ขันธ์ ๕


        ผู้ฟัง เรียนถามคุณวิชัยค่ะ ขันธ์ ๕ ที่เราศึกษามีประโยชน์อย่างไร และในชีวิตประจำวันปรากฏอยู่ทุกขณะหรือเปล่า

        อ.วิชัย ขันธ์ ๕ มีจริง เพราะเหตุว่ามีลักษณะจริงๆ และสามารถเข้าใจได้ ขันธ์ หมายถึง กอง ขันธ์ ๕ หมายถึงธรรมที่สามารถแยกออกเป็น ๕ ส่วน ๕ กอง ก็มี ๑. รูปขันธ์ ๒. เวทนาขันธ์ ๓. สัญญาขันธ์ ๔. สังขารขันธ์ ๕. วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นการจะเข้าใจเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่ขณะอื่น แต่ให้เข้าใจว่า ในส่วนของรูปขันธ์ รูปคืออะไร รูปหมายถึงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่รู้อะไรเลย มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบละเอียด หรือรูปประเภทใดก็ตามที่จำแนกออกเป็นรูป ๒๘ ประเภท รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เป็นกองของรูป เป็นส่วนอื่นไม่ได้ จะเป็นเวทนาขันธ์ไม่ได้ จะเป็นสัญญาขันธ์ไม่ได้ จะเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ จะเป็นวิญญาณขันธ์ไม่ได้ อันนี้เป็นส่วนของรูปขันธ์

        ดังนั้นในส่วนของรูปปรากฏ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของรูปไม่สามารถรู้อะไรได้ แต่สามารถปรากฏแก่จิต คือ เป็นอารมณ์แก่จิตได้ จะสามารถเข้าใจรูปได้ ก็ต่อเมื่อขณะนั้นรูปปรากฏ อย่างเช่นขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา เรียกว่าวัณณรูป วัณณรูปก็เป็นรูปขันธ์ หรือขณะได้ยิน เสียงปรากฏแก่จิตได้ยิน ขณะนั้นเสียงเป็นรูปขันธ์ไหม เป็น

        เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงรูปใดก็ตาม รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าจะเป็นขันธ์อื่นไม่ได้ ต้องเป็นส่วนของรูปเท่านั้น แม้ในส่วนของวัณณรูปเองก็มีหลากหลาย สิ่งที่ปรากฏทางตา มีความแตกต่างของวัณณรูปต่างๆ สีเขียวบ้าง แดงบ้าง ก็เป็นส่วนของรูปขันธ์ทั้งหมด เพราะเป็นส่วนของรูปทั้งหมด

        ในส่วนของเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส เป็นโสมนัส หรือเป็นอุเบกขา หรือเวทนาที่เป็นกุศลก็มี เวทนาที่เป็นอกุศลก็มี เวทนาที่เป็นอัพยากตะก็มี ทั้งหมดก็เป็นเวทนาขันธ์ เพราะเป็นสภาพของความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส โสมนัส หรือเป็นอุเบกขา ขณะใดก็ตามที่มีความรู้สึก ขณะนี้มีความรู้สึกไหม เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือโทมนัส โสมนัส หรืออุเบกขา เพราะว่าเวทนาเกิดกับจิตทุกประเภท เมื่อเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดแล้วก็ต้องดับแล้วทันที ลักษณะของเวทนาที่เกิด ที่ปรากฏ คือ ปรากฏแก่จิต เพราะฉะนั้นจิตก็สามารถมีเวทนาเป็นอารมณ์ได้ จะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นโทมนัส หรือเป็นโสมนัส หรือเป็นอุเบกขา ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นเวทนาขณะใดก็ตาม หรือโดยสภาพใดก็ตาม เวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์

        ในส่วนของสัญญา ความจำ สัญญาเป็นกุศลก็มี สัญญาที่เป็นอกุศลก็มี สัญญาที่เป็นอัพยากตะก็มี สัญญาทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาขันธ์

