คำหนึ่งคำใด ควรได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า คำนั้นหมายถึงสภาพจิตขณะไหน อย่างไร ขณะที่เป็นเพียงสมาธิขั้นต่างๆ อาจจะอ้างว่าเป็นสมถะ แต่ถ้าตราบใดที่ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะไหนตรึกถึงอะไรแล้วจิตสงบ แล้วตรึกถึงอะไรจิตไม่สงบ ก็ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาได้

        เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เพียงขั้นได้ยินคำว่า ศีลต้องบริสุทธิ์ แล้วจิตจะสงบ ศีลอะไรละคะ ศีล ๕ ชั่วคราว หมดแล้ว แล้วทำไง สงบหรือยัง บริสุทธิ์หรือยัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องฟังให้เข้าใจว่า ศีลก็มีหลายประเภท ศีลซึ่งเป็นสิกขาบท หมายความถึงบทที่จะต้องประพฤติตาม ศีลไม่ใช่มีเพียงให้เราจำได้ว่า ๕ ข้อ มีอะไรบ้าง ๘ ข้อ มีอะไรบ้าง ๑๐ ข้อ มีอะไรบ้าง พระธรรมทั้งหมดที่ศึกษาแล้ว เข้าใจแล้วเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม มิฉะนั้นแล้วมีประโยชน์ไหมที่จะเพียงฟังแล้วจำได้ แล้วเข้าใจเรื่องราว แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม

        เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงศีลสิกขาบทที่ว่า เมื่ออบรมแล้วจะสงบ ก็ต้องถามว่า ศีลอะไร เพียงแค่ศีล ๕ หรือเปล่า หรือมีศีลอื่นจากศีล ๕ ด้วย เช่น อินทรียสังวรศีล เป็นต้น ก็ละเอียดกว่าศีล ๕ เพียงแค่จิตไม่สงบ คิดที่จะเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย หรือด้วยวาจา ก่อนพูด ก็ต้องมีจิตที่คิดจะเบียดเบียนด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง คำพูดหยาบ หรือคำพูดส่อเสียด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นทุจริต ขณะนั้นสามารถจะระลึกรู้ได้ แม้ยังไม่ทันกล่าว ขณะนั้นเป็นอกุศล

        นี่ก็เป็นศีลที่ละเอียดยิ่งกว่า ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็จะมีตามลำดับขั้นของกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องละเอียด แล้วเคยได้ยินคำที่กล่าวว่า ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นพร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญาหรือเปล่า

        เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปรอ ไปคอย ศีลจะบริสุทธิ์เสียก่อน อย่างไร ศีลอะไร และสมาธิ คือ จิตบริสุทธิ์คืออย่างไร ขณะไหน ระดับขั้นของความสงบระดับไหน แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นพร้อมทั้งศีล และสมาธิ จะมีปัญญาโดยที่ศีลไม่บริสุทธิ์ทางกาย ทางวาจาได้ไหม ขณะที่ปัญญาเกิด จะให้ประพฤติผิดทางกาย ทางวาจาได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นกายวาจาก็ไม่เป็นไปทางฝ่ายอกุศล ขณะนั้นก็เป็นศีล อย่างผู้ที่กุศลจิตกำลังเกิด จะเบียดเบียนคนอื่นได้ไหม ไม่ได้

        เพราะฉะนั้นพื้นฐานของกุศล ก็คือ ศีล สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ แล้วแต่ว่า ขณะนั้นที่เป็นกุศลนั้นจะเป็นไปในทาน ไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ แต่ก็ยังประพฤติในการให้ หรือว่าประพฤติเป็นไปในศีล การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น หรือว่าเป็นศีล ขณะนั้นสงบ ก็มีการฟังธรรม การพิจารณาธรรม การเข้าใจธรรม เป็นไปในภาวนา

        นี่ก็เป็นเรื่องละเอียด ที่ไม่เพียงแต่ได้ยินคำ แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว และก็จะทำตาม โดยที่ว่ายังไม่เข้าใจ แม้แต่ความต่างกันของภาวนา ๒ อย่าง คือ สมถะ และวิปัสสนา ก็จะต้องรู้ด้วยว่า ทำไมเป็น ๒ เพราะกว่าก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาในยุคนั้น อบรมเจริญสมถภาวนา ความสงบของจิตมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังมั่นคงด้วยความสงบที่อารมณ์ที่กำลังตรึกถึง เป็นฌานจิตที่เป็นปฐมฌานที่ ๑ ทุติยฌานที่ ๒ ตติยฌานที่ ๓ จตุตถฌานที่ ๔ ปัญจมฌานที่ ๕ ก็มีบุคคลที่บรรลุถึง แม้รูปฌาน และอรูปฌาน แต่ไม่สามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

        ด้วยเหตุนี้ภาวนาจึงมี ๒ อย่าง สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาอย่างหนึ่ง และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนามาก่อน จนถึงฌานจิตขั้นต่างๆ ก็มี ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ จะต้องไปเจริญสมถภาวนาก่อน ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของปัญญาที่ต่างระดับขั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325


    หมายเลข 12367
    23 ม.ค. 2567