ความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคง เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา


        ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ค่ะ คือ เราจะกล่าวไปเลยก็ไม่ได้ใช่ไหมคะว่า รูปเป็นเหตุให้กิเลสเกิด เพราะว่ารูปก็สามารถทำให้ปัญญาเกิดได้ ถ้าเราเข้าใจตรงนั้น

        สุ. รูปไม่มีเจตนาอะไรเลยทั้งสิ้น รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าจะมีความเข้าใจธรรม ก็พอจะพิจารณาได้ว่า เราติดมากน้อยแค่ไหน ลองคิดถึงขณะที่กำลังรับประทานอาหาร วันนี้ทุกคนรับประทานแล้ว แต่ยังไม่รับประทาน มองเห็น ติดข้องในอะไรคะ รสยังไม่ได้ปรากฏ เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่รู้ความจริงว่า จริงๆ แล้วสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ปรากฏ แล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งไม่ประจักษ์ความจริงว่า สิ่งนั้นเกิดดับ

        นี่ก็คือการหลงติดในสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหนึ่ง แล้วก็ยังไม่ได้ลิ้มรส ก็จะถามกันว่า อร่อยไหม จานนี้อร่อยไหม ผัดนี้อร่อยไหม ต้มนั่นอร่อยไหม แกงนั่นอร่อยไหม แต่ว่าสิ่งที่เราติดเพียงอยู่ในสิ่งที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดก็ตามที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ธาตุทั้ง ๔ เมื่อมีแล้วก็เป็นที่อาศัย คือ มีรูปที่สามารถจะปรากฏกระทบตา ก็ไปติดในสิ่งที่เพียงรวมอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เมื่อปรากฏแล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง มีรูปร่างสัณฐานแปลกไป ทำให้ไม่คิดถึงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่ไปทรงจำด้วยความพอใจในรูปร่างสัณฐาน นี่คือทางตา

        เรียกว่าวันหนึ่งๆ หนีไม่พ้นเลย ความไม่รู้ แล้วไม่รู้มากด้วย เช่น แม้แต่เพียงเห็น ก็ยังไม่รู้ว่า อร่อยไหม แต่สิ่งที่พอใจเพียงมีอยู่ในความอ่อนหรือความแข็งของสิ่งซึ่งเกิดดับเมื่อไม่รู้ ก็รวมเรียกว่า เป็นปลา เป็นกุ้ง เป็นปู เป็นหอย เป็นผัก แต่มีรสอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการลิ้มรส คือ รูปนั้นได้กระทบกับชิวหาปสาทเมื่อไร รสที่มีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นรูปหนึ่งที่เพียงอาศัยอยู่ที่นั่น ก็ปรากฏ แต่จิตก็ยินดีพอใจในรสนั้น

        นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ว่ารสอยู่ที่ไหน มีแต่ความทรงจำว่า รสอะไร เรียกว่าอะไร และอร่อยไหม

        นี่ก็ทางลิ้น ทางหูก็เช่นเดียวกัน เสียง ถ้าไม่มีที่ตั้ง ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีเสียงไหมคะ เสียงไม่มีเลย แต่เสียงเมื่อมีการกระทบกันของแข็ง ก็ปรากฏรูปที่ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และเสียงเพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป เพราะว่าตามปกติธรรมดา ถ้ายังไม่มีการกระทบกัน ก็จะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน และในที่นั้นแหละ มีทั้งสี มีทั้งกลิ่น มีทั้งรส มีทั้งโอชา โอชา คือ รูปที่เป็นปัจจัยให้รูปอื่นเกิดขึ้นได้ แต่ว่าเสียงไม่มี ต่อเมื่อใดที่มีเสียง ในกลุ่มของเสียง ก็จะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และเสียงก็อาศัยอยู่ที่นั่น เมื่อไม่รู้ความจริง เมื่อเสียงนั้นกระทบกับโสตปสาท เพราะว่าเป็นรูปเดียวที่สามารถกระทบโสตปสาท ความไม่รู้ ก็ยินดีพอใจในเสียงนั้น หรือไม่ยินดีพอใจในเสียงนั้น

        นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกขณะ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะคิด จะพูด จะทำ ตราบใดที่ไม่รู้ ก็มีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

        ผู้ฟัง ดิฉันเคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมเสียงไม่รวมอยู่ในมหาภูตรูป ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าเสียงรวมอยู่ในมหาภูตรูป ก็คงจะดังอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นอย่างนั้นเลยหรือคะ

        สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นรูปที่แยกกันไม่ได้เลย ที่น้อยที่สุดมี ๘ ไม่ใช่เพียง ๗ หรือ ๖ หรือ ๕ หรือ ๔ แต่ที่ใดที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ๔ รูป ต้องมีสี กลิ่น รส โอชารวมอยู่ แล้วแต่ว่ากระทบกับปสาทใด จึงสามารถจะปรากฏได้ เช่น รส เก็บอาหารไว้ในตู้ ไม่รู้เลย อร่อยหรือเปล่า แต่เมื่อใดที่รสปรากฏ เมื่อนั้นก็ลืมว่า เป็นเพียงธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยติดอยู่กับมหาภูตรูปเท่านั้นเอง แต่เวลาปรากฏก็เป็นที่ยินดีพอใจติดข้อง

        ผู้ฟัง แล้วเวลาเปิดตู้เย็นมาเห็น แล้วก็บอกว่า นี่อร่อยมากเลย

        สุ. อะไรอร่อยคะ

        ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาหรือคะ

        สุ. เห็นไหมคะ สิ่งที่ปรากฏทางตาอร่อยไม่ได้ แต่จำได้ แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวตลอด เพราะฉะนั้นแค่เห็นนิดเดียว อร่อยมาก มาแล้ว และนอกจากอาหาร จะเป็นเรื่องราวที่ยาวมากที่จำไว้ และยังคงเป็นปัจจัยให้คิดถึงอยู่ ตราบใดที่ไม่รู้ความจริง ก็เข้าใจว่า สิ่งนั้นยังมีอยู่ ยังมีอาหารอยู่ในตู้เย็นไหมคะ

        ผู้ฟัง มีค่ะ

        สุ. จำไว้

        ผู้ฟัง อยากจะทราบความหมายที่ว่า พื้นฐานของอภิธรรมกว้างแค่ไหนคะ

        สุ. ขณะนี้เป็นเรา หรือเป็นธรรม

        ผู้ฟัง ความจริงก็เป็นธรรม

        สุ. เป็นธรรมที่ใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

        สุ. เป็นปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เพียงกล่าวอย่างนี้ ละการยึดถือธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นก็ต้องกล่าวถึงภาวะความละเอียดของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นอภิธรรม เพราะละเอียดมาก เพื่ออะไร เพื่อให้มีความเข้าใจถูก จนกว่าจะค่อยๆ น้อมไปสู่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง เช่นฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนี้เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมหรือเปล่า เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า คิดนึกเป็นธรรมหรือเปล่า ก็ยังไม่ได้เป็นเลย

        เพราะฉะนั้นทุกขณะที่ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ก็จะไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีความเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้น การเห็นว่าสภาพธรรมเป็นอนัตตา ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นการมีพื้นฐานที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคง ไม่คลาดเคลื่อน ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถเข้าถึงด้วยปัญญาที่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีพื้นฐานเลย ไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง ที่กำลังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ที่เป็นสังขารปรุงแต่งให้น้อมไปสู่การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานที่จะเกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และปัญญาเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้

        เพราะฉะนั้นพื้นฐาน คือ ความเข้าใจเรื่องธรรมที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นด้วย มั่นคงขึ้นอีก จนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาวะธรรมได้

        ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนจุดประสงค์ที่มาศึกษานี้ คือ ละความเป็นตัวตน ให้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีตัวตน แต่เรายังเข้าใจผิด ก็ยังต้องมีตัวตนอยู่ ก็แน่นอน เมื่อยังไม่ได้ละ ก็ยังมีอยู่

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316


    หมายเลข 12326
    24 ม.ค. 2567