ศึกษาธรรมเพื่อรู้ว่ามีลักษณะต่างๆ กันที่ไม่ใช่เรา


        ผู้ฟัง ผมเพิ่งมาเป็นอาทิตย์ที่ ๒ ผมอยากรู้ว่า อิริยาบถทั้ง ๔ รูปยืน แล้วก็เดิน แล้วก็นอน แล้วก็นั่ง แต่พอมาเกิดกับอายตนะทั้ง ๖ ทำไมบอกว่ารูปเหมือนกันครับ คือ ที่ว่ารูปเสียง รูปเห็นทางตา อย่างนี้ครับ รูป ๒ รูปนี้คนละแบบกัน คือ รูปทางเสียงก็อย่างหนึ่ง รูปในอิริยาบถทั้ง ๔ ก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ทำไมเป็นรูปเหมือนกันครับ

        สุ. เพราะเหตุว่ารูปทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่คือความหมายของรูป แม้มองไม่เห็น อย่างกลิ่น ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่กลิ่นไม่สามารถจะรู้ ไม่สามารถที่จะคิด ไม่สามารถที่จะจำ ลักษณะของกลิ่นก็เป็นสภาพของกลิ่น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

        ผู้ฟัง เป็นบัญญัติขึ้นมาเฉยๆ หรือครับ

        สุ. บัญญัติหมายความว่าอะไรคะ

        ผู้ฟัง บัญญัติให้รู้ว่ากลิ่น รูปนี่

        สุ. โดยมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่น

        ผู้ฟัง โดยมีกลิ่นซิครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง แม้ไม่ต้องเรียกว่ากลิ่น แต่เมื่อไรที่ได้กลิ่น เพราะกลิ่นกระทบจมูก ฆานปสาทรูป เมื่อนั้นกลิ่นจึงปรากฏว่า มีกลิ่น เป็นลักษณะที่เปลี่ยนจากกลิ่นให้เป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นกลิ่นเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ จะเรียกว่ากลิ่น หรือไม่เรียกว่ากลิ่น ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของกลิ่นไม่ได้ แต่เราใช้คำว่า “กลิ่น” เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงรูปอะไร คือ รูปที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจมูก คือ ฆานปสาท ต่างกับเสียง

        เพราะฉะนั้นรูปมีหลายรูป รูปที่ปรากฏทางตาขณะนี้กำลังปรากฏเป็นรูปสีสันวัณณะต่างๆ ก็รูปหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่ที่กำลังปรากฏทางตา เสียงเป็นอีกรูปหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางจมูก ก็เป็นกลิ่นต่างๆ ก็เป็นรูปอีกประเภทหนึ่ง

        เพราะฉะนั้นรูปก็หลากหลาย ไม่ใช่มีแต่รูปเดียว ส่วนใหญ่คนไทยคิดว่า พอพูดถึงรูป ก็คือรูปที่เรามองเห็น ใช่ไหมคะ เป็นรูปภาพต่างๆ หรือแม้แต่คิดว่าขณะนี้ที่มองเห็นคนนั่ง คนนอน ยืน เดิน ก็เข้าใจว่า นั่นเป็นรูป แต่ว่าตามความเป็นจริง ธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถที่จะรู้ เป็นรูปธรรมทั้งหมด จะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม เป็นรูปธรรม

        ถ้าเข้าใจอย่างนี้นะคะ รสมีจริงๆ ไหมคะ

        ผู้ฟัง มีครับ

        สุ. ป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มีใครสามารถสร้างให้รสเกิดขึ้นได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่มีครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นรสเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

        ผู้ฟัง เป็นนามครับ

        สุ. รสค่ะ รสคิดได้ไหม รสจำได้หรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็นรูป

        สุ. เป็นรูปธรรม นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่ชื่อ เราก็ยังต้องคิด เพราะเราไม่รู้ลักษณะของรูปอื่น นอกจากรูปที่เรามองเห็น แล้วเราบอกว่าเป็นรูป แต่ความจริงรูปก็คือ ธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วก็มีลักษณะเฉพาะสภาพนั้นๆ

        การศึกษาธรรม ไม่ใช่ไปศึกษารวดเร็วไปรู้ชื่อต่างๆ อย่างอายตนะที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ถ้ายังไม่รู้จักรูป จะเข้าใจอายตนะไม่ได้เลย

        ผู้ฟัง อายตนะ ก็คือตาเราเห็นรูป ใช่ไหมครับ

        สุ. ก่อนอื่น อายตนะคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าอายตนะคืออะไร ก็ยังกล่าวถึงอายตนะใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น การศึกษาธรรมต้องเข้าใจตามลำดับ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็เริ่มเข้าใจ แม้แต่คำที่ได้ยินคำเดียวนี่แหละค่ะให้ถูกต้อง อย่างถ้ากล่าวถึงธรรม ก็ประกาศอยู่ว่า ไม่ใช่ใครเลย เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

        เพราะฉะนั้นศึกษาธรรม ฟังธรรม ก็ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงว่า มีลักษณะแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน และไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้

        ที่ตัวมีธรรมไหมคะ

        ผู้ฟัง มีครับ

        สุ. ถ้าไม่มีธรรม จะมีเราไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่มีเลยครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นที่เข้าใจว่าเป็นเรา ก็คือธรรม ซึ่งต่างกันเป็นรูปธรรมกับนามธรรมนั่นเอง ฟังจนกว่าจะไม่มีเรา เพราะว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325


    หมายเลข 12368
    23 ม.ค. 2567