        ส่วนของสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็มีหลากหลายของลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ เพราะเป็นขันธ์ที่ปรุงแต่ง เช่น โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจเป็นสังขารขันธ์ ลักษณะของสังขารขันธ์ก็มีทั้งหมด ๕๐ ประเภท อาจจะเข้าใจว่า เป็นเจตสิก ๕๐ เว้น สัญญา และเวทนา เพราะฉะนั้นโดยลักษณะของสภาพธรรมแตกต่างกันออกไปถึง ๕๐ ประเภท เป็นสังขารขันธ์ ก็มีหลากหลาย พอยกตัวอย่างได้อีกไหมครับ ผัสสะเป็นสังขารขันธ์ เจตนาก็เป็นสังขารขันธ์ ขณะนี้มีสังขารขันธ์อะไรปรากฏบ้างไหมครับ ขณะที่คิด ขณะที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ก็เป็นสังขารขันธ์ โดยลักษณะของสังขารขันธ์ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์

        ในส่วนของวิญญาณขันธ์ ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เช่น จักขุวิญญาณ คือ สภาพที่รู้แจ้งทางตา กำลังเห็นขณะนี้ก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์

        นี่ก็เป็นส่วนของขันธ์ ๕ และขณะนี้ก็กำลังเป็นไป เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงขณะ ขณะนี้ก็โดยนัยที่ว่า มีขณะที่เกิดขึ้นก็มี ขณะที่ตั้งอยู่ก็มี ขณะที่ดับไปก็มี และสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมีขณะ เพราะเหตุว่าขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ขณะที่ดับ ขันธ์ ๕ มีขณะเกิด มีขณะตั้งอยู่ และมีขณะดับ เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มี เพราะเหตุว่าขันธ์ ๕ ขณะนี้ก็เกิด ตั้งอยู่ และก็ดับไป แต่ว่าการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็มีปัจจัยให้ขันธ์เกิดสืบต่อด้วยปัจจัยประการต่างๆ

        ผู้ฟัง จากที่ฟังมาแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ขันธ์ ๕ เกิดทุกขณะของจิต แต่ว่าไม่ได้เกิดทั้งหมด อย่างรูปขันธ์ก็เกิดทีละขณะ แต่อย่างไรก็ต้องมีรูปเกิด ใช่ไหมคะ หมายความว่าเกิด การที่จะระลึกรู้ก็ขณะเดียว ในทำนองเดียวกันถ้าพูดถึงสังขารขันธ์ที่ว่ามี ๕๐ ก็ไม่ได้เกิด หมายความว่าใน ๑ ขณะจิตไม่ได้เกิดทั้ง ๕๐ สังขารขันธ์เลย เป็นเพราะอะไรคะตรงนี้

        อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยสภาพของธรรม มีเหตุปัจจัยให้เกิด ยกตัวอย่างในส่วนของรูปจะมีสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น คือ เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอาหารก็มี ดังนั้นรูปที่จะเกิดต้องได้ปัจจัยเหล่านี้ ต้องได้สมุฏฐานเหล่านี้ รูปนั้นจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ในส่วนของนามธรรมก็ตาม นามธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นวิญญาณขันธ์ ที่เป็นเวทนาขันธ์ ที่เป็นสัญญาขันธ์ เมื่อวิญญาณขันธ์เกิดขึ้น ต้องมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์เกิดร่วมด้วย สังขารขันธ์เป็นการปรุงแต่ง การเกิดขึ้นของนามธรรม คือ จิต บางขณะเป็นชาติกุศลก็มี บางขณะเป็นชาติอกุศลก็มี บางขณะเป็นชาติวิบาก ชาติกิริยา ซึ่งโดยสภาพของสังขารขันธ์เอง บางอย่างเป็นอกุศลอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น ก็ต้องไม่มีส่วนของสังขารขันธ์ที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วยแน่นอน

        ผู้ฟัง คำว่า “อทุกขสุข” จะใช้ตอนไหน มีความหมายเหมือนอุเบกขาเลยไหมคะ

        อ.วิชัย คำว่า อทุกขมสุข คือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขแน่นอน คือปฏิเสธทั้งหมด แต่ถ้ากล่าวคำว่า “อุเบกขา” ก็มีหลายความหมาย มีตั้ง ๑๐ ประเภท เพราะฉะนั้นอุเบกขาในความหมายที่เป็นเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็มี หรืออุเบกขาที่ไม่ใช่เวทนาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจความหมายของเวทนาที่เป็นอุเบกขา ก็คืออทุกขมสุขเวทนา แต่ถ้าเข้าใจในอทุกขมสุขเวทนา ก็ต้องเป็นเวทนาอย่างเดียว แต่คำว่าอุเบกขาก็มีหลายความหมาย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315


    หมายเลข 12320
    24 ม.ค. 2567